‘เพื่อชาติ’ชูสูตรสู้เลือกตั้ง แยกกันเดิน แพ้คือชนะ

หมายเหตุนายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ หัวหน้าพรรคเพื่อชาติ (พ.พ.ช.) นายยงยุทธ ติยะไพรัช ผู้สนับสนุนพรรค พ.พ.ช. และนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ในฐานะผู้สนับสนุนพรรค พ.พ.ช. ให้สัมภาษณ์ “มติชน” ถึงการเตรียมความพร้อมของพรรคและทิศทางการเมืองหลังการเลือกตั้งปี 2562

⦁ความเป็นมาและเหตุผลการมาร่วมกันจัดตั้งพรรค พ.พ.ช.
สงคราม : ที่มาของ พ.พ.ช.นั้น แนวความคิดเริ่มต้น เกิดขึ้นจากคน 3-4 คนที่ได้คุยกัน ที่รู้กันว่าหลังเลือกตั้ง การบริหารบ้านเมืองคงไม่ราบรื่น มีอุปสรรค และจากการที่นายจตุพร พรหมพันธุ์ เข้าไปอยู่ในเรือนจำได้พบกับ นายสนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และอดีตพระพุทธะอิสระ อดีตแกนนำกลุ่ม กปปส.

ตอนที่ออกมานายยงยุทธ ติยะไพรัช ได้ถามนายจตุพรว่ามีทะเลาะกันไหม เพราะข้างนอกรุนแรง แต่นาย     จตุพรกลับตอบว่า คุยกันรู้เรื่องและเข้าใจปัญหา ไม่มีเรื่องส่วนตัวให้โกรธเคืองกัน

พวกผมจึงมีความเห็นตรงกันว่า ถ้าเป็นอยู่อย่างอย่างตอนนี้ บ้านเกิดก้าวต่อไปไม่ได้ จึงเห็นพ้องตรงกันจึงตั้งพรรคการเมืองที่เหมือนเป็นเกาะกลาง แม้จะมีความเห็นทางการเมืองที่ไม่ตรงกัน แต่ทุกคนก็ห่วงบ้านเมือง ฉะนั้นน่าจะคุยกันได้ ทุกฝ่ายในความเห็นที่จะทำประโยชน์เพื่อประเทศชาติ และไม่ใช่จะแค่เฉพาะตอนร่วมรัฐบาลเท่านั้น แต่พวกเรามีแนวคิดว่า มีอะไรก็คุยกันเพื่อประโยชน์ของบ้านเมืองแทนที่จะมาทะเลาะกัน

Advertisement

เหตุผลที่สำคัญอีกอย่าง ตอนที่ผมรับเป็นหัวหน้าพรรค ที่จริงมีหลายคนที่เหมาะสม แต่ทุกคนเลือกผมเพราะเป็นคนที่เข้าหาคนง่าย ด้วยความเป็นนักธุรกิจ ไม่แข็งกร้าว สามารถพูดคุยกันได้ทุกฝ่าย อีกทั้งผมอายุขนาดนี้ก็อยากจะทำอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ หากสามารถเป็นส่วนหนึ่งให้ประเทศเกิดความปรองดองและพัฒนาประเทศให้เดินหน้าต่อไปได้อย่างราบรื่น ก็จะเป็นมรดกที่ดีงามให้กับลูกหลานในอนาคต

ยงยุทธ : มีเพื่อนหลายคนที่มาทำงานร่วมกันขับเคลื่อนพรรค พ.พ.ช. แต่คนนอกอาจไม่รู้ พวกเราคุยกันเหมือนพี่น้องจะปรึกษาหารือว่าบ้านเมืองควรจะเป็นอย่างไร ให้สามารถเดินหน้าไปได้โดยที่ทุกฝ่ายไม่ขัดแย้งกัน หลายฝ่ายอาจเข้าใจว่าผมหวังจะเข้ามาสู่การเมืองอีกครั้ง แต่อยากบอกว่าถึงมีสิทธิก็ไม่ลงเลือกตั้งอยู่แล้ว แค่หวังว่าพรรค พ.พ.ช.จะเอาปัญหาของชาติเป็นตัวตั้งเพื่อแก้ปัญหา ผมอยากบอกกับทุกฝ่ายว่า ถ้าตัดคำว่า “ตัวกู” ออกก็จบ เพราะอย่างครอบครัวผม ก็อยู่ร่วมกันถึง 3 พรรค อย่าง น.ส.ละออง ติยะไพรัช น้องสาว ก็อยู่พรรคเพื่อไทย (พท.) นายมิตติ ติยะไพรัช ลูกชาย ก็อยู่พรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ส่วนผมอยู่ พ.พ.ช. จะขอทำหน้าที่กองเชียร์ ใช้สมองมาช่วยกัน

⦁ความพร้อมของพรรค พ.พ.ช.ในการเลือกตั้งปี 2562
สงคราม : พ.พ.ช.ไม่ได้ตั้งเป้าสูง ทำแบบสบายๆ แต่ถ้าใส่ใจและเกิดกระแสดีในช่วงก่อนการเลือกตั้ง บางทีอาจได้คะแนนแบบคาดไม่ถึง แต่ว่าเท่าที่ประเมินขั้นต้น ยืนยันว่าจะส่งผู้สมัคร ส.ส.ครบทั้ง 350 เขต จากการลงพื้นที่ช่วงที่ผ่านมาแม้ไม่มาก แต่ความนิยมต่อพรรค พ.พ.ช.ถือว่าไม่ขี้เหร่และไม่แพ้พรรคขนาดกลางๆ แม้แต่ภาคใต้ ผมยังกลัวว่าจะโดนโห่ไหม ก็ได้รับการตอบรับอย่างดีมาก ถามว่ากลัวพรรคใหญ่ไหม ฟังชาวบ้านแล้วไม่กลัว เพราะชาวบ้านบอกว่าเขาจนมา 4-5 ปี ไม่อยากจนอีกแล้ว อันนี้พวกเรารู้ความหมายแล้วว่าคืออะไร จะเป็นหน้าที่ของพรรค พ.พ.ช.นำปัญหาและความต้องการของประชาชน มาจัดทำเป็นนโยบายในการเลือกตั้ง

Advertisement

จตุพร : พ.พ.ช.มีนักการเมืองเก่า ไม่ถึง 5% แต่ถ้าดูบุคลากรในพื้นที่กลับเป็นคนละเรื่อง พวกเขามีศักยภาพและไม่ใช่นักการเมือง ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่แกนนำพรรคจะต้องกันร่วมสร้างนักการเมืองใหม่ ผิดกับบางพรรคที่ได้นักการเมืองเก่าดังๆ ไปร่วมงาน

⦁พรรคการเมืองฝั่งประชาธิปไตยจะมีโอกาสชนะหรือไม่
นายจตุพร : กลไกในรัฐธรรมนูญ 2560 ที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เขียนขึ้น ถ้าเข้าใจจะไม่ใช่เรื่องยาก อย่างกรณีกลุ่มที่ร่วมชุมนุมกับ กปปส.ที่มีคนร่วมเคลื่อนไหวและแบ่งออกไปหลายพรรค ตอนที่ผมอยู่ในเรือนจำตอนแรกก็ไม่เข้าใจ แต่พออ่านและศึกษาวิธีคิด ก็รู้ว่า “รวมกันแพ้ แยกกันชนะ” เพราะฉะนั้น ถ้าเราคิดในมิตินี้ไม่ยากในการได้คะแนน ตอนแรก พท.คิดไม่ทัน เข้าใจได้ว่าจะได้บัญชีรายชื่อ คำนวณผิดตลอด แต่พอมีผู้รู้ช่ำชอง คะแนน ส.ส.แบบปาร์ตี้ลิสต์ในการเลือกตั้งปี 2554  พอนำไปคำนวณในระบบเลือกตั้งใหม่ที่ใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์จะไม่ได้สักคน ทำให้ตอนที่มีแนวคิดเรื่อง พ.พ.ช.พวกเราจึงต้องคิดกันใหม่ แต่ไม่ว่าจะอย่างไร ต่อให้คิดสูตรไหน ถ้าประชาชนไม่เปลี่ยน คะแนนก็ไม่แปรเปลี่ยนได้

ผมชอบเปรียบเปรยว่า พ.พ.ช.เหมือนประมงชายฝั่ง พท.เหมือนประมงใหญ่ ประมงน้ำลึก แต่ว่า พ.พ.ช.จะตกเอาคะแนนที่เหลือจากผู้ชนะ ที่สำคัญระบบเลือกตั้งแบบบัตรใบเดียว ตัวบุคคลก็มีความสำคัญ ฉะนั้นผมเห็นว่า ในตัวรัฐธรรมนูญที่มีปัญหา ถ้าพรรคฝ่ายประชาธิปไตยล็อกได้ 250 เสียง ส.ว. 250 คนก็ทำอะไรไม่ได้ การที่จะได้เสียง ส.ส. แม้มีความกังวล โดยเฉพาะ พท.จะมีอาการหนักกว่าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เพราะอีกฝ่ายเขาไม่วิตก ถ้าใจแข็งและกล้าเดินต่อไป ปลายทางจะไม่แตกต่าง ถ้าเล่นไม่เป็นก็พ่ายแพ้ หลักคิดการจัดตั้งรัฐบาล เอานายกฯคนนอก คงมีใครไปประกบหัวหน้าพรรค แต่ครั้งนี้หัวหน้าพรรคต้องไปแสดงตนที่รัฐสภา ผมมองว่าถ้าเราใจแข็งและเดินหน้าต่อโดยไม่กังวล เราก็ชนะ แต่ถ้าเดินแบบกังวลก็จะแพ้ ถ้า พ.พ.ช. พรรคอนาคตใหม่ (อนค.) พท. เดินเต็มที่ปลายทางก็รวมเข้ากันอยู่ดี แต่ถ้ามาคิดแบ่งกัน ฮั้วกันในตอนนี้ก็จะแพ้

ส่วนประชาชนนั้น ผมดูแววตา พวกเขามีความเข้าใจ ส่วนการพยายามอธิบายว่า ชวนผู้คนคุยกันไม่ได้แปลว่าเป็นเผด็จการ แต่เป็นการไม่สร้างเงื่อนไขใหม่เข้ามา อะไรที่คุยกันได้ก่อนสำแดงตนก็จบ แต่ถ้าสังคมไม่ยอมก็จะเดินไปในทิศทางสู่ความวุ่นวาย แต่ในความจริง ไม่ได้เดินไปเช่นนั้นเสมอ เชื่อว่าหลังจากรับสมัคร ส.ส.แล้วจะมีความชัดเจน ขอเพียงสู้ชนะในเขต รัฐธรรมนูญฉบับเก่าเขียนให้ต้องชนะคือชนะ แต่รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 แพ้แต่ชนะ

⦁ประเมินท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.จะลาออกหรือไม่ก่อนการ  เลือกตั้ง
จตุพร : สมมุติว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่ลาออก (ทั้งตำแหน่งหัวหน้า คสช.และนายกฯ) และตอบรับอยู่ในบัญชีนายกฯของ พปชร. คะแนนที่จะเลือกพรรคฝ่ายประชาธิปไตยจะเกิน 20 ล้านเสียงไปโดยปริยาย ถ้าแอบลาออกจะมีประโยชน์มากกว่า แต่ถ้าลาออกช่วงปลายรัฐบาลมันเป็นเรื่องตอนปลายของการมีอำนาจ และกลไกรัฐพร้อมจะแสวงหาอำนาจใหม่ พล.อ.ประยุทธ์จึงต้องแสดงตัวว่าจะต้องทำงานต่อ ต้องแสดงตัวไม่งั้นกลไกรัฐ จะเปลี่ยนข้าง

การเมืองในวันนี้มันมีเส้นกั้นบางๆ ระหว่างได้เปรียบกับเอาเปรียบ ทุกเรื่องที่มีการขยับที่หนุนฝ่ายรัฐ ก็จะมีความเพลี้ยงพล้ำ กรณีจัดโต๊ะจีนระดมทุนก็เป็นปัญหา โชว์เงินแล้วมีปัญหา ในมุมการเมือง คิดข้างเดียวแต่ผลลัพธ์อาจออกมาตรงกันข้าม ผมไม่รู้ใครคิดให้ พล.อ.ประยุทธ์ อะไรที่คนไทยไม่เอา จะยกเลิกหรือขอโทษทันที ผมเชื่อว่าอารมณ์แบบนี้ ฝ่าย พล.อ.ประยุทธ์ปรับกลยุทธ์ตลอด มีแต่ฝ่ายประชาธิปไตยที่ปรับตัวช้าไป
เราไปเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ลาออก เราจะไม่มีทางได้ยิน แต่ผมเข้าใจ พล.อ.ประยุทธ์ การเรียกร้องให้ลาออก เรียกร้องจากทุกฝ่าย พล.อ.ประยุทธ์ไม่มีคำตอบ ผมเชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์และรัฐมนตรีไม่มีสิทธิสมัคร ส.ส. แต่ทันทีที่อยู่ในบัญชีแคนติเดตนายกฯ เชื่อว่าแรงกดดันจะตกอยู่กับ พล.อ.ประยุทธ์ ผมเชื่อว่าพล.อ.ประยุทธ์ต้องตัดสินใจ ถ้าอยากเป็นนายกฯต่อต้องลาออก

⦁พปชร.มุ่งเจาะพื้นที่ภาคอีสานเป็นพิเศษ โดยมีนักการเมืองเก่าที่ย้ายเข้าร่วมและครองฐานเสียง ประชาชนในพื้นที่มองอย่างไร
จตุพร : พปชร.จะมีสถานะเหมือนพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ในการเลือกตั้งปี 2554 แม้พรรคนี้(พปชร.) จะมีเงินมาก ไม่มีใครสู้ได้ อาจเยอะมากกว่าที่ปรากฏเป็นข่าว กลไกทุกอย่างเอื้อให้ทั้งหมด แต่สภาพการณ์ของ ภท.ในภาคอีสานตอนเลือกตั้งปี 2554 ทุ่มไปเท่าไหร่ ผลลัพธ์กลับเป็นคนละเรื่อง เพราะฉะนั้น พปชร.ก็ทำหน้าที่แทนภท.ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2554 ที่มีพร้อมทุกอย่าง ขาดอย่างเดียว คือ คนไม่เอา ต้องยอมรับในข้อเท็จจริงที่ว่าประชาชนเขาเดือดร้อนจริงๆ ช่วง 5 ปี ที่ผ่านมา คนเข็ดหลาบแล้ว แม้กระทั่งพื้นที่ภาคใต้ ปกติเป็นพื้นที่ที่ยากลำบาก แต่พวกเราไปกันบ่อย ประชาชนก็ยอมรับกันตรงๆ ว่าเข็ดเพราะลำบากจริงๆ ไม่มีวี่แววว่าจะฟื้นกลับมาได้อย่างไร

ภท.ในการเลือกตั้งปี 2554 ในพื้นที่ภาคอีสานเป็นอย่างไร พปชร.ในการเลือกตั้งปี 2562 ในพื้นที่ภาคอีสานก็เป็นเช่นนั้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image