วิพากษ์แก้ ป.วิอาญา ตัดสิทธิคนหนีคดี ‘ผลเสีย-ผลดี’ ?!

หมายเหตุความเห็นนักวิชาการ นักกฎหมาย กรณีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 5 มาตรา สาระสำคัญ ห้ามประชาชนเป็นโจทก์ฟ้องคดีผู้อื่นโดยไม่สุจริต หรือฟ้องซ้ำ และตัดสิทธิบุคคลที่ไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา ไม่สามารถฟ้องคดีอาญาต่อศาลได้อีก


 

พนัส ทัศนียานนท์
อดีตคณบดี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ต้องพิจารณาก่อนว่า เจตนารมณ์ของการออกกฎหมายฉบับนี้มีจุดมุ่งหมายอยู่ตรงไหน เข้าใจว่าเป้าหมายหลักคือเป็นการสกัดกั้นนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ไม่ให้ยื่นฟ้องคนอื่นๆ ที่อยู่ประเทศไทย เมื่อกฎหมายออกมาอย่างนี้แล้ว นายทักษิณคงหมดทางฟ้องตอบโต้ผู้ที่อาจไปกล่าวหาตนไว้ หรือมีการฟ้องร้องอะไรไว้ ในที่สุดคดีความอาจยกฟ้องไป เอาโทษนายทักษิณไม่ได้

Advertisement

ดังนั้น การเขียนกฎหมายแบบนี้เท่ากับว่านายทักษิณฟ้องกลับไม่ได้ ถ้าถามว่าในแง่กฎหมายมีผลเสียอย่างไร ต้องพิจารณาว่าการออกกฎหมายแบบนี้จะไปลิดรอนสิทธิของคนที่จะพึงมี พึงได้ตามกฎหมายหรือไม่

ในฐานะที่เขาเป็นผู้เสียหายในคดีอาญา เพราะตามหลักกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของเราที่ไทยยึดถือมานานคือ ในคดีอาญาบางประเภทมีผู้เสียหายได้ เช่น คดีลักทรัพย์ ฆ่าคนตาย ทำร้ายร่างกาย ย่อมมีคนเสียหายซึ่งเกิดจากการกระทำความผิดนั้น มีโจทก์ นอกเหนือจากรัฐจะมีอัยการเป็นคนฟ้องคดี ตัวผู้เสียหายเองก็มีสิทธิตามกฎหมายที่จะยื่นฟ้องคดีต่อศาลได้ด้วย

ที่สำคัญที่สุดคือ ถ้าผู้เสียหายซึ่งไม่ใช่พนักงานอัยการไปฟ้องคดีต่อศาล ตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนดว่า ศาลต้องไต่สวนมูลฟ้องก่อน ถ้าศาลไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าผู้ฟ้องที่ได้นำคดีมาฟ้องไม่ใช่ผู้เสียหาย ศาลสามารถยกฟ้องได้อยู่แล้ว

Advertisement

โดยไม่จำเป็นต้องเขียนกฎหมายอันนี้เพิ่มขึ้นมา โดยการไต่สวนมูลฟ้องของศาลในเบื้องต้นต้องไต่สวนก่อนว่า ผู้ที่นำคดีมาฟ้องเป็นผู้เสียหายตามกฎหมายหรือไม่ ภาษากฎหมายเรียกว่า เป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย

ดังนั้น กรณีเช่นนั้นอาจบอกได้ว่า คนที่เสนอกฎหมายนี้อาจบอกว่า คนที่ต้องคดีอยู่แล้วและจะมาฟ้องคดีแก้เกี้ยวต่อเนื่องนั้นฟ้องไม่ได้ ถือเป็นการใช้สิทธิในการฟ้องโดยไม่สุจริต หากเป็นอย่างนั้นจริง ขณะที่ศาลไต่สวนมูลฟ้องสามารถยกขึ้นพิจารณา โดยยกฟ้องได้ทันที ไม่จำเป็นต้องแก้กฎหมายนี้

อย่างไรก็ตาม ลักษณะเช่นนี้ไม่ถือว่าเป็นการเขียนกฎหมายซ้อน แต่เป็นเรื่องที่ศาลพิจารณาในประเด็นที่เขาต้องพิจารณาอยู่แล้วว่า คนที่นำคดีมาฟ้องต่อศาล 1.เป็นผู้เสียหายหรือไม่ 2.ใช้สิทธิในการฟ้องคดีโดยสุจริตหรือไม่ ซึ่งโดยสุจริตหรือไม่นั้น การมาเขียนกฎหมายให้เป็นวรรคเป็นเวรเขียนได้ไม่เยอะอยู่แล้ว
เพราะเป็นกรณีที่ต้องพิจารณาเป็นเรื่องๆ ไป ศาลต้องใช้ดุลพินิจในการพิจารณาข้อเท็จจริงว่า บุคคลที่นำคดีมาฟ้องเข้าข่ายเป็นการใช้สิทธิฟ้องคดีโดยไม่สุจริตหรือไม่ ถ้าใช้สิทธิฟ้องคดีโดยไม่สุจริต ศาลยกฟ้องได้อยู่แล้ว

เพราะถือว่าไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย แม้ตามพฤตินัยเป็นผู้เสียหายจริง แต่เนื่องจากใช้สิทธิโดยไม่สุจริตก็ถือว่าไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย ศาลมีอำนาจยกฟ้องคดีได้เลย

ดังนั้น ผมเห็นว่าไม่จำเป็นต้องเขียนกฎหมายนี้ เพราะเจตนาชัดแจ้งเกินไปสำหรับผู้ที่เสนอให้มีการแก้ไขกฎหมายนี้ อีกทั้ง สนช.ก็มีมติผ่านแล้ว จึงเป็นเจตนารมณ์ที่ชัดแจ้งว่าเป็นการเฉพาะเจาะจง คือมุ่งไปที่นายทักษิณ ปิดประตูไม่ให้เขาต่อสู้ทางกฎหมายหรือทางคดีใดๆ ทั้งสิ้น

กรณีประเทศไทยค่อนข้างพิเศษ เพราะในต่างประเทศเอง ส่วนใหญ่ผู้ที่มีอำนาจนำคดีอาญาไปฟ้องศาลคือพนักงานอัยการ และกระบวนการนำคดีไปฟ้องต่อศาลจะมีขั้นตอน ซึ่งคุ้มครองทั้ง 2 ฝ่าย

ทั้งฝ่ายผู้เสียหายและฝ่ายที่ตกเป็นผู้กล่าวหาว่าทำผิด โดยเฉพาะในกระบวนการสอบสวนหรือไต่สวนของเขาจะพิจารณาอย่างถี่ถ้วน รอบคอบว่าจะเกิดความอยุติธรรมต่อข้างใดข้างหนึ่งหรือไม่

โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา ก่อนจะมีการฟ้องคดีต่อศาลได้ต้องผ่านคณะลูกขุนซึ่งเป็นคณะลูกขุนใหญ่ โดยคณะลูกขุนใหญ่จะมีหน้าที่กลั่นกรองว่าการที่อัยการจะฟ้องคดีนั้นมีหลักฐานเพียงพอตามอ้างหรือไม่

ดังนั้น ของต่างประเทศจะมีการกลั่นกรองอย่างดี หากว่าลูกขุนใหญ่เห็นว่าอัยการมีหลักฐานมั่นคงเพียงพอก็จะเห็นชอบว่าฟ้องคดีได้ อัยการถึงจะนำคดีไปฟ้องต่อศาลได้ แต่ระบบของเราให้ผู้เสียหายในคดีมีสิทธิฟ้องคดีเองได้ด้วย ซึ่งแตกต่างจากของเขา

 

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ
อดีตคณบดี คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

เท่าที่อ่านตามข่าว นายสมชาย แสวงการ บอกว่า ไม่ได้เล่นงานใครเป็นการส่วนตัว หลักการกว้างๆ คือ เพื่อไม่ให้คนที่อยากฟ้องใครก็ฟ้องไปเรื่อย ซึ่งทำให้คนลำบาก หรือคนที่คดีหมดอายุแล้ว ก็เอามาฟ้องไม่ได้ ฟังแล้วถือว่ามีหลักการ ในแง่ที่ว่าคดีที่ควรจะหมดก็หมดไป คดีที่ฟ้องไม่ได้ ก็ให้อยู่ในกระบวนการ ในร่องในรอย

ถ้าเอาตามที่เขาพูดว่าจะเป็นอย่างนี้ ถ้าเป็นเท่านี้จริง ก็เป็นเรื่องทางกฎหมายที่นักกฎหมายเห็นว่า ความยุติธรรมไม่ควรนานเกินไป ควรทำแบบตรงไปตรงมา ไม่ใช่ฟ้องดะ 70 จังหวัด หาเรื่องฟ้อง ก็เกินไป หากฟังเท่านี้ถือว่าโอเค ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว ไม่ได้ต้องการเล่นงานคนที่หนีคดี ในแง่กฎหมายถือว่าพอรับได้ แต่คนก็สงสัยว่าทำไมมาออกตอนนี้ (หัวเราะ)

ถามว่าเกี่ยวข้องกับทักษิณ-ยิ่งลักษณ์หรือไม่นั้น มองว่าการผ่านกฎหมายของนิติบัญญัติ อะไรที่เป็นกฎหมายแล้วผ่านกระบวนการแล้ว ต้องยอมรับว่าถูกกฎหมาย ปัญหาคือเมื่อถูกกฎหมายแล้ว ในทางการเมือง ทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและอื่นๆ อีกหลายอย่าง มันถูกไหม เหมาะสมหรือไม่

ตรงนี้คือสิ่งที่ตัวกฎหมายอาจถูกตั้งคำถามได้ อย่างสหรัฐอเมริกา มีหลายรัฐ สภานิติบัญญัติของรัฐ ยังเร่งออกกฎหมายเพราะเดือนมกราคม พวก ส.ส.เดโมแครตที่ชนะจะมานั่งในสภา นี่คือระดับรัฐ ไม่ใช่ระดับประเทศ หลายรัฐมีการเปลี่ยนพรรค พรรครีพับลิกันก็รีบออกกฎหมายตอนนี้ บางเรื่องออกถึงขั้นจำกัดอำนาจของอัยการประจำรัฐซึ่งตอนนี้เป็นเดโมแครตในรัฐมิชิแกนกับวิสคอนซิน

นอกจากนี้ ยังมีกฎหมายการเงินและอื่นๆ อีกหลายอย่าง นักข่าวก็ถามว่าเป็นเรื่องการเมืองหรือเปล่า เป็นการเล่นงานฝ่ายตรงข้ามหรือไม่ คนออกกฎหมายบอกว่า ไม่ใช่ เพราะทำมาหลายปีแล้ว พอดีเพิ่งมาเสร็จตอนนี้ เขาบอกมีเหตุผลว่าทำแล้วดี มีการคานอำนาจกัน ก็มีหลักการทั้งนั้น แต่ถ้าไปถามคนอเมริกัน เขาก็ไม่เชื่อ คิดว่าเป็นการกลั่นแกล้ง

ในทางการเมืองเป็นตัวที่ให้ความหมายนัยยะที่แฝงเร้น กฎหมายบอกห้ามฟ้อง ก็ถูกแล้ว ถ้าฟ้องไม่ถูก ก็ไม่ควรจะฟ้อง แต่พอออกมาแล้วแปรญัตติอะไรต่างๆ เราก็ยังไม่รู้ ตรงนี้จะทำให้น้ำหนักทางการเมืองเป็นตัวกำหนดมากกว่าว่าเนื้อหาจริงๆ ตอบสนองคนส่วนใหญ่ หรือทำเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนจริงหรือไม่

กรณีนี้ สนช.รุ่นนี้ถ้าพูดตามสถานการณ์คือไม่ได้ผ่านการคัดสรรอย่างเปิดเผย ไม่มีฟีดแบ๊กจากประชาชน ได้รู้ ได้เถียง ได้แสดงความเห็นหลากหลาย อ้างว่าทำประชามติแล้ว

แต่ประชามติในสมัยนี้มันไม่มีความหมาย เพราะห้ามฝ่ายตรงข้ามพูดอยู่แล้ว คนที่จะพูดตรงข้าม ก็ไม่ออกมาพูดด้วย กลัวถูกจับ เพราะฉะนั้น เมื่อสภานิติบัญญัติไม่เป็นประชาธิปไตย การออกกฎหมายที่มีผลผูกมัดคนทั้งประเทศทางกฎหมายทางหลักการต่างๆ มันก็สุ่มเสี่ยง กฎหมายแบบนี้แก้ยาก กระบวนการ วิธีการต่างๆ

จึงควรให้สภานิติบัญญัติที่มาโดยชอบธรรม และมีการตอบสนองกับประชาชนจริงๆ มาแก้ดีกว่า

สมลักษณ์ จัดกระบวนพล
อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา
อดีตกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

ในฐานะนักกฎหมายฟังข่าวแล้วก็รู้สึกตกใจว่า เกิดอะไรขึ้นถึงมีการแก้ไขเพิ่มเติมร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ที่มีเนื้อหาในการตัดสิทธิคนหนีคดีไม่ให้ใช้สิทธิฟ้องศาลได้ เพราะในความเป็นจริงเมื่อผู้กระทำผิดหลบหนีคดีก็ถือเป็นเรื่องเฉพาะตัวของบุคคลนั้นๆ อยู่แล้ว หากมีการจับกุมได้หรือจำเลยเข้ามอบตัวภายหลังก็ต้องถูกลงโทษตามกฎหมายอยู่แล้ว ดังนั้น การออกกฎหมายมาตัดสิทธิฟ้องคดีอาญาถือเป็นคนละเรื่องกัน

ทั้งนี้ ในการพิจารณาคดีสำหรับบุคคลที่เป็นจำเลยของศาลนั้น ศาลจะพิจารณาเฉพาะในสำนวนเท่านั้นว่าจำเลยได้กระทำความผิดตามสำนวนนั้นๆ หรือไม่ ศาลจะไม่นำประวัติของจำเลย ไม่ว่าจะเคยต้องโทษ หรือเคยหลบหนี มาพิจารณาหรือวิเคราะห์ว่าจำเลยได้กระทำผิด หรือเป็นคนร้ายหรือไม่

แต่ศาลจะนำมาพิจารณาก็ต่อเมื่อจะมีการลงโทษ โดยศาลจะดูประวัติของจำเลยว่า ที่ผ่านมามีประวัติเสียหาย หรือเคยต้องโทษใดๆ มาก่อนหรือไม่ หากจำเลยเป็นคนประวัติดี ไม่เคยต้องโทษมาก่อน ศาลก็ใช้ดุลพินิจในการกำหนดโทษเบาให้ เป็นต้น

จะเห็นได้ว่า กระบวนการของการพิจารณาในแต่ละสำนวน จึงไม่เกี่ยวกันกับประวัติการกระทำของจำเลยที่ผ่านมาเลย แม้ว่าที่ผ่านมาจำเลยอาจจะกระทำความชั่วร้ายมามากในสำนวนก่อนๆ

แต่สำนวนใหม่เขาไม่ผิด ก็ต้องชี้ว่าเขาไม่ผิด ตามกระบวนการพิจารณาของศาล จะนำความผิดจากเรื่องอื่นมาเหมารวมไม่ได้เด็ดขาด ซึ่งการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวถือเป็นการเหมารวมว่า เมื่อคนคนนั้นเป็นคนไม่ดีจากสำนวนอื่นก็จะต้องผิดในเรื่องอื่นๆ ด้วย

ต้องอย่าลืม โดยเฉพาะกับสภาพบ้านเมืองเวลานี้ บางครั้งจำเลยต้องหนีเพราะความจำเป็น จากกระบวนการยุติธรรมที่ถูกกระทบกระเทือนด้วยอำนาจบางอย่าง มิใช่ว่าเขาไม่เคารพกระบวนการยุติธรรม นี่จึงทำให้เขาควรได้ป้องตัวเองในเรื่องอื่นๆ เมื่อถูกล่วงล้ำอย่างหนึ่งอย่างใดด้วยการฟ้องร้องต่อศาลได้ เพราะถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ การแก้ไขตัดสิทธิคนหนีคดีฟ้องศาล ถือเป็นการตัดสิทธิของความเป็นมนุษย์ของคนที่ควรจะพึงมีในคดีอื่นๆ

ดิฉันจึงไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง เพราะเท่ากับเป็นการประหารชีวิตซ้ำ หลังจากการหลบหนีเพื่อให้คนคนนั้นตายไปโดยปราศจากสิทธิทั้งปวง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image