‘สุรเกียรติ์ เสถียรไทย’ แนะ 3 ข้อ 9 ความท้าทาย เมื่อไทยนั่ง ปธ.อาเซียน

หมายเหตุมูลนิธิเพื่อสันติภาพและความปรองดองเอเชีย ร่วมกับมหาวิทยาลัยรามคำแหง จัดการประชุมวิชาการระดับชาติ “อาเซียนบนเส้นทางของประชาคม” (ASEAN on the Path of Community) โดยมีศาสตราจารย์พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย ประธานคณะมนตรีเพื่อสันติภาพและความปรองดองเอเชีย (APRC) กล่าวปาฐกถาพิเศษ “โอกาสและความท้าทายของประเทศไทยในฐานะประธานอาเซียน” ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน


 

คณะมนตรีเพื่อสันติภาพและความปรองดองเอเชียตั้งขึ้นครั้งแรกในเอเชียเมื่อปี 2012 เนื่องจากเรามีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดีมากแต่เราไม่มีกลไกในการเเก้ไขความขัดเเย้ง ในที่สุดมีการจัดประชุมและตั้งองค์กรนี้ขึ้นมา

หลักการและวัตถุประสงค์ คือการทำการทูตที่ไม่เป็นข่าว เพราะเรื่องบางเรื่องพูดผ่านช่องทาง ทางการทูตอย่างเดียวไม่ได้ บางครั้งเราต้องการการพูดคุยที่ไม่เป็นทางการ หรือไม่เป็นสาธารณะมากนัก เราจึงเข้ามาเสริมในส่วนนี้

Advertisement

คล้ายกับเป็นองค์กรที่ 3 ทำเรื่องการทูตที่ไม่เป็นข่าว เพื่อลดความตึงเครียดในภูมิภาคและลดความขัดแย้ง ทำให้เกิดการเสวนาสันติภาพกันได้อย่างเงียบๆ เพราะฉะนั้นการที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เห็นถึงความสำคัญและให้ตั้งสำนักเลขาธิการของคณะมนตรีเพื่อสันติภาพและความปรองดองเอเชีย ในมหาวิทยาลัย ถือว่าเป็นนิมิตหมายที่ดี

ผมมองว่าเป็นโอกาสทองของประเทศไทยที่จะดำเนินการต่างๆ ให้เป็นที่ยอมรับว่าในช่วงที่เราจะเป็นประธานอาเซียนต่อจากสิงคโปร์ เราจะดำเนินการอะไรได้บ้าง และการที่นายกรัฐมนตรีได้ไปประกาศเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน ว่าเราจะร่วมมือบนพื้นฐานหลักการที่เรียกว่า 3 เอ็ม

คือความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน (Mutual Trust) ความเคารพซึ่งกันและกัน (Mutual Respect) และผลประโยชน์ร่วมกัน (Mutual Benefit) เป็นการพูดถึงการเป็นหุ้นส่วนที่ก้าวไปข้างหน้าเพื่อความยั่งยืน ก็เป็นสิ่งดี

Advertisement

แต่สิ่งที่เราจะต้องให้ความสำคัญมีอยู่ 3 เรื่อง

เรื่องแรก คือ ในยุคที่เทคโนโลยีก้าวกระโดด ประเทศไทยจะนำอาเซียนให้มีความพร้อมต่อยุคของเทคโนโลยีก้าวกระโดดได้อย่างไร ทำอย่างไรที่คนของเราจะมีงานทำ ทำอย่างไรให้การศึกษาของ 10 ประเทศจะตามกันทัน คือจะเตรียมคนเราให้มีความพร้อมในอนาคต

การก้าวกระโดดของเทคโนโลยีในยุคอุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งนับเป็นการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ครั้งแรก คือแปรรูปสินค้าเกษตร ครั้งที่ 2 การส่งออกปิโตรเคมี ครั้งที่ 3 การผลิตที่ใช้คอมพิวเตอร์ และครั้งที่ 4 ปัญญาประดิษฐ์ และโลกดิจิทัล ซึ่งปัญหาชัดเจนที่สุดของหลายประเทศในอาเซียนคือ ยังมีสังคมที่อยู่ใน 1-3 และมีส่วนหนึ่งที่อยู่ที่ 4 ซึ่งเราจะทำอย่างไรกับคนเหล่านั้น

เรื่องที่ 2 เรื่องของยุทธศาสตร์การเมืองและเศรษฐกิจของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปเร็วมาก อาเซียนจะวางตัวอยู่ตรงไหน ขณะที่จีนและสหรัฐมีความขัดเเย้งเรื่องสงครามการค้า อาเซียนวางตัวอย่างไรที่จะเป็นประโยชน์ต่ออาเซียนทั้ง 10 ประเทศ จุดนี้เป็นความท้าทายของประเทศไทยในฐานะประธานอาเซียน

เรื่องที่ 3 การแก้ปัญหาในอาเซียน เช่น ปัญหาเรื่องรัฐยะไข่ อาเซียนจะเป็นสะพานเชื่อมเมียนมากับสังคมระหว่างประเทศอย่างไร ทำอย่างไรจะสามารถแก้ปัญหารากของยะไข่และโรฮีนจา เช่น เรื่องการแก้ปัญหาความยากจน ความขัดแย้งชุมชน ซึ่งปัญหานี้เป็นปัญหาอันดับ 3-4 ของโลก

เพราะฉะนั้นการที่เราเข้ามาเป็นประธานช่วงนี้ก็เป็นช่วงสำคัญที่ผู้อพยพกำลังจะเริ่มกลับเข้ามาทำข้อตกลงระหว่างบังกลาเทศกับเมียนมา ดังนั้น เราจะมีบทบาทที่สร้างสรรค์อย่างไร

เราต้องตีโจทย์ให้แตกว่าเราจะพาความเป็นหุ้นส่วนของอาเซียนในการก้าวไปข้างหน้าในยุคเทคโนโลยีต้องทำยังไง ซึ่งประเทศไทยเองเราพูดถึงประเทศไทย 4.0 ขณะที่กฎหมายเรายังอยู่ที่ 0.4 เรายังตามไปไม่ทัน เช่นเดียวกันกับหลายประเทศในอาเซียนที่ต้องปรับปรุงกฎหมาย ปรับปรุงการศึกษา เพราะสิ่งที่เรียนมาเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ไม่ตรงกับยุคแล้ว มันต้องมีการปรับปรุง ประเทศไทยเองก็ต้องปรับปรุงไม่ใช่ว่าเราจะเป็นผู้นำเขาแต่เราไม่ปรับปรุงหรืออยู่ล้าหลังก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้นเราจะเดินไปด้วยกันได้อย่างไรและตามทันได้อย่างไร

ประธานอาเซียนครั้งนี้สำคัญเพราะโลกเปลี่ยนแปลงมาก เราสามารถแสดงให้เห็นว่าเราก้าวเดินไปได้อย่างมั่นคง และสร้างสมดุลของอิทธิพลทางการเมือง การค้า และเศรษฐกิจเพื่อเราจะได้ประโยชน์จากทุกฝ่าย ซึ่งใน 100 กว่าปีที่ผ่านมา เราเป็นสถานที่ที่คนสบายใจเพราะเราไม่ขัดแย้งกับใคร อาเซียนทั้ง 10 ประเทศเข้าได้ทุกคน ทุกเวที สำหรับความท้าทายของไทยในฐานะประธานอาเซียน

ประการแรกต้องสร้างอาเซียนให้มีความพร้อมต่ออนาคต 3 ประการ

1.การเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดดในยุค 4.0 การผลิตอาหาร รถยนต์ไม่ต้องใช้คน การใช้งานทุกอย่างผ่านแอพพ์ การใช้หุ่นยนต์ดูแลรักษาพยาบาล ผ่าตัด ยังมีเรื่องของฟินเทค หรือการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านมือถือ คนรุ่นใหม่อาเซียนใช้เวลา 6 ชั่วโมงกับมือถือ ร้านเสื้อผ้าระดับกลางต้องปิดตัวเพราะคนซื้อผ่านมือถือ วิถีชีวิตดิจิทัลอีโคโนมีเปลี่ยนแปลงชีวิตเราทุกคน อย่างก้าวกระโดด ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่ประเทศไทยในฐานะประธานอาเซียนต้องตีโจทย์ให้แตก ซึ่งผมคิดว่าสิ่งที่เป็นหัวใจคือการศึกษา ถ้าอาเซียน 10 ประเทศจับมือกันได้ว่าอนาคตของเราเน้นเทคโนโลยี ก็ต้องสอนคนให้ใช้เทคโนโลยี ยังมีเรื่องสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งไทย กับสิงคโปร์เป็น 2 ประเทศที่มีสังคมคนสูงอายุ ดังนั้น การรับมือกับสถานการณ์ของประเทศต่างๆ ไม่เหมือนกัน แล้วจะทำให้คนอาเซียนพร้อมรับสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นได้อย่างไร ความรู้ 2-3 ปีก่อนล่าช้าไม่ทันสมัยกับความเปลี่ยนแปลง อนาคตคนไม่สนใจวุฒิการศึกษา ดังนั้น การปฏิรูปการศึกษาต้องยกเครื่อง เราต้องสร้างคนให้เป็นผู้ใช้นวัตกรรม กำกับซ่อมบำรุง และในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าผู้สูงอายุไทยเพิ่มขึ้น 20 เปอร์เซ็นต์ ทำอย่างไรให้ผู้สูงอายุสามารถเป็นแรงงานใน disruptive technology การเรียนในระดับขั้นๆ ที่เป็นอยู่ไม่สอดคล้องกับโลกปัจจุบัน ต้องเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิตแทน เพราะเทคโนโลยีเปลี่ยนไว

ดังนั้น ความท้าทายแรกที่สำคัญที่สุด จะทำอย่างไรให้คนอาเซียนมีความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วนี้

2.ทำให้คนมีความพร้อมสำหรับการทำงานภายในอาเซียน ซึ่งเรายังขาดความรู้สึกผูกพันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในอาเซียน เรายังขาดความรู้สึก We are ASEAN. ASEAN is us. เมื่อเกิดภัยพิบัติที่ประเทศอาเซียนเราแค่รับรู้ แต่เราไม่ให้ความสำคัญมาก ยังไม่คิดแก้ปัญหาร่วมกัน แต่กรณีเขื่อนแตกที่ลาวถือเป็นครั้งแรกที่เกิดความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกัน มีการรายงานข่าวเกาะติดมีความช่วยเหลือ

3.การเตรียมความพร้อมสำหรับการรับมือกับโลกภายนอก เพราะการเปลี่ยนแปลงในโลกเกิดขึ้นเร็วมากการแข่งขันด้านยุทธศาสตร์ของมหาอำนาจในโลกเกิดขึ้นเร็ว หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางปรากฏเป็นรูปธรรมอย่างรวดเร็ว อาเซียนต้องตั้งหลักให้ดีว่าจะทำอย่างไรให้เป็นประโยชน์กับอาเซียนมากที่สุด

อาเซียน 10 ประเทศเรามีสารมาตรฐานอาเซียน (ARS) มีการประชุมอาเซียนเรื่องความร่วมมือทางการเมืองและความมั่นคง มีการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (EAS) แล้วจีน เกาหลี ญี่ปุ่น และอาเซียน จับมือกันเพื่อเปิดเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก หรืออาร์เซป (RCEP) ซึ่งพูดเสมอว่าภาคเอกชนระวังให้ดี นั่นคือการลดภาษี ลดกำแพงด้านการค้า ลดอุปสรรคด้านการลงทุนทางด้านธุรกิจและบริการกับ 16 ประเทศ ซึ่งมีประเทศที่พัฒนาแล้วอยู่ด้วย ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มากว่าเราจะได้หรือเสีย

ขณะเดียวกัน มีการตกลงที่เรียกว่า TPP แต่อเมริกาไม่เอาด้วย ทำให้ 12 ประเทศของ TPP ดีดอเมริกาออกไปต้องมาพบกันและพยายามกอบกู้ขึ้นเป็น RCPP เพื่อเเข่งกับ RCEP ทำให้เกิดเขตการค้าเสรี 2 ขั้ว และมีการเอามารวมกันเป็น FTAAP จากข้อเสนอสี จิ้นผิง นี่คืออนาคต กำลังมีการศึกษาและน่าจะมีการเจรจาในอนาคต อันนี้เรื่องใหญ่มาก ต้องศึกษาหมดทุกเรื่องว่าไทยได้เปรียบเสียเปรียบอย่างไร เพราะการที่จะเปิดการค้าเสรีต้องเป็นการรวมกันทุกเรื่อง แล้วเราศึกษาครบทุกเรื่องหรือยัง

นอกจากนี้ยังมีเรื่องความท้าทาย 9 ประการ ประการแรก คือ ความพร้อมของกระเเสที่กำลังเปลี่ยนจากภาคีนิยมเป็นเอกภาพนิยมหรือเอกภาคีนิยม ตามที่กล่าวมา

ประการที่ 2 คือปัญหารัฐยะไข่ในพม่า ไม่ใช่ความขัดแย้งทางศาสนา แต่เป็นความชิงชังระหว่างตัวบุคคล บางคนเข้าใจว่าเป็นประเด็นด้านศาสนา บางคนมองเป็นมนุษยธรรม ซึ่งรากของปัญหา เรื่องแรกคือความเกลียดชังกัน ต้องหาทางแก้ไข ไทยเป็นประธานอาเซียนจะหนักกว่าสิงคโปร์ เพราะโรฮีนจากำลังจะกลับยะไข่ ไทยจะต้องให้ 10 ประเทศเข้ามาร่วมกัน และต้องเป็นสะพานเชื่อมเมียนมากับโลกตะวันตก แก้ปัญหาความยากจน ความเกลียดชัง สนับสนุนให้เมียนมามีโรดแมปในการแก้ปัญหานี้

ประการที่ 3 ปัญหาทะเลจีนใต้ ถ้าเกิดปะทะกันขึ้นมาจริงๆ จะส่งผลกระทบกับความมั่นใจที่มีต่อประธานอาเซียน

ประการที่ 4 ปัญหาความร่วมมือในการต่อต้านภัยพิบัติอาเซียน

ประการที่ 5 ปัญหาการส่งเสริมประชาธิปไตยในอาเซียน ซึ่งเป็นความท้าทายมาก เพราะอาเซียนมีการปกครองหลากหลาย

ประการที่ 6 ปัญหาในการส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ซึ่งในหลายประเทศมองว่าเป็นกิจการภายใน จะทำอย่างไรให้เป็นการแทรกเเซงทางบวกอย่างสร้างสรรค์ และเป็นการเเทรกแซงที่ไม่แทรกเเซง

ประการที่ 7 ปัญหาการปฏิบัติตามพันธกรณีทางเศรษฐกิจของอาเซียน ที่ยังเดินๆ ถอยๆ

ประการที่ 8 ปัญหาการกระชับความไว้วางใจและความแน่นเเฟ้นในเสาหลักของการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคมเเละวัฒนธรรม

ประการที่ 9 ความท้าทายที่มาจากประธานอาเซียนเอง หวังว่าปัญหาของเราจะไม่เป็นอุปสรรคให้เกิดปัญหาในการสร้างความพร้อม

ทั้งนี้ มูลนิธิเพื่อสันติภาพและความปรองดองเอเชีย เราจะมีประชุมประจำปีวันที่ 26 พฤศจิกายน คณะมนตรีเพื่อสันติภาพและความปรองดองเอเชียจะมากำหนดว่าปีหน้าจะทำอะไร จะเน้นเรื่องไหน หรือทำเรื่องเก่าต่อไป ซึ่งในช่วงที่ 4-5 ปีที่ผ่านมาเน้นการทำงานเรื่องปัญหาทะเลจีนใต้ เราก็พยายามทำงานอยู่เบื้องหลังเรียกว่าการทูตที่ไม่เป็นข่าว

นอกจากนี้ยังมีการติดตามปัญหาเรื่องภาคใต้ของประเทศไทย และได้ให้ความคิดเห็นในบางวาระ บางโอกาสที่ไม่ได้เป็นข่าว เราได้เข้าไปมีส่วนช่วยการแก้ปัญหาเรื่องรัฐยะไข่

ผมมีความหวังไว้มากกับอาเซียน เพราะเรามีวิถีของอาเซียนที่มีทั้งจุดเด่น จุดด้อย ข้อเเข็ง และข้ออ่อน แต่ข้ออ่อน เช่นการตัดสินใจช้าต้องรอทุกประเทศเห็นตรงกัน ด้านหนึ่งก็เป็นจุดแข็งของอาเซียนที่ทำให้เราอยู่กันได้

แต่ปัญหาคือจะทำยังไงให้วิถีของอาเซียนเป็นประโยชน์กับอาเซียนในยุคที่เรากำลังจะก้าวไปข้างหน้า ก็เป็นความท้าทายมาก

อีกเรื่องหนึ่งที่เป็นความคาดหวังคืออาเซียนเรามี 10 ประเทศที่มีความหลากหลายกันเรื่องระบบรัฐบาล เรื่องชาติ ศาสนา ทำให้อาเซียนน่าจะเป็นสะพานเชื่อมมหาอำนาจต่างๆ ได้ดี ทั้งสหรัฐ จีน รัสเซีย ยุโรป หรืออินเดีย ซึ่งเราเข้าได้กับทุกกลุ่ม แล้วพลัง 10 ประเทศรวมกัน 600 กว่าล้านคน เป็นพลังที่มากพอสมควร

เพราะฉะนั้นอาเซียนต้องเป็นสะพานของภูมิภาคที่เข้มแข็ง เราต้องซ่อมสะพานของเราให้เข้มแข็งเชื่อมทุกฝ่ายภายใต้ยุทธศาสตร์การเมืองเเละเศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว

ซึ่งมีทั้งโอกาสที่เป็นประโยชน์และเป็นอันตราย ตรงนี้เป็นความคาดหวังของผมที่ไม่ว่าใครจะเป็นประธานอาเซียนก็ตามจะต้องเชื่อมโยงปัญหาต่างๆ และความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในโลกได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image