นักวิชาการเตือน ‘รบ.’ ตีกันต่างชาติส่องเลือกตั้ง เป็นลบมากกว่าบวก

หมายเหตุ อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และนักวิชาการให้ความเห็นถึงกรณีที่นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.การต่างประเทศ ระบุว่าจะไม่เชิญต่างชาติเข้ามาสังเกตการณ์การเลือกตั้งในไทย


 

สดสรี สัตยธรรม
อดีตกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)

การเลือกตั้งเกือบทุกครั้ง ต่างชาติจะเข้ามาสังเกตการณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงที่มีการปฏิวัติรัฐประหาร แล้วจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ อย่างการรัฐประหารปี 2549 แล้วมีการเลือกตั้งในปี 2550 ครั้งนั้นมีองค์กรต่างๆ ขอเข้ามาสังเกตการณ์เกือบ 100 องค์กร ซึ่ง กกต.อนุญาตให้เข้ามาดูได้ โดยเขาจะออกค่าใช้จ่ายเอง เราดูแลความปลอดภัยในการไปตามจังหวัดและท้องที่ต่างๆ
ในครั้งนี้ก็เช่นกัน ถ้ามีการเลือกตั้งก็เหมือนการเปลี่ยนผ่าน จากการรัฐประหารปี 2557 มาเลือกตั้งปี 2562 ต่างชาติก็อยากเข้ามาดูว่าการเลือกตั้งครั้งนี้บริสุทธิ์ ยุติธรรมไหม มีการซื้อสิทธิ ขายเสียง การครอบงำ ชักจูงข้าราชการท้องถิ่นต่างๆ เพื่อเทคะแนนให้ฝั่งทหารหรือเปล่า เนื่องจากจะเปลี่ยนผ่านจากระบอบเผด็จการ มาเป็นประชาธิปไตย
การเลือกตั้งครั้งนี้คล้ายเป็นการแข่งขันระหว่างฝ่ายประชาธิปไตยกับฝั่งทหาร เพราะเราทราบดีว่าทหารตั้งพรรคการเมืองขึ้นมา ถึงจะไม่ปรากฏชัด แต่ก็เป็นการหนุนโดยรัฐบาลชุดนี้ รัฐมนตรีหลายคนไปตั้งพรรคการเมือง

Advertisement

การเลือกตั้งครั้งนี้ถือเป็นยุทธศาสตร์แห่งชาติด้วยซ้ำ ถ้ารัฐบาลประสงค์ด้วยความจริงใจว่าอยากจะเห็นการเลือกตั้งที่รัฐบาลเองสนับสนุนมีความบริสุทธิ์ ยุติธรรม ยิ่งมีต่างชาติเข้ามาดูแล้วรับรองว่าสะอาด ย่อมทำให้เกิดผลดีกับรัฐบาลชุดนี้ยิ่งขึ้นว่าต่างชาติยอมรับ อย่างเช่นการเลือกตั้งในวันที่ 23 ธันวาคม 2550 ต่างชาติยอมรับว่าการเลือกตั้งครั้งนั้นไม่มีการใช้อิทธิพลบงการโดยรัฐบาลของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์

ถ้ารัฐบาลจริงใจว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่มีการชี้นำ ไม่ใช้อิทธิพลใดๆ การเปิดโอกาสให้ต่างชาติเข้ามาสังเกตการณ์จะเป็นผลดีกับรัฐบาลมากกว่าจะมาบอกว่าเสียศักดิ์ศรี ไม่เป็นมงคลไม่ได้ นี่เป็นเรื่องระดับชาติ และระดับโลกด้วยซ้ำไป การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นที่จับตาของนานาชาติอยู่แล้ว ถ้ามีการเลือกตั้งสะอาด การที่ต่างชาติจะเข้ามาดูก็ไม่ได้เสียหายตรงไหน

 

Advertisement

อนุสรณ์ อุณโณ
อาจารย์คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

การให้ต่างชาติเข้ามาสังเกตการณ์การเลือกตั้งเป็นสิ่งปกติและปฏิบัติกันในสังคมประชาธิปไตย ไม่ใช่ข้อพิเศษหรือข้อยกเว้นแต่อย่างใด ฉะนั้น การปฏิเสธไม่ให้ต่างชาติเข้ามาเสมือนการไม่ยินดีปฏิบัติตามกติกาสากลที่ทั่วโลกปฏิบัติ อาจต้องตอบคำถามทั่วโลกให้ได้ว่าเรามีเหตุผลใดที่ไม่ยินดีปฏิบัติตามระบบคุณค่าหรือกติกาที่ทั่วโลกปฏิบัติอยู่

ที่ต่างชาติเข้ามาสังเกตการณ์จะเป็นหลักประกันข้อหนึ่งว่า การเลือกตั้งบริสุทธิ์ยุติธรรม แต่ถ้าปฏิเสธก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะมีการตั้งข้อสังเกตว่าจะมีความไม่ชอบมาพากลเกิดขึ้น ถึงไม่อนุญาตให้ผู้สังเกตการณ์ต่างชาติเข้ามา ผมคิดว่าจะเป็นข้อเสียกับรัฐบาลที่ปฏิเสธตั้งแต่ต้น

การสังเกตการณ์มีหลายลักษณะ หากเป็นรัฐบาลชาญฉลาดหรือมีเล่ห์เหลี่ยมนิดหน่อย อาจขอให้ต่างชาติเข้ามาสังเกตการณ์พอเป็นพิธี สิ่งนี้ต้องดูต่อไป เพราะไม่เพียงให้ต่างชาติเข้ามาสังเกตการณ์ แต่ต้องถามต่อว่าองค์กรไหนที่ได้รับอนุญาตให้เขามาสังเกตการณ์ องค์กรนั้นมีความเป็นกลางหรือน่าเชื่อถือแค่ไหน หรือเข้ามาแล้วได้สังเกตการณ์มากน้อยขนาดไหน อย่างไร

กรณีประเทศกัมพูชาเป็นการสังเกตการณ์แค่เป็นพิธีเท่านั้น เพื่อจะรับประกันหรือเพื่อให้การยอมรับว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ได้รับการสังเกตการณ์แล้ว มีผู้ติดตามระเบียบวิธีหรือแนวปฏิบัติอย่างที่นานาประเทศทำ ดังนั้น ผลการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นจะมีความชอบธรรมและได้รับการยอมรับ สุดท้ายแล้ว การที่กัมพูชาอนุญาตให้ต่างชาติเข้ามาสังเกตการณ์เป็นเพียงกลยุทธ์หรือเล่ห์เหลี่ยมทางการเมืองของผู้อยู่ในอำนาจที่ให้เข้ามาพอเป็นพิธี เพื่อเป็นตราประทับรับรองว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ผ่านสายตาของนานาชาติแล้ว แต่ในทางปฏิบัติไม่ได้เป็นเช่นนั้น ซึ่งเราก็เห็นว่ากำลังมีการเคลื่อนไหวที่จะไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง

ส่วนข้อจำกัดของไทยคือการให้องค์กรต่างชาติเข้ามาจะต้องได้รับการเชิญจากรัฐบาล มิเช่นนั้นจะไม่สามารถเข้ามาได้ ตรงนี้จะเป็นปัญหาใหญ่หากรัฐบาลไทยยืนยันมิให้ต่างชาติเข้ามาสังเกตการณ์

สุรชัย ศิริไกร
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

การมองว่าต่างชาติเข้ามาสังเกตการณ์จะไม่เป็นมงคลของการเริ่มต้นใหม่ ผมว่าเป็นเรื่องแปลกที่คุณดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.การต่างประเทศ มีทัศนคติแบบนั้น การจัดการเลือกตั้งแล้วได้รับความสนใจจากต่างชาติน่าจะเป็นเรื่องที่ดีมากกว่า โดยปกติทุกประเทศที่จัดเลือกตั้งจะมีนักข่าวทั่วโลกให้ความสนใจและไปสังเกตการณ์ ไม่มีใครมองว่าเป็นการแทรกแซงกิจการภายใน ฉะนั้นการจะไปห้ามหรือบอกว่าไม่เชิญ จะเกิดภาพลบกับประเทศ เพราะแสดงว่าตัวคุณมีปัญหาอะไรหรือเปล่า การเลือกตั้งไม่โปร่งใสอย่างนั้นหรือ
ยุคปัจจุบันนี้ไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือปิดบังขบวนการเลือกตั้งใดๆ ได้ การที่คุณปิดกั้น ขณะที่มีพรรคต่างๆ มากมายสามารถส่งข่าวไปต่างประเทศได้ในทันที ผมคิดว่ามันไม่มีประโยชน์ เป็นเรื่องล้าสมัย ดังนั้นเราควรจะให้ผู้สื่อข่าวทั้งภายในและภายนอกเข้ามาสังเกตการณ์อย่างเสรี น่าจะเป็นประโยชน์มากที่สุด แล้วถ้ามีปัญหาก็ค่อยมาอธิบายชี้แจงกันทีหลัง

ถึงแม้การให้ต่างชาติเข้ามาจะไม่ได้การันตี 100% ว่าการเลือกตั้งจะบริสุทธิ์ โปร่งใส แต่อย่างน้อยที่สุดก็เป็นการแสดงว่าเราโปร่งใส แต่ถ้าคุณปิดกั้นเลย จะถูกสันนิษฐานไปในทางลบแน่นอนว่ากำลังปิดบังอะไรบางอย่าง แม้ว่าจะทำอย่างถูกต้องก็ตาม

ผมว่าไม่มีประเทศไหน ยกเว้นประเทศเผด็จการหรือคอมมิวนิสต์ ถึงจะไม่เชื้อเชิญต่างชาติ หรือปิดกั้นไม่ให้เข้ามา และมันเป็นไปไม่ได้สำหรับการเลือกตั้งที่มีการแข่งขันหลายพรรค จะต้องมีการส่งข่าวออกไปอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะพรรคที่แพ้หรือฝ่ายค้านต้องพยายามเปิดเผยเรื่องขบวนการเลือกตั้ง ให้สื่อภายนอกช่วยกันวิพากษ์วิจารณ์

หากดูประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ว่าจะเป็นกัมพูชา หรือเมียนมาก็เปิดให้ต่างชาติเข้ามาสังเกตการณ์ ทั้งที่เขามีภาพพจน์ทางลบอยู่ตลอด มีข่าวตั้งแต่ขบวนการหาเสียงไม่ยุติธรรมและไม่เป็นประชาธิปไตย สิ่งเหล่านี้เปิดเผยออกมาก่อนการเลือกตั้ง หากเทียบกันแล้วของเรายังไม่เกิดสิ่งเหล่านั้น มีเพียงการวิพากษ์วิจารณ์เล็กๆ น้อยๆ ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาไม่ได้เสียหายมากมาย

ดังนั้นหากเราปิดกั้นต่างชาติเข้ามาสังเกตการณ์ จะยิ่งทำให้ภาพพจน์ของประเทศเป็นลบ อาจมีคนเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในทางที่แย่กว่าได้

 

ดุลยภาค ปรีชารัชช
อาจารย์ประจำโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา
คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ผ่านๆ มา ไม่ค่อยมีประสบการณ์ในการจัดการเลือกตั้งแล้วมีต่างชาติเข้ามา บวกกับสถานการณ์ที่ชนชั้นนำไทย ไม่ว่าจะเป็น คสช. หรือกระทรวงการต่างประเทศ อาจนำประเด็นการเลือกตั้งไปผูกโยงกับเอกภาพของชาติ ความเป็นระเบียบเรียบร้อยภายในประเทศคล้ายกับกัมพูชา คือทั้งไทยและกัมพูชามีปัญหาการทะเลาะเบาะแว้งของกลุ่มการเมืองต่างๆ ทำให้ผู้นำอาจทึกทักว่าเอกภาพของชาติสำคัญ โดยลืมมองสารัตถะคุณค่าของประชาธิปไตยว่า ปัจจัยจำเป็นพื้นฐานคือการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ ยุติธรรม มีการแข่งขันที่อิสระเสรี

ประเทศที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยที่แท้จริงอาจไม่เห็นความสำคัญของสิ่งเหล่านี้ และนำสิ่งนี้ไปผูกกับความมั่นคงชาติ สุดท้ายแล้วถ้าให้เลือกระหว่าง 2 สิ่งนี้ จะเลือกเอกภาพและความมั่นคงก่อน โดยมองว่าต่างชาติเข้ามาแทรกแซง กระทบศักดิ์ศรี

ไทยกำหนดโรดแมปประชาธิปไตยโดยทหาร หรือชนชั้นนำที่ปรองดองหรือสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ฉะนั้นประชาธิปไตยภายภาคหน้า หลังการเลือกตั้งจะมีลักษณะระบอบลูกผสมคือมีอำนาจนิยมผสมอยู่ ถ้าปล่อยให้เป็นไปตามการตัดสินใจของประชาชน คณะผู้ปกครองอาจไม่สบายใจว่าหากผลออกมาแล้วคะแนนนิยมข้างรัฐบาลปัจจุบันหรือระบอบที่อยากปั้นขึ้นมาใหม่ได้รับผลกระทบจากขั้วฝ่ายตรงข้ามจากขั้วพรรคเพื่อไทย หรือกลุ่มอื่นๆ ก็กลัวว่าฐานคะแนนส่วนใหญ่อาจเทให้อีกฝ่ายหนึ่ง เพราะฉะนั้นถ้าให้ต่างชาติเข้ามาแล้วกลายเป็นว่าฝ่ายตรงข้ามชนะ จะยิ่งทำให้ฝ่ายตรงข้ามมีความชอบธรรมในการต่อรองอำนาจกับระบอบที่กำลังจะแปลงรูป เปลี่ยนร่าง เลยไม่ต้องการให้ต่างชาติเข้ามา นี่คือเผด็จการผ่านการเลือกตั้ง

ถ้าเปิดให้ต่างชาติเข้ามาดูการเลือกตั้ง เขาจะคุมเกมอะไรไม่ได้เลย จะกระทบสถาปัตยกรรมทางการเมืองที่ตัวเองออกแบบไว้ ถ้าให้ต่างชาติมาการันตีการเลือกตั้งให้บริสุทธิ์ยุติธรรมจริงๆ สุดท้ายในระยะยาว จะกลายเป็นประชาธิปไตยที่อาจไม่เหมาะสมกับที่ทางของระบอบอำนาจนิยมหรืออนุรักษนิยม

บางประเทศอาจจะคิดว่า ประชาชนมองการทะเลาะเบาะแว้งของกลุ่มการเมือง จนเอกภาพรัฐบั่นทอน และอาจตีความคุณค่าประชาธิปไตยว่าเป็นต้นเหตุของความขัดแย้ง สับสน วุ่นวาย จะทำให้คนกลุ่มนี้ไปสนับสนุนวาทกรรมที่ว่าการแทรกแซงจากต่างชาติจะส่งผลต่ออธิปไตย

มีคนจำนวนไม่น้อยที่ยังเชื่อกับการประกาศท่าทีแบบนี้ เป็นเรื่องปกติ โดยเฉพาะในรัฐโลกที่สาม ซึ่งมีความเปราะบาง มีความขัดแย้งทางการเมือง สถาบันทางการเมืองยังไม่มีภาวะสุกงอมที่จะแก้ไขความขัดแย้งและพัฒนาประชาธิปไตย ตรงนี้เปิดช่องให้สังคมเป็นแบบ “รัฐขุนศึก” คือเป็นสังคมที่มีความขัดแย้ง สถาบันประชาธิปไตยมีฟังก์ชั่นก้าวหน้าบ้าง แต่ไม่สมบูรณ์ จึงเปิดช่องให้ขุนศึกหรือกองทัพก้าวเข้ามาจัดระเบียบรัฐ ครองอำนาจเสียเอง

การเมืองไทยตอนนี้ ถ้าจะมองในแง่บทบาทหารกับการเมือง ถือว่ามีความแตกต่างกับพม่าและอินโดนีเซียเล็กน้อย คือ ทหารเมียนมา แม้ยังมีอิทธิพลทางการเมืองอยู่ แต่ถอยจากการเป็นผู้ปกครองโดยตรง เข้ามาเป็นผู้พิทักษ์รัฐในสถานการณ์ฉุกเฉิน ส่วนอินโดนีเซียหลังยุคซูฮาร์โต ใน ค.ศ.1998 ทหารก็ถอนตัวกลับเข้ากรมกอง ระดับของประชาธิปไตยก็เพิ่มขึ้น

แต่ไทย ช่วงก่อนและหลังรัฐประหารรัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สู่การครองอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทหารไต่ระดับ จากกดดันถ่วงดุล จากพิทักษ์รัฐระยะสั้น กลายเป็นปกครองรัฐระยะยาว

ทฤษฎีที่ว่าทหารปกครองระยะยาวแล้วประชาธิปไตยตกต่ำ หลายประเทศทั่วโลก ถ้าเกิน 4 ปีขึ้นไปถือว่าทหารเป็นผู้ปกครองโดยตรง เพราะฉะนั้น ถ้าเขากดปุ่มให้มีการเลือกตั้ง อย่างไรเสียก็ต้องให้ทหารเข้าไปมีอิทธิพล ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image