เปิดเกณฑ์ ‘เงินบริจาค’ ‘ระดมทุนเข้าพรรค’

หมายเหตุเปิดข้อกฎหมายพร้อมความเห็นเกี่ยวกับการจัดระดมทุนของพรรคการเมือง ในการหารายได้เข้าพรรค ซึ่งพรรคพลังประชารัฐ กำลังมีข้อครหาในการระดมทุน 600 ล้าน โดยมีการขายโต๊ะจีน โต๊ะละ 3 ล้านบาท จำนวน 200 โต๊ะ ที่มีส่วนราชการเข้ามาเกี่ยวข้อง


 

สดศรี สัตยธรรม
อดีตกรรมการการเลือกตั้ง

การระดมทุนของพรรคการเมืองจากอดีตถึงปัจจุบันไม่แตกต่างกันมาก ต้องแยกกันระดมทุนกับการบริจาคเงินให้พรรคออกจากกัน เพราะการระดมทุนนั้น มาตรา 64 บัญญัติว่า การหารายได้จากการจัดกิจกรรมระดมทุนของพรรคการเมือง ต้องกระทําโดยเปิดเผยและแสดงวัตถุประสงค์ว่าเป็นการระดมทุนของพรรคการเมืองอย่างชัดเจน โดยให้หัวหน้าพรรคการเมืองต้องประกาศให้ประชาชนทราบ ถึงจํานวนและที่มาของเงินทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดที่ได้มาจากกิจกรรมดังกล่าว และให้มีหนังสือแจ้งนายทะเบียนทราบ ภายใน 30 วันนับแต่วันที่กิจกรรมดังกล่าวสิ้นสุด พร้อมให้ระบุชื่อบุคคลผู้สนับสนุนเงิน ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดที่มีมูลค่า 100,000 บาทขึ้นไปด้วย ทั้งนี้ กฎหมายไม่ได้กำหนดว่าผู้ร่วมระดมทุนจะให้ได้ไม่เกินเท่าใด

Advertisement

ส่วนการบริจาคเงินให้พรรคการเมือง อยู่ในมาตรา 64 บัญญัติว่า ทุกเดือนให้พรรคการเมืองประกาศรายชื่อผู้บริจาคเงิน ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด แต่ต้องไม่น้อยกว่า 5,000 บาท ให้ประชาชนทราบ พร้อมทั้งแจ้งวัตถุประสงค์ของการบริจาค และให้แจ้งนายทะเบียนทราบตามแบบหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาที่      กําหนดด้วย ส่วนมาตรา 66 บัญญัติว่า บุคคลธรรมดาบริจาคได้ไม่เกิน 10 ล้านบาทต่อปี ถ้าบุคคลนั้นเป็นนิติบุคคล หากจะบริจาคเกิน 5 ล้าน ต้องแจ้งให้ที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นทราบในการประชุมใหญ่คราวต่อไปหลังจากบริจาคแล้ว เพื่อป้องกันการแอบให้กัน

ทั้งนี้ มาตรา 76 ห้ามมิให้หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ บริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดให้แก่พรรคการเมืองหรือเข้าร่วมกิจกรรมระดมทุน คำถามคือ แล้วคนของหน่วยงานรัฐ ไปร่วมงานระดมทุนได้หรือไม่ และหากข้าราชการบางคนบริจาคเงินเอง ก็ต้องถามว่าเอาเงินจากไหนเยอะแยะมาซื้อโต๊ะจีน 3 ล้าน ซึ่งเป็นเรื่องของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ป.ป.ง.) จะต้องตรวจสอบ ไม่เกี่ยวข้องกับ กกต. ทั้งนี้ กฎหมายไม่ได้ห้ามเจ้าหน้าที่รัฐ หรือข้าราชการไปร่วมงานในนามส่วนตัว แต่ไม่ให้ไปในนามของหน่วยงาน

กฎหมายพรรคการเมือง ในส่วนของการระดมทุนและการบริจาค ต้องการให้ประชาชนได้มีส่วนร่วม การระดมทุนถือเป็นเรื่องธรรมดา แต่ในทางปฏิบัติกลับเป็นเรื่องของนายทุนที่มาร่วมระดมทุนช่วยพรรคการเมือง เพราะคนหาเช้ากินค่ำคงร่วมระดมทุนไม่ได้ ซึ่งเรื่องนี้ต้องดูไปถึงเมื่อพรรคการเมืองนั้นๆ ได้เป็นฝ่ายบริหาร นายทุนที่มาซื้อโต๊ะ จะได้ตำแหน่งอะไรหรือไม่

Advertisement

งานของพรรคพลังประชารัฐ หากตรวจสอบพบว่าหน่วยงานรัฐร่วมลงขันระดมทุน จะมีความผิดตามมาตรา 128 จำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ และศาลอาจสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งด้วย

ส่วน 4 รัฐมนตรีในพรรคพลังประชารัฐต้องถามว่าไปในฐานะใด เพราะแม้จะมีตำแหน่งในพรรคการเมืองนั้น แต่ก็ยังมีตำแหน่งรัฐมนตรีอยู่ด้วย นี่คือปัญหาของการไม่ยอมถอดหมวกอีกใบออก แม้งานเลี้ยงจะจัดขึ้นในช่วงหลังเวลาราชการ แต่ต้องมีคำถามว่าได้ใช้ตำแหน่งหน้าที่ช่วยอำนวยการระดมทุนหรือไม่ มีการโทรศัพท์ให้เอกชนมาซื้อโต๊ะหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องต้องตรวจสอบกัน อยู่ที่ กกต.จะตรวจสอบหรือไม่ เท่านั้นเอง

พนัส ทัศนียานนท์
อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เรื่องการบริจาคเงินสามารถทำได้ ซึ่งในต่างประเทศเช่น อเมริกา จะมีกฎหมายควบคุมเรื่องนี้โดยเฉพาะว่าบริจาคเท่าไหร่ และต้องเปิดเผยหมดว่าใครบ้างที่เป็นคนบริจาค จะปกปิดไม่ได้ เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ใช้เงินเกี่ยวกับการเลือกตั้งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งของเราก็มีคล้ายกับเขาและมีการห้ามไม่ให้รับเงินจาก  ต่างประเทศ ส่วนในประเทศก็มีข้อกำหนดทำนองเดียวกันคือควรจะต้องเปิดเผยว่าใครเป็นผู้บริจาคยังไง    ตัวตนเป็นใคร เพื่อไม่ให้มีการใช้เงินเข้ามาครอบงำการเมือง ซึ่งมีมาตรฐานหรือหลักเกณฑ์กำหนดอยู่แล้วตามกฎหมายพรรคการเมือง ในรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว ดังนั้นในเรื่องการบริจาคเยอะหรือน้อยขึ้นอยู่กับว่ากฎหมายกำหนดไว้อย่างไร

ในส่วนของหน่วยงานราชการที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการระดมทุนของพรรคหรือเข้ามาบริจาค อย่างกรณีซื้อ โต๊ะจีนโต๊ะละ 3 ล้านบาท ตรงนี้ผมมองว่าไม่น่าจะทำได้ เพราะเหมือนเป็นการที่ราชการเข้าไปสนับสนุนพรรคที่ตัวเองเข้าไปบริจาค หรือเท่ากับเอาเงินหลวงหรือเงินของรัฐ มาในกิจการที่ถือเป็นเรื่องส่วนตัว ดังนั้นส่วนที่ราชการเข้าไปสนับสนุนในความเห็นของผมไม่น่าจะทำได้ โดยเฉพาะในแง่ของการเอาเงินของราชการไปใช้ไม่น่าจะทำได้ เพราะเป็นการใช้เงินไม่ถูกต้องตามระเบียบของราชการ และไม่น่าจะเป็นการใช้เงินที่ชอบด้วยกฎหมาย

ดังนั้นจึงต้องให้มีความชัดเจนว่าเงินที่เอามาบริจาคเป็นเงินส่วนไหน เป็นเงินส่วนตัวหรือไม่อย่างไร เป็นเรื่องที่ กกต.ต้องเข้าไปตรวจสอบตามอำนาจหน้าที่ของตัวเอง โดยไม่จำเป็นต้องมีการร้องเรียน

วิรัตน์ กัลยาศิริ
หัวหน้าคณะกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์

พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 ในมาตรา 64 และมาตรา 76 บัญญัติไว้ค่อนข้างชัดเจน โดยมาตรา 64 บัญญัติให้หัวหน้าพรรคการเมืองต้องปิดประกาศให้พี่น้องประชาชนทราบถึงจำนวนเงินและที่มาของเงินรวมทั้งต้องแจ้งนายทะเบียนพรรคการเมืองภายใน 30 วัน กรณีพี่น้องประชาชนผู้บริจาคผู้ใดบริจาคเกิน 100,000 บาทต้องระบุชื่อด้วย

ส่วนมาตรา 76 ห้ามรัฐวิสาหกิจ หน่วยงานของรัฐ บริจาคเงินหรือทรัพย์สินหรือร่วมกิจกรรมดังกล่าว ซึ่งเหตุผลที่ต้องระบุห้ามไว้เช่นนี้ เพราะสิ่งที่จะทำให้การเมืองบิดเบือน หรือไม่ตรงตามเจตจำนงที่แท้จริงของ    พี่น้องประชาชน ก็คืออำนาจเงินและอำนาจรัฐ

ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่น่ากังวล เพราะรัฐมนตรีเจ้าของกระทรวงหรือคนในรัฐบาลรู้เห็นเป็นใจแค่ไหนเพียงใด เพราะตามมาตรา 64 ต้องระบุที่มาของเงินด้วย เพราะหากขายยาเสพติดมา ทุจริตคอร์รัปชั่น เรียกรับผลประโยชน์จากการแต่งตั้งตำแหน่งข้าราชการแล้วเอาเงินมาซื้อพรรคการเมืองหรือมาซื้อ ส.ส. ก็เป็นเรื่องที่อันตรายอย่างยิ่ง

ดังนั้น กฎหมายจึงบัญญัติให้แจ้งที่มาของเงิน ซึ่งอาจตีความได้ว่าแม้เงินที่มาถูกต้อง แต่เอามาเผื่อวิ่งเต้นตำแหน่ง หรือตำแหน่งที่ดีขึ้นน่าจะไม่ถูกต้องตามเจตนารมณ์ของกฎหมายพรรคการเมืองด้วยเช่นกัน จึงเป็นภาระหน้าที่ของ กกต.และ ป.ป.ช.ที่จะต้องทำให้เกิดความกระจ่างในเรื่องนี้

พัฒนะ เรือนใจดี
คณะนิติศาสตร์ ม.รามคำแหง

การบริจาคเงินให้พรรคการเมืองเป็นเรื่องปกติ ที่ประเทศแถบตะวันตกก็มีเช่นกัน เพื่อสร้างความเป็นเจ้าของพรรค โดยผู้ที่สนใจสามารถบริจาคให้พรรคได้เป็นเรื่องปกติและเป็นหลักการที่ดี เพียงแต่ต้องชัดเจนและเปิดเผยต่อสาธารณะ ตามกฎหมายพรรคการเมืองจะต้องวางเพดานเกี่ยวกับจำนวนเงินไว้ เป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องมีการควบคุม เพราะถ้าไม่ควบคุมเรื่องดังกล่าวก็จะทำให้มีนายทุนเข้ามาครอบงำพรรคการเมือง ตามกฎหมายพรรคการเมืองปี 2550 กำหนดว่าบริจาคได้ไม่เกิน 10 ล้าน 2 หมื่นบาทต้องตีเป็นเช็ค และ 5,000 บาท ต้องเปิดเผยต่อสาธารณะส่วนกฎหมายพรรคการเมืองใหม่ ปี 2560 กำหนดไว้ว่า บุคคลจะสามารถบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดให้พรรคการเมืองได้ ต้องไม่เกิน 10 ล้านบาท/ปี ส่วนนิติบุคคล บริจาคได้ไม่เกิน 5 ล้านบาท/ปี และจะต้องแจ้งให้ที่ประชุมใหญ่และผู้ถือหุ้นรับทราบด้วย

ส่วนเรื่องการซื้อโต๊ะจีน ตอนนี้ถือว่าอยู่ในช่วงที่ยังไม่มีกฎหมายเลือกตั้ง เมื่อมีการคลายล็อกแล้ว บรรดาพรรคการเมืองก็จะระดมเงินเข้าพรรค ในแง่กฎหมายอาจจะยังไม่มีความผิด เพราะยังไม่มี พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ที่จะกำหนดว่าเงินเท่าไหร่ที่จะบริจาคได้ เท่าไหร่ที่จะบริจาคให้พรรคไม่ได้ การสร้างกฎหมายพรรคการเมืองขึ้นมาก็เพื่อต้องการให้ประชาชนทุกคนเป็นเจ้าของพรรคการเมือง ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมได้ แม้กระทั่งการบริจาคเงินเข้าพรรค การเสียค่าสมัครเป็นสมาชิกพรรค ระยะเวลาในการที่จะสังกัดพรรค ทุกอย่างนำไปสู่จุดที่ว่าพรรคไม่ใช่ของนายทุน แต่พรรคเป็นของทุกคน การจัดโต๊ะจีนระดมเงินกันเป็นจำนวนมากเช่นนี้ 1 โต๊ะ 3 ล้านบาท แล้วนายทุนของพรรคก็ซื้อกัน 3-4 โต๊ะนั้น ในแง่กฎหมายไม่ผิดเพราะเป็นเรื่องการให้กับพรรคการเมือง และไม่มีกฎหมายที่กำหนดห้ามไว้ชัดเจน แต่ในช่วงนี้ประชาชนก็อดคิดไม่ได้ว่าเหตุใดจึงต้องบริจาคเงิน ต้องตอบแทนให้กับพรรคการเมืองมากขนาดนั้น และในที่สุดก็อดคิดไม่ได้ว่า เมื่อเวลาให้กันมากๆ เช่นนี้ อาจจะมีการเอาไปตอบแทนนายทุน หรือผู้สนับสนุนพรรคการเมืองในรูปแบบของผลประโยชน์หรือสัมปทาน ที่เมื่อพรรคได้เข้าไปเป็นรัฐบาลแล้วจะมาตอบแทนกันภายหลังหรือไม่ นี่เป็นสิ่งที่ประชาชนจับตาดูอยู่

ทั้งนี้ ในส่วนเงินหลวงก็คงเอาไปให้พรรคการเมืองไม่ได้ แต่ถ้าข้าราชการจะบริจาคก็สามารถทำได้เพราะไม่มีกฎหมายห้ามข้าราชการเป็นสมาชิก แต่จะเอาเงินของกรมหรือหน่วยงานไปให้ไม่ได้ ถ้ามีหน่วยงานรัฐเข้าไปเกี่ยวข้องจริงก็สามารถตรวจสอบได้ผ่านบัญชีที่พรรคการเมืองต้องเสนอต่อ กกต.อยู่แล้ว รายรับ-จ่ายของพรรคการเมืองคงตรวจสอบไม่ยาก แต่อาจจะมีการทำ 2 บัญชี หรือในลักษณะปกปิดหรือไม่ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ถ้ามีการทำผิดกฎหมาย กกต.คงต้องดำเนินการจริงอยู่แล้ว แต่การส่งเรื่องไปยัง กกต.กระบวนการ  เหล่านี้ผู้ที่ได้รับผลกระทบหรือคู่แข่งในทางการเมืองนั้นต้องตรวจสอบกันเองเพราะไกลจากความสามารถของตาสับปะรด หรือประชาชนที่จะสามารถไปตรวจสอบได้

ส่วนพรรคการเมืองอื่น ถ้าจะบริจาคก็ควรทำตามหลักเกณฑ์ที่มีอยู่ และต้องเปิดเผยนามผู้บริจาค นอกจากจะไม่ประสงค์ออกนาม แต่ส่วนใหญ่ก็เปิดเผยตัวว่ามาจากไหน เช่น โต๊ะจีน 600 กว่าล้าน ของพรรคพลัง   ประชารัฐ หรือเกือบ 300 ล้าน ของรวมพลังประชาชาติไทย ก็มีการเปิดเผยอยู่เเล้ว


พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560
รายได้ของพรรคการเมือง

มาตรา 62 พรรคการเมืองอาจมีรายได้ ดังนี้

(1) เงินทุนประเดิม
(2) เงินค่าธรรมเนียมและค่าบำรุงพรรคการเมือง
(3) เงินที่ได้จากการจำหน่ายสินค้าหรือบริการของพรรคการเมือง
(4) เงิน ทรัพย์สิน และประโยชน์อื่นใดที่ได้จากการจัดกิจกรรมระดมทุนของพรรคการเมือง
(5) เงิน ทรัพย์สิน และประโยชน์อื่นใดที่ได้จากการบริจาค
(6) เงินอุดหนุนจากกองทุน
(7) ดอกผลและรายได้ที่เกิดจากเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดของพรรคการเมือง
การจำหน่ายสินค้าหรือบริการและการจัดกิจกรรมระดมทุนของพรรคการเมืองต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์    วิธีการ และเงื่อนไขที่กรรมการกำหนด
รายได้ของพรรคการเมืองจะนำไปใช้เพื่อการอื่นใด นอกจากการดำเนินงานของพรรคการเมืองมิได้

มาตรา 63 รายได้และทรัพย์สินที่พรรคการเมืองได้รับตาม พ.ร.ป.นี้ ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร

มาตรา 64 การหารายได้จากการจัดกิจกรรมระดมทุนของพรรคการเมืองต้องกระทำโดยเปิดเผยและแสดงวัตถุประสงค์ว่าเป็นการระดมทุนของพรรคการเมืองอย่างชัดเจน
ให้หัวหน้าพรรคการเมืองประกาศให้ประชาชนทราบถึงจำนวนและที่มาของเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดที่ได้มาจากกิจกรรมดังกล่าว และให้มีหนังสือแจ้งนายทะเบียนทราบ ภายใน 30 วันนับแต่วันที่กิจกรรม  ดังกล่าวสิ้นสุด

มาตรา 65 ทุกเดือน ให้พรรคการเมืองประกาศรายชื่อผู้บริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดที่มีมูลค่าตามที่กรรมการกำหนดแต่ต้องไม่น้อยกว่า 5 พันบาท ให้ประชาชนทราบ

มาตรา 66 บุคคลใดจะบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดแก่พรรคการเมืองมีมูลค่าเกิน 10 ล้านบาทต่อพรรคการเมืองต่อปีมิได้ กรณีที่บุคคลนั้นเป็นนิติบุคคล การบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดให้แก่พรรคการเมืองไม่ว่าพรรคเดียวหรือหลายพรรคเกินปีละ 5 ล้านบาท ต้องแจ้งให้ที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นทราบในการประชุมใหญ่คราวต่อไปหลังจากบริจาคแล้ว

มาตรา 74 ห้ามมิให้พรรคการเมืองหรือสมาชิกรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดจาก
(1) บุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทย
(2) นิติบุคคลตามกฎหมายต่างประเทศที่ประกอบธุรกิจหรือกิจการหรือจดทะเบียนสาขาอยู่ในหรือนอก     ราชอาณาจักร
(3) นิติบุคคลที่จดทะเบียนในราชอาณาจักร โดยมีบุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทยมีทุนหรือเป็นผู้ถือหุ้นเกินกว่า  ร้อยละ 49
(4) คณะบุคคล หรือนิติบุคคลที่ได้รับทุนหรือได้รับเงินอุดหนุนจากต่างประเทศ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ดำเนินกิจการเพื่อประโยชน์ของบุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทยหรือซึ่งมีผู้จัดการหรือกรรมการเป็นบุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทย
(5) บุคคล คณะบุคคล หรือนิติบุคคล ที่ได้รับบริจาคเพื่อดำเนินกิจการของพรรคการเมือง
(6) บุคคล คณะบุคคล หรือนิติบุคคลที่มีลักษณะทำนองเดียวกันกับ (1) (2) (3) (4) หรือ (5)

มาตรา 75 บุคคล คณะบุคคล หรือนิติบุคคลตามมาตรา 74 จะบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดให้แก่พรรคการเมืองหรือสมาชิกเพื่อดำเนินกิจการของพรรคการเมืองหรือเพื่อดำเนินกิจกรรมทางการเมืองมิได้

มาตรา 76 ห้ามมิให้หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ บริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดให้แก่พรรคการเมืองหรือเข้าร่วมกิจกรรมตามมาตรา 64

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image