วิพากษ์คำสั่ง ‘คสช.’ แค่ ‘คลายล็อก’ เปิดพื้นที่พรรคไม่สุด

หมายเหตุความคิดเห็นของนักวิชาการและนักการเมือง กรณีหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 22/2561 เรื่อง การให้ประชาชนและพรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมือง เมื่อวันที่ 11 ธันวาคมที่ผ่านมา


 

นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ
รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)

คําสั่งปลดล็อกพรรคการเมืองของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ถือเป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะเราเรียกร้องกันมานานถึง 4-5 ปีแล้ว

Advertisement

วันนี้เขาปลดล็อกให้เท่านี้ก็คงจะดีมากแล้ว

แม้จะมีข้อจำกัดอยู่มาก ทั้งเรื่องการห้ามหาเสียง แต่กลับให้ชุมนุมกันโดยเรียกว่า การเชิญประชาชนมาประชุมทำความเข้าใจก็ตาม เรื่องนี้ก็ปฏิบัติไปง่ายๆ ก่อน เขาไม่ให้รื่นเริงก็ไม่ต้องไปใช้เครื่องขยายเสียงให้มันดังเท่านั้นก็จบ

แต่ถามว่าการเรียกมาคุยแบบเงียบๆ ประชุมกันหารือกันมันคือการชุมนุมหรือไม่

Advertisement

ผมว่ามันก็ใช่ เพียงแต่เราต้องระมัดระวังอย่างมาก เพราะหลายๆ อย่างสุ่มเสี่ยงต่อกฎหมาย บางข้อบังคับมีความคลุมเครือ แต่มีความเชื่อว่า คนเราถ้าทำอยู่ในกฎกติกา ดำเนินตามกฎหมายด้วยความสุจริต ท่านก็ไม่ต้องกลัวอะไร เพราะกฎหมายบ้านเราเขาคุ้มครองคนสุจริต และคนที่ทำถูกอยู่แล้ว

ทั้งนี้หากเมื่อใดก็ตาม ถ้าพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเลือกตั้งประกาศออกมามีผลบังคับใช้อย่างเต็มที่แล้ว เมื่อนั้น คสช.ไม่ควรจะมากั๊กอะไรอยู่ ควรปล่อยให้พรรคการเมืองได้คลายล็อกอย่างเต็มที่ มีความฟรีสไตล์ เพราะตอนนี้เป็นเพียงการคลายล็อกส่วนหนึ่งเท่านั้น

นอกจากนี้ เพื่อให้การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 62 มีความครึกครื้นมากที่สุด นี่เป็นโอกาสประวัติศาสตร์ของคนไทย รอการเลือกตั้งมานาน 4-5 ปี คสช.จะมากั๊กไว้ไม่ได้

บรรยากาศการเลือกตั้งต้องมีการหาเสียงให้ถึงที่สุดทันทีที่พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเลือกตั้งบังคับใช้

ชำนาญ จันทร์เรือง
รองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ (อนค.)

เชื่อว่าคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 22/2561 เรื่อง การให้ประชาชนและพรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมือง จะทำให้พรรคการเมืองสามารถทำกิจกรรมได้มากขึ้น

แต่บางอย่างบางคำสั่งก็ยังคาราคาซัง เช่น การควบคุมสื่อ ทำให้การถ่ายถอดเนื้อหาของพรรคการเมืองผ่านสื่อมวลชนทำได้ไม่เต็มที่ เพราะยังต้องพิจารณาการนำเสนอว่าทำได้แค่ไหน เนื่องจากกิจกรรมพรรคการเมืองที่นำสู่สาธารณะได้ชัดเจน คือการเผยแพร่ผ่านสื่อ

ทั้งนี้ การปลดล็อกคำสั่งให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมในครั้งนี้ได้ เช่น การประชุมพรรคการเมือง ที่เป็นกิจกรรมที่ไม่จำเป็นต้องขออนุญาตกลับสู่ภาวะปกติอย่างที่เขาทำกัน จากที่ออกคำสั่ง คสช.มาเพื่อทำให้ไม่ปกติ

แต่ทั้งนี้ ผมมองว่าในการออกคำสั่งครั้งนี้ไม่ใช่การปลดล็อก เป็นเพียงการคลายล็อกที่อาจจะคลายมากหน่อยเท่านั้นเอง

โดยในส่วนของพรรค อนค.จะเริ่มทำกิจกรรมใหญ่ในการแถลงนโยบาย วันที่ 16 ธันวาคม ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

การปลดล็อกจะช่วยให้การเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นเป็นอิสระมากขึ้น เสรีมากขึ้น แต่เป็นธรรมหรือไม่ผมไม่แน่ใจ เพราะบางพรรคก็นำเอาชื่อนโยบายรัฐมาเป็นชื่อพรรค

หรือนโยบายลดแลกแจกแถมที่ยังมองไม่ออกว่าเป็นสวัสดิการตรงไหน ซึ่งผมไม่ค่อยห่วง และเชื่อว่าประชาชนจะเรียนรู้ได้ว่าอะไรเป็นอะไร

หลังจากนี้ผมมองว่า คสช.คงจะไม่มีการปลดล็อก หรือทำอะไรอีกแล้ว เพราะอย่างอื่นเขาคงจะกุมอำนาจไว้จนนาทีสุดท้าย แต่ในส่วนของพรรคการเมืองไม่ปล่อยไม่ได้

แต่อย่างอื่นคงจะต้องเก็บไว้เป็นไม้เรียว ไม้เฆี่ยน ไม้ตีจนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่ เนื่องจากคำสั่งมีเป็นร้อย ที่ออกมามีการยกเว้นแค่บางข้อเท่านั้น ไม่ได้ยกเลิกทั้งหมด เช่น คำสั่งที่ 3/2558 ที่ยกเลิกเพียงข้อ 12 คือยกเลิกการห้ามชุมนุมหรือมั่วสุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปเท่านั้นเอง

ส่วนคดีความต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากคำสั่ง คสช.นั้น โดยหลักกฎหมายทั่วไปในขณะที่พิจารณาคดีกฎหมายบัญญัติว่ามีความผิด แต่ยกเลิกไปแล้วการกระทำก็ต้องไม่มีความผิด ศาลก็ต้องปล่อย

แต่ในกรณีนี้มีการเขียนกำกับไว้ หมายความว่าคดีเก่า ก็ต้องพิจารณาไปโดยต้องยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอจำหน่ายคดี แต่คดีใหม่จะไม่มีแล้ว ซึ่งไม่ควรเขียนประโยคนี้เข้าไป

เพราะเป็นการแสดงถึงความใจแคบ แสดงถึงการกลั่นแกล้ง ซึ่งหลายคนก็รู้กันอยู่ว่าโดนคดีอะไรกันบ้าง มีเป็นหลายร้อยคนที่โดนคดีคำสั่ง คสช. โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย และพรรคไทยรักษาชาติ

และในการออกกฎหมายครั้งนี้เป็นการออกกฎหมายไปเป็นโทษ ทางที่จะแก้ได้คือการยื่นคำร้องต่อศาล และศาลจะวินิจฉัยตามกฎหมายทั่วไป

อย่างล่าสุดในการดำเนินคดีกับผู้จัดเวทีเสวนาประชุมวิชาการนานาชาติไทยศึกษา ที่ จ.เขียงใหม่ เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2560 มีการชูป้ายเวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร มีการแจ้งเอาผิดฝ่าฝืนคำสั่ง 3/2558 ล่าสุด ศาล จ.เชียงใหม่ งดสืบพยาน โดยศาลให้เหตุผลว่าไม่มีกฎหมายลงโทษ

สามารถ แก้วมีชัย
คณะทำงานติดตามการร่างรัฐธรรมนูญ
พรรคเพื่อไทย (พท.)

จริงๆ แล้วยังเหลือเรื่อง 1.การให้เรียกไปปรับทัศนคติได้ยังมีอยู่ 2.ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารเข้าตรวจค้นอะไรต่างๆ ได้อยู่ และ 3.คดีความต่างๆ ที่ได้ดำเนินการไปก่อนหน้านี้ก็ยังให้ดำเนินคดีต่อไป หลักๆ ก็ประมาณนี้ แต่วันนี้ก็ต้องถือว่าเรื่องสำคัญที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของการเมือง ก็ถือว่าโล่งออกไปได้

เช่น เรื่องการห้ามชุมนุมเกิน 5 คนขึ้นไป วันนี้ก็สามารถเชิญประชาชนมาที่สำนักงาน สามารถจัดประชุมในที่ที่ไม่ใช่ที่สาธารณะก็สามารถดำเนินการได้ แต่ไม่ใช่ไปชุมนุมบนถนนนะ

ทั้งนี้ สำหรับการหาเสียง ยังไม่ถึงขนาดไปเปิดเวทีปราศรัยได้ แต่เราสามารถติดป้ายที่ไม่ใช่ที่สาธารณะ อาจจะเป็นที่บ้านหัวคะแนน หรือสำนักงานที่เขาอนุญาต เราก็สามารถไปขึ้นป้ายคำขวัญพรรค หรือชื่อพรรคได้

นอกจากนี้ เราจะไปตั้งวงเสวนา ทำสภากาแฟ ใส่เสื้อพรรคไปงานต่างๆ ก็สามารถทำได้แล้ว และพรรคเองก็สามารถเรียกประชุมได้โดยไม่ต้องทำแบบลับๆ ล่อๆ ก็ถือว่าพรรคสามารถดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้อย่างเต็มที่หรือสามารถประชุมสมาชิกพรรคในพื้นที่ หรือชาวบ้านที่มีความสนใจการเมืองในแต่ละชุมชนได้ ซึ่งก็ทำให้คล่องตัวขึ้น

สุขุม นวลสกุล
อดีตอธิการบดี ม.รามคำแหง

น่าจะปลดล็อกนานแล้ว ส่วนการปลดนั้น จะว่าปลดไม่หมดคงไม่ได้ เพราะชุมนุม 5 คนก็ได้ ไม่ได้เฉพาะเรื่องหาเสียง หรือไม่หาเสียง การแสดงออกทางการเมือง หรือการเคลื่อนไหวทางการเมือง สามารถทำได้โดยอิสระ เหมือนกับเข้าภาวะที่ใช้กฎหมายปกติในการพิจารณาแล้ว

สำหรับที่มีผู้แสดงความเห็นว่าเมื่อปลดล็อกแล้ว ควรยุติคดีความทางการเมืองด้วยนั้น ส่วนตัวไม่ทราบว่าคดีมีอะไรคาราคาซังมาบ้าง พวกละเมิดคำสั่ง นั่นเป็นความผิดครั้งเก่า

ตรงนั้นคงไม่ได้หมายความว่าการปลดล็อกจะต้องไปปลดสิ่งที่เคยทำผิดไว้ เป็นความผิดในสมัยนั้น เพราะฉะนั้นพูดง่ายๆ ว่าอาจมีการตัดสิน เมื่อครั้งหนึ่งผิด ก็ต้องตัดสินก่อนว่าตรงนั้นผิดหรือไม่ผิด

วันนี้พอยกเลิก ทำวันนี้ไม่ผิด แต่ทำครั้งที่แล้วผิด ซึ่งไม่ได้เห็นด้วยกับการผิด แต่ตามหลักกฎหมาย ขณะที่ทำแล้วผิด ก็ต้องผิดก็อยู่ตรงนั้น

ผศ.ดร.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

คงมีเจตนารมณ์เพื่อผ่อนคลายบรรยากาศให้ดีขึ้น หากว่ากันตามจริงยังมีมาตรการอีกหลายอย่างที่ยังมีผลอยู่ เช่น คดีความของครูบาอาจารย์หลายท่านที่ยังติดอยู่กับ คสช.

คดีประชามติซึ่งบุคคลเหล่านี้ไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียกับการเลือกตั้งโดยตรง แต่เป็นผู้ที่เรียกร้องให้นำไปสู่การเลือกตั้ง รวมถึงคดีคนอยากเลือกตั้ง คดีเวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร

ซึ่งคดีเหล่านี้ควรยุติได้แล้ว หากออกคำสั่งมาแบบนี้ สิ่งสำคัญคือต้องยึดเจตนารมณ์ด้วยว่าจะปรองดองกันใช่หรือไม่

ถ้าปรองดองแล้วเริ่มแบบนี้คือไม่เลว แต่เมื่อคดีพวกนี้ยังอยู่ ทำให้เกิดความคลางแคลงว่าที่ผ่านมายังไม่จบอีกหรือ ยังปิดปากกันต่อไปใช่หรือไม่ ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ

เรื่องเหล่านี้ไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน ตลอดจนศาลก็ไม่มีเวลาขนาดนั้นเพื่อพิจารณาคดีประเภทนี้ เนื่องจากมีคดีความสำคัญอยู่จำนวนมาก

ดังนั้น คดีลักษณะนี้รัฐบาลควรถอนฟ้องได้เลย รวมถึงคดีที่ยังขึ้นศาลทหารอยู่จำนวนมาก คดีพวกนี้เป็นคดีที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชนในบรรยากาศที่จะนำไปสู่การเลือกตั้ง

เห็นได้ว่าเป็นการปลดล็อกไม่เต็มที่ พูดกันตามจริงคือ การปลดล็อกนั้น ถ้าเราบอกว่าเป็นการเลือกตั้งที่ Free&Fair บริสุทธิ์ เสรีภาพ ยุติธรรม คิดว่ายิ่งทำให้เรากังขาว่า ที่ยืนยันว่าจะเปลี่ยนแปลงนั้นจริงหรือไม่ ยังไม่นับเรื่องการแบ่งเขต เรื่องวิธีการทำบัตรเลือกตั้ง เบื้องต้นเจตนาเสมือนว่าบรรยากาศนำไปสู่การเลือกตั้งแล้ว ปลดล็อก แต่ปลดไม่สุด

อย่างไรก็ตาม การปลดล็อกครั้งนี้ครอบคลุมถึงเรื่องการยกเลิกการห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน ซึ่งการหาเสียงเลือกตั้งก็เป็นการชุมนุมทางการเมืองอยู่แล้ว

หากจะหาเสียงเลือกตั้งแต่ยังไม่ปลดล็อกคำสั่งนี้จะเกิดขึ้นได้อย่างไร ประชาชนก็ไม่ได้รับรู้ว่าแต่ละพรรค แต่ละกลุ่มมีนโยบายอย่างไร จะทำอะไรกับบ้านเมือง จะแก้ปัญหาบ้านเมืองอย่างไร

นี่คือหลักพื้นฐานที่เขาให้หาเสียงเลือกตั้ง และจริงๆ ไม่ต้องรอคำสั่ง คสช.หรอก คิดว่าพรรคการเมืองบางพรรคคงสามารถหาเสียงทั้งที่ยังมีตำแหน่งทางการเมืองได้ ถ้าเป็นช่วงปกติคงทำไม่ได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image