ถอดรหัสแม่เหล็ก ‘พปชร.’ เดิมพันสูงกลับมาเป็น รบ.

หมายเหตุความเห็นจากนักวิชาการ กรณีพรรคพลังประชารัฐสามารถดึงอดีต ส.ส.จากพรรคต่างๆ เข้ามาร่วมงานได้จำนวนมาก กับโอกาสที่จะชนะการเลือกตั้ง


 

ยอดพล เทพสิทธา
อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ ม.นเรศวร

ต้องแยกก่อนว่า ถ้ามองในความเป็นจริงพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เป็นพรรคที่ชัดเจนในตัวว่าสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีต่อ นั่นคือจะต้องมีอะไรบางอย่าง เสมือนอำนาจรัฐคอยเป็นแบ๊กอัพให้ โดยเฉพาะการย้ายเข้าพรรคของนายเดชนัฐวิทย์ เตริยาภิรมย์ ลูกชายนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กล่าวชัดเจนว่ามาอยู่พรรคนี้เพื่อช่วยพ่อ ค่อนข้างชัดอยู่แล้วว่าอะไรเป็นอะไร มีสื่อสารตรง ไดเร็กแมสเซสอยู่ในตัวอยู่แล้ว ฉะนั้น ใครๆ ก็คิดว่า พปชร.ได้เปรียบพรรคอื่นๆ ในการเลือกตั้งครั้งนี้

Advertisement

ตอบยากว่าการดูด ส.ส.เข้าพรรคจะช่วยให้พรรคได้เสียงข้างมาก สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้หรือไม่ เพราะต้องไม่ลืมว่า ส.ส.ย้ายพรรคออกไป บางคนเคยเป็น ส.ส.ในพื้นที่ก็จริง แต่ประชาชนบางพื้นที่เลือกพรรค ไม่ได้เลือกที่ตัวคน 100 เปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ตาม ต่อให้ดูดอดีต ส.ส.ไปก็ไม่ได้การันตีว่าจะสอบได้ 100 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากตอนนี้ไม่ใช่ยุคสมัยพรรคไทยรักไทยเกิดใหม่ แล้วดูด ส.ส.มาได้ พรรคการเมืองไม่ได้เป็นสถาบันขนาดนั้น และต้องไม่ลืมว่านโยบายของนายทักษิณ ชินวัตร ของพรรคไทยรักไทยในอดีตเป็นนโยบายที่จับต้องได้ คนจึงติดภาพนายทักษิณ หรือ น.ส.ยิ่งลักษณ์

เหตุการณ์ช่วงใกล้เลือกตั้งมีการประชานิยมทุกรัฐบาล เพียงแต่จะแนบเนียนหรือไม่น่าเกลียดขนาดไหน หากรัฐบาลร่วมกับ พปชร.ใช้โครงการประชารัฐอัดฉีดเงินเข้าหาคน หรือให้โดยไม่มองถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจก็ต้องมองว่าเป็นลักษณะเข้าข่ายการหาเสียง แต่ต้องดูปรากฏการณ์ในอดีตที่มีหลายคนกล่าวว่า พรรคที่สนับสนุน รสช.ในขณะนั้น สุดท้ายแล้ว พล.อ.สุจินดา คราประยูร อดีตนายกฯจบลงอย่างไร ถึงแม้ พล.อ.ประยุทธ์จะแปลงร่างเป็นนายกฯที่มาจากการเลือกตั้ง ก็จริง แต่ต้องไม่ลืมว่าเขามี ส.ว.ที่มาจาก คสช.ตุนไว้อยู่แล้ว ดังนั้น คสช.หรือ พล.อ.ประยุทธ์ หรือใครก็ตามที่ขึ้นมาเป็นนายกฯได้โดยวิธีการนี้ ไม่ควรพูดว่าเป็นนายกฯที่มาจากการเลือกตั้ง เรามีบทเรียนในอดีตแล้วว่าการอัดฉีด หรือลดแลกแจกแถมไม่ทำให้คนรู้สึกว่านายกฯที่มาจากวิธีการแปลกประหลาด แม้จะมาตามวิถีทางรัฐธรรมนูญ แต่เป็นรัฐธรรมนูญที่แปลกประหลาด มีความถูกต้อง ชอบธรรม

เรื่องสำคัญกว่าการย้ายพรรคของ ส.ส.คือการแบ่งเขตการเลือกตั้ง เพราะเรื่องนี้เป็นสาระสำคัญในการย้ายพรรคของ ส.ส. การแบ่งเขตก่อให้เกิดการได้เปรียบ เสียเปรียบ และผู้มีอำนาจในการแบ่งเขตในขณะนี้คือ กกต.บวกกับอำนาจของ คสช. ดังนั้น กกต.มีสถิติอยู่ในมือว่าใครอยู่ตรงไหน เลือกใคร พรรคไหน เพราะอะไร ตรงนี้เป็นสิ่งที่ คสช.หรือ กกต.ได้เปรียบในการแบ่งเขตเลือกตั้ง ซึ่งการที่ กกต.ให้เหตุผลการเลื่อนการแบ่งเขต ส.ส.ว่าเจ็บตานั้น ควรพักไปรักษา แล้วให้ผู้อื่นทำงานในตำแหน่งแทน มิเช่นนั้นกลไกของรัฐทำอะไรไม่ได้ จะหยุดชะงักไม่ได้ ทั้งนี้ มีการวิเคราะห์ว่าการเลื่อนการแบ่งเขตเป็นการพิจารณาอย่างถี่ถ้วน เพื่อให้การย้ายพรรคเรียบร้อยเสร็จสรรพ

Advertisement

 

โอฬาร ถิ่นบางเตียว
คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ม.บูรพา

ปรากฏการณ์นักการเมืองหลายพรรค หลายคน ย้ายเข้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เป็นการดูดครั้งสำคัญ มีเงื่อนไขซับซ้อน หากดูจากหลายคนที่เป็นตัวหลัก เป็นบุคคลสำคัญของพรรค กลุ่มตระกูลเพื่อ เช่น เพื่อไทย เป็นพรรคการเมืองที่ได้รับความนิยมชมชอบมาอย่างยาวนาน เป็นพรรคที่ได้รับคะแนนนิยมจำนวนมาก และคนที่ย้ายไปเป็นผู้ที่มีชื่อชั้น อาทิ นายวราเทพ รัตนากร อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายอำนวย คลังผา อดีต ส.ส.ลพบุรี ทำให้เห็นว่าพลังดูดของ พปชร.มีความซับซ้อน มีความไม่ปกติ

ความไม่ปกติอันดับหนึ่งคือ การได้วีซ่า หรือได้ใบสั่งทางการเมืองจากกลุ่มบุคคลที่พยายามหนุน พปชร.ในสนามการเลือกตั้ง และกลุ่มนี้คงมีเงื่อนไขพิเศษในการต่อรอง
ดังนั้น เวลาพูดถึงการดูด บางครั้งเราเห็นคำพูดหรือดูแค่ข้อเสนอเฉพาะหน้าไม่ได้ ต้องดูความสัมพันธ์เบื้องหลังพลังดูดด้วย อาจมีข้อเรียกร้องที่มีความลงตัวระหว่างผู้ดูดและผู้ถูกดูด 2.ผู้ถูกดูดอาจได้รับข้อเสนอ หรือเงื่อนไขบางอย่างที่เป็นข้อจำกัด เช่น บางคนมีคดีความ บางคนรู้สึกถึงความไม่ปลอดภัย บางคนรู้สึกถึงความไม่แน่นอนของพรรคเพื่อไทย แสดงว่าการที่พรรคพลังประชารัฐดูดคนเหล่านี้ได้ก็เป็นพรรคการเมืองที่ไม่ปกติ สังเกตจากการตั้งพรรค อาทิ พรรคเพื่อไทยก่อตั้งมากว่า 6 ปี แต่พรรคพลังประชารัฐก่อตั้งมาไม่ถึงปี แต่มีพลังมากขนาดนี้ แสดงว่ามีพลังอำนาจนอกระบบมากพอสมควร

การดูด ส.ส.จำนวนมาก คาดว่าต้องการได้เสียงข้างมาก เพื่อตอบโจทย์ความชอบธรรมให้แก่คณะบุคคลที่ต้องการความชอบธรรมจากการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น

แต่ในระยะยาว หาก พปชร.ดูดโดยไม่สนใจอุดมการณ์ ไม่สนใจนโยบาย คงไม่สามารถจัดการผลประโยชน์ในพรรคได้อย่างลงตัว ทำให้เกิดปัญหาภายในพรรคเสมือนพรรคไทยรักไทยในอดีต

ทั้งนี้ ก่อนการเลือกตั้งสมัยแรกของนายทักษิณ ชินวัตร ก็ใช้วิธีการดูดกลุ่มพรรคต่างๆ เข้าพรรคไทยรักไทย

คิดว่าตนเองจะบริหารจัดการผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจการเมืองได้อย่างลงตัว ภายใต้อำนาจของท่านที่มีมากในขณะนั้น ปรากฏว่าท้ายที่สุดก็ไปไม่ได้

จุดนี้เองที่คิดว่าพรรคพลังประชารัฐต้องระวังให้มากในการดูดคนเพื่อหวังเป้าประสงค์ทางการเมืองเฉพาะหน้า นั่นคือการเลือกตั้ง แต่ในระยะยาว หากจัดการผลประโยชน์ไม่ลงตัว คงเกิดวิกฤตกับพรรคได้

ปัญหาคือ หากการเลือกตั้งครั้งหน้าทาง พปชร.ต้องการเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี แต่พรรคได้คะแนนอยู่อันดับ 3 ก็ไม่มีความชอบธรรม ในทางการเมืองต้องให้พรรคที่ได้คะแนนอันดับ 1 ตั้งรัฐบาลก่อน

ดังนั้น หากพรรคอันดับ 1 เป็นพรรคอื่น แล้ว พปชร.จะขอเสนอ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯคงไม่ได้ นี่คือสิ่งที่ผมคิดว่าเขาต้องการได้เสียงอันดับ 1 บวกกับกลุ่มพรรคเล็ก พรรคย่อยพยายามสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เพื่อให้เห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์มีคะแนนนิยมมากกว่านายทักษิณ หรือรวมกันให้ได้เกิน 16 ล้านเสียง อย่างน้อย พปชร.ต้องได้มากกว่า 13 ล้านเสียง แล้วรวมกับพรรคอื่นเพื่อให้ได้คะแนนเสียงมากขึ้น

เพื่อจะยืนยันว่าคะแนนนิยมของ พล.อ.ประยุทธ์มากกว่านายทักษิณจริง อย่างน้อย พปชร.ต้องได้อย่างน้อย 200 ที่นั่ง เพื่อให้เกิดความชอบธรรม มิเช่นนั้นจะนำไปสู่ความไม่ชอบธรรมของ พล.อ.ประยุทธ์ทันที จนอาจเป็นเงื่อนไขนำไปสู่เหตุการณ์พฤษภาทมิฬรอบสอง

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์พฤษภาทมิฬเป็นคนละอย่างกับการดูดครั้งนี้ เพราะสมัยนั้นเป็นการดูดเพื่อจัดตั้งรัฐบาล คิดว่า คสช.คงมีบทเรียน เขาต้องได้อันดับ 1 ก่อน ถึงจะมีความชอบธรรมในการเสนอชื่อนายกฯได้

คสช.คงกลัวสิ่งนี้ ทำให้โค้งสุดท้ายดูดกันมากเป็นพิเศษ ดูดด้วยพลังทางเศรษฐกิจ พลังทางการเมือง หรือเงื่อนไขต่างๆ ที่ทุกคนมีข้อจำกัดอยู่ หลายคนต้องไปด้วยคราบน้ำตา ไปด้วยความรู้สึกที่ไม่อยากไปแต่ต้องไป

ดังที่บอกว่า พปชร.ไม่ใช่พรรคการเมืองปกติ แต่เป็นพรรคเฉพาะกิจเพื่อทำงานเฉพาะกิจบางอย่าง เพื่อให้ คสช.ได้ไปต่อในทางการเมือง โดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image