อจ.วิพากษ์ ‘ม.44’ ยืดเวลาแบ่งเขต ‘ส.ส.’ แทรก ‘กกต.’ มีได้-มีเสีย

หมายเหตุ ความคิดเห็นจากนักวิชาการถึงผลดีผลเสีย และผลกระทบ จากคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 16/2561 ที่ขยายเวลาให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ดำเนินการแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส.ได้ต่อไปจนถึงก่อนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มีผลบังคับใช้


 

สมชัย ศรีสุทธิยากร
รักษาการแทนคณบดี สำนักวิชารัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และอดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

กกต.ต้องแบ่งเขตอย่างเป็นธรรมและโปร่งใส แม้คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 16/2561 เปิดช่องให้ กกต.สามารถแบ่งเขตเลือกตั้งโดยหากกรณีจำเป็นเร่งด่วนก็ไม่ต้องยึดกฎหมายหรือระเบียบใดๆ ให้ถือว่าชอบด้วยกฎหมายถือเป็นที่สุดและสามารถดำเนินการได้จนถึงก่อน พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มีผลบังคับใช้ก็ตาม สิ่งที่ กกต.ต้องยึดมั่นคือความสุจริต เที่ยงธรรม โปร่งใส และพิสูจน์ต่อสังคมให้ได้ว่าการแบ่งเขตดังกล่าวมิได้มาจากการรับใบสั่งจากผู้ใด ดังนั้น สิ่งที่ กกต.ต้องแถลงต่อสังคมเพื่อแสดงถึงความโปร่งใสในการดำเนินการคือ

Advertisement

1.ประกาศกำหนดการให้ประชาชนและทุกพรรคการเมืองทราบอย่างชัดเจน ว่า กกต.พร้อมจะประกาศเขตเลือกตั้งทั้งหมดเมื่อใด มิใช่ทอดเวลาเพื่อให้เกิดการเรียกร้อง เจรจาต่อรอง หรือรอรับคำสั่งจากใครจนถึงนาทีสุดท้าย

2.ประกาศให้ประชาชนและพรรคการเมืองรับรู้ว่า เขตเลือกตั้งใดที่ยังเป็นปัญหา ปัญหาดังกล่าวมาจากผู้ร้องเรียนเป็นใครหรือจากกลุ่มการเมืองใด และส่งมาทางช่องทางใด ผ่านคณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือผ่านคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อใด และ กกต.ได้มีกระบวนการพิจารณาอย่างรอบคอบให้เกิดความเป็นธรรมอย่างไร ไม่ใช่พอมีคำร้องเรียนผ่านบางองค์กรก็รีบจัดให้โดยมิได้มีการพิจารณาอย่างรอบคอบ

3.ในจังหวัดที่มีการแบ่งเขตเลือกตั้งที่แตกต่างไปจาก 3 รูปแบบแรกที่ผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและพรรคการเมืองแล้ว กกต.ต้องบอกให้สังคมรู้ว่าคือ จังหวัดใดบ้างและแบ่งในรูปแบบใหม่ด้วยเหตุผลใด

Advertisement

การดำเนินการดังกล่าว จะเป็นการพิสูจน์ว่า กกต.มีความเป็นกลาง ดำเนินการแบ่งเขตเลือกตั้งด้วยความสุจริตเที่ยงธรรม

ฐิติพล ภักดีวานิช
คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

ผมไม่แปลกใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะการเลือกตั้งอยู่บนพื้นฐานความพร้อมของพรรคที่สนับสนุนทหารเป็นหลัก จริงๆ ผมมองว่ารัฐบาล คสช.เองก็ต้องการให้มีการเลือกตั้ง เพราะจะเป็นกลไกเพื่อสร้างความชอบธรรมในการอยู่ในอำนาจหลังการเลือกตั้ง โดยเฉพาะการดำเนินนโยบายทั้งประเทศ หรือการเจรจาทางการค้า

แต่เงื่อนไขที่ผมมองคือถึงแม้ คสช.จะมี 250 ส.ว.ในการลงคะแนนเสียงเลือกนายกฯ แต่หลังจากการเลือกตั้งก็จำเป็นที่จะต้องมีจำนวน ส.ส.พอสมควรในสภา เพื่อที่จะให้การทำงานเป็นไปได้อย่างราบรื่น จึงอยู่ที่การประเมินสถานการณ์ของ คสช.ว่าความพร้อมของพรรคที่สนับสนุน คสช.นั้นมีมากน้อยแค่ไหนเพื่อที่จะได้รับเสียง ซึ่งตรงนี้น่าจะเป็นประเด็นหลักสำคัญอย่างหนึ่งที่ คสช.พิจารณาว่าจะให้มีการเลือกตั้งเมื่อไหร่

การขยายเวลาแบ่งเขตเลือกตั้งเป็นการแทรกแซงของ คสช.อยู่แล้ว กกต.หรือองค์กรอิสระของไทยภายใต้ คสช.ไม่ได้มีความเป็นอิสระจริงๆ เพราะ คสช.ยังมีอิทธิพล มีบทบาทและอำนาจในการตัดสินใจเรื่องต่างๆ เช่น สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เอง ที่ผ่านมาอะไรที่เสนอไปก็ผ่านเกือบทั้งหมด เพราะฉะนั้น องค์กรต่างๆ ที่ตั้งภายใต้ คสช.ก็จะอยู่ภายใต้กรอบการทำงานที่กำหนดโดย คสช.อยู่แล้ว ไม่น่าจะมีความเป็นอิสระ และน่าจะเป็นเหตุผลให้ความมั่นใจและความน่าเชื่อถือขององค์กรอิสระมีน้อยลงด้วย

จริงๆ หลายอย่างก็ถูกทำโดยที่สาธารณชนไม่ได้รับรู้อยู่แล้ว ณ ตอนนี้ ไม่ใช่แค่เรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้ง แต่สิ่งที่จะกระทบจริงๆ คือสิทธิเสรีภาพทางการเมืองทั้งของพรรคการเมืองและประชาชน เนื่องจากพรรคการเมืองยังไม่มีอิสระในการทำกิจกรรมทางการเมือง และการสื่อสารข้อมูลของพรรคการเมืองกับประชาชนก็เป็นสิ่งสำคัญต่อการตัดสินใจในการเลือกตั้ง ที่น่าจะสำคัญมากกว่าการจำกัดสิทธิเสรีภาพทางการเมือง และควรจะให้พรรคการเมืองมีสิทธิเสรีภาพอย่างเต็มที่ได้แล้ว เพราะตอนนี้เราได้รับข้อมูลแค่จากทาง คสช.เพียงอย่างเดียว

ถ้ามีการเลื่อนการเลือกตั้ง ผู้ที่ได้ประโยชน์น่าจะเป็น คสช.มากที่สุด อย่างน้อย คสช.ก็อาจจะมีเวลามากขึ้นในการเจรจาหาแนวร่วม หรือหาพันธมิตรทางการเมือง จากที่เราเห็นตอนนี้ก็มีการเจรจาแล้วในระดับหนึ่ง และมีหลายพรรคที่สะเทือนอยู่แล้ว การขยายเวลาก็ยิ่งเปิดโอกาสให้มีการเจรจาที่มากขึ้น ผู้ที่ได้ประโยชน์ที่สุดจึงน่าจะเป็น คสช.มากกว่าพรรคการเมือง

เวลานี้การเลื่อนเวลาอาจจะไม่ได้ทำให้พรรคการเมืองเสียประโยชน์มากนัก เพราะด้วยปัญหาที่ยังไม่มีการให้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นหรือการทำกิจกรรมของพรรคการเมือง ดังนั้น ผู้ที่เสียประโยชน์จริงๆ ก็อาจพูดได้ว่าทั้งประเทศ เพราะทำให้การกลับสู่ประชาธิปไตยช้าลง

พนัส ทัศนียานนท์
อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

คําสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 16/2561 เป็นการแทรกแซง กกต. เพราะการแบ่งเขตเลือกตั้งเป็นอำนาจของ กกต. สำหรับผลกระทบที่จะมีต่อการเลือกตั้งนั้น มีแน่นอน ขึ้นอยู่กับว่าการที่ คสช.ใช้อำนาจมาแทรกแซงตรงนี้ สุดท้ายแล้วเท่ากับว่าเป็นการเข้าไปแบ่งเขตเลือกตั้งเองหรือไม่ เพราะเหมือนกับว่าสุดท้ายแล้วไม่ว่า กกต.จะแบ่งเขตอย่างไร ก็ต้องให้ คสช.เห็นชอบ หรือไม่เช่นนั้นก็ต้องแบ่งตามที่ คสช.ต้องการ ดูลักษณะแล้วเป็นเช่นนั้น

การแบ่งเขตเลือกตั้งทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบกันได้ ถ้าพูดกันอย่างง่ายๆ คือ แบ่งเพื่อทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพรรคการเมืองต่างๆ ที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง เช่น เขตพื้นที่ไหน ถ้าเห็นว่าเป็นพื้นที่ซึ่งเสียงสนับสนุนของพรรคหนึ่งหนาแน่นมาก ก็ลากเส้นแบ่งเขตตรงนั้นออก เมื่อแบ่งแล้วก็กลายเป็นเขตเลือกตั้งอีกเขตหนึ่ง กลายเป็นอย่างนั้นไป เพราะฉะนั้น พรรคนั้นๆ ที่เดิมมีเสียงสนับสนุนเข้มแข็งมาก ก็ต้องอ่อนลง เพราะถูกแบ่งครึ่งออกไปแล้วถ้ามีการขีดเส้นแบ่งครึ่งไปเลย

เท่าที่ดูเราก็รู้อยู่แล้วว่า คสช.เองมีส่วนได้เสียในการเลือกตั้งคราวนี้อย่างเต็มๆ มีพรรคการเมืองที่ออกมาประกาศว่าจะสนับสนุน คสช. โดยเฉพาะสนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯต่อไป ซึ่งก็ชัดเจนว่าการแบ่งเขตเลือกตั้งในครั้งนี้ คงจะทำเพื่อให้พรรคการเมืองที่สนับสนุน คสช.ได้เปรียบ นี่ฟันธงตรงๆ ว่าเป็นอย่างนั้น

ฐิติวุฒิ บุญยวงศ์วิวัชร
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

กรณีการขยายเวลาแบ่งเขตการเลือกตั้งสามารถมองได้หลายแง่ ปัจจุบันมองได้ว่า 1.สังคมกำลังตั้งคำถามว่าจะทำให้การเลือกตั้งช้าลงหรือไม่ เพราะก่อนหน้านี้เรื่องการแบ่งเขตการเลือกตั้งดูเหมือนว่าจะต้องขยับเวลาไปอีกเล็กน้อย 2.ก่อนหน้านี้มีพรรคเล็กบางพรรคเรียกร้อง จึงเป็น 2 เหตุผลที่อาจจะส่งผลให้การเลือกตั้งช้าลง

แต่เอาเข้าจริงแล้วเรื่องช้าหรือไม่ช้านั้นต้องกลับไปดูหลักการของการเลือกตั้ง เรื่องของหลักเสรียุติธรรม เพราะการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นมีจุดมุ่งหมายไม่เพียงการเลือกรัฐบาลเท่านั้น แต่สังคมยังใช้การเลือกตั้งเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ดังนั้น ถ้าหากไม่เสรียุติธรรม การเลือกตั้งก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองได้

ถ้ามีการเลื่อนการเลือกตั้งอาจจะกระทบกับหลักการเรื่องเสรีและยุติธรรมเล็กน้อย แต่จะเกิดปัญหาใหญ่กว่านั้น คือ ถ้าสมมุติว่าการเลือกตั้งไม่เสรียุติธรรมจะก่อให้เกิดความปั่นป่วนภายหลังการเลือกตั้ง และทำให้สังคมไทยยังไม่สามารถหลุดไปจากเรื่องความขัดแย้งได้อีกครั้ง

เมื่อมีการขยายเวลาการแบ่งเขต ทำให้พรรคต่างๆ ที่ในปัจจุบันบางพรรคก็เปิดตัวบ้าง ไม่เปิดตัวบ้าง พรรคที่เปิดตัวไปแล้วก็สามารถที่จะทำงานกันได้ต่อไป แต่บางพรรคที่ยังไม่พร้อม หรือพร้อมแล้วก็ยังไม่สามารถหาวันดีเดย์ในการเลือกตั้งได้จริงๆ ในเรื่องการแข่งขันจึงส่งผลเรื่องนโยบายในการลงพื้นที่ เพราะลักษณะการขยายเวลาในปัจจุบันจะเป็นปัญหาของพรรคการเมืองขนาดกลางที่เน้นพื้นที่และจะต้องลงพื้นที่เป็นหลัก ทำให้ไม่สามารถอยู่เกาะพื้นที่ได้

ด้วยภาพที่สังคมกำลังมองในปัจจุบัน จึงต้องย้อนกลับไปดูหลักการเสรียุติธรรมในการดำเนินการเลือกตั้ง มองกลไกในภาพรวม ว่าทุกพรรคและทุกคนที่เข้ามามีส่วนร่วมในการเลือกตั้งนั้น ได้รับการปฏิบัติจากองค์กรที่ควบคุมการเลือกตั้งอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม และมีเสรีในการเลือกตั้งจริงหรือไม่

ท้ายที่สุดเมื่อผลการเลือกตั้งออกมา บางพรรคอาจจะแพ้หรืออาจจะชนะ แต่ถ้ากระบวนการนั้นยุติธรรมก็จะไม่มีข้อครหา แต่หากหลังการเลือกตั้งพบว่ากระบวนการไม่ยุติธรรมก็จะทำให้ผลการเลือกตั้งนั้นก่อให้เกิดความวุ่นวายได้

ปัญหาหลักจริงๆ คือ กกต.ยังไม่สามารถใช้อำนาจของตัวเองในการดูแลเรื่องการเลือกตั้งได้อย่างเต็มที่ นี่เป็นปัญหาใหญ่ หน้าที่หลักของ กกต.คือต้องอำนวยการและควบคุมการเลือกตั้งให้เป็นไปตามระเบียบข้อกฎหมาย แต่ปัจจุบันจะพบว่าอำนาจ กกต.ในการทำงานเรื่องการเลือกตั้ง ยังไปเกี่ยวเนื่องกับอำนาจของ คสช.อยู่ด้วย

ฉะนั้นฟังก์ชั่นงานต่างๆ จึงดูไม่เป็นเอกภาพ เราจะมองเรื่องการเลือกตั้งในอนาคตอย่างไรให้ราบรื่นและสามารถเป็นกลไกที่เอื้อต่อการเลือกตั้งให้เสรียุติธรรม ปัญหาแรกคือตอนนี้ต้องให้อำนาจเต็มกับ กกต.ไว้ก่อน เพื่อจัดการการเลือกตั้งได้อย่างเต็มที่ และจะทำให้ปัญหาอื่นค่อยๆ ลดลง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image