‘ธีรยุทธ บุญมี’ วิพากษ์เลือกตั้ง 62 ประมูลสัมปทานคะแนนเสียง

หมายเหตุเนื้อหาบางส่วนจากการปาฐกถาของนายธีรยุทธ บุญมี นักวิชาการและนักวิพากษ์วิจารณ์ด้านการเมือง ในงานปาฐกถา 45 ปี 14 ตุลา ครั้งที่ 4 “มองปัญหาประเทศไทยหลังการเลือกตั้ง ปัญหาที่ใหญ่กว่าวิกฤตการเมือง” ณ ห้องประชุมอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว ถนนราชดำเนินกลาง เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม


 

ด้านเศรษฐกิจคือความไม่พร้อมของไทยในเรื่องอุตสาหกรรม 4.0 นโยบาย 4.0 ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีข้อดีในส่วนกระตุ้นให้ภาคธุรกิจสังคมตื่นตัวและปรับตัวต่อผลกระทบของซัพพลายเชน แต่ไม่มีการปรับกระบวนทัศน์ใหม่ เพราะรัฐบาลไม่เริ่มต้นด้วยการทำให้ตัวเราเป็นสังคมข้อมูลข่าวสารเพื่อเป็นพื้นฐานให้เกิดเศรษฐกิจความรู้ นโยบายสมาร์ทต่างๆ เกือบทั้งหมดของรัฐบาลจึงไม่ได้ผลจริง

เยอรมันเองยังยอมรับว่าความรู้เกี่ยวกับ 4.0 ของเขายังไม่เพียงพอ และจำนวนบุคลากรที่จบด้านสเต็มของตนยังขาดอยู่ ส่วนประเทศที่คล้ายไทยเพราะขึ้นอยู่กับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมเอสเอ็มอีมาก อย่าง อิตาลี สเปน ยังลังเลที่จะทุ่มเทไปสู่ 4.0 เพราะไม่แน่ใจว่าจะเหมาะสมกับเศรษฐกิจสังคมของตนหรือไม่ แต่ไทยกลับทุ่มเทตัวเข้าสู่ 4.0 เหมือนคนบ้าคลั่ง

Advertisement

จะเป็นประโยชน์กว่าไหมถ้ารัฐบาลจะเปลี่ยน เศรษฐกิจบริกร (servant economy) คืออาศัยแรงงานมาให้บริการ เช่น การใช้แรงงานต่างชาติ ขายผลผลิตชั้นต้น มาเป็น เศรษฐกิจบริการ (service economy) คือมีผู้เชี่ยวชาญโดยเฉพาะ ซึ่งมีมูลค่าสูงมาแทนแรงงาน

สำหรับด้านสังคม คนรวย 1% รวยล้นฟ้า แต่คนจนท่วมประเทศ ผมขออนุญาตผลิตคำขวัญใหม่ รวยกระจุก จนกระจาย กลางกระจ้อน ซึ่งกระจ้อนหมายถึงแคระแกร็น

รายได้ชนชั้นกลางอาจเพิ่ม 60-70% แต่ค่าอาหาร ค่าเดินทางเพิ่มมากกว่าเท่าตัว โดยเฉพาะด้านที่พักอาศัย

Advertisement

สังคมไทยมี 2 ชนชั้นครึ่ง คนรวยรวยล้นฟ้า คนจนพอมีอยู่มีกินมีมากที่สุด ส่วนหนึ่งมีรายได้ดีขึ้นจากผลผลิตทางการเกษตรบางประเภท ขยับเป็นผู้ประกอบการอิสระ จะมีส่วนน้อยที่ก้าวไปเป็นชนชั้นกลาง ส่วนชนชั้นกลางที่จะขยายตัวมีรายได้สูงก็เป็นเพียงความฝันกลางวัน เพราะไม่มีทุนเศรษฐกิจและทุนเครือข่ายสังคมเหมือนครอบครัวคนรวย

จนกล่าวได้ว่าปัจจุบันมีแต่ชนชั้นกลางบน คือคนทำงานด้านการเงิน ครีเอทีฟ หรือหมอ วิศวกร ฯลฯ ส่วนชนชั้นกลาง-กลางยุบตัวลงเป็นชนชั้นกลางล่าง ทับซ้อนกับชนชั้นล่างที่ขยายตัวขึ้นบน สังคมไทยปัจจุบันจึงมีโครงสร้างเพียง 2 ชั้นครึ่ง

ถามว่าอยากให้ บิ๊กตู่ ทำอะไรบ้าง ผมอยากให้ปฏิรูปแบกะดินบ้าง รัฐบาลหน้าควรแบกะดินให้ครบทุกภาค เช่น เติมรถไฟทางคู่เติมถนนให้ภาคเหนือ ภาคใต้ ดึงน้ำจากแม่น้ำโขงมากระจายทั่วภาคอีสาน
ส่วนอนาคตการเมืองประชาธิปไตยก่อนเกิดวิกฤตการเมืองไทยมีเหตุการณ์เกิดขึ้น 2 อย่างคือ การปฏิรูปการเมืองปี 2540 และวิกฤตต้มยำกุ้ง เกิดจากกระแสเสรีนิยมใหม่ในโลก

2 เหตุการณ์นี้นำไปสู่แนวคิดใหม่ๆ ในการแก้ปัญหาคือออกแบบรัฐธรรมนูญ 2540 ให้พรรคเข้มแข็งขึ้นและเป็นศูนย์กลางในการรวมกลุ่มต่างๆ เข้าด้วยกัน โดยพลังที่จะมีศักยภาพมี 3 แบบ คือ 1.บุคคลที่มีบารมี 2.กองทัพ และ 3.กลุ่มทุนใหญ่

กลุ่มแรกที่ทดลองใช้ คือกลุ่มทุน นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ก่อนจะมีการเลือกตั้งจะมีการคุยในหมู่พรรคพวกว่าจะต้องใช้เงินเท่าไหร่เพื่อให้ได้เป็นรัฐบาล คำนวณเป็นธุรกิจ ซึ่งเกิดขึ้นจริง กลุ่มทุนใหญ่จัดการได้ที่จะเข้ามามีอำนาจรัฐ

การปกครองโดยคนกลุ่มน้อยที่เรียกว่า Oligarchy (คณาธิปไตย) หรือการให้ทุนใหญ่เข้ามามีอำนาจ โดยใช้ประชานิยมเป็นหลัก ได้รับการตอบรับจากชาวบ้านสูง แต่พรรคของนายทักษิณรวมศูนย์อำนาจและคอร์รัปชั่นแบบสุดขั้ว คุกคามอำนาจทหารฝ่ายอนุรักษ์และกลุ่มทุนใหญ่อื่นๆ จึงเกิดรัฐประหารขึ้น 2 หน

ช่วง 10 กว่าปีที่บ้านเมืองวุ่นวาย มีการก่อตัวของกลุ่มทุนใหญ่เกือบ 10 กลุ่ม เช่น บางกลุ่มคุมสนามบิน บางกลุ่มคุมเครื่องดื่มทุกชนิด คุมพลังงาน คุมสินค้าเกษตร คุมการขายปลีกส่ง ฯลฯ กลุ่มทุนอิทธิพลใหญ่นี้มักเกิดขึ้นในประเทศที่ทุนนิยมพัฒนาอย่างรวดเร็ว เช่น ญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ รัสเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย นำไปสู่การเกิดการปกครองโดยตรง หรือโดยอ้อม โดยคนกลุ่มน้อยที่เป็นผู้มีอิทธิพล (Oligarchy)

คำถามที่ว่า คสช.ตั้งใจสืบทอดอำนาจหรือไม่ คำตอบคือ คสช.ตั้งใจสืบทอดอำนาจมานานแล้ว ตั้งแต่ล้มรัฐธรรมนูญฉบับประวัติศาสตร์ มาเป็นร่างฉบับนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ถือเป็นการตัดสินใจสืบทอดอำนาจตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว ตั้งแต่ที่ให้พรรคการเมืองมีสิทธิเสนอชื่อนายกฯคนนอกได้ หรือให้อำนาจกับ ส.ว.ที่เพิ่มขึ้น 250 คน มีสิทธิเลือกนายกฯ หรือการเกิดขึ้นของพรรคพลังประชารัฐ ตั้งใจอยู่แล้วว่ายังไงก็ต้องสืบทอดอำนาจ
ผมการันตีเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ ว่า พล.อ.ประยุทธ์จะเป็นนายกฯต่อไป พรรคการเมืองก็ต้องต่อสู้กันไป มันถูกออกแบบมาอย่างนี้

ถ้าอธิบายในเชิงอุดมการณ์ของชนชั้นนำไทยน่าจะเรียกได้ว่าเป็นอุดมการณ์เสรีนิยมทางเศรษฐกิจ กับอนุรักษนิยมทางการเมืองอย่างสุดขั้ว กล่าวเป็นภาษาทางนโยบายคือเป็นอุดมการณ์ที่ทำให้รัฐเข้มแข็ง ตลาดเติบโต หมายความว่า รัฐเข้มแข็ง แต่ทำให้การเมืองอ่อนแอ ทำให้สังคม ชุมชนอ่อนแอ เพราะไม่ออกมาคัดค้านเสรีภาพของกลุ่มธุรกิจ

ทหารเชื่อว่าถ้ากำกับการเมืองให้มั่นคง ไม่สนใจการกระจายอำนาจ เน้นความเป็นเอกภาพและความเข้มแข็งของรัฐ เราปล่อยให้กลุ่มธุรกิจอิทธิพลใหญ่มีเสรีภาพในการขยายธุรกิจเต็มที่โดยไม่สกัดกั้น ก็เพียงพอที่จะทำให้ประเทศมั่นคงเศรษฐกิจ
ก้าวหน้า

การเมืองไทยในอนาคตจึงเป็นประชาธิปไตยอิทธิพล เป็นการเมืองใต้เงื้อมมือทุนอิทธิพลได้ในที่สุด ดังนั้นคำขวัญที่ว่า มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน จึงหมายความว่า มั่นคง คือรัฐมั่นคง มั่งคั่ง คือธุรกิจใหญ่มั่งคั่ง ยั่งยืน คืออำนาจของกลุ่มนี้ยั่งยืน

พล.อ.ประยุทธ์คงจัดตั้งรัฐบาลหน้าขึ้นได้ เพราะรูปแบบการประสานประโยชน์ระหว่างพลังทหาร ข้าราชการ กลุ่มอนุรักษ์และกลุ่มทุนใหญ่ที่ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ

พฤติกรรมการเลือกตั้งไม่ต่างไปจากระบบทักษิณ คือมีการเอารัดเอาเปรียบก่อนเลือกตั้ง เช่น การดิสเครดิตนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามโดยอำนาจรัฐประหารที่ตนมี จับกุม ดำเนินคดี หรือเรียกมาอบรม ไปจนถึงการแจกเงินคนจน คนแก่ ข้าราชการ ชาวไร่ ชาวสวน บัตรเครดิตคนจน แจกซิมฟรี อินเตอร์เน็ตฟรี ลดภาษี ช้อปช่วยชาติ ขึ้นรถไฟฟ้าฟรี ฯลฯ

การเลือกตั้งปี 2562 จะเป็นการประมูลสัมปทานคะแนนเสียงเป็นรัฐบาล ไม่ใช่การซื้อเสียง คล้ายการเลือกตั้งปี 2544 ซึ่งพรรคของนายทักษิณทำได้เก่ง เพราะประมูลเสียงจากชาวบ้านอย่างได้ผล มีการต่ออายุสัมปทานซ้ำหลายรอบ

ผมขอวิงวอนว่าการเลือกตั้งที่จะถึงอย่าให้สังคมสรุปว่ามีอำนาจต่างๆ ทำให้เกิดการโกงการเลือกตั้ง หรือเป็นการเลือกตั้งสกปรก แบบเดียวกับสมัยเผด็จการทหารปี 2500 เพราะผมมองไม่เห็นว่าจะมีปัจจัยใดที่จะทำให้เกิดการชุมนุมในขณะนี้ นอกจากการชนะการเลือกตั้งที่มาจากการโกง
ความชอบธรรมต่ำจะทำให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ หากชนะเลือกตั้งก็จะเจอปัญหารุมเร้า และจำเป็นต้องเปลี่ยนระบบคิดแบบทหารให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น จึงจะมีโอกาสเป็นรัฐบาลที่ได้รับการยอมรับบทบาทการบริหารประเทศได้

ปรัชญาประชาธิปไตยแบบเก่า เชื่อว่าคนมีเหตุผลสามารถหาจุดร่วมได้ แต่ปรัชญาประชาธิปไตยแบบใหม่มองว่าธรรมชาติของมนุษย์ไม่เพียงมีเหตุผล แต่ยังมีความเชื่อ ศักดิ์ศรีและต้องการการยอมรับ ความแตกต่างจึงเป็นพื้นฐานของประชาธิปไตย แต่เป็น ความแตกต่างอย่างปกติ
ความขัดแย้งเหลือง-แดง ในปัจจุบันเป็นภาวะปกติ ไม่จำเป็นต้องเรียกร้องให้แต่ละฝ่ายเปลี่ยนจุดยืนหรืออุดมการณ์ เพราะเขาจะลดความคิดตัวเองไม่ให้สุดขั้วได้ด้วยเวลาและสถานการณ์

เชื่อว่าการเลือกตั้งที่กำลังดำเนินการอยู่นี้จะช่วยสร้างภาวะความแตกต่างอย่างปกติขึ้น ทั้งพรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทย จะไม่มีใครใช้วาทกรรมนโยบายสุดขั้วมาหาเสียง เพราะถ้าใช้วาทกรรมสุดขั้วมาหาเสียงเมื่อไหร่ พรรคที่จะโกยคะแนนเสียงคือพรรคพลังประชารัฐ ที่รออยู่ว่าเพื่อไทยสุดขั้วเมื่อไหร่ คะแนนจะเข้ามาหาเขา

ในแนวคิด แตกต่างอย่างปกติ มีคำขวัญว่า แตกต่างแต่ไม่แตกแยก ต้องขยายความว่า แตกต่างแต่แค่ถกเถียง ถกเถียงแต่ไม่ทะเลาะ ทะเลาะแต่ไม่ต่อสู้ ต่อสู้แต่ไม่แตกหัก

นอกจากนี้ผมยังมองว่ามีมิติการเมืองใหม่อยู่ 4 อย่าง

1.โซเชียลมีเดีย ที่เครือข่ายสังคมออนไลน์มีพลังให้หน่วยงานการปกครองท้องถิ่น ตำรวจ ราชการ และรัฐบาล สนองตอบในหลายประเด็น เป็นความหวังในการปฏิรูปบางส่วนและต่อต้านคอร์รัปชั่นอย่างค่อยเป็นค่อยไปได้

2.ปรากฏการณ์คนรุ่นใหม่ ที่ต่อรองทำให้เกิดอัตลักษณ์และพื้นที่ของตัวเอง เกิดการตั้งพรรคใหม่ เช่น พรรคอนาคตใหม่ ผมมองเป็นพัฒนาการ อย่าไปมองว่าเป็นเด็กเสื้อแดงเก่า เขาจะคิดอย่างไรก็แล้วแต่ แต่นี่จะเป็นมุมมองใหม่ที่ทำให้เกิดพลัง เป็นโอกาสปรับตัวไปสู่สิ่งที่ดี สอดคล้องกับความต้องการของสังคมที่คนเบื่อของเก่าซึ่งเป็นต้นตอปัญหา และต่อต้านสิ่งที่มีอำนาจอยู่เพราะแก้ปัญหาไม่ได้

3.การขยายตัวพลังบวกของจิตอาสา ที่คนสมัยนี้มีความเป็นปัจเจกชน ต้องการทำดีตามที่ตัวเองชอบและสะดวก สะท้อนออกมาในช่วงงานพระบรมศพ รัชกาลที่ 9 หรือการวิ่งของตูน บอดี้สแลม เป็นต้น ที่ทุกฝ่ายช่วยกันผลักดัน กลายเป็นพลังสำคัญของสังคมที่จะปฏิรูปตัวเองได้

4.การแตกตัวของพรรคเพื่อไทย เป็นปรากฏการณ์ที่ควรศึกษา เพราะพรรคเพื่อไทยมีฐานเสียงที่หนักแน่นกว่าพรรคอื่นมาเกือบ 2 ทศวรรษ การแตกออกเป็นพรรคย่อยส่งผลทางโครงสร้างการเมืองที่ดีขึ้น และขึ้นอยู่กับตัวบุคคลและบางครอบครัวลดลง

หวังว่าพรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ และทุกพรรคจะพัฒนานโยบายให้สร้างสรรค์ที่คนส่วนใหญ่เห็นพ้องด้วย ก็จะทำให้การเลือกตั้งเดินหน้าไปด้วยดี มีโอกาสร่วมมือกันแก้รัฐธรรมนูญ แก้กฎหมายให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ถ้าร่วมกันทำโดยแสดงเหตุผลที่เหนือกว่า อาจจะทำให้สำเร็จโดยไม่ต้องเผชิญหน้าปะทะรุนแรงกับฝ่ายทหารอีก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image