‘นักวิชาการ’วิพากษ์ กลเกมการเลือกตั้ง

หมายเหตุความเห็นบางส่วนจากนักวิชาการในงานเสวนา “ว่าด้วยบทเรียนและบทบาทในการสังเกตการณ์การเลือกตั้งเพื่อประชาธิปไตย” ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม

สิริพรรณ นกสวน สวัสดี
คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

จากการรวบรวมของตัวเอง พบว่ามีหมากเกมทางการเมืองก่อนการเลือกตั้งที่จำนวนมาก อาทิ หลุมแรก   การออกแบบระบบการเลือกตั้งที่บรรจุอยู่ในรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งใหม่เอี่ยมถอดด้ามสำหรับประเทศไทย เป็นหมากเกมแรกที่ออกแบบมาเพื่อลดทอนความเข้มแข็งของสถาบันพรรคการเมือง ลดทอนแบรนด์ของพรรคที่มีอยู่เดิม สร้างความคลุมเครือในการตัดสินใจของประชาชน 2.การเซ็ตซีโร่สมาชิกพรรคการเมือง 3.การยกเลิกการทำการเลือกตั้งขั้นต้น ซึ่งบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญ รวมถึงพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ นักวิชารวมถึงตัวเองได้วิจารณ์ประเด็นนี้แต่แรกว่าการจัดให้มีไพรมารีแบบบังคับนั้นมั่วไปหมด โดยที่พรรคยังไม่มีระบบสมาชิกพรรคที่เป็นฐานแน่นหนา ระบบนี้ควรใช้เมื่อพรรคการเมืองมีความพร้อม แต่ละพรรคค่อยๆ จัดทำไพรมารีในพื้นที่ที่ตนมีความพร้อม ก่อนบังคับใช้ทั่วไป

Advertisement

หลุมพรางที่ 4 การชะลอการเตรียมความพร้อมการเลือกตั้ง โดยใช้ ม.44 ล็อกไว้ และไม่นานนี้เพิ่งปลดล็อก การชะลอดังกล่าวทำให้พรรคไม่สามารถดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้ หลุมพรางที่ 5 ระหว่างใช้ ม.44 ล็อก รัฐบาลตอนนี้กลายเป็นผู้เล่นทางการเมือง มิได้เป็นกรรมการเหมือนในอดีต ในที่สุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตัดสินใจลงสมัครเป็นว่าที่นายกฯ ทำให้รัฐบาลและ คสช.เข้ามาเป็นผู้เล่นอย่างเต็มรูปแบบ ทำให้รัฐบาลมีอำนาจเหนือองค์กรอิสระและพรรคการเมืองอื่น

หลุมพรางที่ 6 การใช้ ม.44 ให้อำนาจ กกต.แบบเบ็ดเสร็จในการแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ บางจังหวัดมีลักษณะการแบ่งเขตเพื่อเอื้อพรรคการเมืองบางพรรค นี่คือความเนียนของหลุมพรางที่วางไว้ ซึ่งมีทั้งหลุมลึก หลุมตื้นที่ตกแต่งไว้แนบเนียนพอควร หลุมที่ 7 ที่ผ่านมามีการล็อกนักการเมืองไม่ให้ออกไปพูดคุยกับประชาชน โดยส่งทหารเข้าไปพูดคุย เยี่ยมเยียนบ้าน ทำให้ออกไปไม่ได้ เราอาจเห็นแบบนี้อีกในช่วงประกาศพระราชกฤษฎีกาแล้ว

หลุมพรางที่ 8 การใช้ ม.44 แขวนนักการเมืองท้องถิ่นบางพื้นที่ จะเห็นว่าครอบครัวหรือญาตินักการเมือง  ท้องถิ่นย้ายไปอยู่พรรคพลังประชารัฐ หลุมพรางที่ 9 การย้ายพรรคครั้งใหญ่ของ ส.ส.จากหลายพรรคไปอยู่กับพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ซึ่งการย้ายพรรคครั้งใหญ่เกิดขึ้นเป็นระลอกอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจของตัวเองพบว่า อดีต ส.ส.ปี 2554 หรือ ส.ส.เกรดเอ จำนวน 55 คน ย้ายไปพรรคดังกล่าว

หลุมพรางที่ 10 มิติทางเศรษฐกิจ ประเด็นฮือฮาตอนนี้คือการลงทะเบียนคนจนซึ่งได้ทำมาก่อนหน้านี้ทั้งหมดมีการคิดอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง มีความเชื่อมโยงกัน การลงทะเบียนคนจน แจกบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ การซื้อของจากร้านธงฟ้าประชารัฐ ซึ่งจะมีกลุ่มทุนราว 22 กลุ่มที่เข้ามาได้ผลประโยชน์จากเม็ดเงินประชาชน

หลุมพรางที่ 12 เรื่อง ม.48 ของกฎหมายลูกบอกว่าไม่จำเป็นต้องมีเบอร์พรรคการเมือง แต่ละเขตมีคนละเบอร์ ทำให้พรรคใหญ่และเล็กเสียเปรียบในแง่การหาเสียงทั้งประเทศ ขณะที่พรรคเล็กมีปัญหา โดยเฉพาะพรรคที่ต้องการหาเสียงทางออนไลน์ ถ้าอ่าน ม.48 เขาไม่ได้บอกว่ามิได้ห้ามพรรคใช้เบอร์เดียวกัน แต่ละหน่วย แต่ละเขตให้มีการจัดสรรเลขประจำตัวของพรรคนั้นๆ วิธีแก้คือ หาก กกต.สามารถเชิญพรรคการเมืองมาจับสลากทั้งประเทศว่าแต่ละพรรคได้เบอร์ไหน นำเบอร์นั้นไปยื่นแต่ละเขตเลือกตั้ง ทุกเขตพรรคการเมืองก็จะมีเบอร์เดียวกันได้ หรือถ้าแก้ไม่ได้ กกต.อาจพิมพ์บัตรเลือกตั้ง 350 เขตก็ได้ เชื่อว่า กกต.จะแก้ปัญหาตรงนี้ได้

หลุมพรางต่อไปคือ ป้ายหาเสียงจะมีแค่หน้า ส.ส.เขต หัวหน้าพรรค และว่าที่นายกฯ ประเด็นที่เป็นหัวใจของงานวันนี้คือกลโกงการเลือกตั้ง เราไม่สามารถบอกได้ว่าจะมีการโกงหรือไม่ แต่ข้อน่าสังเกตคือ ในอดีตถ้ามีการโกงจะอยู่ในระดับผู้สมัครแต่ละเขตนั้นๆ เนื่องจากรัฐไทยไม่เคยมีพรรคการเมืองของรัฐ ดังนั้น การโกงขนานใหญ่จึงมักมองกลับไปในปี 2500 ที่มองว่าการเป็นการเลือกตั้งสกปรกที่สุด เพราะมีพรรคของรัฐบาล เป็นไปได้ว่าจะมีเลื่อนการเลือกตั้ง เพราะตามกฎหมายต้องจัดให้มีการเลือกตั้งภายใน 90 วัน หลัง พ.ร.ป.เลือกตั้งบังคับใช้ ซึ่งต้องไม่เกินวันที่ 9 พฤษภาคม 2562

อย่างไรก็ตาม ภายหลังการเลือกตั้งนั้น ประการแรก ผลการเลือกตั้งจะไม่เหมือนครั้งที่ผ่านมา ครั้งนี้มีเวลาถึง 2 เดือนกว่าจะรู้ผล ในช่วงนั้นยังมีการใช้กลไกใบเหลือง ใบแดง ใบส้ม ใบดำตลอดเวลา โดยการสอย ส.ส.เขตมีพลังมหาศาลมากกว่าในอดีต เพราะจะกระทบกับบัญชีรายชื่อ ดังนั้น กลเกมหลังการเลือกตั้งครั้งนี้เชื่อว่าน่าจะดุเดือดมาก นำไปสู่ความไม่แน่นอนทางการเมือง และความผกผันที่อาจเกิดขึ้นได้

นอกจากนี้ ประเด็นนายกฯที่พรรคการเมืองเสนอชื่อช่วงการหาเสียงไม่ถือว่าเป็นนายกฯคนนอก เพราะถือว่าผ่านสายตาประชาชนแล้ว ความจริงคือการพยายามบิดเบือนหลักการรัฐศาสตร์และทางสากล เพราะนายกฯคนนอกคือผู้ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งความสำคัญของนายกฯที่มาจากการเลือกตั้งเป็นเรื่องการตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างกัน หากไม่สังกัดพรรค ไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้ง คุณจะรับผิดชอบต่อใคร ต่อประชาชนหรือคนที่เสนอชื่อคุณเป็นนายกรัฐมนตรี

ประจักษ์ ก้องกีรติ
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

หัวข้อเสวนาครั้งนี้สำคัญ เนื่องจากการเลือกตั้งเป็นกระบวนการทางการเมืองอย่างหนึ่ง รอบสองทศวรรษที่ผ่านมามีบทเรียนทั่วโลกที่ระบบอำนาจนิยมเก่งขึ้น ใช้การเลือกตั้งเป็นเครื่องมือเพื่อสร้างความชอบธรรมและค้ำจุนระบอบเผด็จการ หลายประเทศมีการเลือกตั้งที่ถูกควบคุมและถูกจับตาอย่างเข้มงวด เช่น รัสเซีย ซีเรีย ซึ่งการเลือกตั้งไม่มีความบริสุทธิ์ยุติธรรม การเลือกตั้งเป็นเครื่องมือที่เผด็จการใช้แปลงตัวเองมากกว่า ในทางวิชาการเรียกว่า ระบอบเผด็จการที่จำแลงตัวเองผ่านการเลือกตั้งให้เป็นประชาธิปไตย

นี่เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทยซึ่งใกล้เคียงที่สุด ที่มีความพยายามสร้างระบอบนี้ขึ้นมา หากมองในมุมของผู้มีอำนาจรัฐคือ ความพยายามเปลี่ยนผ่านระบอบเผด็จการปิด โดยอยู่ในอำนาจไปเรื่อยๆ ไม่มีการเลือกตั้ง ระบอบนี้อยู่ยากในโลกปัจจุบัน จุดหนึ่งต้องแปลงตัวเองให้เป็นระบอบจำแลงตนเอง ซึ่งการแปลงนี้ต้องจัดการเลือกตั้ง แต่จะจัดเลือกตั้งอย่างไรให้ตัวเองไม่เสียอำนาจ จำเป็นต้องมีเทคนิคมากมาย เพื่อควบคุม  ให้เป็นไปในทางที่ตัวเองต้องการ ตั้งแต่กฎระเบียบ ระบบเลือกตั้ง กรรมการจัดการเลือกตั้ง

เราไม่สามารถเปรียบการเลือกตั้งครั้งนี้กับครั้งก่อน หรือการเลือกตั้งปี 2500 ได้ เนื่องจากรูปแบบการโกงการเลือกตั้งครั้งนั้นโจ่งแจ้ง แต่ครั้งนี้ไม่ได้เห็นขนาดนั้น แต่พยายามควบคุมอย่างแนบเนียน ผ่านกฎกติกาที่ออกแบบมาซับซ้อน รวมทั้งการเลือกตั้งปี 2550 ไม่มีการแบ่งเขตแบบพิสดาร ซึ่งมีผลต่อแต่ละเขตเลือกตั้ง เพราะจำนวนประชากรไม่เท่ากัน บริบทของการเลือกตั้งครั้งนี้พิเศษมาก เลือกภายใต้รัฐบาลคณะรัฐประหารที่ยังมีอำนาจอยู่ และมีอำนาจเต็ม พร้อมมี ม.44 หากเปรียบเป็นภาษากีฬาก็เป็นการเลือกตั้งที่ คสช. ออกแบบกติกาเอง ส่งผู้เล่นเข้าสู่สนามการแข่งขัน แต่งตั้งกรรมการ และสามารถเปลี่ยนกติการะหว่างทางได้ สุดท้ายคือมีผู้เล่นนอกสนามซึ่งจะมีผลในการตัดสินการแข่งขัน นั่นคือ ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้ง

ประเด็นที่สอง แบ่งเป็น 5 ประการคือ หนึ่ง ต้องจับตากฎระเบียบกติกาที่จะออกมาหลังจากนี้ สอง การจัดการเลือกตั้งเองโดย กกต. ตลอดจนขั้นตอนการนับคะแนน สาม การข่มขู่บังคับ อาจทำต่อนักการเมือง หัวคะแนน หรือผู้เลือกตั้ง สี่ เสรีภาพในการหาเสียงของพรรคต่างๆ เป็นไปอย่างเท่าเทียมหรือไม่ รวมถึงเสรีภาพของประชาชนในการสนับสนุนพรรคการเมืองต่างกัน ย่อมมีเสรีภาพในการแสดงออกอย่างเท่าเทียม สุดท้ายคือ กลเกมต่างๆ หลังการเลือกตั้งจบไปแล้ว

จากบทเรียนของทั่วโลกในการเลือกตั้งที่มีบรรยากาศเช่นนี้มีตัวละครสองตัวชี้ขาดว่าการเลือกตั้งเป็นไปเพื่อประชาธิปไตยหรือเป็นแค่เครื่องมือสร้างความชอบธรรมให้ระบอบอำนาจนิยม หนึ่ง หากกองทัพไม่วางตัวเป็นกลางจะอันตรายมาก สองคือประชาชน ภายใต้การเลือกตั้งแบบนี้ต้องเป็นผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งอย่างแข็งขัน

อยากเสนอว่า ประการแรก สังคมควรร่วมกันส่งพลังกดดันไปถึง คสช.ยุติ ม.44 สอง ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ได้รับการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ อย่างน้อยถ้าไม่ลาออกจากตำแหน่งนายกฯก็ควรลาออกจากหัวหน้า คสช.

สุดท้าย รัฐบาลไทยโดยกระทรวงการต่างประเทศควรเปิดกว้าง เชิญชวนให้องค์กรผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งต่างชาติ สถานทูตต่างๆ องค์กรที่มีชื่อเสียงซึ่งทำงานเหล่านี้มานานเข้ามาสังเกตการณ์การเลือกตั้ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image