วิพากษ์ ‘เอนก เหล่าธรรมทัศน์’ ย้อน 14 ตุลา-หนุนรัฐประหาร

หมายเหตุ ความเห็นของนักวิชาการ กรณี ศ.พิเศษ เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ในฐานะกรรมการบริหารพรรครวมพลังประชาชาติไทย กล่าวในงานเสวนาปฏิรูปประเทศที่ จ.เชียงใหม่ สนับสนุนรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ดีกว่าฉบับอื่นๆ และเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ที่มีส่วนร่วมในเหตุการณ์โดยระบุว่า ถ้ารู้ว่าประชาธิปไตยมันจะเป็นแบบนี้จะไม่ทำ ปล่อยให้จอมพลถนอม กิตติขจร ปกครองต่อไปดีกว่า เมื่อวันที่ 25 ธันวาคมนั้น

(ย้อนอ่าน : เสียงจากนักวิชาการ-คนเดือนตุลาฯ กรณี “เอนก”ลั่น ถ้าย้อนเวลาได้ อาจไม่ร่วม 14 ตุลาฯ)


 

Advertisement

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ
อดีตคณบดีคณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

ไม่ได้ฟังทั้งหมด จึงลำบากที่จะวิจารณ์ เกรงจะไม่แฟร์ แต่ถ้าให้แสดงความเห็นกว้างๆ คิดว่า การที่คนมองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์แล้ววิจารณ์วิจารณ์สิ่งที่เกิดขึ้นว่าไม่ถูกต้อง แล้วบอกว่าถ้ารู้อย่างนี้ไม่ร่วมนั้น ไม่ใช่แค่ 14 ตุลา

แต่ทุกเหตุการณ์ ก็จะมี 2 กลุ่มเท่านั้นคือ มองกลับไปแล้วชอบกับไม่ชอบ

จริงๆ แล้วเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์นั้นถึงเรามีส่วนร่วมกับมัน แต่ก็ไม่ใช่เจ้าของประวัติศาสตร์ คนที่เคยร่วม อ้างไม่ได้ว่าถ้าเป็นแบบนี้ ตนจะไม่เข้าร่วม เพราะคุณไม่ใช่เจ้าของประวัติศาสต์ ไม่ใช่คุณคนเดียวที่ทำให้เกิด 14 ตุลา ถึงคุณไม่ร่วมมันก็เกิด ไม่มีประโยชน์ที่จะมาอ้างตอนนี้ว่า ถ้ารู้อย่างนี้ไม่เข้า เพราะประวัติศาสตร์เกิดไปแล้ว

Advertisement

และเป็นผลรวมของคนจำนวนมากที่สร้างเหตุการณ์ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอันหนึ่งซึ่งจะนำไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น เลวลง หรือเสมอตัวก็เป็นอีกปัจจัยที่ไม่เกี่ยวกับคนที่เข้าร่วมแม้แต่นิดเดียว

เพราฉะนั้นคนที่เข้าร่วม นาย ก. นาย ข. นาย ค. ไม่ใช่คนสร้างประวัติศาสตร์ทั้งนั้น คุณเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งในอีกหลายปัจจัยทั้งนอกและในประเทศ

ยิ่งเวลาผ่านพ้นแล้วมองกลับไป ทุกคนควรถอยห่างออกมา ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ชอบ

แต่ไม่ควรมาบอกว่ารู้อย่างนี้ไม่เข้าร่วม แล้วหวังว่าเรื่องราวจะดีขึ้น ไม่มีทาง เพราะมันมีเหตุผลประกอบที่ทำให้เกิด

ส่วนคำกล่าวที่ว่า การปล่อยให้จอมพลถนอมปกครองประเทศต่อไป แม้มีอะไรไม่ดี แต่ความเลวร้ายของระบบเลือกตั้งที่ได้มาเลวร้ายกว่านั้น ส่วนตัว ไม่เห็นด้วย เพราะถึงจะปล่อยให้จอมพลถนอมปกครองต่อไป ถนอมก็อยู่ต่อไม่ได้ จะไปฝืนกระแสให้ถนอมไม่ถูกโค่นล้มไม่ได้ เว้นแต่คุณเป็นพระอินทร์ พระนารายณ์ หรือหิรันตยักษ์ม้วนโลก

ไม่มีประวัติศาสตร์ในโลกไหน ที่เกิดขึ้นตามใจของคนแค่ 1 หรือ 2 คน ต่อให้เก่งแค่ไหนก็ตาม ขนาดพระเจ้าซาร์ก็ยังเอาไม่อยู่ พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ก็เอาไม่อยู่ ทำไมไม่มีคนไปคิดไปช่วย เพราะไม่มีใครช่วยได้

การออกมาพูดตอนนี้เพื่อจะบอกว่า คนจะเลือกตั้งคือคนหลงผิด โยงกลับไปเพื่อจะบอกว่าการเลือกตั้งต้องทำในแบบที่พวกเขากำลังทำ ไม่ต้องไปเลือกในแบบที่ทุกคนจะเลือกนะ มันล้มเหลว แต่ต้องเลือกแบบที่คุณจะควบคุมการเลือกตั้งให้อยู่ในกรอบซึ่งได้มาตามที่ต้องการ แล้วจะไปตามยุทธศาสตร์ 20 ปี บ้านเมืองจึงเรียบร้อย

ระบบเลือกตั้งที่ว่าไม่ดีนั้น การเลือกตั้งที่มีความหมาย ไม่ใช่ว่าเลือกแล้วได้ใคร แม้การเลือกก็คือเลือกให้ได้ใครก็ตาม แต่ความหมายจริงๆ ของมันไม่ใช่แค่นั้น ความหมายที่แท้จริงของการเลือกตั้งที่เรารู้จักในปัจจุบัน

คือการที่คนซึ่งไม่มีอำนาจสามารถแสดงความรู้สึกของการเป็นเจ้าของระบบการปกครอง การออกไปกากบาทเลือกใคร ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ตามต้องการ แต่อย่างน้อยที่สุดคือ ยอมให้คุณไปกา นี่คือมิติทางประวัติศาสตร์ที่ใหญ่มาก เพราะในช่วงเวลาหลายพันปีของมนุษย์ ไม่มีใครทำได้
แต่เดี๋ยวนี้ทุกประเทศในโลกต้องยอมให้คนธรรมดา คนที่ไม่มีอะไร ใช้ปากกาขีดเครื่องหมาย ทำให้เขารู้สึกว่ามีส่วนตัดสินการปกครองของตัวเองได้ เท่านี้คือใหญ่โตมาก

แต่ปัญหาที่ว่าเลือกแล้วได้คนห่วย เป็นเรื่องของแต่ละประเทศที่มีความเป็นมาไม่เหมือนกัน อย่างอเมริกา เลือกจนตายก็จะไม่เลวร้ายไปกว่าที่เป็นอยู่ เพราะเป็นสังคมที่คนส่วนใหญ่ค่อนข้างเท่าเทียมกัน ทรัพยากรถึงกัน การศึกษาก็เกลี่ยๆไป จึงมั่วแบบเราไม่ได้ บ้านเรามีคนไม่กี่กลุ่มที่มีอำนาจจริงๆ แล้วใช้อำนาจนอกระบบ มีปืน มีเงินมากกว่าคนอื่น มีของพิเศษแบบนี้ ทำให้ระบบบิดเบือนไปตลอดเวลา ไม่ได้อยู่ที่การเลือกตั้ง

คนที่กลัว คือกลัวที่ว่า ทำไมให้คนที่ไม่มีอะไรมาตัดสินเขา ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ว่าเลือกแล้วได้คนดีคนเลว แต่ต้องได้เลือก ส่วนตัวไม่ห่วงว่าเลือกแล้วจะได้ใคร การให้คนธรรมดาที่สุดบอกได้ว่าเขาต้องการใคร ก็จบ ถามว่าทำไมไม่อยากให้เขาเลือก

บรรดาผู้นำนักศึกษาสมัย 14 ตุลา 16 ที่เห็นๆ หน้ากันอยู่ตอนนี้ ขอให้เลิกอ้าง 14 ตุลาสักที เพราะ14 ตุลา เป็นของคนจำนวนมาก ไม่ใช่ของผู้นำ 5 คน 10 คน เลิกพูดสักทีว่าคุณเป็นคนทำ คุณไม่ใช่คนทำ แม้แต่เรื่องความจำ ยังจำผิดเลย แสดงว่าไม่ใช่ประวัติศาสตร์ของตัวเอง แต่เป็นของสังคม

ธนศักดิ์ สายจำปา
อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

ประเด็นแรกคือ สิ่งที่ อ.เอนกพูด ได้แสดงท่าทีชัดเจนว่าเชียร์รัฐประหาร แต่ปัญหาใหญ่คือการพูดว่าถ้าย้อนเวลากลับไปได้ก็จะไม่ทำแบบนั้น ก็อาจจะหมายความได้ว่าอยากให้รัฐบาลทหารปกครองต่อไป

ซึ่งทางวิชาการคิดว่าการปกครองแบบประชาธิปไตยแม้จะมีจุดเปราะหรือข้อบกพร่องอยู่บ้าง แต่ อ.เอนก ซึ่งเป็นศาสตราจารย์ทางด้านรัฐศาสตร์ ก็น่าจะเข้าใจว่าเป็นการปกครองที่ดีกว่าการปกครองโดยทหารอยู่แล้ว เพราะอย่างน้อยก็มาจากความต้องความของประชาชนที่สะท้อนออกมาผ่านตัวแทนต่างๆ ณ ตอนนี้เรากำลังเดินหน้า โดยจะมีการเลือกตั้งในเร็ววันนี้

แต่ทรรศนะที่พูดนั้นราวกับว่ายังไม่อยากให้มีการเลือกตั้ง เพราะอยู่กับรัฐบาลทหารน่าจะดีกว่า ซึ่งท่านอาจจะคิดว่าถ้าเดินหน้าไปเป็นประชาธิปไตยอีกก็น่าจะมีปัญหาตามมา

ประเด็นที่ 2 คือ การพูดในลักษณะของการอ้างอิงเหตุการณ์ 14 ตุลาคมนั้น แม้ว่าอาจจะไม่ได้พูดโยงเรื่องอื่น แต่ตามปรากฏการณ์ที่เห็นก็มีอีกหลายเหตุการณ์นอกเหนือ 14 ตุลาคม ที่เกิดความรุนแรงทางการเมืองจากฝีมือของฝ่ายทหาร มีการสูญเสีย มีคนบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก

รวมถึงเหตุการณ์ 14 ตุลาคมเอง ที่แม้ว่าจะเป็นชัยชนะของฝ่ายนักศึกษาประชาชน แต่ก็มีวีรชนจำนวนมากที่ยอมสละชีวิตเพื่อเพื่อปกป้องเรียกร้องให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตย คำพูดของ อ.เอนกก็อาจจะไปทำร้ายจิตใจคนจำนวนมากที่ทุ่มเททั้งแรงกาย แรงใจในเหตุการณ์ครั้งนั้น

เข้าใจว่าทุกวันนี้ก็คงมีคนที่มีทรรศนะแบบ อ.เอนกอยู่ ที่ว่าอยู่กับรัฐบาลทหารก็ดีอยู่แล้ว แต่ อ.เอนกอาจจะต้องเปิดกว้างในวิถีทางทางการเมือง เพราะแม้แต่ คสช.เองก็ยังบอกว่าหมุดหมายปลายทางคือเดินหน้าไปสู่การพัฒนาประชาธิปไตย ไม่ว่าจะใช้คำพูดอะไรก็แล้วแต่ ท้ายที่สุดเราก็ต้องเดินหน้าสู่การเลือกตั้ง ดังนั้น ทรรศนะของ อ.เอนก อาจจะไม่เป็นไปในทิศทางที่เรากำลังมุ่งไป

การปกครองของรัฐบาลทหารนั้น บางคนอาจจะบอกว่าการเมืองนิ่ง แต่วิธีการที่อธิบายเช่นนี้ไม่ได้อธิบายว่าปัญหาต่างๆ ได้ถูกแก้ไข ดังนั้น การปล่อยให้รัฐบาลทหารไม่ว่าจะเป็น จอมพลถนอม หรือใครอยู่ต่อ เมื่อรัฐบาลทหารสามารถที่จะสถาปนาอำนาจทางการเมืองได้อย่างเข้มแข็งมากขึ้นเรื่อยๆ ก็ไม่มีทางที่จะดีขึ้น เพราะยิ่งอยู่นานก็ยิ่งสามารถที่จะรักษาฐานอำนาจทางการเมืองไปได้เรื่อยๆ เหมือนปัจจุบันที่เห็นว่ามีความพยายามที่จะสานต่ออำนาจ แม้ว่าจะพยายามเปลี่ยนผ่านมาเป็นรูปแบบประชาธิปไตยก็ยังมีความพยายามสานต่ออำนาจในรูปแบบต่างๆ อยู่ ทั้งพรรคการเมือง การส่งคนของตัวเองไปอยู่ในปีกของ ส.ส.หรือ ส.ว. ถ้าจะมีการเลือกตั้งหรือสรรหาในอนาคต

ท้ายที่สุดก็จะวนลูปกลับมาอยู่ในแบบประชาธิปไตยที่ตนเองมีการวางเกณฑ์ต่างๆ ไว้เพื่อที่จะสานต่ออำนาจได้

ในอดีต อ.เอนกเคยออกมาทำงานพรรคการเมือง ก็ดูราวกับว่าศรัทธาประชาธิปไตย เพราะถ้าท่านไม่ศรัทธาก็คงไม่ออกมาเพื่อทำงานการเมือง แต่ในจุดนี้ท่านเปลี่ยนไป เหมือนที่หลายคนวิจารณ์ว่าทำไมวันนี้ถึงออกมาพูดว่าหากย้อนเวลาไปได้จะไม่ร่วมเหตุการณ์แบบนี้

ถ้าพูดในเรื่องของระบบเลือกตั้ง ที่ผ่านมาในปี 2540 แบ่งเป็น 2 ปีก คือ ส.ส.แบบเขต และแบบปาร์ตี้ลิสต์ เพื่อให้คนที่อยากทำงานการเมือง มีฝีมือ มีความตั้งใจ แต่ไม่ได้มีฐานเสียงทางการเมืองสามารถเข้ามาร่วมได้

อาจมีการตั้งข้อสังเกตว่าเป็นสภาผัวเมีย เพราะสามีเป็น ส.ส. ภรรยาเป็น ส.ว. แต่ก็ต้องยอมรับว่าวิธีการเหล่านี้ได้มาด้วยการเลือกตั้งผ่านระบอบประชาธิปไตย

ซึ่งถ้าเลือกมาแล้วไม่ดี ประชาชนก็จะเรียนรู้กันไป และค่อยๆ ปรับวิธีการ เปลี่ยนคน เป็นกระบวนการประชาธิปไตยซึ่งต้องปล่อยให้เป็นไปแบบนี้ แล้วประชาชนก็จะเรียนรู้ไปเรื่อยๆ

แต่ถ้าในความหมายที่ อ.เอนกบอกว่าปี 2560 การเลือกตั้งน่าจะเลวร้ายกว่าเดิม ผมไม่แน่ใจว่าเลวร้ายกว่าเดิมในความหมายของ อ.เอนกเป็นอย่างไร แต่รูปแบบการเลือกตั้งของปี 2560 ไม่ดีเท่ากับปี 2540 แน่ๆ เพราะว่าปี 2560 เรามี ส.ส. 2 แบบเหมือนกัน คือแบบเขต และปาร์ตี้ลิสต์

แต่ประชาชนไม่ได้มีอำนาจในการเลือก ส.ส.แบบปาร์ตี้ลิสต์เหมือนเคย มีสิทธิเพียงแค่หย่อนบัตรใบเดียวแล้วเอาคะแนนไปปันส่วนให้กับ ส.ส.แบบปาร์ตี้ลิสต์ ซึ่งอาจจะไม่สอดรับกับหลักความเป็นตัวแทนอยู่แล้ว และนักวิชาการหลายคนก็วิจารณ์ว่าเวลาเลือก ส.ส.แบบเขต เราเลือกคนในพื้นที่เพื่อเป็นตัวแทนในสภา แต่ ส.ส.แบบปาร์ตี้ลิสต์เราอาจจะเลือกพรรคเพราะเราชอบนโยบาย

ดังนั้น ก็ไม่จำเป็นว่าชอบ ส.ส.คนนี้จะต้องชอบพรรคนี้ ดังนั้นรูปแบบการเลือกตั้งปี 2560 จึงเป็นรูปแบบที่ไม่ดีเท่าปี 2540 ที่เคยมี ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่า อ.เอนกสื่อความแบบนี้หรือเปล่า หรือท่านอาจจะสื่อความว่าเลือกตั้งมาก็ยังมีความขัดแย้งเหมือนเดิม

ส่วนตัวเข้าใจว่าคนหัวก้าวหน้าก็ยังคงชอบระบอบประชาธิปไตยอยู่ แต่อาจไม่ชอบรูปแบบของการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพราะอาจจะไม่ค่อยเป็นประชาธิปไตยเท่าไหร่ เช่น ส.ส. หรือกรณีของ ส.ว.ที่มาจากกระบวนการสรรหา แล้วให้ คสช.เป็นคนแต่งตั้งอีกที

สำหรับคนเดือนตุลาเองปัจจุบันกระจายตัวไปหลายปีก แต่ภาพลักษณ์ของคนในสังคมมักมองว่า คนเดือนตุลาต้องรักประชาธิปไตย เพราะในวัยหนุ่มสาวอุทิศหลายสิ่ง แม้กระทั่งชีวิตเพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตย

ดังนั้น ภาพลักษณ์ของคนเดือนตุลาจึงอยู่คู่กับการพัฒนาประชาธิปไตยมาอย่างต่อเนื่อง เมื่อมีคนเดือนตุลาแสดงตัว หรือบทบาทท่าทีที่ไม่เห็นด้วยกับการพัฒนาประชาธิปไตย หรือออกมาเชียร์รัฐบาลทหาร

จึงทำให้คนจำนวนมากที่ชื่นชมคนเดือนตุลาหรือติดภาพลักษณ์เดิมอยู่อาจจะผิดหวังว่าทำไมคนนี้ที่ผ่านมาก็แสดงท่าทีเป็นคนที่รักและสนับสนุนประชาธิปไตยมาตลอด แต่วันดีคืนดีถึงได้กลับเป็นคนละขั้ว

แต่สุดท้ายก็ไม่อยากให้มองคนเดือนตุลาเป็นกลุ่มก้อนเดียวกันแล้วเหมารวมว่าคนเดือนตุลาต้องเป็นแบบนี้ทั้งหมด เพราะในปัจจุบันก็มีบทบาทในหลายปีก ในช่วงการเมืองเหลือง-แดง ก็มีคนเดือนตุลาอยู่ทั้ง 2 ปีกเหมือนกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image