นักวิชาการชูธง 24 ก.พ.62 ชี้ไร้เหตุเลื่อนเลือกตั้งอีก

หมายเหตุนักวิชาการแสดงความเห็นกรณีที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ และคนในรัฐบาลระบุว่าจะมีการเลือกตั้งในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 แต่หลายฝ่ายเกรงว่าอาจจะมีการเลื่อนเลือกตั้งออกไปอีก เนื่องจากพรรคการเมืองต่างๆ ไม่เห็นด้วยกับการแบ่งเขตเลือกตั้งของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่อาจนำไปสู่การฟ้องร้องที่ต้องใช้เวลาในการไต่สวน รวมถึงกรณีที่พรรคการเมืองขนาดเล็กหลายพรรคเรียกร้องให้เลื่อนการเลือกตั้งออกไป เพราะยังไม่มีความพร้อม (ย้อนอ่าน : ‘วิษณุ’ โบ้ย ไม่เคยได้ยินปัจจัยเลื่อนเลือกตั้ง มีแต่นักข่าวพูด จะให้เลื่อนให้ได้)


 

ฐิติวุฒิ บุญยวงศ์วิวัชร
คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

คิดว่าปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้มีการเลื่อนเลือกตั้งคือ สมมุติถ้ามีการสำรวจแล้วคะแนนนิยมต่อรัฐบาลปัจจุบันมีน้อย ถ้าฝ่ายรัฐมองว่าคะแนนนิยมตัวเองเสียเปรียบ นี่อาจเป็นปัจจัยเสริม ไม่ใช่ปัจจัยหลักในการเลื่อน อีกทั้งยังต้องใช้เวลาอีกหน่อยเพื่อทำให้นโยบายที่อัดฉีดลงไป ผ่านทั้งโครงการประชารัฐและโครงการต่างๆ เห็นผลหรือ นี่เป็นปัจจัยทางการเมืองที่สามารถทำให้เกิดการเลื่อนเลือกตั้งได้

Advertisement

นอกจากนี้ มีประเด็นที่อาจทำให้มีการเลื่อนเลือกตั้งมากไปกว่าเดิมคือ ปัจจุบันข้อวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้ง เริ่มดังขึ้นเรื่อยๆ การวิจารณ์อาจนำไปสู่การร้อง กกต. หรือนำไปสู่กระบวนการอื่นๆ เช่น เมื่อร้อง กกต.แล้ว หาก กกต.ชี้ขาดก็นำไปสู่การไต่สวนต่างๆ จึงทำให้เกิดช่องที่สามารถเลื่อนเลือกตั้งอีก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ถ้าเลื่อนอีกครั้ง ผู้ที่ได้รับผลเสียมากที่สุดคือรัฐบาลเอง จึงคิดว่าปัจจุบันอยู่ในลักษณะของการชั่งน้ำหนักมากกว่า

กรณีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ออกมาบอกว่าไม่เคยได้ยินปัจจัยเลื่อนเลือกตั้ง มีแต่นักข่าวพูดนั้น ส่วนตัวมองว่าจะไม่ให้คนสนใจได้อย่างไร เพราะก่อนหน้านี้ เลื่อนมาหลายครั้งแล้ว ถ้าถามกลับอาจารย์วิษณุง่ายๆ คือ ก่อนหน้านี้เคยมีการตกลงแล้ว แต่แล้วก็เลื่อนอีก พอเลื่อนมากๆ แม้ว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ออกมายืนยัน ให้ความมั่นใจ ชูไม้ชูมือ เป็นเลข 24 แต่สังคมอยู่ในภาวะของความไม่มั่นใจ เพราะก่อนหน้านี้มีลักษณะของการเลื่อนมาแล้ว

ถ้ามองให้ปัญหาลึกลงไปอีกหน่อยคือ ในแง่ของการทำหน้าที่ของสถาบันทางด้านการเมือง โดยเฉพาะ กกต.ในปัจจุบัน สามารถทำหน้าที่เป็นหลักประกันว่าจะมีการเลือกตั้งวันที่ 24 กุมภาพันธ์ แน่นอน ซึ่งคนที่พูดและทำได้คือ กกต. เพราะเป็นผู้คุมกลไกการเลือกตั้ง แต่อำนาจ กกต.ไปพ่วงกับ คสช. ยังไม่ปลดล็อกอย่างเป็นรูปแบบ ลักษณะกฎหมายการเลือกตั้งยังไม่ได้ทำงานเต็มที่

Advertisement

กิตติศักดิ์ ปรกติ
อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เรื่องการเลื่อนเลือกตั้งไม่มีเหตุจะเลื่อนในตอนนี้ ปัจจัยตอนนี้ยังมองไม่เห็น เรื่องที่ว่าจะเลื่อนหรือไม่ ก็คงไปคิดแทนเขาไม่ได้ แต่ว่าถ้าเขาจะเลื่อนก็ต้องมีเหตุผลที่สำคัญยิ่งกว่า เพราะว่าหากจะเลื่อนการเลือกตั้งครั้งนี้อีกจะต้องใช้อำนาจอะไร มันต้องมีอำนาจที่จะไปเลื่อนการเลือกตั้ง ต้องมีเหตุฉุกเฉินและจำเป็น แต่ตอนนี้ยังไม่เห็น

การที่พรรคเล็กยังไม่พร้อมจึงอาจจะนำไปสู่การเลื่อนเลือกตั้งนั้น ต้องดูว่ามันเป็นเหตุได้หรือไม่ พรรคเล็กไม่พร้อมเพราะคุณตั้งพรรคช้าเท่านั้นเอง มันเป็นความผิดของระบบหรือ มันเป็นความผิดของคนที่ตั้งพรรคช้า เพราะเป็นเรื่องที่คาดหมายไว้ล่วงหน้าอยู่แล้ว มันไม่มีประเด็นที่จะเลื่อน

จากการที่กลุ่มสหพรรคการเมืองขอให้เลื่อนเลือกตั้งไปวันที่ 5 พฤษภาคม 2562 เขาก็มีสิทธิที่จะเสนอ แต่ว่าความผูกพันและความน่าเชื่อถือของรัฐบาลอยู่ที่เมื่อตัดสินใจอะไรไปแล้วก็จะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามนั้น แต่ถ้าหากว่าเลื่อน มีเหตุผลอะไรที่สำคัญ ถ้าเกิดว่า 25 พรรคการเมือง เมื่อเลื่อนแล้วมีประชาชนลงชื่อกันอีก 1 หมื่นคน จะต้องเลื่อนอีกไหม พอเลื่อนเสร็จเรียบร้อยมีคนลงชื่ออีก 2 หมื่นคน ให้เลื่อนอีกจะทำอย่างไร

ผมไม่เคยได้ยินว่าจะมีการเลื่อนการเลือกตั้ง เพราะจะมีเหตุอะไรให้เลื่อน แต่ถ้ามีเหตุ การเลื่อนเลือกตั้งก็ต้องทำให้สมควรแก่เหตุเท่านั้นเอง ไม่ได้แปลว่าเลื่อนไม่ได้ เลื่อนได้ ซึ่งต้องมีเหตุ แต่ตอนนี้ไม่มีเหตุ

 

เอกชัย ไชยนุวัติ
อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม

ตราบใดที่ยังไม่มี พ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตราบนั้นเหตุในการเลื่อนการเลือกตั้งก็ยังคงมีต่อไป และถ้ายังมีการใช้มาตรา 44 เพื่อมากำหนดทิศทาง หรือรูปแบบวิธีการของการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น ปัจจัยนี้ก็ยังเป็นความเสี่ยงที่การเลือกตั้งทั่วไปจะถูกเลื่อนออกไป

ผมฟันธงว่าพรรคการเมืองคือองค์กรรวมเจตจำนงของประชาชน ต้องพร้อมในการเลือกตั้งทุกวินาที ถ้าไม่พร้อมก็สมควรยุบตัวเองไปเลยดีกว่า เพราะว่าพรรคการเมืองคือตัวแทนอำนาจของประชาชน นอกจากนั้น พ.ร.ป.พรรคการเมืองยังระบุไว้ชัดเจน ว่าพรรคการเมืองใดที่ไม่ลงสมัครรับเลือกตั้ง
2 ครั้งติดต่อกัน เป็นเหตุให้ถูกยุบพรรคโดยอัตโนมัติ

ผมคิดว่าการที่อาจารย์วิษณุ เครืองาม รองนายกฯให้สัมภาษณ์นั้นดี เพราะอาจารย์วิษณุคือตัวแทนของ คสช.ซึ่งกุมอำนาจเบ็ดเสร็จในขณะนี้ ดังนั้น คำพูดนี้ยืนยันว่าการเลือกตั้งต้องมีขึ้น และผมหวังว่าจะต้องเป็นการเลือกตั้งที่สุจริตและเที่ยงธรรม

การเลือกตั้งครั้งที่จะเกิดขึ้นมีลักษณะพิเศษคือ คำสั่ง คสช.ที่ 13/2561 ระบุให้ทั้ง กกต.และ คสช.มีอำนาจในการจัดการเลือกตั้ง ซึ่งโดยปกติแล้วจะมีแต่ กกต.เท่านั้นที่มีอำนาจและหน้าที่ในการจัดการเลือกตั้ง สิ่งที่ประชาชนเห็นก็คือรัฐมนตรีหลายท่านในรัฐบาล คสช.ประกาศชัดเจนว่าจะแข่งขันในการเลือกตั้ง แล้ว คสช.ยังมีอำนาจในการจัดการเลือกตั้งพร้อม กกต. ทำให้กลุ่มคนบางส่วนรู้สึกว่าเป็นการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม

 

ผศ.ดร.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
รองคณบดี คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ถ้าดูจากปัจจัยต่างๆ การเลื่อนการเลือกตั้งออกไปไม่น่าจะเป็นผลดีเท่าไหร่ และจะเป็นผลเสียต่อความเชื่อมั่นของนานาชาติที่มีต่อรัฐบาลด้วย ดังนั้น จึงไม่ควรเลื่อนด้วยเหตุผลที่ว่าพรรคเล็กไม่พร้อม เเต่พรรคเองควรจะทำให้ดีที่สุด โดยสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ คสช.จะต้องปลดล็อกโดยเร็ว เพราะโดยพื้นฐานการเลือกตั้งควรจะเป็นการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ ยุติธรรม ผู้เล่นทุกคนควรจะได้รับโอกาสเท่าเทียมกันสามารถดำเนินการในกรอบเวลาที่เหมาะสม

สำหรับพรรคเล็กต่างๆ น่าจะนึกถึงขีดจำกัดอยู่แล้วว่ารัฐธรรมนูญไม่ได้ส่งเสริมพรรคใหญ่เหมือนที่เป็นมา เพราะฉะนั้นโดยกรอบกติกานี้ไม่น่าจะเป็นเหตุผลที่ทำให้พรรคเล็กขอเลื่อนการเลือกตั้งออกไปโดยอ้างว่างไม่พร้อม พรรคเล็กควรจะมีเหตุผลมากกว่านี้ ผมคิดว่าปัจจัยที่ทำให้เลื่อนเลือกตั้งน้อยมาก ยกเว้นแต่ว่า คสช.ใช้ มาตรา 44 ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ขณะนี้พรรคการเมืองบางพรรคถึงกับบอกว่ารัฐธรรมนูญนี้เขียนกติกามาเพื่อเขา

ส่วนที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ บอกว่าไม่เคยได้ยินปัจจัยที่ทำให้มีการเลื่อนการเลือกตั้งนั้น อย่าถือสาเลย ขนาดเรื่องกรรมการยุทธศาสตร์ชาติยังออกมาบอกเลยว่าไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน เพราะฉะนั้นผมมองว่าเรากลับมายึดหลักการกันดีกว่า ว่าการเลือกตั้งไม่ควรจะเลื่อนแล้ว และในความเป็นจริงต้องไม่ลืมว่าคณะรัฐประหารชุดนี้เข้ามาเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ถ้ายืดระยะไปถึงเดือนพฤษภาคม 2562 อาจจะเป็นการฉลอง 5 ปี คสช. ซึ่งไม่ควรจะเกิดขึ้น

นอกจากนี้ยังมีคดีความจำนวนมากที่สัมพันธ์กับการเลือกตั้ง เป็นปัจจัยหนึ่งที่ต้องนำมาคิด เมื่อเรากำลังจะเดินไปสู่ความปรองดอง คดีความเหล่านี้ควรจะยุติทันที ไม่ว่าจะเป็นคดีเวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหารที่จังหวัดเชียงใหม่ คดีของคนอยากเลือกตั้ง หรือคดีประชามติ ซึ่งคดีเหล่านี้เป็นคดีการเมืองที่ไม่ควรจะยืดคดีเหล่านี้ไว้ หรือปล่อยให้มีการดำเนินคดีต่อไปอีก ควรจะยุติทันทีโดยไม่มีเงื่อนไข น่าจะเป็นผลดีต่อการเลือกตั้งมากกว่า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image