ภูมิธรรม-จาตุรนต์ กางยุทธศาสตร์‘พท.’ ชูแก้ศก.จุดขายเลือกตั้ง

หมายเหตุ – ความคิดเห็นของนายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) และนายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรค พท. ให้ความเห็นถึงยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนพรรค พท.สู่การเลือกตั้ง หลังพรรค พท.ประชุมคัดเลือกหัวหน้าพรรค คณะกรรมการบริหารพรรค และคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 28 ตุลาคมที่่ผ่านมา

ภูมิธรรม เวชยชัย
เลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.)

หลังจากที่ประชุมพรรคเพื่อไทยคัดเลือกหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค คณะกรรมการบริหารพรรค 15 คน และคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง 11 คน เรียบร้อยแล้ว โดยรายชื่อหัวหน้าและคณะกรรมการบริหารพรรคยังจะเป็นชุดเดิม เป็นบุคลากรที่ช่วยงานและขับเคลื่อนพรรคมาตั้งแต่ทำหน้าที่ช่วงรักษาการ ที่พรรคยังไม่สามารถทำกิจกรรมทางการเมืองได้

ส่วนคณะกรรมการยุทธศาสตร์การเลือกตั้งของพรรค ที่มีคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เป็นประธาน จะทำงานขับเคลื่อนภายใต้การดำเนินงานของพรรคเพื่อไทย เพื่อเตรียมความพร้อมเรื่องการเลือกตั้ง โดยมีแกนนำพรรคเข้ามาช่วย อาทิ จาตุรนต์ ฉายแสง นายโภคิน พลกุล และนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ โดยนายจาตุรนต์จะดูงานในเรื่องนโยบายและการหาเสียง รวมทั้งการสื่อสารของพรรค

Advertisement

ยืนยันว่าพรรคเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่การเลือกตั้งวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 โดยอดีต ส.ส.พร้อมจะลงรับสมัครเลือกตั้งในนามพรรคเพื่อไทย

กระบวนการต่อไปที่คณะกรรมการบริหารพรรคจะต้องทำ คือจัดกิจกรรมทัพหลวงเคลื่อนทัพ จะแบ่งแกนนำและบุคลากรของพรรคเป็น 6 สาย อาทิ พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ หัวหน้าพรรค นายจาตุรนต์ ฉายแสง คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ และผม

ลงพื้นที่ในต่างจังหวัดช่วงวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์และจันทร์ ในทุกสัปดาห์ เพื่อพบปะพูดคุย รับสมัครสมาชิกพรรค รวมทั้งประชุมจัดตั้งตัวแทนสาขาพรรคประจำแต่ละจังหวัด คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน จะจัดตั้งสาขาพรรคได้ครบทั้ง 76 จังหวัด เพื่อส่งผู้สมัคร ส.ส.ครบทุกจังหวัดตามที่ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองกำหนด

Advertisement

ส่วนการคัดเลือกผู้สมัคร ส.ส.จะเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง 11 คน และตัวแทนของสาขาพรรคแต่ละจังหวัด ขณะที่การจัดทำบัญชีรายชื่อว่าที่นายกฯทั้ง 3 รายชื่อของพรรค ยังมีเวลาเตรียมการ

สำหรับเรื่องนโยบายของพรรคเพื่อไทยที่หลายฝ่ายคาดหวังในเรื่องการแก้ปัญหาเศรษฐกิจให้กับประชาชนนั้น พรรคเพื่อไทยจะจัดทำนโยบายให้ครอบคลุมตามแถลงการณ์เมื่อวันที่ 28 ตุลาคมที่ผ่านมา ที่ระบุว่า “พรรคเพื่อไทยจะจัดทำนโยบายที่คำนึงถึงอนาคตของประชาชน เน้นการลงทุนเพื่อสร้างความเข้มแข็งของโอกาสและศักยภาพที่เป็นทุนชีวิตของประชาชน คือนโยบายที่ได้รับความเชื่อมั่นว่าเป็นนโยบายที่กินได้ และเป็นนโยบายที่ออกดอกออกผลให้ชีวิต โดยนโยบายต่างๆ เหล่านี้ได้สร้างผลทวีคูณทางเศรษฐกิจ และกระจายโอกาสสู่ทุกชนชั้น ทั้งในเมืองใหญ่และชนบท”

เชื่อว่านโยบายของพรรคเพื่อไทยที่จะจัดทำออกมาตอบโจทย์แก้ไขปัญหาให้กับประชาชนในทุกมิติ

 

จาตุรนต์ ฉายแสง
คณะทำงานด้านยุทธศาสตร์การเลือกตั้ง
พรรคเพื่อไทย (พท.)

คณะทำงานด้านยุทธศาสตร์การเลือกตั้งมีหลายคนเข้ามาช่วยกันทำงาน ผมเป็นคณะที่ดูแลเรื่องของการรณรงค์หาเสียง เพราะผมมีประสบการณ์เกี่ยวกับการเลือกตั้งมาพอสมควร คิดว่าจะช่วยให้ความเห็นและคำแนะนำได้บ้างไม่มากก็น้อย แต่ผมอาจต้องทำงานอื่นควบคู่กันไปด้วย เช่น ผมดูเรื่องของยุทธศาสตร์ทางการเมืองที่เวลา คสช.ออกคำสั่งมาเราจะทำอย่างไร พรรคควรมีท่าทีอย่างไร หรือท่าทีของพรรคต่อพรรคอื่นควรเป็นอย่างไร รวมไปถึงเวลาที่ประชาชนสะท้อนปัญหาหรือให้ความเห็นมาพรรคควรจะทำอย่างไร ถือเป็นการวางบทบาทของพรรคซึ่งกว้างกว่าการรณรงค์หาเสียง

ที่ผ่านมาพรรคดำเนินการภายใต้กรรมการบริหารพรรคชุดรักษาการ ทำให้การขับเคลื่อนไม่สะดวกมากนัก แต่ขณะนี้มีคณะกรรมการบริหารพรรคเป็นทางการแล้วสามารถขับเคลื่อนได้อย่างเต็มที่ ก็ต้องดูว่าพรรคจะให้ผมช่วยงานในด้านนี้ต่อมากน้อยแค่ไหน

นอกจากนี้ผมยังมีงานด้านนโยบายของพรรคที่ต้องทำงานแข่งกับเวลา อาจจะไปช่วยงานรณรงค์เลือกตั้งได้บ้าง แต่ถึงเวลาที่ลงปฏิบัติจริงผมอาจจะไม่สามารถลงไปเต็มตัวได้ ขณะนี้เป็นช่วงเวลาการเตรียมการ คิดว่าจะเข้มข้นช่วงเดือนธันวาคม

การรณรงค์ยังทำได้ค่อนข้างจำกัด เพราะยังหาเสียงไม่ได้ และนโยบายยังทำไม่เสร็จ ต้องรอทำนโยบายให้เป็นรูปเป็นร่างพอสมควรก่อนแล้วจึงจะเข้าสู่กระบวนการรับฟังความเห็นจากกลุ่มอาชีพต่างๆ ก่อนจะออกมาเป็นนโยบายที่ชัดเจน และทำเป็นข้อความที่จะประชาสัมพันธ์นโยบาย จากนั้นจึงจะลงพื้นที่เพื่อทำการรณรงค์

แต่สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะทำได้หลังมีการคลายล็อกพรรค ตอนนี้ทำได้เพียงเตรียมการและใช้เวลากับการคิดนโยบายมากหน่อย หากผู้มีอำนาจกำหนดกรอบระยะเวลาที่จะให้พวกเราหาเสียงสั้นจะเป็นปัญหาสำหรับพรรคการเมืองแน่นอน เราจะต้องหาวิธีหลีกเลี่ยง ต้องหาทางสื่อสารกับประชาชนในช่วงที่ยังประชุมกันเป็นกิจจะลักษณะไม่ได้ เมื่อมีการอนุญาตให้หาเสียงอาจต้องพลิกแพลงใช้สื่อโซเชียลมีเดียและสื่อทั่วไปมากขึ้น เพราะการปราศรัยหรือจัดเวทีใหญ่ๆ คงทำไม่ได้มากนัก

พรรคเพื่อไทยต้องมีท่าทีทางการเมืองที่ชัดเจนในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยอย่างแน่วแน่ และนโยบายต้องตรงกับความต้องการของประชาชน โดยเฉพาะปัญหาด้านเศรษฐกิจในการเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคจะมีนโยบายด้านเศรษฐกิจเกินกว่าครึ่งหนึ่งของนโยบายทั้งหมด เพราะเรื่องนี้มีผลกระทบในวงกว้างตั้งแต่ระดับบนจนถึงรากหญ้า และประชาชนมีปัญหาปากท้อง พรรคจะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ประมาณ 60%

นอกจากนี้เราก็มีนโยบายเรื่องอื่นๆ ด้วย เช่น นโยบายด้านสังคม นโยบายด้านสาธารณสุข การศึกษา ด้านคมนาคม แต่นโยบายด้านเศรษฐกิจนั้นสำคัญมากที่สุด เราต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้เศรษฐกิจโตเร็วกว่านี้ และประชาชนได้ประโยชน์อย่างกว้างขวางจากการพัฒนาและการเติบโตทางเศรษฐกิจ การใช้จ่ายของภาครัฐต้องมีประสิทธิภาพ ไม่ฟุ่มเฟือย

ทั้งยังต้องตอบโจทย์โลกที่เปลี่ยนแปลงเร็ว เศรษฐกิจภายใต้โลกที่เปลี่ยนแปลงเร็วนั้นประเทศไทยจะต้องไม่ตกขบวน และต้องใช้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงนี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ส่วนที่มีการมองว่าการจัดทัพคณะกรรมการบริหารพรรคแยกออกมาจากคณะกรรมการยุทธศาสตร์ เป็นการจัดทัพเพื่อรักษาเซฟตี้โซนให้กับคนสำคัญในพรรคนั้น อันนี้ก็มีส่วนจริง การจัดคณะกรรมการบริหารแบบนี้มีข้อดีคือ สามารถทำให้ทุกส่วนสามารถมาร่วมงานกันได้ ทั้งคนรุ่นเก่า คนรุ่นกลางและคนรุ่นใหม่

ขณะเดียวกันเป็นการป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับพรรค เพราะพรรคในตระกูลไทยรักไทยมักถูกยุบโดยไม่มีเหตุไม่มีผล ทำให้หลายคนในพรรคมีความกังวลว่าจะถูกยุบพรรค ทั้งที่ไม่มีข้อเท็จจริงจนเป็นเหตุในการยุบพรรคได้ แม้หลายคนเห็นว่าไม่ถูกยุบแต่ก็ต้องรับฟังความเห็นจากฝ่ายที่มองว่าจะถูกยุบด้วย

ทั้งนี้ เหตุของการยุบพรรคนั้นเขาจะดูจากช่วงเวลาที่เกิดเหตุนั้น ดังนั้นหากใช้คนชุดใหม่มากๆ แล้วเขาใช้เหตุหลังจากที่มีการตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคก็จะได้รับผลกระทบ เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ต้องคิดเรื่องการวางคนที่จะเคลื่อนไหวหาเสียง และขึ้นพูดบนเวทีต่างๆ

ส่วนที่มีการมองว่าผมเป็น 1 ใน 3 รายชื่อแคนดิเดตนายกฯของพรรคเพื่อไทยนั้น ขณะนี้มีแต่การคาดการณ์กันไป เพราะต้องรับฟังเสียงของสมาชิก และต้องผ่านคณะกรรมการบริหารของพรรค คงต้องรอไปอีกระยะหนึ่งน่าจะใกล้ช่วงการเลือกตั้ง นอกจากกำหนดขึ้นมาล่วงหน้าอย่างไม่เป็นทางการ แต่ตอนนี้ยังไม่เป็นเช่นนั้น เท่าที่ฟังมาหากจะกำหนด 3 รายชื่อที่จะเข้ามาเป็นแคนดิเดตนายกฯ พรรรคจะกำหนดพร้อมกัน 3 คนในคราวเดียว ไม่ใช่ทยอยเสนอทีละคน

ส่วนผมพร้อมหรือไม่นั้น คงต้องดูสถานการณ์ที่เป็นจริง เมื่อถึงเวลาค่อยตอบคำถามนี้ ในเมื่อสถานการณ์วันนี้ยังไม่ถึงขั้นที่จะตอบ จึงยังไม่จำเป็นต้องตอบคำถามในเวลานี้ แต่ยืนยันว่าเราจะใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญให้เต็มที่ในการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯทั้ง 3 คน ไม่ชูคนใดคนหนึ่ง การใช้ชื่อทั้ง 3 คนในการหาเสียงอาจมีข้อดีที่จะช่วยกันดึงคะแนนนิยมของแต่ละบุคคลจากผู้ที่สนใจ แม้จะแปลกจากที่ผ่านมาแต่ก็เป็นไปตามรัฐธรรมนูญที่เปลี่ยนไป

ส่วนที่มีชื่อนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็น 1 ใน 3 แคนดิเดตนายกฯนั้น วันที่มีการประชุมเลือกคณะกรรมการบริหารพรรค ผมนั่งติดกับนายชัชชาติ เขาบอกว่าเขายังมีงานกับเอกชน ยังไม่สามารถมาร่วมงานกับพรรคการเมืองได้ โดยจะติดงานกับเอกชนถึงปลายปีนี้ ผมถามว่าสามารถเข้ามาช่วยงานพรรคเร็วกว่านั้นได้หรือไม่ เขาบอกว่าต้องขอดูก่อน

อย่างไรก็ตาม นายชัชชาติเป็นคนที่มีศักยภาพที่จะทำประโยชน์ให้กับพรรค ให้กับประเทศและประชาชนได้มาก ส่วนตัวผมก็อยากให้นายชัชชาติเข้ามามีบทบาทมากๆ แม้จะมาร่วมรณรงค์ หรือมาทำงานในช่วงนี้ไม่ได้ แต่ถ้าถึงขั้นตอนที่มีการรณรงค์จริงๆ เขาน่าจะมาช่วยได้มาก แต่เรื่องที่จะมาเป็นแคนดิเดต 1 ใน 3 รายชื่อเสนอเป็นนายกฯหรือไม่นั้น ผมตอบแทนเสียงส่วนใหญ่ไม่ได้

ขณะนี้ยังไม่ได้เริ่มรณรงค์เลือกตั้งอะไรที่เป็นกิจจะลักษณะ แต่พยายามจะสื่อสารกับประชาชนเท่าที่จะสามารถทำได้ และได้มีการพยายามเสนอตัวตน อย่างที่ท่านเลขาธิการพรรคพูดถึงเรื่องของจิตวิญญาณของพรรค และพยายามเสนอจุดแข็ง จุดเด่นของพรรค ก็คงต้องรอเวลาที่จะสามารถประชุมเพื่อทำนโยบายได้ เพราะพรรคให้ความสำคัญกับนโยบายที่เราจะนำมาปฏิบัติได้จริงเป็นหลัก

แต่เมื่อถูกจำกัดเรื่องการเคลื่อนไหวทางการเมืองก็ต้องพยายามหาทางแหวกเพื่อรับฟังความเห็นจากประชาชน อาจจะเป็นการลงไปรับฟังความคิดเห็นพร้อมกับการหาเสียงภายในตัว เนื่องจากเราถูกจำกัดนานเกินไป ถ้าเรามีเวลามากกว่านี้ ช่วงรณรงค์หาเสียงเราคงได้ลงไปอธิบายและชี้แจงประชาชนให้เข้าใจถึงนโยบายของพรรคเพื่อไทยได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image