รายงานหน้า2 : ‘อุตตม’ฉายภาพ ทรานส์ฟอร์มศก.ไทย เร่งอัพเกรดสู่อนาคต

หมายเหตุ นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนาเรื่อง “Transform เศรษฐกิจไทย ก้าวไกลสู่อนาคต” และนายกานต์ ตระกูลฮุน กรรมการ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือเอสซีจี และ ประธานกรรมการบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง “Transform ประเทศไทย อัพเกรดเศรษฐกิจไทย” จัดโดยหนังสือพิมพ์มติชน ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน

อุตตม สาวนายน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

การเลือกตั้งที่จะมีขึ้น ทุกคนคงต่างมองไปข้างหน้าว่าประเทศไทยจะเดินไปอย่างไร การที่ประเทศไทยจะ Transform ได้ต้องอาศัยพลังจากทุกภาคส่วน ทุกช่วงอายุ เพื่ออนาคตของประเทศ เชื่อว่าทุกคนอยากเห็นประเทศปรับเปลี่ยน
ตอนนี้กระบวนการปรับเปลี่ยนเริ่มแล้ว อย่างการเดินหน้า 5G ก็เริ่มแล้ว สถานการณ์เศรษฐกิจมีความสำคัญ เพื่อให้สามารถแข่งขัน ค้าขายกับประเทศอื่นได้ เพราะฉะนั้น Transform เพื่อยกระดับ ถ้าเราเปลี่ยนได้เราก็ไปต่อได้ ถ้าเราย่ำที่เดิมคนอื่นจะแซง และเราจะถอยหลัง ตอนนี้ไทยมีความพร้อมทั้งเศรษฐกิจเพื่อเดินหน้าไปข้างหน้า มีการกระจายความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ และมีการใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ไทยมีความโดดเด่นในเวทีโลก เมื่อเร็วๆ นี้ผมมีโอกาสขึ้นเวทีประชุมอาเซียนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ประเทศสิงคโปร์ ได้ฉายภาพการ Transform ของไทย และได้คุยกับทูตหลายประเทศ หารือถึงแนวทางการเดินหน้าของไทย อย่างสหภาพยุโรป (อียู) ก็จับตาไทยอยู่ การ Transform จะเป็นโอกาสของไทย ซึ่งไทยต้องดูว่าจะสร้างหุ้นส่วนกับประเทศภูมิภาคต่างๆ อย่างไร ในการทำธุรกิจนั้นคนรุ่นใหม่สามารถเข้ามาคุยกันและสร้างสิ่งใหม่ๆ ได้ ไทยมีโอกาสแล้ว ต้องก้าวไป ไม่ควรนิ่งหรือถอยหลัง
ทั้งนี้ ไทยแลนด์ 4.0 ที่ต้องก้าวไปข้างหน้า มีสังคมไทยที่ตื่นรู้ คนไทยต้องชัดเจน จะเตรียมคน การศึกษาอย่างไรให้พร้อมกับศตวรรษที่ 21 ขณะที่เศรษฐกิจต้องมีโครงสร้างในการขับเคลื่อน อย่างภาพใหญ่ที่กำลังเกิดขึ้นคือเทคโนโลยี การเปลี่ยนขั้วของการเมืองโลก
ไทยควรมีเศรษฐกิจที่เสริมแกร่งจากโครงสร้างเดิมที่ใช้การส่งออกเป็นหัวใจหลัก จากนี้เราต้องสร้างความเข้มแข็งในประเทศ ควรดูว่าเราจะผลิตสินค้าอะไร และเมื่อเศรษฐกิจเราดีเราจะเดินหน้าแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำให้คนไทยเข้าถึงโอกาสได้จริงๆ เศรษฐกิจไทยจะต้องไม่รับจ้างผลิตของ แต่เป็นเศรษฐกิจที่สามารถผลิตสินค้าของเราเอง ตอบโจทย์ได้
อย่างไรก็ตาม อย่าคิดว่าจะออกไปจากเกษตรเพื่อเข้าสู่อุตสาหกรรมและบริการ กลับกันควรใช้จุดเด่นภาคเกษตรของไทยเข้าไปต่อยอด ใช้เทคโนโลยีผสมผสานอย่างลงตัว จะทำให้ภาคเกษตรไทยยกระดับ แก้ปัญหาความยากจน ยกระดับขีดความสามารถและไม่ยอมแพ้ธรรมชาติ วันนี้มีแนวทาง มีเทคโนโลยี ลดทอนผลกระทบจากธรรมชาติ นอกจากนี้ ต้องยกระดับตลาด การผลิต การเพิ่มมูลค่า และถอยมาต้นทางว่าจะปลูก จะเพาะอย่างไร
อีกตัวอย่างที่รัฐบาลกำลังสนับสนุนให้เห็นภาพชัดเจนคือ การสนับสนุนอุตสาหกรรมไบโอชีวภาพ โดยนำเกษตรต้นทางไปสู่สินค้าคุณภาพสูง เพราะไทยมีวัตถุดิบพร้อม หลายประเทศแสดงความสนใจเข้ามาลงทุน เพราะไทยมีความพร้อมเรื่องพื้นที่ คน และวัตถุดิบทางการเกษตร ดังนั้นไทยต้องเตรียมพร้อม
อีกภาคที่สำคัญคือการผลิต เราจะใช้เทคโนโลยีเข้าช่วยอย่างไร เรามีวิทยากรที่พร้อมจะช่วยเหลือหากไทยมีเป้าหมายและแผนชัดเจน อย่างไรก็ตาม หากไทยไม่เน้นเทคโนโลยีทั้งยกระดับของเก่า และสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ไทยจะสู้ประเทศอื่นไม่ได้ จะทำให้เศรษฐกิจไทยอ่อนกำลังลง
ด้านกำลังคนมี 2 เรื่องสำคัญ คือ เราต้องเติมเต็มศักยภาพของคนไทย และเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่เศรษฐกิจ 4.0 โดยกลุ่มที่ไทยต้องสนับสนุนคือ ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ หรือ Startup ซึ่งกลุ่มนี้อาจไม่ใช่เด็กรุ่นใหม่ แต่อาจหมายถึงกลุ่มคนที่มีประสบการณ์แล้วออกจากงานมาทำอะไรใหม่ สำหรับผม Startup ไม่ใช่แค่ผู้ประกอบการที่ใช้เทคโนโลยีหรือเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แต่ผมหมายถึงการเริ่มสิ่งใหม่ๆ ในทุกด้านและทุกกลุ่มอายุ อาจมีการนำ 5G มาใช้ประโยชน์สูงสุด
อีกกลุ่มคือผู้ประกอบการรายย่อยทุกคน (เอสเอสเอ็มอี และเอสเอ็มอี) ทั่วประเทศ 5 ล้านราย แต่มีตัวตนลงทะเบียนเพียง 6 แสนราย คำถามคือเอสเอ็มอีไทยพร้อมหรือไม่ เรื่องนี้รัฐบาลต้องสนับสนุน อย่างปัจจุบันกระทรวงการคลังมีการสนับสนุนเอสเอ็มอีให้ทำบัญชีเดียวเพื่อให้เข้าถึงสินเชื่อ
ทางกระทรวงอุตสาหกรรมมีการจัดตั้งศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม (ไอทีซี) มีเทคโนโลยีให้เอสเอ็มอีได้ทดลองใช้งานฟรี เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ต้องการต่อยอดการผลิต อีกกลุ่มคือผู้ประกอบการที่ล้มและต้องการก้าวต่อไป ดังนั้นเทคโนโลยีและคนจึงเป็นปัจจัยสำคัญ
ขณะเดียวกันการลงทุนก็มีส่วนในการช่วยผลักดันไทยแลนด์ 4.0 โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ รถไฟขนทั้งคนและสินค้าต่างๆ ถนนเส้นต่างๆ ซึ่งไทยมีการลงทุนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ถือเป็นแรงกระตุ้นสำคัญ ที่ไม่เจาะจงแค่ 3 จังหวัดในภาคตะวันออก และมุ่งลงทุนในทุกภาคส่วน ทั้งการศึกษา สาธารณสุข ไม่ได้มุ่งแต่อุตสาหกรรม ผมเพิ่งเดินทางไปจังหวัดนครสวรรค์ มีวัตถุดิบสำคัญทั้งอ้อยและน้ำตาล อีสานที่ขอนแก่นก็มีวัตถุดิบ
เพราะฉะนั้นตอนนี้ถึงเวลาแล้วที่ไทยควรเดินหน้า เพราะปีหน้าไทยจะเป็นประธานการประชุมอาเซียน นโยบายต้องยึดโยงกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาค สุดท้ายประเทศไทยต้องเชื่อมโยงกันทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะการเมือง เศรษฐกิจ สังคม การศึกษา เพื่อผลักดันประเทศไทยไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 เป็นการ Transform ครั้งสำคัญ

 

Advertisement

 

‘กานต์’แนะรัฐลงทุน

ด้านเทคโนโลยีเพิ่มอีก1แสนล้าน

Advertisement

กานต์ ตระกูลฮุน
กรรมการ บริษัทเอสซีจี และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเอไอเอส

หลังจากผมเกษียนอายุแล้ว ได้มีโอกาสเดินทางไปต่างประเทศหลายแห่ง เนื่องจากผมเป็นประธานบอร์ดของเอไอเอส จึงมีโอกาสพาบอร์ดทั้งหมดไปเยี่ยมชมซิลิคอนแวลลีย์ ที่จีน ดูห้องแล็บส่วนตัว ก่อนจะเข้าดูที่กูเกิล แอปเปิล โนเกียร์ เฟซบุ๊ก มีโอกาสเข้าพบผู้บริหารแต่ละองค์กร แลกเปลี่ยนข้อมูลร่วมกับผู้บริหารของหัวเว่ยและซัมซุง
หัวเว่ยและซัมซุงพูดตรงกันว่า รัฐบาลของจีนและเกาหลีใต้จะเริ่มทดลองโครงการเมืองเทคโนโลยี 5G ในเกาหลีและจีน จากเดิมวางแผนให้ทันในไตรมาสที่ 3 ปีหน้า จะเร่งขึ้นมาให้ทดลองใช้ได้ในเดือนมิถุนายน เป็นเรื่องสำคัญที่กำลังจะมาถึง
เรื่องของดิจิทัลดิสรัปชั่น เรื่องเทคโนโลยีดิสรัปชั่น เป็นเรื่องอนาคต ที่ทั้งโลกมีอยู่มากมาย สิ่งที่มีโอกาสเรียนรู้ในช่วงสั้นๆ ที่ไปดูงานต่างประเทศ อย่างการพาคณะบอร์ดไปเยี่ยมชมงานที่หัวเว่ย สำนักงานใหญ่ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีโอกาสไปดูแล็บรีเสิร์ชของหลายองค์กรให้เห็นกับตา ทำให้เชื่อมั่นว่าผมเห็นการทำงานในแล็บมามากที่สุด จึงเห็นด้วยกับมหาวิทยาลัยมหิดล ที่จะมีการรวม 3 แผนกวิชาเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อเปิดโอกาสในการเรียนรู้มากขึ้น
ประเทศไทย ปี 2548-2549 ใช้งบอาร์แอนด์ดีเป็น 0.2% ของจีดีพีทั้งประเทศ ประมาณ 2-3 หมื่นล้านบาท แต่ปี 2559 ขึ้นมาเป็น 0.78% ของจีดีพีทั้งประเทศ ล่าสุดขึ้นมาอยู่ในเกณฑ์ 1.4 แสนล้านบาท และอีก 3 ปีถัดจากนี้เป้าของเราคือ 1.5% ของจีดีพีทั้งหมดของประเทศ ประมาณ 2 แสนกว่าล้านบาท
คาดว่าประเทศไทยจะเริ่มเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด หากไปถึงเป้าหมายที่วางไว้ได้ การลงทุนเรื่องอาร์เอ็นดีนี้มีความเสี่ยง แต่รัฐบาลให้สิทธิประโยชน์ช่วยเหลือมากมาย ทำให้ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ยอดการลงทุนของภาคเอกชนเพิ่มขึ้นรวดเร็วมากจาก 2-3 หมื่นล้านบาท ขึ้นมาเป็น 8 หมื่นล้านบาท ภายในปี 2559 ซึ่งเป็นนิมิตหมายที่ดี อยากฝากให้รัฐบาลลงทุนเพิ่มมากขึ้น
สำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเป็นกลุ่มที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย แต่ก็น่าเป็นห่วงมากที่สุด โดยภาครัฐช่วยเหลือกลุ่มนี้หลายด้าน ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ล่าสุดมีโอกาสไปเจอสตาร์ตอัพต่างประเทศที่ประกอบการด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ เพื่อป้องกันแฮกเกอร์ ซึ่งขบวนการแฮกเกอร์มีทั่วไป อาทิ การเข้ารหัสเพื่อใช้อินเตอร์เน็ตในสนามบิน ซึ่งต้องระวัง หากโดนแฮกอาจถูกล้วงข้อมูลทั้งหมดได้ ทำให้ตอนนี้มีสตาร์ตอัพที่ทำระบบป้องกันความเสียหายนี้แล้ว
สำหรับเรื่องสังคมผู้สูงวัยมีการพูดถึงค่อนข้างมาก เนื่องจากปัจจุบันมีผู้ที่อายุเกิน 60 ปี มีมากถึง 10% คาดว่าอีกไม่นานจะถึง 20% จะเปลี่ยนความคิดพวกเขาอย่างไร ให้ลดความกลัวการใช้เทคโนโลยี แล้วเปลี่ยนเป็นความกล้าเหมือนเด็ก พร้อมทดลองสิ่งต่างๆ เข้าใจว่าผู้สูงอายุมีความกลัวว่ากดปุ่มต่างๆ แล้วจะผิด เครื่องจะเสีย แต่สิ่งเหล่านี้ต้องเรียนรู้ หากเปลี่ยนตรงนี้ผู้สูงอายุก็สามารถทำงานร่วมกับเทคโนโลยีได้ สามารถควบคุมหุ่นยนต์
ปัจจุบันมีแอพพลิเคชั่นใหม่ เพื่อรองรับการใช้งานของผู้สูงอายุ สามารถใช้งานได้ง่าย เข้าใจง่ายมากขึ้น แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด ผู้สูงวัยทุกคนต้องแข็งแรงและมีสุขภาพดี พร้อมทั้งมีสุขภาพสมองที่ดี
ภาครัฐมีข้อจำกัดด้านกฎหมาย ผมอยู่ในคณะทำงานแก้ไขกฎหมายด้วย พบว่าจาก 201 หน่วยงานภาครัฐมีกฎระเบียบต่างๆ หน่วยงานยังทำงานกระจัดกระจาย และมีขั้นตอนการขออนุญาตมาก ปัจจุบันปรับลดขั้นตอน อย่างองค์การอาหารและยา (อย.) มีคำขอค้าง 30,000 ฉบับ เร็วๆ นี้จะปรับปรุงการอนุญาตให้รวดเร็วขึ้น และเรื่องอีส ออฟ ดูอิ่ง บิซิเนส คือการอำนวยความสะดวกนักลงทุนในการประกอบธุรกิจในประเทศ รัฐบาลกำลังแก้ไขเพื่อให้กฎหมายและการทำงานของหน่วยงานรัฐเชื่อมโยงกัน
ล่าสุด คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติกระทรวงใหม่ คือกระทรวงการอุดมศึกษาการวิจัยและนวัตกรรม เชื่อว่าจะทำให้การลงทุนด้านการวิจัยของประเทศเพิ่มขึ้น ปีนี้รัฐบาลลงทุนเพียง 2 หมื่นกว่าล้านบาท แต่ปี 2021 ตั้งเป้าลงทุน 2 แสนล้านบาท อย่างไรก็ตาม อยากเสนอให้รัฐบาลลงทุนด้านเทคโนโลยีอีกประมาณ 1 แสนล้านบาท ในช่วง 3 ปี เพื่อสร้างศักยภาพการทำงานของหน่วยงานรัฐ มั่นใจจะทำให้ไทยก้าวล้ำขึ้นมาแน่นอน
อยากย้ำรัฐบาลว่าขอให้สนับสนุนเรื่องอาร์แอนด์ดี ด้านดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น สนับสนุนสตาร์ตอัพ แต่ขณะเดียวกันรัฐบาล ตลอดจนภาคประชาสังคม ภาคของสื่อ อยากให้ช่วยกันประคองสถานการณ์ ในช่วงที่สถานการณ์การเมืองของไทยกำลังเปลี่ยนผ่าน เชื่อว่าเราจะผ่านไปได้ เรามีการลงทุนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่นักลงทุนสนใจ แต่หลักใหญ่ที่จะสร้างความเชื่อมั่นจริงๆ คือการเมืองที่สงบ เพราะไม่มีนักลงทุนคนไหนอยากอยู่ในดินแดนไม่สงบสงบสุข โอกาสที่ประเทศไทยจะทรานส์ฟอร์ม ประเทศไทยก็มีความหวัง แต่ต้องปรับตัว ยิ่งปรับตัวได้เร็วมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งไปได้เร็วมากเท่านั้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image