คสช.มีอำนาจแบ่งเขต พรรคไหนได้เปรียบ?

หมายเหตุความเห็นของนักวิชาการกรณีคำสั่ง คสช.ที่ 16/2561 ให้อำนาจ คสช.และรัฐบาลมีส่วนร่วมในกระบวนการบริหารจัดการแบ่งเขตเลือกตั้งของ กกต.จนเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าอาจเกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างพรรคการเมืองต่างๆ

วันวิชิต บุญโปร่ง
คณะรัฐศาสตร์ ม.รังสิต

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการมีคำสั่ง คสช.ที่ 16/2561 หากมองจากภายนอกจะเห็นถึงความไม่พร้อมของ กกต.ในการเตรียมการจัดการเลือกตั้ง หากมองอย่างมีนัยสำคัญ เสมือนการรองรับการเตรียมเข้าสู่สนามการเลือกตั้งของพรรคการเมืองอย่างพรรคพลังประชารัฐหรือไม่ ซึ่งจะนำไปสู่การจัดระเบียบกับผู้ที่จะมาเป็นสมาชิกพรรคดังกล่าวว่าจะซ้อนกับพรรคส่งลงสมัครหรือไม่ โดยจะมีผลทั้งการส่งตัวผู้ลงสมัครแบบเขตและบัญชีรายชื่อ  จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าหลายครั้งที่ กกต.มีทิศทางโน้มเอียง ฟังเสียงสัญญาณจาก คสช. อีกทั้งสิ่งที่ กกต.ให้คำชี้แจงต่อสาธารณชนยังไม่ชัดเจน นำไปสู่การตีความต่างๆ ให้เกิดความวิตกในหลายเรื่องว่า กกต.จะทำหน้าที่อย่างเป็นกลางหรือไม่

Advertisement

ดังนั้น เมื่อดูจากต้นสายปลายเหตุย่อมไม่สามารถเลี่ยงได้ว่าเป็นการรองรับ รอดูว่าการจัดแบ่งเขตการเลือกตั้งเกี่ยวข้องกับการเตรียมตัวลงสมัครชิงชัยในการเลือกตั้งของสมาชิกพรรคพลังประชารัฐหรือไม่ จะเห็นว่าพรรคนี้ทยอยเปิดตัวมากขึ้นเรื่อยๆ และมีผลพอสมควร เห็นได้จากอดีตสมาชิกพรรคเพื่อไทยย้ายเข้าพรรคนี้ แต่เกิดมีปัญหาพื้นที่ทับซ้อนกับผู้เคยแข่งขันกับพรรคเพื่อไทยแล้วผันตัวเองมาอยู่พรรคพลังประชารัฐด้วย หรือไม่ ดังนั้น คงเป็นเรื่องระยะเวลา การพูดคุยกัน ทั้งนี้ ปัญหาทางเทคนิคเรื่องการแบ่งเขตพื้นที่การเลือกตั้งนั้นทำง่าย แต่ไม่เคยมาพูดคุยกัน ส่วนจะมองว่า กกต.ถูกแทรกแซงหรือไม่นั้น เขาหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะทำตาม คสช.ผู้มีอำนาจชัดเจนที่สุดในขณะนี้

ตัวพรรคพลังประชารัฐ หากมองตามประโยคของนายสมศักดิ์ เทพสุทิน ที่กล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ดีไซน์มาเพื่อเรา ดังนั้น การจัดการระบบการเลือกตั้งก็ดีไซน์มาเพื่อพรรคพลังประชารัฐโดยเฉพาะ เพื่อลดทอนขนาดความแข็งแรงของพรรคเพื่อไทย หรือแชมป์เก่า หรือพรรคการเมืองขนาดใหญ่ให้ลดลงไปขณะเดียวกัน ในความแข็งแกร่ง การเคลื่อนไหวเช่นนี้ย่อมปฏิเสธความรู้สึกของผู้คนในสังคมไม่ได้ว่า กติกาจำกัดการแข่งขันทางการเมืองของฝ่ายตรงข้ามจะกลายเป็นพลังบูมเมอแรงมาลงโทษพรรคพลังประชารัฐในภายหลัง อย่าประมาทอารมณ์ความรู้สึกของผู้คน ถ้าสู้ตามกติกาตรงไปตรงมาย่อมไม่มีปัญหา แต่ถ้าขยายความรู้สึก อารมณ์นึกคิดในวิธีการแบบนี้ไปเรื่อยๆ ย่อมไม่ส่งผลดีกับพรรคพลังประชารัฐ

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าการเลื่อนการแบ่งเขต ส.ส.ออกไปหมายถึงความไม่พร้อมจัดการการเลือกตั้ง อย่างน้อยควรให้ผู้ลงสมัครหรือประชาชนในพื้นที่ได้รับทราบว่าตัวเองมีสิทธิในพื้นที่ใด อย่างน้อยไม่ควรต่ำกว่า 6 เดือน นั่นหมายถึงมีผลต่อการตรวจสอบพื้นที่การผ่องถ่ายย้ายสำมะโนครัวที่จะมีผลต่อตัวแปร ต่อตัวเลขของผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ ในทางรัฐศาสตร์มองว่านี่เป็นวิธีการสร้างการชิงไหวชิงพริบ การสร้างโอกาสทางการเมืองให้กับผู้ครองอำนาจรัฐที่ได้ประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะผู้ที่ถืออำนาจรัฐในปัจจุบัน และต้องการจะไปต่อในทางการเมือง หรือการรักษาอำนาจทางการเมืองต่อ ในสถานการณ์ที่ไม่ปกติดังปัจจุบันคงต้องยอมรับมติการแบ่งเขตของ กกต.เป็นที่สุดไป

หากนักการเมืองบอกว่าตัวเองชัดเจน มีพื้นที่ที่เข้มแข็ง มีภาพลักษณ์ มีต้นทุนที่ต่อเนื่องมาตลอดก็ไม่ต้องหวั่นกลัว ใช้นโยบายการหาเสียงมาต่อสู้กันต่อไป แต่ในใจลึกๆ คงอดเป็นห่วงไม่ได้ หรือนักการเมืองที่ไม่ได้ประโยชน์จากการดีไซน์ หรือการแบ่งเขตเลือกตั้งแบบนี้คงกังวลพอสมควร ส่วนในอนาคตจะมีคำสั่งอื่นๆ มาแทรกแซงการเลือกตั้งอีกหรือไม่ คิดว่าคงใช้ลักษณะพิเศษเฉพาะในการเลือกตั้งครั้งนี้เท่านั้น เพราะ คสช.จะสิ้นสุดไปพร้อมกับการเริ่มเข้ามาของรัฐบาลชุดใหม่ ดังนั้นอำนาจแทรกแซงเช่นนี้คงไม่มีอีก ยกเว้นจะมีการรัฐประหารอีกรอบหนึ่ง

ยุทธพร อิสรชัย
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

คําสั่งที่ 16/2561 เป็นคำสั่งเนื่องมาจากก่อนหน้านี้ กกต.มีประเด็นเรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้ง ในหลายพื้นที่อาจจะรับฟังความเห็นเรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้งจากประชาชนไปแล้ว แต่ในบางพื้นที่ยังไม่ได้รับฟังความเห็น เพราะฉะนั้นด้วยระยะเวลาอาจจะไม่ทันแล้วเสร็จ ดังนั้นกระบวนการในการออกคำสั่งจึงให้อำนาจ กกต.อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในการที่จะดำเนินการแบ่งเขตเลือกตั้ง

ทีนี้การแบ่งเขตเลือกตั้งดังกล่าวก็ไม่ได้เป็นไปตามหลักกฎหมายกำหนดเอาไว้ คือ เป็นการรับฟังความเห็นแล้วต้องมีตัวแบบในการแบ่งเขตที่ชัดเจน ดังนั้นพอให้อำนาจ กกต.ในการแบ่งเขตมันก็มีความเป็นไปได้ที่อาจจะทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่าเจอรี่แมนเดอริ่ง (gerrymandering) ซึ่งในทางรัฐศาสตร์ เป็นปรากฏการณ์ในการขีดเขตเลือกตั้งแต่ก่อให้เกิดผลได้หรือผลเสียที่ต่างกันไป

แล้วครั้งนี้การใช้ระบบการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมได้ทำให้บัตรเลือกตั้งเหลือเพียงแค่ 1 ใบ หมายความว่าประชาชนต้องใช้วิจารณญาณถึง 3 เรื่อง1.การตัดสินใจเลือก ส.ส.ในพื้นที่ 2.การตัดสินเลือก ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคการเมือง 3.การตัดสินใจเลือกว่าที่นายกรัฐมนตรี เพราะฉะนั้นภายใต้บัตร 1 ใบกับการกา 1 ครั้งแล้วต้องคิด 3 เรื่อง ทำให้โอกาสในการแบ่งเขตการเลือกตั้งมันส่งผลได้ผลเสียสูงมาก ซึ่งการเลือกตั้งครั้งตามรัฐธรรมนูญปี 40 และปี 50 เป็นการเลือกตั้งโดยใช้บัตร 2 ใบ โดยสามารถเลือกเขตเลือกตั้งและพรรคการเมือง ซึ่งหากเขตเลือกตั้งมีปัญหาเรื่องความไม่เป็นธรรมเกิดขึ้น ยังมีโอกาสที่อีก 1 ใบจะเลือกพรรคการเมืองได้

แต่ภายใต้เงื่อนไขของรัฐธรรมนูญปี 60 ซึ่งมีบัตรเลือกตั้งเหลือเพียงแค่ใบเดียว และแต่ละเขตเลือกตั้งใช้หมายเลขของแต่ละผู้สมัครต่างกันไป โอกาสจะทำให้เรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้งส่งผลได้และผลเสียต่อทางการเมืองนั้นสูงขึ้น ดังนั้นเมื่อเป็นอย่างนี้โอกาสที่จะใช้เทคนิคการเมืองเพื่อการแบ่งเขตเลือกตั้งก็จะเป็นไปได้สูง ทีนี้ประเด็นคือมันเกิดขึ้นในเชิงข้อกฎหมายว่าพรรคการเมืองหรือผู้สมัครไปร้องเรียนหรือไปดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับการแบ่งเขตเลือกตั้งที่ไม่เป็นธรรมจะสามารถทำได้หรือไม่ เพราะว่าโดยบทบัญญัติของมาตรา 44 ซึ่งเป็นฐานสำคัญในการออกคำสั่งที่ 16/61 เป็นบทบัญญัติที่ออกโดยอาศัยอำนาจที่ถูกรับรองในรัฐธรรมนูญปี 60 ให้มีอำนาจทั้งบริหาร และนิติบัญญัติ โดยปราศจากการตรวจสอบทั้งทางอาญา ทางแพ่ง และทางปกครอง ดังนั้น จะเป็นประเด็นว่าศาลจะสามารถเข้าไปตรวจสอบได้หรือไม่ถ้ามีการร้องคดีในเรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้งขึ้น

หรือถ้าเกิดกรณี เจอรี่แมนเดอริ่งขึ้นมา ปกติการไปร้องต่อศาลให้เพิกถอนการแบ่งเขตเลือกตั้งก็เป็นสิทธิที่ประชาชน พรรคการเมือง หรือผู้สมัคร ที่เป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงสามารถร้องเรียนได้ แต่ถ้าเป็นคนที่  ไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงก็จะร้องเรียนไม่ได้ แต่ประเด็นมันอยู่ที่ว่าเมื่อร้องแล้วจะมีอำนาจของศาลในการเข้าไปตรวจสอบได้หรือไม่ เพราะเรื่องนี้ออกมาโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ดังนั้นตรงนี้จะเป็นปัญหาว่าศาลจะรับคำร้องได้หรือไม่

ดังนั้น ส่วนตัวผมมองว่ามีโอกาสที่จะถูกแทรกแซงจากการแบ่งเขตแบบนี้ เพราะวันนี้เรายังไม่เห็นความชัดเจนจาก กกต.เลยในการที่จะบอกว่าการแบ่งเขตเลือกตั้งจะออกมาอย่างไร และแม้จะมีคำสั่งตามมาตรา 44 เป็นคำสั่งที่ 16/61 ออกมาแล้ว ตรงนี้ก็มีข้อวิจารณ์ว่า กกต.ถูกแทรกแซงหรือไม่ เพราะว่าเรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้งมันเป็นอำนาจหน้าที่ของ กกต.ในเชิงการบริหารจัดการการเลือกตั้ง ทีนี้ถ้ามีการออกคำสั่งโดยหัวหน้า คสช.ก็เท่ากับว่าหัวหน้า คสช.เข้าไปเกี่ยวข้องกับกระบวนการใช้อำนาจบริหารจัดการการเลือกตั้งของ กกต. เมื่อเป็นอย่างนี้แล้วก็มีข้อวิจารณ์หรือข้อสงสัยในสังคมได้เหมือนกันว่า เมื่อคำสั่งเหล่านี้ถูกสั่งมาจากองค์กรภายนอก กกต. แล้ว กกต.จะทำงานได้อย่างตรงไปตรงมาจริงหรือไม่ ซึ่งตรงนี้ก็ต้องดูจากการแบ่งเขตของ กกต.ที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้

ในส่วนการให้อำนาจ กกต.อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในการที่จะดำเนินการแบ่งเขตเลือกตั้ง โดยใช้อำนาจตาม ม.44 ถึงที่สุดก็อาจจะมีปัญหาได้ เพราะเป็นการใช้อำนาจที่ปราศจากการตรวจสอบ เมื่อมีปัญหาในเชิงข้อกฎหมาย ศาลหรือองค์กรใดจะเข้าไปตรวจสอบผมคิดว่าจะเป็นได้ยาก เพราะสุดท้ายเมื่อมีคำสั่งออกมาว่าให้อำนาจอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดแบบนี้

อย่างไรก็ตาม ที่หลายฝ่ายมองว่าคำสั่งที่ 16/61 จะทำให้ยืดระยะเวลาออกไปจากโรดแมปหรือไม่ ตรงนี้ผมคิดก็ขึ้นอยู่กับว่าหลังจากนี้ กกต.จะแบ่งเขตการเลือกตั้งได้เร็วแค่ไหน ในขณะที่มีอำนาจพิเศษขนาดนี้อยู่ในมือแล้ว ถ้าสามารถแบ่งเขตอย่างรวดเร็วก็จะไม่กระทบต่อการเลือกตั้ง แต่ถ้าไม่ทันก็มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดปัญหาในเชิงข้อกฎหมายที่จะทำให้การเลือกตั้งถูกเลื่อนออกไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image