วิพากษ์สมัคร ส.ว. ‘เงียบ-ไม่คึกคัก’

หมายเหตุความเห็นของอดีตสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และนักวิชาการ กรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) เปิดรับสมัครสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 26-30 พ.ย. 2561 ปรากฏว่าผ่านมาครึ่งทาง โดยภาพรวมมองว่าไม่คึกคักและเงียบเหงา มีผู้สนใจมาสมัครน้อยมาก

ดิเรก ถึงฝั่ง
อดีต ส.ว.นนทบุรี

ไ ม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญ 2560 มาตั้งแต่ต้น และไม่เห็นด้วยกับการให้ ส.ว.250 คน ตามบทเฉพาะกาลไปเลือกนายกรัฐมนตรี ใครเขาทำกัน ทั้งการที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นผู้คัดเลือก ส.ว.เองทั้งหมด รวมถึงข้อห้ามของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไม่อนุญาตให้ผู้สมัคร ส.ว.หาเสียงหรือห้ามสื่อมวลชนถ่ายรูปผู้สมัคร ยิ่งทำให้เห็นว่าการได้มาซึ่ง ส.ว.ครั้งนี้ไม่ใช่การเลือกตั้ง ต้องใช้คำว่าสรรหา ส.ว. เพราะคำว่าเลือก หมายความว่าต้องให้ประชาชนเลือก
ถือว่าเป็นไปตามที่ทุกคนคาดการณ์ คือ พวกเขาเขียนรัฐธรรมนูญมาเพื่อตัวเอง เหมือนที่นายสมศักดิ์ เทพสุทิน สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) พูดไว้ นอกจากนี้ การสรรหา ส.ว.ครั้งนี้ ยังใช้งบประมาณกว่า 1,300 ล้านบาท ทั้งที่จริงๆ แล้ว ไม่จำเป็นต้องลงทุนขนาดนั้นเพราะไม่คุ้มค่า การเลือกตั้งระดับประเทศครั้งหลังสุดใช้งบประมาณราว 2,000 ล้านบาท แต่คราวนี้แค่สรรหาไม่กี่คนกลับใช้ไปกว่า 1,300 ล้านบาท
รัฐบาลชุดนี้ เข้ามายึดอำนาจอ้างเหตุ 2 เรื่อง คือ 1.ความขัดแย้ง และ 2.คอร์รัปชั่น แต่เมื่ออยู่ไปแล้ว รัฐบาลไม่ได้แก้ปัญหาความขัดแย้ง กลายเป็นคู่ขัดแย้งของฝ่ายการเมืองด้วยซ้ำ กรณีบทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญระบุให้ ส.ว.ชุดหลังการเลือกตั้ง มีวาระ 5 ปี เท่ากับจะมีส่วนต่อการเลือกนายกรัฐมนตรีอย่างน้อย 2 ครั้ง เป็นการวางแผนที่แยบยล เป็นการสืบทอดอำนาจ แต่เหตุผลที่กลุ่มการเมืองอื่นๆ ไม่ออกมาเคลื่อนไหว เพราะเห็นว่าดีแล้ว ให้เลือกกันให้จบๆ เมื่อเขาเข้ามาในสภา ก็จะแก้รัฐธรรมนูญอีก ดังนั้น รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะเป็นที่มาของความขัดแย้งอีกครั้ง เพราะรัฐธรรมนูญเปรียบเหมือนเสาบ้าน เวลาสร้างบ้าน ถ้าเราตั้งเสาบ้านเย้ บ้านมันก็โย้ คนในบ้านก็ไม่มีความสุข ดังนั้น เมื่อมีอุดมการณ์ว่าจะปกครองบ้านเมืองด้วยระบอบประชาธิปไตย ก็ต้องปลูกฝังสิ่งที่ถูกต้องให้แก่สังคม ต้องบอกให้นักการเมืองปฏิบัติตามกรอบกติกา ไม่เช่นนั้น จะกลายเป็นความขัดแย้งที่ไม่รู้จักจบสิ้น
ส่วนที่ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต.ชี้แจงว่า การสรรหา ส.ว.ครั้งนี้ เป็นการมีส่วนร่วมของประชาชนมาตั้งแต่ระดับอำเภอ จังหวัด มาจนถึงระดับประเทศ เข้าใจว่าเพราะ กกต.เป็นคนทำงาน จึงต้องแก้ต่างเพื่อให้ทุกอย่างออกมาสมเหตุสมผล ที่พูดว่าเลือกกันมาตั้งแต่ระดับอำเภอก็ไม่ใช่ให้ประชาชนมาเลือก แต่เป็นการเลือกกันเองในกลุ่มเล็กๆ ดังนั้น การที่คนเขาติติงเรื่องการใช้งบประมาณสูง ก็เพราะมันไม่สมเหตุสมผล

รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย
อจ.สาขาวิชารัฐศาสตร์ มสธ.

Advertisement

ผ มคิดว่าครั้งนี้เกิดจากปัจจัยสำคัญคือบทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญ กำกับให้ ส.ว.ในระยะแรกมาจากการสรรหา และเสนอแต่งตั้งโดย คสช. เมื่อกำหนดไว้เช่นนี้ ทำให้คนจำนวนไม่น้อยมีความสนใจร่วมเข้ามาสมัครเป็น ส.ว. คงมองว่าโอกาสจะได้รับเลือกในชั้นสุดท้ายเป็นไปได้ยาก กระบวนการทั้งหมดไม่ว่าเข้ามาจากช่องไหนก็ตาม จะมาจากลำดับอำเภอ จังหวัด หรือกลุ่มต่างๆที่เสนอเข้ามา ต้องจบที่ คสช.ทั้งหมด ทำให้ความต้องการในการมีส่วนร่วมของคนที่มีความคาดหวังทางการเมืองนั้นลดน้อยลงไปด้วย น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่สุด
ปัจจัยที่รองลงมา คือเรื่องบรรยากาศทางการเมือง ปัจจุบันไม่ได้ทำให้เกิดกระบวนการรณรงค์ทางการเมืองได้มากนัก การประชาสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นก็เกิดจากภาครัฐ หรือจาก กกต.อยู่บ้าง ไม่ได้สร้างบรรยากาศการมีส่วนร่วมที่กว้างขวาง กลายเป็นการทำให้เป็นไปตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด ทำให้คนไม่มีความตื่นตัวทางการเมืองในการเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการสรรหา ส.ว.
ส่วนการที่ ส.ว.ทั้งหมด 250 คน ต้องมาตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญในวาระแรกจากการเสนอแต่งตั้งโดย คสช. เป็นที่วิจารณ์อยู่แล้ว ไม่ตอบโจทย์เรื่องการมีส่วนร่วมและการจัดตั้งรัฐบาล โดยเฉพาะ ส.ว.จะมีส่วนร่วมกับ ส.ส.ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี นับเป็นเรื่องสำคัญที่สุดก็ว่าได้ นอกจากนี้ ส.ว.ยังเปลี่ยนสถานะบทบาทจากเดิมเป็นสภาตรวจสอบตามรัฐธรรนูญปี 2550 มาสู่การเป็นสภาควบคุมกำกับรัฐบาลหรือฝ่ายบริหารที่มาจากการเลือกตั้งหลังจากนี้ ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมให้เป็นไปตามกฎหมายยุทธศาสตร์ชาติ และให้เป็นไปตามกฎหมายปฎิรูป รวมถึงการควบคุมการตรวจสอบถ่วงดุลต่างๆ การป้องกันและปราบปรามการทุจริต เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ต้องอาศัย ส.ว.ยึดโยงกับประชาชนค่อนข้างสูง จริงอยู่อาจยึดโยงได้หลายวิธี โดย ส.ว.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมดก็ได้ จะมาจากการสรรหาก็ได้ถ้าตอบโจทย์ได้ดีก็ยึดโยงได้ เมื่อ ส.ว.ต้องมาทำหน้าที่ในลักษณะของสภาควบคุมกำกับฝ่ายบริหารที่มาจากการเลือกตั้ง ก็จะยิ่งทำให้ข้อวิจารณ์ในสังคมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่ตอนนี้ไปจนถึงกระทั่งเห็นหน้าตาของ ส.ว.
แม้ว่าจะมีคนมาสมัครน้อย ผมเชื่อว่าอย่างไรเสีย คสช.ต้องมีชื่อออกมาครบทั้ง 250 คน คงไม่ได้มีส่วนสำคัญที่จะทำให้ไม่ได้ ส.ว.ครบ แต่จะได้ ส.ว.ที่ยึดโยงกับประชาชนหรือไม่ เป็นประเด็นที่น่าสนใจ


ผศ.ดร.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

ก ารที่มีผู้มาสมัคร ส.ว.น้อยเกิดจากตัวรัฐธรรมนูญและตัวที่กำหนดที่มาของ ส.ว.ในครั้งนี้ ชัดว่าทางค่อนข้างแคบ คือเกิดความไม่มั่นใจในระบบการแข่งขันและระบบคุณธรรมในการคัดเลือก คสช.คงจะมีข้ออ้างหรือคำอธิบายว่าเป็นสถานการณ์เฉพาะเพื่อคัดเลือกคนในกลุ่มที่ตัวเองพึงพอใจ ทำงานร่วมด้วยได้ ผลที่ตามมา คือการแข่งขันอาจจะไม่เกิดขึ้น คนที่คิดจะเข้าไปสู่การแข่งขันก็เลยไม่เข้า ถึงเข้าไปเเล้วคงประเมินตัวเองว่าไปได้ไม่ไกล ผมคิดว่าคนอยากเข้ามาทำงานการเมืองเยอะนะ แต่เงื่อนไขการเมืองแบบนี้ เข้าไปก็ไม่ได้
ในส่วนวันท้ายๆ ของการรับสมัคร ส.ว. จะมีผู้สมัครมาเยอะขึ้นหรือไม่นั้น ไม่กล้าคาดเดา เพราะละเอียดอ่อนหลายเรื่อง อย่างคนที่รู้สึกไม่มั่นใจ กกต.ต้องออกมาพูด ยืนยันจุดยืนเรื่องความเปิดกว้างของกระบวนการ และโอกาสที่จะทำอะไรที่มากกว่านี้ ณ จุดนี้ ผมคิดว่าคนยังไม่มีความมั่นใจ
ที่หลายคนมองว่า ก่อนหน้านี้ ส.ว.ถูกวิจารณ์อย่างมาก เพราะเป็นส.ว. ชุดแรกที่มาจากการแต่งตั้งโดย คสช.ทำให้ผู้ที่คิดสมัครเกิดความกังวลว่าจะถูกวิจารณ์ไปด้วยนั้น ก็คงมีส่วน เเต่นอกเหนือจากเรื่องนี้เเล้ว ภาพใหญ่เป็นเรื่องของการสร้างระบบกฎเกณฑ์มากำกับพฤติกรรมทางการเมือง ด้านดีคือเราพยายามทำให้โปร่งใสชัดเจน แต่อีกด้านคือผลในทางกลับคนรู้สึกว่ามันคุ้มหรือไม่ที่จะเดินเข้าไป ประกอบกับสภาวะของ คสช.อยากจะกุมอำนาจในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ให้มากที่สุด จึงไม่มีทางที่กระบวนการได้มาซึ่ง ส.ว.จะอยู่นอกการควบคุมของ คสช.

ศ.ดร.สุรชัย ศิริไกร
คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

ต ามปกติแล้วประชาชนมีความรู้สึกว่า ส.ว.น่าจะเป็นผู้ที่มีความรู้ในสาขาใดสาขาหนึ่งอย่าง เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ เพราะฉะนั้นจึงมีจำนวนไม่มาก ส่วนใหญ่จะอยู่ในเมืองใหญ่หรือเป็นครูบาอาจารย์ ส่วนหนึ่งผมคิดว่าหาตัวไม่ค่อยได้ หรือคนไม่กล้าเพราะกลัวขึ้นไปเเล้วจะตก เพราะการให้เเต่ละเขตเสนอตัวบุคคล เเต่ในที่สุดก็คัดจำนวนที่กำหนดทำให้มีโอกาสน้อย คนส่วนใหญ่ก็รู้ว่าคนที่เก่งมักจะอยู่ในเมือง ผมมองว่าจุดนี้น่าจะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้คนโดยเฉพาะในต่างจังหวัดไม่ค่อยอยากสมัคร เนื่องจากเห็นว่าโอกาสน้อย
อีกเรื่องคือคนไม่แน่ใจ ตัวเก็งนั้นมีอยู่กลุ่มหนึ่งแล้วซึ่งรู้กันภายใน การที่เปิดรับก็อาจไม่ให้ถูกครหาหรือไม่ เทำให้หลายคนที่ไม่ได้โดดเด่นจริงๆ ไม่ยากสมัครให้เสียเวลา แถมยังจะต้องไปแจ้งบัญชีรายได้ ผมคนหนึ่งที่ไม่เอาด้วย จากประสบการณ์ของผมเห็นตั้งแต่การร่างรัฐธรรมนูญที่ร่างโดยคนกลุ่มหนึ่งที่เขาเลือกมาแล้ว เป้าหมายก็เพื่อกลุ่มหนึ่งที่เขามีอยู่แล้ว ยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่เลือกมาโดยเฉพาะที่เป็นแม่น้ำ 5 สาย มีคนของเขาอยู่เเล้ว อาจจะเป็นปัจจัยให้คนไม่ไปยุ่งให้เสียเวลา
การที่รัฐธรรมนูญเขียนออกมาอย่างนี้บอกว่าให้โอกาสแล้วเพื่ออ้างได้ว่าเข้ามาถูกต้องตามระเบียบและให้โอกาสทุกคน แต่คนไม่มาสมัครเอง จะไปกล่าวหาไม่ได้ ก็เห็นอยู่แล้วว่ารัฐธรรมนูญนี้ร่างโดยใคร สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือเราจะได้ ส.ว.ที่มีคุณภาพจริงหรือไม่จะมีผู้ที่ทรงคุณวุฒิสาขาต่างๆ แท้จริงหรือเปล่า ได้คนโดยมาจากการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์สะอาด จะเป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่ การที่อำนาจอยู่ในกลุ่มที่อยู่ใกล้ชิดกัน อาจทำให้ไม่ได้ ส.ว.ที่มีคุณวุฒิอย่างที่ควรจะเป็น หลักการของประเทศประชาธิปไตยโดยทั่วไป ส.ว.ควรจะเป็นผู้ที่มีความรู้แต่ละด้านเป็นอย่างดี มีประสบการณ์ เป็นที่เคารพ เชื่อถือ มีคุณธรรมจริยธรรมที่ดี เเต่เท่าที่ผ่านมาเราก็รู้ว่าการเลือกตั้งหรือกรรมการต่างๆ เป็นยังไง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image