รายงานหน้า 2 : พรรคการเมืองรุมจี้ คสช.ปลดล็อกคุม‘สื่อ’

หมายเหตุสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยจัดราชดำเนินเสวนา หัวข้อ ปลดล็อกสื่อมวลชน คืนเสรีภาพประชาชน เดินหน้าสู่ประชาธิปไตย ที่สมาคมนักข่าวฯ โดยมีตัวแทนจากพรรคการเมืองต่างๆ นำเสนอ

องอาจ คล้ามไพบูลย์
ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)

หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกคำสั่ง คสช.มาตรา 44 กระทบประชาชนและสื่อมวลชนมาตั้งแต่ปี 2557 โดยเฉพาะปี 2559 ส่วนใหญ่เป็นคำสั่งที่กระทบต่อเสรีภาพของประชาชนและสื่อมวลชน คำสั่งคสช.ที่ 3/2558 ให้เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยมีอำนาจออกคำสั่งห้ามการนำเสนอข่าวสาร รวมทั้งให้เข้าไปในเคหสถาน หรือสถานที่ใดๆ เพื่อตรวจค้น รวมตลอดทั้งค้นบุคคลหรือยานพาหนะใดๆ รวมทั้งคำสั่งคสช.ที่ 41/2559 เรื่องการกำกับดูแลการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะ กระทบเสรีภาพสื่อมวลชน เมื่อเรากำลังเข้าสู่การเลือกตั้ง ก็ไม่ควรมีคำสั่งเหล่านี้ไว้หรือไม่ แต่หากยังมีคำสั่ง คสช.อยู่จะเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยได้อย่างไร

เราไม่ได้อยู่ในช่วงสงครามเลย รัฐธรรมนูญไม่ได้บอกไว้เลยว่าเว้นแต่ประเทศอยู่ภายใต้คำสั่ง คสช. จึงทำสิ่งเหล่านี้ได้ เพราะฉะนั้นการคงคำสั่ง ล้วนแล้วกระทบต่อเสรีภาพของประชาชนและสื่อมวลชน จึงอยากเตือนสติผู้มีอำนาจ รัฐบาลและ คสช.ว่า ประเทศไทยเราไม่ได้อยู่โดดเดี่ยวประเทศเดียวในโลก เราเป็นรัฐภาคีของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง คุ้มครองสิทธิต่างๆ โดยเฉพาะเสรีภาพในการแสดงออกทางความคิด เสรีภาพการแสดงออกทางการเมือง สิทธิความปลอดภัย และการมีส่วนร่วมทางการเมือง ตราบใดที่มีคำสั่งการที่เราเป็นรัฐภาคีของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง จะมีความหมายอะไร เพราะในทางปฏิบัติแทบจะไม่ทำอะไรเลย

Advertisement

จึงอยากให้มีการปลดล็อก เพื่อไม่ให้กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนและสื่อมวลชน รวมทั้งกระทบต่อประเทศชาติโดยรวม และการปลดล็อกจะเกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติบ้านเมือง คือ ทำให้ไม่มีการใช้อำนาจโดยมิชอบเพื่อตนเองหรือพวกพ้อง เพราะหัวหน้า คสช.คนที่ออกคำสั่งต่างๆ กำลังจะมีชื่ออยู่ในบัญชีผู้ถูกเสนอชื่อเป็นนายกฯของพรรคการเมืองที่สนับสนุน รวมทั้งถ้าปลดล็อกคำสั่งที่ลิดรอน ก็จะทำให้เกิดความเชื่อมั่นในการเลือกตั้งว่าเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม และเกิดการยอมรับต่อผลการเลือกตั้ง จึงควรปลดล็อกเพื่อให้เสรีภาพกับสื่อและประชาชน

ลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์
โฆษกพรรคเพื่อไทย (พท.)

คําสั่งต่างๆ ลิดรอนการรับรู้ข่าวสารของประชาชน นั่นคือการลิดรอนสื่อมวลชน หากประชาชนได้รับการป้อนข้อมูลฝ่ายเดียว ความเป็นกลางจะไม่เกิดขึ้น จึงอยากให้ คสช.เร่งดำเนินการปลดล็อกก่อนการเลือกตั้ง ถ้ารัฐบาลอยากให้ภาพลักษณ์ประเทศสง่างามในสังคมโลก เสรีประชาธิปไตย มีความเชื่อมั่น เชื่อถือ เป็นฐานให้ประเทศไทยสง่างามในการเป็นประธานอาเซียน ก็ควรปลดล็อกทันที เชื่อว่าความเชื่อมั่นจะกลับคืนมา

Advertisement

ขณะนี้กำลังเข้าสู่การเลือกตั้งก็ควรเปิดให้สื่อมวลชนสามารถทำข่าวเลือกตั้งได้เต็มที่สามารถนำเสนอและตีแผ่ได้ว่าตรงไหนมีความสุจริตตรงไหนไม่สุจริต เหมือนทุกครั้ง ที่ผ่านมาจากคำสั่งสื่อก็ถูกเรียกไปพบ ทีวีบางช่องโดนปิดไปหลายครั้งด้วย คือสิ่งที่สื่อถูกคุกคามอย่างไม่เป็นธรรม คสช.ใช้อำนาจของตัวเอง หลายคำสั่งทำให้สื่อทำงานได้ยากลำบากมากๆ เป็นการคุกคามเสรีภาพของสื่ออย่างชัดเจน

อีกทั้งนักสิทธิมนุษยชนสากลที่เชี่ยวชาญของสหประชาชาติที่ว่าด้วยเสรีภาพของการแสดงความคิดเห็นการแสดงออกของประชาชนก็เห็นพ้องตรงกันว่าการคุกคามเสรีภาพและความคิดเห็นของสื่อนานาประเทศเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมาอย่างมากเลย โดยเฉพาะกลุ่มสื่อออนไลน์ การโจมตีสื่อมวลชนและการรายงานข่าวก็บั่นทอนทำลายการเข้ามามีส่วนร่วมของประชาชน ดังนั้น เพื่อให้ประเทศเกิดความสง่างามก็ควรคืนเสรีภาพให้ประชาชนและสื่อมวลชนโดยเร็วยกเลิกคำสั่งต่างๆ ทำให้สื่อสามารถทำงานได้อย่างอิสระและเป็นธรรม ทำงานอย่างเป็นกลาง เพื่อส่งเสริมให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นธรรม โปร่งใส สามารถประกาศให้ชาวโลกเชื่อมั่นว่าการเลือกตั้งมีความน่าเชื่อถือ และนำความเชื่อถือต่อรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งด้วย

วิโชติ วัณโณ
รองหัวหน้าพรรคเพื่อชาติ (พ.พ.ช.)

อํานาจรัฐในการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ไม่ใช่เรื่องที่คณะบุคคลกลุ่มหนึ่งในขณะนี้ ถือจังหวะเวลาและกำลังเข้ามายึดอำนาจดำเนินการทั้งหลายแทนประชาชน วิธีคิดของคณะบุคคลในปัจจุบันรวมทั้งองคาพยพที่สนับสนุนนั้น ล้วนแล้วมีความคิดตรงกันข้ามกับระบอบประชาธิปไตย

เชื่อมั่นว่าคำสั่งทั้งหลายทั้งปวงที่ออกมานั้นย่อมขัดขวางและทำลายไม่ให้ประชาชนและสื่อมวลชนสามารถได้ใช้สิทธิและเสรีภาพอย่างเต็มที่ ทุกคนมีความเท่าเทียมกันไม่มีใครเหนือกว่าใคร มาปกครองคนอื่นโดยที่เขาไม่ยินยอม ดังนั้น กติกาก็ต้องส่งเสริมเสรีภาพของประชาชนให้ได้สามารถใช้ได้อย่างเต็มที่เช่นกัน ไม่ใช่กฎหมายจำกัดหรือทำลายเสรีภาพของประชาชน คำสั่งที่ละเมิดหรือขัดขวางสิทธิและเสรีภาพของประชาชนควรยกเลิก

และในอนาคตถ้าจะให้ดีการเมืองในอนาคตของประเทศต้องยอมรับกติกาของประชาธิปไตย คำสั่งต่างๆ ที่ คสช.ออกมาเหมือนเป็นขวากหนามที่ทำให้ระบอบประชาธิปไตยไปข้างหน้า เราต้องรวมพลังทุกฝ่ายเพื่อขอให้ปลดล็อก โดยเฉพาะสื่อและให้ประชาชนมีเสรีภาพดังเดิม

พล.อ.ฐิติวัจน์ กำลังเอก
รองหัวหน้าพรรคชาติพัฒนา (ชพน.)

เรากำลังเข้าสู่การเลือกตั้ง สื่อมวลชนต้องมีเสรีภาพในการนำข้อมูลข่าวสารให้กับประชาชน เนื่องจากประชาชนเองก็ต้องใช้สิทธิและเสรีภาพในการเลือกผู้แทน สื่อมวลชนเป็นสะพานแห่งความจริงที่จะเชื่อมให้ประชาชนเดินข้ามไปสู่จุดหมาย ซึ่งจุดหมายก็คือประชาธิปไตย ขอให้สื่อยึดมั่นแบบตรงไปตรงมาต่อสาธารณชน

ผมคิดว่าความจริงจะชี้ให้สังคมรู้ว่าใครผิดใครถูก ความจริงจะนำไปสู่ความปรองดอง

นิกร จำนง
ที่ปรึกษาพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.)

ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 97/2557 เป็นคำสั่งที่เริ่มตอนการยึดอำนาจ ไม่ได้ห้ามเฉพาะการเสนอข่าว แต่ห้ามเยอะไปหมด ต่อมาประกาศ คสช.ที่ 103/2557 ได้เพิ่มเติมให้เข้มข้นครอบคลุมขึ้นอีกเพื่อจี้สื่อมวลชน จน คสช.ประคองอำนาจมาระยะหนึ่ง ถึงปี 2558 จึงมีคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ให้อำนาจเต็มด้านความมั่นคงและการรักษาความสงบเรียบร้อยแก่เจ้าพนักงานตั้งแต่ร้อยตรีขึ้นไปทั่วประเทศ

เช่น ควบคุมตัวบุคคลไปปรับทัศนคติ ห้ามชุมนุมทางการเมือง รวมถึงมีอำนาจในการห้ามเสนอข่าว จำหน่ายหรือเผยแพร่หนังสือพิมพ์ ผู้ใดฝ่าฝืนจำคุก 1 ปี และปรับ 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จึงเห็นได้ว่าคำสั่ง คสช.ไม่ได้เกี่ยวข้องเฉพาะสื่อ แต่กวาดไปทั้งหมด เราจึงต้องมององค์รวม ไม่ใช่มองแค่ปัญหาของสื่อ และสำหรับคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 41/2559 เป็นการถ่ายอำนาจให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เป็นผู้มีอำนาจตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 ทำให้ กสทช.สามารถระงับยับยั้งการทำงานของสื่อ กล่าวคือทำให้จอดำได้ โดย กสทช.ไม่มีความผิด

แม้มีคำสั่ง คสช.อยู่ แต่การเลือกตั้งเกิดขึ้นโดยเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ และอีกไม่กี่วันจะมีพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ให้มีการเลือกตั้ง คำถามสำคัญคือคำสั่ง คสช.เหล่านี้จะอยู่ไปถึงเมื่อไร ถ้าตามรัฐธรรมนูญ 2560 ระบุว่าจะอยู่ไปจนกว่าการเลือกตั้งเสร็จสิ้นและมีรัฐบาลใหม่

ฉะนั้น ทุกฝ่ายต้องเรียกร้องให้ คสช.ถอนคำสั่งต่างๆ ที่กระทบประชาชน เพราะถ้ายังเหลือไว้ก็จะคาสภา และต้องออกกฎหมายผ่านกระบวนการรัฐสภาในอนาคต จะยุ่งยากและวุ่นวาย

อย่างไรก็ตาม การเรียกร้องให้ คสช.ยกเลิกคำสั่งทั้งหมด เป็นไปไม่ได้ ไม่อย่างนั้นอำนาจตามมาตรา 44 จะมีความหมายอะไร แต่ถ้ายึดพื้นฐานที่ว่า เสรีภาพของสื่อ คือเสรีภาพประชาชน การเลือกตั้งจะหาเสียงได้อย่างไรหากสื่อถูกปิดกั้น ก่อนหน้านี้ คสช.คุมอำนาจเบ็ดเสร็จ แต่ตอนนี้ มี กกต.ซึ่งเขามีอำนาจอยู่แล้ว และต่อไปอำนาจในการควบคุมการเสนอข่าวจะถูกควบคุมโดย พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง จึงขอให้ คสช.ใช้อำนาจตามมาตรา 44 รื้อคำสั่งเดิมทั้งหมด

พรรณิการ์ วานิช
โฆษกพรรคอนาคตใหม่ (อนค.)

รัฐประหาร 2557 เป็นครั้งที่ใช้อำนาจกับสื่ออย่างหนักที่สุด ปัจจุบันมีล็อก 4 ชั้นที่กดหัวสื่อ ได้แก่ 1.คำสั่งและประกาศ คสช. ที่บอกว่าห้ามให้ข่าวทางลบของ คสช. ซึ่งนำไปสู่ล็อกที่ 2.การใช้อำนาจเถื่อนของเจ้าหน้าที่รัฐ เช่น ให้ทหารอาวุธครบมือเข้าไปในห้องออกอากาศสด เป็นการข่มขู่ ไม่เตือนล่วงหน้า ใช้อำนาจ กสทช.บังหน้าในการควบคุมสื่อ เช่น วอยซ์ทีวีโดนปิดไป 19 ครั้ง โดยไม่เคยมีคำอธิบายชัดเจน ในต่างประเทศการปิดสื่อ 1 ครั้งเป็นเรื่องใหญ่มาก แต่เมืองไทยทำกันจนชินชา ทั้งที่เสรีภาพสื่อคือเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลที่เที่ยงตรงเป็นธรรมของประชาชน และเป็นสิ่งสำคัญต่อการเดินหน้าสู่การเลือกตั้ง 3.เพื่อคุมสื่อออนไลน์ ทหารได้อัพเกรดโดยการใช้ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ โดยเฉพาะมาตรา 14(2) เลือกใช้กับบางพรรคบางสื่อ เป็นเครื่องมือปิดปากสื่อและประชาชนที่แสดงความเห็นกระทบ คสช. และ 4.ซึ่งใหญ่ที่สุด คือ มาตรา 279 ในรัฐธรรมนูญ 2560 ระบุแบบครอบจักรวาลว่า คำสั่งของ คสช.ถือว่าชอบโดยรัฐธรรมนูญทั้งหมด เท่ากับคุ้มครองว่าสิ่งที่ คสช.ทำไม่ผิด นี่คือบ้านเมืองไม่มีขื่อแป ประเทศนี้ไม่ต้องมีรัฐธรรมนูญ เพราะคนกลุ่มหนึ่งสามารถทำอะไรก็ได้

ด้วยเหตุนี้ จึงต้องเรียกร้อง 4 ประการ ได้แก่ 1.เรียกร้องให้ คสช.ยุติการใช้อำนาจในการออกประกาศคำสั่ง ระงับการใช้อำนาจ ทันทีที่มี พ.ร.ฎ.การเลือกตั้ง 2.เรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออก และดำรงตำแหน่งเพียงรัฐบาลรักษาการ เพราะการมีรัฐบาลแบบที่เป็นอยู่ทุกวันนี้จะไม่นำไปสู่เลือกตั้งเสรีและเป็นธรรม 3.เรียกร้องให้ทุกพรรคการเมืองเคารพประชาธิปไตย ร่วมกันแก้ไขรัฐธรรมนูญ อย่างน้อยที่สุดคือ ม.279 และนำไปสู่การตั้งคณะกรรมการจำแนกแยกแยะคำสั่ง คสช. เนื่องจากมีประชาชนบางส่วนที่ได้ประโยชน์โดยสุจริตจากคำสั่ง คสช.

การจำแนกแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ คำสั่งที่มีผู้ได้ประโยชน์โดยสุจริต ให้เปลี่ยนไปเป็นกฎหมายปกติ และคำสั่งที่เป็นอำนาจเถื่อนต้องถูกยกเลิกและมีการเยียวยาผู้เสียหาย

ท้ายสุด 4.เรียกร้องให้ทุกคนต้องส่งเสริมสื่อมวลชนให้ทำหน้าที่อย่างดีที่สุด เพราะสื่อมวลชนคือหนึ่งในเสาหลักของประชาธิปไตย ด้วยเสรีภาพสื่อเท่านั้นที่จะทำให้การเลือกตั้งเสรีและเป็นธรรม และเป็นทางออกของประเทศอย่างแท้จริง

พงศ์เกษม สัตยาประเสริฐ
โฆษกพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.)

มนุษย์ทุกคนควรมีสิทธิเสรีภาพในการพูด คิด และแสดงความคิดเห็น ตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ รัฐธรรมนูญของไทยฉบับปัจจุบันก็เขียนถึงสิทธิเสรีภาพที่ต้องไม่กระทบกับความมั่นคงของรัฐ แต่ความมั่นคงของรัฐในเวลานี้ก็คือความมั่นคงของ คสช. จากข้อมูลเรื่องเสรีภาพในปัจจุบันโดยการจัดอันดับขององค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน จาก 180 ประเทศทั่วโลก ประเทศไทยอยู่ในอันดับ 140 ต่ำกว่าประเทศฟิลิปปินส์และเมียนมา เป็นเรื่องน่าเศร้าใจ นอกจากนี้ พบว่าร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมและวิชาชีพสื่อมวลชน ยังมีเนื้อหาที่ลิดรอนเสรีภาพสื่ออย่างมาก โดยเฉพาะการตั้งสภาวิชาชีพสื่อมวลชน ปรากฏว่าบุคคลมาเป็นคณะกรรมการถูกคัดเลือกโดยผู้มีอำนาจในปัจจุบัน ลักษณะแบบนี้จึงแทบไม่ต่างจากการเลือก ส.ว. 250 คนเลย

วันนี้ หากพรรคการเมืองใดชูเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เชื่อว่าผู้ได้ประโยชน์จากรัฐธรรมนูญต้องตั้งคำถามว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้รับความชอบธรรมจากการลงมติของประชาชน แต่ในขณะที่เป็นสื่อมวลชน จำได้ว่าไม่สามารถนำเสนอเรื่องการรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญได้เลย

ดังนั้น ในการเลือกตั้งเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ตราบใดที่คำสั่งเหล่านี้ยังอยู่ จะเป็นเรื่องน่าเสียดายที่สื่อจะไม่สามารถเสนอข้อมูลแก่ประชาชนอย่างเต็มที่ และหากหลังการเลือกตั้ง รัฐบาลใดก็ตามที่เข้ามาถ้ามีลักษณะสืบทอดอำนาจของ คสช. มั่นใจได้เลยว่าสื่อจะไม่มีสิทธิเสรีภาพเหมือนเดิม ด้วยเหตุนี้ จึงต้องการให้ คสช.ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ยกเลิกคำสั่งและประกาศทั้ง 4 ฉบับ เพื่อให้สื่อมวลชนทำงานได้อย่างเต็มที่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image