‘พลังประชารัฐ’ พร้อมลุย แย้มนโยบาย 7-7-7

อุตตม สาวนายน

หมายเหตุนายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ และนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรค ให้สัมภาษณ์พิเศษ “เครือมติชน” ระหว่างเดินทางมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

ขณะนี้พรรคพลังประชารัฐมีความพร้อมที่จะเดินหน้าสู่การเลือกตั้งและไม่ได้กังวลเรื่องวันเลือกตั้งว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไร ขึ้นอยู่กับผู้ที่เกี่ยวข้องจะเป็นผู้กำหนด โดยพรรคจะเปิดเผยกรอบนโยบายอย่างเป็นทางการในวันที่ 6 มกราคม เพื่อแสดงถึงความพร้อมตามแผนงานที่พรรคได้วางไว้แล้ว สำหรับกรอบนโยบายดังกล่าวนี้ มีที่มาที่ไปจากต้นกำเนิดพรรค ซึ่งพรรคพลังประชารัฐเกิดขึ้นในขณะนี้เพราะกลุ่มพวกเราที่มีแนวคิดร่วมอุดมการณ์กัน มองว่าสถานการณ์ขณะนี้เป็นจุดหักเหสำคัญของประเทศไทย เป็นช่วงเวลาที่คนไทยจะเลือกอนาคตว่าจะเดินไปทางไหน และจะฝากอนาคตไว้กับใคร โดยพรรคพลังประชารัฐก็เกิดขึ้นมาจากจุดหักเหเช่นกัน จึงเสนอตัวและอาสาที่จะเข้ามาทำงานเพื่อพี่น้องชาวไทยและเสนอนโยบายของพรรคว่าประเทศไทยควรจะเดินหน้าไปทางใดที่จะเกิดประโยชน์สูงสุดกับคนไทย แต่ท้ายที่สุดคนตัดสินใจคือประชาชนคนไทย

กรอบนโยบายหลักของพรรคพลังประชารัฐขึ้นอยู่กับความเชื่อหลักๆ 3 ประการ ได้แก่ ประการแรก ความเชื่อว่าเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศต้องมีความสงบเพื่อนำไปสู่เสถียรภาพของเศรษฐกิจ ประการที่สอง ความเชื่อที่ว่าประเทศไทยต้องปรับเปลี่ยน เพราะโลกกำลังเปลี่ยนอย่างฉับไว จะเกิดการดิสรัปชั่น หรือมีผลกระทบรุนแรง ทั้งในเชิงเศรษฐกิจและสังคม ประการที่สาม ความเชื่อว่าเป็นความท้าทายที่คนไทยทุกคนต้องเลือกอนาคต เป็นโอกาสที่ประเทศไทยจะสามารถใช้สิ่งที่มีในประเทศ ทรัพยากรต่างๆ เช่น พืชผลการเกษตรที่มีหลากหลาย กำลังคน พื้นที่ที่ เป็นต้น หากใช้ทรัพยากรเหล่านี้อย่างเต็มศักยภาพจะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนประเทศ ทำให้มีประสิทธิภาพสูงสุดและเกิดประโยชน์กับคนไทยอย่างยั่งยืนได้

กรอบนโยบายที่จะนำเสนอ เรื่องแรก คือ สวัสดิการประชารัฐ ที่จะแก้ปัญหาสำคัญที่สะสมมานานอย่างความเหลื่อมล้ำ ถ้าไม่ดูแลเรื่องสวัสดิการประชารัฐก่อน การปรับเปลี่ยนประเทศและจะใช้ศักยภาพเต็มที่ ประชาชนจะไม่มีใจทำเพราะยังห่วงหน้าพะวงหลังอยู่ โดยนโยบายที่จะออกมาจะดูแลให้ครบถ้วนทุกกลุ่ม เช่น กลุ่มผู้ใช้แรงงาน กลุ่มเกษตรกร กลุ่มสตรี กลุ่มวัยเรียน กลุ่มสูงวัย เป็นต้น เรื่องที่สอง หลังจากดูแลสวัสดิการประชารัฐแล้วการปรับเปลี่ยนประเทศ คน คือหัวใจสำคัญจะทำอย่างไรที่จะเตรียมคนไทยเพื่อให้พร้อมที่จะก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 ได้ เพราะการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะมาถึงโดยเฉพาะเรื่องเทคโนโลยี ทำอย่างไรที่จะทำให้คนไทยมีความพร้อม ซึ่งเรื่องสำคัญคือการศึกษาแต่จะต้องไม่ใช่การศึกษารูปแบบเดิม ทั้งนี้ การปรับเปลี่ยนประเทศต้องเริ่มจากพื้นที่ชุมชนฐานราก ทำอย่างไรให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง ทำให้เศรษฐกิจเข้าไปถึงชุมชน ทำให้คนในชุมชนมีโอกาส ปัจจุบันคนมาหาโอกาสในเมืองใหญ่ ความเจริญกระจุกตัวในเมือง เพราะชุมชนฐานรากไม่มีโอกาสเพียงพอ เศรษฐกิจไม่ได้อยู่ที่ฐานรากแท้จริง นโยบายที่จะออกมาจะมุ่งเน้นแก้ไขปรับเปลี่ยนเพื่อนำเศรษฐกิจสู่ชุมชน

Advertisement

เรื่องที่สาม การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคม ทั้งโครงสร้างในภาคการเกษตร แรงงานไทยกว่า 30% อยู่ในภาคการเกษตร แต่รายได้ของภาคเกษตรคิดเป็นราว 10% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) เชื่อว่าจุดแข็งภาคเกษตรไทยมีอยู่แล้ว แต่อาจจะยังไม่ได้จัดระบบให้เต็มที่ซึ่งภาคเกษตรต้องก้าวสู่เกษตรยั่งยืน ด้านภาคการผลิต เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาเป็นโอกาสและความท้าทาย การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เป็นเรื่องที่หลีกไม่พ้นและต้องดูแลบริหารจัดการคน จะมีการปรับเปลี่ยนทักษะอย่างไร เสริมทักษะเพิ่มมากขึ้น เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มใหม่ๆ แทนที่จะปลดคน แต่หากไม่มีการปรับทักษะอาจจะเกิดผลกระทบได้ เรื่องการปรับทักษะเป็นเรื่องที่จะมุ่งเน้นในการดำเนินการ ส่วนสังคม ต้องเป็นสังคมเข้มแข็งมีพลัง พรรคจะเน้นการสร้างสังคมสีขาว ปลอดยาเสพติด ปลอดภัยและปลอดโรคได้ ถ้าปลอดทุกอย่างเหล่านี้เป็นพื้นฐานที่จะทำให้สังคมไทยแข็งแกร่งได้ แต่หากเรื่องเหล่านี้ยังพัวพันจะเป็นตัวบั่นทอนครอบครัว บั่นทอนสังคม เป็นอุปสรรคต่อการปรับเปลี่ยนพัฒนาประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืนได้

“กรอบนโยบายหลักมี 3 เรื่อง คือ การดูแลสวัสดิการประชารัฐให้มีความพร้อมเพื่อที่จะปรับเปลี่ยนเศรษฐกิจ ปรับเปลี่ยนสังคม ทุกอย่างจะยึดโยงกัน พรรคจะไม่เสนอนโยบายที่เป็นก้อนๆ ทั้งนี้ จากกรอบนโยบายจะแยกย่อยออกไปเป็น นโยบาย และมาตรการ เพื่อการปฏิบัติจริง”

พรรคจะให้ความสำคัญการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี เศรษฐกิจไทยต้องปรับเปลี่ยนไปสู่การใช้เทคโนโลยีและสร้างมูลค่า สร้างประโยชน์ให้กับคนไทยได้เต็มที่ ทั้งในภาคการผลิต ภาคการเกษตร และภาคบริการ รวมทั้งจะแก้ไขปัญหาที่สะสมมาด้วยการใช้เทคโนโลยี โดยความเหลื่อมล้ำและการกระจุกตัวเศรษฐกิจเป็นอาการของสิ่งที่สั่งสมมายาวนานในระบบเศรษฐกิจไทย ที่บอกว่าเศรษฐกิจฟื้นแล้วฐานรากยังไม่ฟื้นเลยเป็นเรื่องโครงสร้างเศรษฐกิจไทยเอง ถ้าสามารถนำเทคโนโลยีเข้ามาในรูปแบบที่เหมาะสมและสามารถนำให้เจริญเข้าไปถึงชุมชนให้ชุมชนเป็นฐานเศรษฐกิจของตนเองพัฒนาเมืองในพื้นที่เมืองเดิมและสร้างเมืองใหม่ โดยแนวเศรษฐกิจจะที่ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและผนวกกับจุดแข็งที่มีทั้งทรัพยากรพื้นที่และการเตรียมความพร้อมคนให้ใช้เทคโนโลยีได้อย่างเต็มที่

Advertisement

การเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีของพรรค ในฐานะที่เป็นหัวหน้าพรรคก็มีความพร้อมหากได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวผมยังไม่เคยพูดว่าจะเสนอชื่อใครเป็นนายกรัฐมนตรี แต่หากจะไปถึงจุดนั้น ต้องเป็นกระบวนการของพรรค ต้องผ่านกระบวนการภายในว่าเราจะเสนอชื่อใครที่เหมาะสมในมุมมองของพรรค ที่จะเป็นตัวเลือกที่นายกรัฐมนตรีให้กับประเทศไทย แน่นอนว่าถ้าถามผมว่าคิดอย่างไรกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ผมก็ตอบเลยว่า ในมุมมองของผม ผมคิดว่าท่านเป็นคนหนึ่งที่มีความเหมาะสมในช่วงหักเหเปลี่ยนผ่านของประเทศ แต่คนตัดสินใจสุดท้ายคือพรรคที่จะตัดสินใจร่วมกัน เพราะพรรคนี้ไม่มีเจ้าของ

หากถามว่า วันนี้ฟันธงหรือยังว่าจะเสนอชื่อใครบ้างนั้น ยังไม่มีใครฟันธงอย่างเป็นทางการได้ และ พล.อ.ประยุทธ์เองก็ยังไม่เคยพูดว่ารับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป และผมก็ยังไม่ได้ถามท่านเช่นกัน

⦁พล.อ.ประยุทธ์ระบุว่าเรื่องนี้เหมือนการไปขอลูกสาวถ้าไม่มีมาขอก็จะมาไม่ได้ จะเห็นพรรคพลังประชารัฐแห่ขันหมากไปขอเมื่อไร อย่างไร
อย่างนั้นฉุดเลยได้ไหม(หัวเราะ) เมื่อไรที่จะแห่ขันหมากไปนั้น ประเดี๋ยวพวกเฮาในหมู่บ้านต้องประชุมกันก่อนว่าจะเตรียมขันหมากไปบ้านไหน กระบวนการยังไม่ถึงตรงนั้น ยังมีเวลา รวมทั้งวันเลือกตั้งที่ชัดเจนก็ยังไม่ประกาศออกมา

⦁มีความหวังที่ พล.อ.ประยุทธ์จะรับการเสนอชื่อจากทางพรรคพลังประชารัฐ
ในส่วนตัวผมเชื่อว่าท่านเป็นบุคคลที่เหมาะสม และอยากเห็นท่านรับ และอยากจะเห็นว่าพวกเราจะไปขอท่าน แต่ทั้งหมดนี้เป็นเพียงความเห็นส่วนตัว เพราะกระบวนการยังไปไม่ถึงขั้นตอนนี้ ซึ่งพรรคมีกระบวนการของพรรคและผมก็ต้องเคารพกระบวนการของพรรคเช่นกัน

พรรคเตรียมใจไว้เสมอหากไม่ได้เป็นรัฐบาล เพราะตอนที่จัดตั้งพรรคเราก็มุ่งมั่นว่าจะเป็นพรรคถาวร ที่พร้อมมีบทบาทในระบบการเมืองของประเทศ แต่เรามุ่งหวังชนะเป็นรัฐบาลอยู่แล้ว แต่เราก็เตรียมใจและต้องการสร้างสถาบันการเมืองถาวร

ในการแถลงนโยบายพรรคพลังประชารัฐ ในวันที่ 6 มกราคม ได้จัดทำเป็นนโยบาย 777 โดยเนื้อหาจะระบุนโยบายหลัก 7 ข้อที่พรรคจะนำมาเป็นหลักในการบริหารประเทศหลังจากได้รับการเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาล สอดรับไปกับ 7 แนวทางปฏิบัติหลักที่ต้องการให้เกิดผลสูงสุดจากนโยบายหลักต่อเป้าหมายให้เกิดเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และ 7 ด้านหลักที่จะเกิดขึ้นจากนโยบายหลักและแนวทางปฏิบัติจริง

นโยบาย 777 จะเป็นหลัก ซึ่งแต่ละส่วนจะลงลึกในรายละเอียด ในแต่ละส่วนถึงเป้าหมายต่างๆ ที่จะผลอย่างไรต่อเศรษฐกิจการสร้างรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำ พัฒนาบุคลากร การแก้ปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อประเทศอย่างไร รวมถึงภาคการศึกษา ภาคสังคม เป็นต้น ซึ่งรายละเอียดจะขอเปิดเผยในการแถลงวันที่ 6 มกราคม

สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์
เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ

กรณี พล.อ.ประยุทธ์ไม่รับตำแหน่งการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น นายอุตตมที่เป็นหัวหน้าพรรค ก็สามารถเป็นนายกฯ ได้ผมขอตอบแทนเลย เพราะหากจะให้นายอุตตมตอบเองก็คงเขิน โดยการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีนั้น สามารถเสนอได้ 3 รายชื่อ โดยต้องเป็นคนที่มีความรู้ความสามารถ มีประสบการณ์ และมีความนิยมชื่นชอบของประชาชน เพราะนายกรัฐมนตรีเป็นปัจจัยต่อการเลือกตั้งครั้งนี้ โดยเรายังไม่หยุดสรรหา เป็นไปได้ที่อาจจะมีชื่อที่ไม่เคยพูดถึงมาก่อนก็ได้

ส่วนขั้นตอนการสมัคร ส.ส.เขตนั้น คาดว่าจะเรียบร้อยในช่วงกลางเดือนมกราคมนี้ โดยผมเป็นประธานคณะกรรมการสรรหาเอง ในส่วนขั้นตอนทางกฎหมายดำเนินการหมดแล้วเหลือการประชุมและมีเขตไหนที่ยังไม่เรียบร้อยบ้าง เพราะอาจจะมีพื้นที่ทับซ้อนหรือมีคนที่คะแนนสูสีกัน แต่ทุกคนต้องการลงเขตก็ต้องมีการตัดสินอีกครั้ง ส่วนความคาดหวังว่าจะได้ ส.ส.เขตเท่าไหร่นั้น หากบอกว่า 350 เขต ก็หาว่าแซว แต่จะได้กี่เสียงไม่รู้ มีการทำโพลเช็กในแต่ละช่วงก็แต่อาจจะเปลี่ยนแปลงไปจนถึงวันเลือกตั้งขึ้นอยู่กับว่าใครจะบริหารพื้นที่และกระแสพรรคได้ดีกว่ากัน

ด้านบัญชีรายชื่อ หรือปาร์ตี้ลิสต์ 150 คนนั้น อยู่ระหว่างพิจารณา เพราะทุกคนอยากได้ลำดับต้นๆ แต่ยืนยันว่าพวกผมไม่ได้ทั้ง 4 คน ไม่ได้สมัครเพราะไม่ได้ลาออกตอน 90 วันก่อนที่รัฐธรรมนูญจะประกาศใช้ โดยรายชื่อที่จะออกมาต้องมีการถ่วงน้ำหนัก คนที่น่าสนใจเรามีอยู่ระดับหนึ่ง และขณะเดียวกันบุคลากรอดีตรัฐมนตรีและผู้อาวุโสทางการเมืองจึงต้องผสมผสาน และยืนยันว่าไม่มีการจองกระทรวงเป็นเพียงการปราศรัย ผมเองยังจองไม่ได้คนอื่นจะจองได้อย่างไร ผมก็อยากจองเขาไม่ให้ผมจอง

เรื่องพันธมิตรทางการเมืองของพรรคนั้น พรรคขอฟังผลการเลือกตั้งก่อนว่าจะออกมาเป็นอย่างไร เพราะสะท้อนความต้องการประชาชนว่าต้องการเห็นรัฐบาลเป็นอย่างไร ซึ่งครั้งนี้รัฐบาลจะเป็นรัฐบาลผสมจากการออกแบบของรัฐธรรมนูญ กรณีที่พรรคมีคะแนนนำและเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล จะพิจารณาดูผลคะแนนและนโยบายที่สามารถปรับจูนอยู่ด้วยกันได้ การร่วมทำงาน โดยในนามส่วนตัวที่ทำหน้าที่ประสาน ผมพร้อมคุยกับทุกพรรคเพื่อให้เดินไปด้วยกันได้ และประเทศเดินหน้าได้ไม่ได้กำหนดว่าจะร่วมพรรคกับใครได้ หรือไม่ได้ตั้งแต่ต้น

“ถ้าเราไม่ได้เป็นพรรคอันดับหนึ่ง ขึ้นอยู่กับพรรคที่ได้คะแนนนำเขาเลือกเราหรือไม่ และเราไม่ได้มีการเตรียมการอะไร เพราะเผื่อฟลุคเราเป็นพรรคที่หนึ่งก็ทำตามกระบวนการจัดตั้งรัฐบาล โดยควรให้พรรคอันดับหนึ่งเป็นคนเริ่มจัดตั้งรัฐบาลก่อน ถ้าพรรคอันดับหนึ่งรวบรวมเสียงได้ เขาก็ตั้งรัฐบาลได้ ถ้ารวมเสียงไม่ได้พรรคอันดับสอง หรือสามก็ดำเนินการต่อไป แต่ถ้ามีพรรคที่ได้อันดับรองลงมาไปตั้งรัฐบาลได้แสดงว่าเขาไม่เอาพรรคอันดับหนึ่ง”

ขอชี้แจงกรณีโต๊ะจีนระดมทุนของพรรค เรื่องการระดมทุนของพรรคการเมืองเป็นเรื่องปกติ ไม่มีอะไร ที่ผ่านมาก็ระดมทุนอย่างตรงไปตรงมา อย่างไรก็ตาม ข่าวที่ออกมาก็ทำให้นายทุนของพรรค มีความหวั่นไหวไปบ้าง เพราะไม่อยากมีชื่อปรากฏ บางคนที่ไม่ต้องการให้ทุนแล้วก็มีการคืนกลับไป ส่วนกระบวนการตรวจสอบดำเนินการของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คาดว่าจะเสร็จสิ้นกรอบระยะเวลา 30 วัน หรือภายในวันที่ 18 มกราคมนี้ ยืนยันว่าทุกอย่างโปร่งใสตรวจสอบได้ เราตอบได้ทุกคำถาม และไม่คิดโต้ตอบกับใคร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image