‘บิ๊กอู๋’ลุยบิ๊กดาต้าแรงงาน รองรับอุตฯเป้าหมาย‘อีอีซี’

หมายเหตุ – พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้สัมภาษณ์ “มติชน” ถึงแนวทางการดำเนินงานตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ มีข้อสั่งการเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2560 ให้กระทรวงแรงงานเป็นหน่วยงานหลักร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำฐานข้อมูลแรงงานที่มีอยู่ในปัจจุบัน และประมาณการความต้องการแรงงานในสาขาต่างๆ ของอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)

พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

กระทรวงแรงงานได้ดำเนินการขับเคลื่อนกลไกใน 3 ภารกิจหลัก ทั้งจัดทำฐานข้อมูลด้านแรงงาน อำนวยความสะดวก และขับเคลื่อนการทำงานด้านแรงงานเพื่อให้สอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และสนองต่อข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ดังนี้
1.สำรวจความต้องการแรงงานในเขตอีอีซี ปรากฏข้อมูลพื้นฐานด้านแรงงานใน 3 จังหวัด ประกอบด้วย ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ดังนี้ 1.สถานประกอบการ จำนวน 37,296 แห่ง 2.มีแรงงานในสถานประกอบการ จำนวน 1,549,976 คน

สำหรับผลการสำรวจความต้องการแรงงาน ในปีงบประมาณ 2562 พบว่า มีความต้องการแรงงาน 14,767 คน จากนายจ้าง/สถานประกอบการ จำนวน 1,011 แห่ง โดยจำแนกเป็น 10 อุตสาหกรรมกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ 1.ยานยนต์สมัยใหม่ สถานประกอบการ 124 แห่ง ตำแหน่งงานว่าง 969 อัตรา 2.อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ สถานประกอบการ 50 แห่ง ตำแหน่งงานว่าง 681 อัตรา

Advertisement

3.ท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดี และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ สถานประกอบการ 51 แห่ง ตำแหน่งงานว่าง 323 อัตรา 4.แปรรูปอาหาร สถานประกอบการ 40 แห่ง ตำแหน่งงานว่าง 496 อัตรา 5.การบินและ
โลจิสติกส์ สถานประกอบการ 46 แห่ง ตำแหน่งงานว่าง 506 อัตรา 6.เชื้อเพลิงและเคมีชีวภาพ สถานประกอบการ 4 แห่ง ตำแหน่งงานว่าง 66 อัตรา 7.ดิจิทัล สถานประกอบการ 5 แห่ง ตำแหน่งงานว่าง 25 อัตรา

8.การแพทย์ครบวงจร สถานประกอบการ 4 แห่ง ตำแหน่งงานว่าง 33 อัตรา ส่วน 9.หุ่นยนต์ และ 10.การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ ยังไม่มีสถานประกอบการ และยังไม่เสนออัตราตำแหน่ง ทำให้ปัจจุบันมีสถานประกอบการรวม 324 แห่ง ที่ต้องการแรงงาน 3,099 อัตรา

2.กระทรวงแรงงานได้จัดตั้งศูนย์บริหารแรงงานเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC Labour Administration Centre) ที่สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 3 ชลบุรี และเปิดให้บริการแล้วเฉพาะภารกิจด้านตรวจลงตราและอนุญาตทำงานให้แก่ ผู้บริหาร ช่างฝีมือ และผู้ชำนาญการ ตามกฎหมายบีโอไอ การนิคมอุตสาหกรรม และการปิโตรเลียม ตั้งแต่วันที่ 12 พฤศจิกายน 2561

Advertisement

การเปิดดำเนินงานของศูนย์บริหารแรงงานฯ มีวัตถุประสงค์ 1.เพื่อสนับสนุนขับเคลื่อนการพัฒนาเขตอีอีซีให้เป็นไปอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ 2.สร้างความมั่นใจแก่นักลงทุนในด้านความพร้อมของบุคลากรและแรงงานไทย โดยศูนย์บริหารแรงงานฯ มีภารกิจหลัก 4 ด้าน ได้แก่ ภารกิจด้านบริหารจัดการข้อมูลแรงงาน ซึ่งจะเป็นการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม ในการสำรวจความต้องการตลาดแรงงาน วิเคราะห์สภาวะตลาดแรงงาน และแนวโน้มความต้องการแรงงาน (Labour Demand) และข้อมูลกำลังแรงงาน (Labour Supply)

การวางแผนพัฒนากำลังแรงงาน และให้บริการข้อมูลข่าวสารภาครัฐ เอกชน และนักลงทุนในพื้นที่ ตลอดจนการตรวจลงตราและอนุญาตทำงาน ซึ่งจะเป็นการดำเนินงานร่วมกันระหว่างกรมการจัดหางาน (กกจ.) และสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) เพื่อให้บริการแก่ผู้บริหาร ช่างฝีมือ ผู้ชำนาญการ ตามกฎหมายของบีโอไอ การนิคมอุตสาหกรรม และการปิโตรเลียม

นอกจากนี้ยังมีการจับคู่ตำแหน่งงานว่าง (Job Matching) การรับลงทะเบียนและสัมภาษณ์เบื้องต้น การแนะแนวและทดสอบความพร้อมทางอาชีพ การเพิ่มทักษะฝีมือแรงงานให้สอดรับกับความต้องการของตลาดแรงงานใน 10 อุตสาหกรรมกลุ่มเป้าหมาย และให้ความรู้เกี่ยวกับการคุ้มครองแรงงานและสิทธิประโยชน์ประกันสังคม

สำหรับการบูรณาการของศูนย์บริหารแรงงานฯ กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนั้น ได้ดำเนินการร่วม 3 ภาคส่วน ได้แก่ นายจ้าง/สถานประกอบการ สถานศึกษา และภาครัฐ โดยกระทรวงแรงงาน เป็นหน่วยงานหลักในการจัดหา และพัฒนาบุคลากรเพื่อให้สอดรับกับความต้องการของตลาดแรงงาน ตลอดจนให้การคุ้มครองแรงงานและสิทธิประโยชน์ประกันสังคม

ส่วนสถานประกอบการ เสนอความต้องการและยกระดับฝีมือแรงงานลูกจ้างของตนเอง ขณะที่สถานศึกษาปรับปรุงหลักสูตร ผลิตกำลังคนให้สอดคล้องกับความต้องการ บีโอไอส่งเสริมการลงทุนให้กับผู้ประกอบการในพื้นที่อีอีซี และศูนย์บริหารแรงงานฯ กำหนดแผนงานในภาพรวมของประเทศ และเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานอย่างเป็นระบบบิ๊ก ดาต้า (Big Data)

3.กระทรวงแรงงานได้วางแผนการผลิตและพัฒนากำลังแรงงาน ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน โดย 1.จัดทำบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือ (เอ็มโอยู) ในการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลบิ๊ก ดาต้า เพื่อการวางแผนการผลิตและพัฒนากำลังคนระหว่างกระทรวงแรงงาน และกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2561 เพื่อสร้างความร่วมมือในการเชื่อมโยง แลกเปลี่ยน และใช้ประโยชน์ข้อมูลด้านการศึกษาและด้านแรงงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพในการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา พัฒนาฐานข้อมูลด้านการศึกษาและแรงงานให้มีความสอดคล้องกันและใช้ประโยชน์ร่วมกัน พัฒนาและยกระดับมาตรฐานวิชาชีพ ทักษะของผู้เรียนหรือผู้สำเร็จอาชีวศึกษาให้ได้มาตรฐานการอาชีวศึกษาและมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ

2.พัฒนาทักษะฝีมือแก่แรงงานในสถานประกอบการ และผู้ที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงาน เพื่อยกระดับและเสริมสร้างศักยภาพรองรับอีอีซี ดำเนินงานพัฒนาฝีมือแรงงานแก่กำลังแรงงานในพื้นที่อีอีซี 7,780 คน ใช้หลักสูตรการฝึกในสาขาเทคโนโลยีชั้นสูงที่สอดคล้องกับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย และส่งเสริมให้สถานประกอบกิจการพัฒนาลูกจ้างของตนเองตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ.2545 อีก 575,361 คน

รัฐบาลต้องการให้อีอีซีเป็นตัวขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจของประเทศ ฉะนั้น “แรงงาน” ถือเป็นส่วนสำคัญที่ต้องเตรียมพร้อม ซึ่งตั้งเป้าใช้คนในพื้นที่ให้มากที่สุด จึงมีแผนจัดตั้งศูนย์บริหารแรงงานฯ เพื่อรวมรวมข้อมูลแรงงานทั้งหมด รวมไปจนถึงการวิเคราะห์ข้อมูล การต่อวีซ่า การขอเวิร์กเพอร์มิต เพื่ออำนวยความสะดวก ให้ง่ายต่อการเข้าไปใช้บริการ เพราะในศูนย์นี้จะมีทั้งหน่วยงาน ตม., บีโอไอ ภาคเอกชน ไปจนถึงการคุ้มครองแรงงานในพื้นที่ เสมือนการย่อส่วนหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมารวมกันในศูนย์นี้ ลดเอกสาร ลดขั้นตอน ขณะนี้เริ่มทดลองระบบด้วยการให้บริการวีซ่า

คาดว่าศูนย์บริหารแรงงานฯนี้จะเปิดอย่างเป็นทางการได้ภายในเดือนธันวาคมนี้ สำหรับงบประมาณที่ใช้ก็เป็นงบประมาณจำนวนปี 2562 จากกรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่มีการขอเพิ่มเติมใดๆ

ทั้งนี้ 3 จังหวัดในพื้นที่อีอีซีถือว่าใหญ่มาก หากจะปล่อยให้หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งรับผิดชอบเท่านั้น คงไม่ได้ นอกจากนี้พบว่าในพื้นที่อีอีซีขาดแคลนแรงงานประมาณ 14,000 คน ก็พบว่ามีคนว่างงานในพื้นที่ใกล้เคียงกันด้วย จึงมีแผนจะดึงในคนที่พื้นที่อีอีซีและรอบๆ อีอีซีเข้าสู่ระบบก่อน

เราจะเตรียมแรงงานเพื่อรองรับการขยายตัวของ 3 จังหวัด ให้มีความคล่องตัวมากขึ้น พอเพียงให้ได้ สะดวกทั้งผู้ประกอบการและแรงงานในพื้นที่ รวมถึงจะมีการเพิ่มฝึกฝีมือแรงงานให้ตามที่ตั้งโจทย์มา ทั้งผู้ประกอบการต้องมีการฝึกอบรมแรงงาน เพื่อเพิ่มทักษะและดูในเรื่องความปลอดภัย ผมจึงย่อส่วนให้ลงไปทำตั้งแต่การจัดหาแรงงาน การเพิ่มทักษะ คุ้มครองแรงงาน ค่าจ้างต้องเหมาะสมและเป็นธรรม

คาดว่าจะมีแรงงานมาเข้าระบบอีกอย่างน้อย 40,000 คน ในขณะที่เรากำลังขาดแคลนแรงงานอีกประมาณ 14,000 คน ถ้าเราไม่มีระบบนี้ เราก็วางแผนไม่ได้ ตอนนี้ระบบบิ๊ก ดาต้า จะทำให้เห็นภาพเป็นปัจจุบันว่าจะต้องดำเนินการอะไรบ้าง และในอนาคตเรื่องของแรงงานจะเป็นอย่างไร แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น จะทำเพียงภาครัฐไม่ได้ ก็ต้องผลักดันให้ภาคเอกชนเข้ามาช่วยทำ และต้นทาง คือ กระทรวงศึกษาธิการจะต้องปรับตัว ซึ่งจะทำให้พื้นที่อีอีซีขับเคลื่อนต่อไปได้
ในจำนวนแรงงานที่ยังขาดแคลนอีกราว 14,000 คนนั้น คาดว่าจะเรียนจบในปีนี้ ซึ่งในจำนวนที่ขาดนั้นต้องการแรงงานที่มีทักษะถึง 3,000 คน

สำหรับแผนปฏิบัติการนั้น ได้วางไว้แล้วทั้งแผนระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว และอาศัยความต้องการของผู้ประกอบการเป็นตัวนำ และเมื่อพบว่าแรงงานด้านใดขาดแคลน ก็ต้องปรับหลักสูตรเพื่อฝึกป้อนเข้าไปยังจุดที่ขาด ซึ่งขณะนี้พบว่าอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ยังเป็นธุรกิจที่ต้องการแรงงานที่มีทักษะมาเป็นอันดับ 1 และแม้ในกลุ่มหุ่นยนต์ และกลุ่มการเกษตรเทคโนโลยีชีวภาพ ยังไม่มีการรายงานตัวเลขความต้องการแรงงาน แต่เชื่อมั่นว่าทั้ง 2 ธุรกิจนี้มีความต้องการแรงงานแน่นอน

ศูนย์บริหารแรงงานฯ ถือเป็นหน่วยงานนำร่อง เพราะถ้าไม่นำระบบนี้เข้าใช้ การพัฒนาพื้นที่อีอีซีอาจจะค่อนข้างยาก ที่สำคัญมองว่าในอนาคตอาจจะต้องมีการใช้กฎหมายเฉพาะกับศูนย์บริหารแรงงานฯ ทำเป็นหน่วยงานพิเศษที่อาจต้องขึ้นตรงกับกระทรวงแรงงาน เพื่อให้เกิดความคล่องตัวกว่านี้ เพราะขณะนี้นักลงทุนจากต่างประเทศมองเข้ามาในพื้นที่อีอีซีมาก จึงต้องแสดงให้เห็นว่าเราอำนวยความสะดวก และมีความพร้อมทุกรูปแบบ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image