รายงานหน้า2 : เปิดใจ‘บิ๊กอู๋’ 1ปี‘จับกัง1’ ลดว่างงานติดอันดับโลก

หมายเหตุ – “บิ๊กอู๋” พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้สัมภาษณ์พิเศษ “มติชน” ในโอกาสครบรอบ 1 ปี การปฏิบัติหน้าที่ในกระทรวงแรงงาน แก้ไขปัญหาด้านแรงงานในหลายเรื่อง

จากการประเมินสถานการณ์ตลาดแรงงานไทย สำนักงานสถิติแห่งชาติ สำรวจในปี 2561 พบว่า ในจำนวนประชากรทั้งสิ้น 67.7 ล้านคน มีผู้อยู่ในวัยทำงาน (อายุ 15 ปีขึ้นไป) 56.25 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 83.07 เป็นผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงาน 38.48 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 68.42 ผู้ที่ไม่อยู่ในกำลังแรงงาน 17.76 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 31.57 ในส่วนของผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงานเป็นผู้มีงานทำ 37.88 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 98.44 ผู้ว่างงาน 4.2 แสนคน คิดเป็นร้อยละ 1.1

หากดูตัวเลขข้างต้นจะเห็นว่าอัตราการว่างงานของไทยอยู่ในระดับต่ำมาก และลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมา ที่มีอัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 1.22 ทำให้ขณะนี้ไทยเป็นประเทศที่มีอัตราการว่างงานน้อยที่สุดอันดับที่ 4 ของโลก

นอกจากนี้ พบว่ามีจำนวนผู้สูงอายุ 11.35 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 16.76 มีผู้สูงอายุที่ทำงาน 4.06 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 35.77 การจ้างงานในระบบประกันสังคม มีผู้ประกันตนมาตรา 33 จำนวน 11,454,211 คน มีการขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 7.42 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน อัตราการเลิกจ้างลูกจ้างในระบบประกันสังคมมาตรา 33 คำนวณจากจำนวนผู้ประกันตนที่สำนักงานประกันสังคมจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากสาเหตุเลิกจ้าง ณ สิ้นไตรมาส จำนวน 23,707 คน คิดเป็นร้อยละ 0.21 เพิ่มขึ้นเล็กน้อย จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน อยู่ที่ร้อยละ 0.20 มีแรงงานนอกระบบ จำนวน 20.8 ล้านคน ส่วนใหญ่มากกว่าครึ่งอยู่ในภาคเกษตรกรรม

Advertisement

ช่วง 1 ปี ภารกิจหลักของกระทรวงแรงงาน คือ ส่งเสริมให้คนไทยมีงานทำ และยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้สูงอายุและส่งเสริมให้คนพิการมีงานทำ ยกระดับทักษะฝีมือแรงงานให้เป็นแรงงานที่มีคุณภาพ (Super Worker) พัฒนาทักษะฝีมือแรงงานแห่งชาติเพื่อรองรับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรืออีอีซี ขยายความคุ้มครองแรงงานให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล รวมทั้งเสริมสร้างหลักประกันความมั่นคงทางสังคม โดยการเพิ่มสิทธิประโยชน์แก่ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม

จากการดำเนินการตามภารกิจ ส่งผลให้ในรอบ 1 ปี กระทรวงแรงงานสามารถทำให้

1.คนไทยมีงานทำ คือ เป็นผู้มีงานทำในประเทศ 259,146 คน มีรายได้กว่า 25,453 ล้านบาทต่อปี มีแรงงานไทยทำงานอยู่ในต่างประเทศ 474,503 คน โดยในปีงบประมาณ 2561 มีแรงงานไทยเดินทางไปทำงานต่างประเทศ 114,701 คน และมีรายได้ส่งกลับประเทศ 141,880 ล้านบาทต่อปี นอกจากนี้ สร้างยุวแรงงาน ให้นักเรียน นักศึกษาที่ประสงค์ทำงาน 39,704 คน เข้าทำงานในสถานประกอบการ 35,403 คน สร้างรายได้ 458,822,880 บาท

2.ฝึกทักษะฝีมือให้แก่ผู้มีรายได้น้อยที่ลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐ 282,417 คน ฝึกอบรมเทคโนโลยีชั้นสูงรองรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต 10,838 คน เพิ่มศักยภาพแรงงานรองรับ Thailand 4.0 จำนวน 116,451 คน พัฒนาศักยภาพแรงงานรองรับอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชั้นสูงและอุตสาหกรรมแห่งอนาคตในอีอีซี 10,984 คน เพิ่มทักษะกำลังแรงงานในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ 10 จังหวัด 11,830 คน แก้ปัญหาบัณฑิตยังไม่มีงานทำ ทำให้ได้งาน 69,621 คน อีกทั้งฝึกแรงงานผู้ต้องขังในเรือนจำ 58,069 คน และเตรียมความพร้อมก่อนพ้นโทษ 25,843 คน ซึ่งหลังพ้นโทษได้รับการจ้างงานและประกอบอาชีพ 1,175 คน

3.บริหารจัดการแรงงานต่างด้าวให้เข้าสู่ระบบและได้รับใบอนุญาตทำงานถูกต้อง 1,187,803 คน ตรวจแรงงานในเรือประมงเพื่อแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU Fishing) ณ ศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้า-ออก หรือ PIPO 70,771 ลำ แรงงาน 864,433 คน ตรวจสอบสแกนม่านตา 171,128 คน กำหนดงานคนต่างด้าวจำนวน 39 อาชีพ คือ ห้ามทำโดยมีเงื่อนไข 11 งาน ห้ามทำโดยเด็ดขาด 28 งาน และรับรองอนุสัญญาแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ฉบับที่ 29 ว่าด้วยแรงงานบังคับ

4.ปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำปี 2561 โดยมีอัตราค่าจ้างต่ำสูงสุดที่อัตรา 330 บาทต่อวัน กำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ 18 กลุ่มอุตสาหกรรม 83 สาขาอาชีพ ตรวจความปลอดภัยในการทำงาน 14,157 แห่ง ลูกจ้าง 1,033,985 คน ส่งเสริมแนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดี 12,521 แห่ง และมาตรฐานแรงงานไทย 5,771 แห่ง ตรวจแรงงานตามคำร้องเรียน 12,880 คน 5,341 แห่ง สกัดกั้นการลักลอบไปทำงานในสาธารณรัฐเกาหลี ตรวจสอบ 1,273 คน ระงับการเดินทาง 1,018 คน

5.คุ้มครองผู้ประกันตนตาม ม.33 ม.39 และ ม.40 รวม 15.82 ล้านคน จ่ายสิทธิประโยชน์ให้แก่ลูกจ้างกองทุนเงินทดแทนกว่า 1,844.88 ล้านบาท และในวันที่ 9 ธันวาคม 2561 จะขยายสิทธิรับเงินทดแทนไปถึงกลุ่มลูกจ้างราชการ และลูกจ้างในองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรอีกประมาณ 1 ล้านคน พัฒนาสิทธิประโยชน์ประกันสังคมเพิ่มค่าฝากครรภ์ 1,000 บาท เพิ่มค่าสงเคราะห์บุตรจาก 400 บาท เป็น 600 บาทต่อเดือน เพิ่มช่องทางการชำระเงินสมทบผ่านธนาคารและหน่วยบริการชั้นนำรวม 126,673 สาขา และพัฒนาแอพพลิเคชั่น “SSO Connect Mobile” บนมือถือ ปัจจุบันมียอดดาวน์โหลด 2.57 ล้านราย

6.จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการกระทรวงแรงงาน (MOLOC) 94 ศูนย์ ประชุมทุกวันรวม 193 ครั้ง บริหารศูนย์ข้อมูลแรงงานแห่งชาติ (NLIC) ที่มีผู้เข้าใช้บริการ 91,266 คน บริการศูนย์พัฒนาอาชีพออนไลน์ (M-Powered Thailand) 47,829 ครั้ง ขับเคลื่อนภารกิจด้านแรงงานโดยอาสาสมัครแรงงาน 19,834 คน ผู้รับบริการ 278,723 คน และบัณฑิตแรงงาน 380 คน ผู้รับบริการ 53,086 คน และศูนย์บริการร่วมกระทรวงแรงงาน 65 แห่ง ผู้รับบริการ 693,657 คน ยกระดับระบบโทรศัพท์สายด่วน 1506 มีผู้ใช้บริการ 4,379,863 ครั้ง เฉลี่ยวันละ 12,000 ครั้ง การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (ITA) มีค่าคะแนนเท่ากับ 85.14 สูงกว่าปี 2560 พัฒนาบุคลากรในทุกระดับ รวม 9,931 คน และจัดตั้งสถาบันพัฒนาบุคลากรกระทรวงแรงงาน

7.สร้างการยอมรับในระดับสากล ซึ่งประเทศไทยได้รับการปรับอันดับสถานการณ์การค้ามนุษย์จาก Tier 2 Watch List (ต้องเฝ้าจับตามอง) เป็น Tier 2 นอกจากนี้ ได้รับการจัดอันดับให้เป็นประเทศที่มีความสำเร็จมาก (Significant Advancement) ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเรื่องขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายเป็นปีที่ 2 ต่อเนื่องกัน และเป็นเจ้าเหรียญทองการแข่งขันฝีมือแรงงานอาเซียน

ส่วนแผนในปี 2562 มีนโยบายเน้นหนักตามสูตร 13+4+7 หรือนโยบาย 3A ประกอบด้วย นโยบายเร่งด่วน (Agenda Based) 13 นโยบาย ได้แก่

1.ยกระดับทักษะฝีมือแรงงานให้เป็นแรงงานมีคุณภาพ 2.พัฒนาทักษะฝีมือแรงงานตามมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติเพื่อรองรับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่อีอีซี 3.ส่งเสริมการมีงานทำและยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้สูงอายุและส่งเสริมให้คนพิการมีงานทำ

4.ส่งเสริมให้แรงงานไทยที่จะเดินทางไปทำงานต่างประเทศตามกระบวนการเดินทางไปอย่างถูกต้อง 5.ป้องกันและแก้ไขปัญหาแรงงานไทยถูกหลอกลวงและลักลอบไปทำงานต่างประเทศ 6.บริหารจัดการแรงงานต่างด้าวตามเอ็มโอยู ตรวจสอบและเร่งรัดการทำงานของแรงงานต่างด้าวให้ถูกต้องตามกฎหมาย 7.แก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานเชิงระบบ

8.ส่งเสริมการจ้างงานยุวแรงงานส่งเสริมมีงานทำและพัฒนาทักษะฝีมือผู้ต้องขัง 9.เพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันและแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานบังคับและการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน 10.เพิ่มความเข้มข้นในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย 11.ขับเคลื่อนเซฟตี้ ไทยแลนด์ (Safety Thailand) 12.พัฒนาและปรับปรุงสิทธิประโยชน์การประกันสังคมและการเข้าสู่อนุสัญญาไอแอลโอ ฉบับที่ 102

และ 13.ขยายการบูรณาการภาคีเครือข่ายในการส่งเสริมคุ้มครองและพัฒนาแรงงานนอกระบบ

สำหรับนโยบายระดับพื้นที่ (Area Based) 4 นโยบาย เน้นภารกิจของแรงงานจังหวัด ได้แก่ 1.ขับเคลื่อนนโยบายแรงงานในระดับพื้นที่อย่างเป็นเอกภาพ 2.เป็นเจ้าภาพบูรณาการการทำงานกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน และภาคีเครือข่าย 3.เป็นเจ้าภาพหลักร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานจัดทำแผนปฏิบัติการ (Action Plan) ในลักษณะแผนเดียว (One Plan) 4.เป็นศูนย์กลางรวบรวมข้อมูลแรงงานระดับจังหวัด (Provincial Big Data) และเชื่อมโยงสู่ศูนย์ข้อมูลแรงงานแห่งชาติ และนโยบายบริหารการพัฒนา (Administration Based) 7 นโยบาย ได้แก่ 1.ยกระดับกระทรวงแรงงานให้เป็นหน่วยงานที่มีมาตรฐานระดับสากล ปรับปรุงโครงสร้างให้สอดรับทิศทางการพัฒนาประเทศในอนาคต 2.พัฒนาบุคลากรให้มีขีดสมรรถนะสูง มีบุคลิกภาพที่ดี และมีภาวะผู้นำ 3.ขับเคลื่อนศูนย์ปฏิบัติการกระทรวงแรงงาน (ศปก.รง.) ศปก.ระดับกรม และระดับพื้นที่ 4.ยกระดับศูนย์ข้อมูลแรงงานแห่งชาติให้เป็นศูนย์กลางการใช้ประโยชน์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big data) 5.เร่งรัดทบทวน และปรับปรุงการออกกฎหมายชั้นพระราชบัญญัติและกฎหมายลำดับรองเพื่อแก้ไขปัญหาแรงงาน 6.จัดสวัสดิการสำหรับบุคลากรของกระทรวงแรงงานเพื่อเสริมสร้างขวัญและกำลังใจในการทำงาน และ 7.ให้มีคณะทำงานเพื่อศึกษา วิจัยหรือวางแผนอนาคตในการพัฒนาแรงงาน

ทั้งหมดเป็นผลมาจากการทำงานแบบบูรณาการของทุกภาคส่วน ประเมินไม่ได้ แต่ทำเท่าที่เห็น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image