การเมืองเรื่องความกลัว โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

แฟ้มภาพ

ในช่วงนี้มีการพูดกันว่ามีการพยายามสร้างบรรยากาศให้เกิดความหวาดกลัวอยู่มากสักหน่อย ก็เลยเป็นที่มาของการอภิปรายในสัปดาห์นี้ว่าตกลงการเมืองเรื่องความหวาดกลัวนั้นมันคืออะไรกันแน่

ที่ผ่านมาเราอาจจะเคยได้ยินเรื่องของการเมืองว่าด้วยความหวาดกลัวกันอยู่บ้าง แต่เรามักจะอภิปรายกันในมิติของประเด็นเรื่องการก่อการร้ายเสียเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะประเด็นที่ว่าการก่อการร้ายที่ความจริงน่าจะเรียกว่า “ความน่าสะพรึงกลัว/หวาดกลัวนิยม” (terrorism) นั้นได้สร้างความกลัวขึ้นมา แล้วทำให้เราตกอยู่ภายใต้การคิดและใช้ชีวิตอย่างไรที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

ต่อจากนั้นเราก็เริ่มให้ความสำคัญกับเรื่องของบทบาทการตอบโต้การก่อการร้ายของรัฐ ซึ่งบ่อยครั้งมิได้ทำให้การก่อการร้ายหมดไป ซ้ำยังไป “เข้าทาง” กับแผนการการก่อการร้ายของฝ่ายผู้ก่อการร้ายเองเสียอีก

ซ้ำร้ายกว่านั้น ในสังคมเผด็จการและสังคมอำนาจนิยมในหลายที่ เราพบว่ารัฐนั้นได้ประโยชน์จากการสร้างความหวาดกลัวให้กับผู้คนในสังคมเพื่อเป็นข้ออ้างในการปกครองเสียเอง ภายใต้การนิยามของคำว่า “ความมั่นคง” นั่นแหละครับ

Advertisement

หนึ่งในคำถามสำคัญทางรัฐศาสตร์จึงอยู่ที่ว่า เราจะข้ามพ้นการเมืองในเรื่องความหวาดกลัวไปได้อย่างไร โดยเฉพาะเมื่อเราพบว่าความหวาดกลัวที่เกี่ยวข้องกับการเมืองนั้นมันกินความกว้างไปกว่าเรื่องของการก่อการร้าย

แต่มันกินความไปถึงเรื่องของนโยบายเศรษฐกิจ นโยบายอื่นๆ และเรื่องมิติชาตินิยมด้วย หรือกล่าวอีกอย่างก็คือ เมื่อพูดถึงการเมืองเรื่องความกลัวนั้น มันกว้างขวางกว่าเรื่องของการก่อการร้าย แต่มันครอบคลุมไปถึงเรื่องของการชวน (ให้เรา) เชื่อในรูปแบบต่างๆ ทั้งที่บังคับ หรือรณรงค์ หรือสื่อสารกับเรา ทั้งจากกลไกของรัฐและจากการรณรงค์หาเสียงต่างๆ หรือจากสื่อมวลชนด้วย

อย่างไรก็ตาม ถ้าจะอิงตำราฝรั่งที่ว่าด้วยการสำรวจเรื่องของมิติในเรื่องความกลัวที่เชื่อมโยงกับการเมือง โดยเฉพาะในเรื่องของการให้เหตุผลทางการเมืองหรือการกระทำทางการเมืองนั้น เราอาจจะแบ่งแนวคำอธิบายออกเป็นสักสี่แนว ว่าด้วยเรื่องของกรอบคิดกว้างๆ โดยเฉพาะในการเมืองสมัยใหม่ ซึ่งนักวิชาการบางท่านเชื่อว่าความกลัว (fear) นั้นเป็นมิติที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดกับการเมืองสมัยใหม่ทีเดียว

Advertisement

แนวความคิดว่าด้วยเรื่องของการเมืองกับความกลัวในแบบที่หนึ่ง (เสนอโดยฮอปส์) อธิบายว่า ความกลัวเป็นสิ่งที่เป็นศูนย์กลางของการเมืองยุคใหม่ ที่อยู่คงทนเป็นอย่างมาก และความกลัวนั้นเป็นเรื่องที่เป็นเงื่อนไขความจำเป็นที่ทำให้เกิดรัฐและองค์อธิปัตย์ โดยตัวอย่างที่สำคัญก็คือ ในสภาวะธรรมชาตินั้น ผู้คนไม่ไว้ใจกันและทะเลาะเบาะแว้งกันเป็นอย่างมาก จึงเป็นเงื่อนไขที่ทำให้เกิดการสมมุติเอาผู้ปกครองขึ้นมา เพื่อดูแลให้เกิดความสงบเรียบร้อย

ในแง่นี้การคงอยู่ของความกลัวก็คือเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้เกิดรัฐ และทำให้รัฐนั้นคงอยู่ต่อไป เข้าทำนองที่อาจจะพูดเก๋ๆ ได้ว่า “ที่ใดมีรัฐ ที่นั่นมีทุกข์” นั่นแหละครับ (เพราะความกลัวก็เป็นทุกข์อย่างหนึ่ง) และที่สำคัญ เจ้าผู้ปกครองเช่นนี้มักจะอ้างว่าตนนั้นปกครองเราทั้งที่เราอาจจะไม่ได้ต้องการหรือเห็นชอบใดๆ

ที่เลวร้ายไปกว่านั้นก็คือ นอกจากจะไม่ได้รับความเห็นชอบว่ามาจากเรา เพราะเราอาจจะไม่ได้เลือกเข้ามา แต่ผู้ปกครองดันทึกทักว่าเขามีเหตุผลและความชอบธรรมในการปกครองเราแล้ว เขายังอ้างว่าเราไม่มีสิทธิจะต่อต้านผู้ปกครองแบบนี้เข้าไปอีก (ซึ่งประเด็นนี้ยังมีข้อถกเถียงมากมายว่าจริงหรือไม่ แต่จะไม่ขอกล่าวถึงในงานชิ้นนี้ครับ)

แนวคิดที่สองที่ว่าด้วยเรื่องของความกลัวกับการเมืองไม่ได้มองว่าความกลัวเป็นสิ่งที่ทั้งผู้ปกครองและผู้ใต้ปกครองมีร่วมกัน หรือถูกสร้างให้มีร่วมกันเหมือนแนวคิดแรก แนวคิดที่สอง (เสนอโดยมองเตสกิเออ) เชื่อว่าความกลัวนั้นไม่ใช่ศูนย์กลางของการเมืองการปกครองในแง่ของเงื่อนไขความจำเป็นเพื่อระเบียบทางการเมืองแบบที่ฮอปส์กล่าวถึง แต่ความกลัวหรือความหวาดกลัวนั้นเป็นเครื่องมือทางการเมืองของเผด็จการ โดยเฉพาะพวกเผด็จการที่ป่าเถื่อน ดังนั้นนักคิดในสายมองเตสกิเออที่เรารู้จักกันในนามของผู้ที่เชื่อมั่นในการแบ่งปันอำนาจและการคานอำนาจซึ่งกันและกันของสถาบันทางการเมืองต่างๆ มากกว่ารวมศูนย์อำนาจไว้ในที่เดียว

กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ สำหรับนักคิดแนวที่สองนี้ การจัดทำรัฐธรรมนูญในแนวทางรัฐธรรมนูญเป็นใหญ่ และการปฏิรูปการเมืองนั้นคือเงื่อนไขสำคัญสำหรับการจัดการกดบังคับความกลัวให้ได้ และความกลัวที่เรากดบังคับไว้นี้ก็คือความกลัวที่หล่อเลี้ยงสังคมอำนาจนิยมหรือสังคมเผด็จการเอาไว้นั่นแหละครับ

กล่าวอีกนัยหนึ่ง แนวคิดในแบบที่สองคือการกดบังคับไม่ให้เกิดการใช้การปกครองแบบที่เป็นข้ออ้างเรื่องความหวาดกลัวในการใช้อำนาจกดบังคับเรานี้เอง ที่เป็นหัวใจสำคัญของการเมืองแบบเสรีนิยมต่อๆ มา

หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ เราต้องพยายามแยกให้ออกระหว่างสิ่งที่เรียกว่า “ความหวาดกลัวที่นำไปสู่การรองรับอำนาจของเผด็จการ” (despotic fear) กับสิ่งที่เรียกว่า “ความมั่นคงในโลกเสรี” (liberal security) และการพูดถึงการคานอำนาจซึ่งกันและกัน มากกว่าการวางอำนาจไว้ในที่เดียวนั่นแหละครับ

แนวที่สามในเรื่องความกลัวกับการเมืองนั้น (นำเสนอโดยทอคเคอวิลล์) มองว่าเผด็จการนั้นอาจจะเกิดได้จากการรวมตัวของพวกเสียงข้างมากในนามของประชาธิปไตย ซึ่งอาจจะเกิดจากปัญหาเรื่องของความวุ่นวายใจในระดับบุคคล ในการเข้าสู่สังคมสมัยใหม่ จนกลายเป็นธรรมชาติใหม่ที่จะต้องเรียกร้องให้เกิดการบังคับจากรัฐ การสร้างความหวาดกลัวเช่นนี้ไม่ได้เกิดจากสภาวะภายนอกที่มาบังคับพวกเขา แต่ถือเป็นธรรมชาติของมวลชนที่โดดเดี่ยวภายใต้สังคมสมัยใหม่ ที่รองรับการปกครองในแบบเผด็จการเสียงข้างมากก็อาจเป็นได้ และทำให้เกิดข้ออ้างในสังคมประชาธิปไตยเองที่จะอ้างการปกครองมวลชนเหล่านี้ ทั้งที่ทางออกที่น่าจะเป็นคือการไม่รื้อทำลายโครงสร้างสังคมเก่าทิ้งเสียหมด แต่ต้องฟื้นฟูสถาบันทางสังคมบางอย่างให้รองรับการปรับตัวเข้าสู่สังคมสมัยใหม่ เช่นเรื่องของชุมชนเป็นต้น

แนวที่สี่ในเรื่องความกลัวกับการเมือง (นำเสนอโดยอาเร้นท์) มองว่าความกระวนกระวายใจของมวลชนเป็นส่วนหนึ่งที่นำไปสู่เรื่องของทั้งความหวาดกลัวและเผด็จการแบบเบ็ดเสร็จ ที่ต้องการให้ผู้คนนั้นเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองด้วยธรรมชาติแบบใหม่ที่สามารถถูกควบคุมโดยระบอบการเมืองแบบเผด็จการเบ็ดเสร็จ และในอีกด้านหนึ่ง ระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จนั้นไม่ได้เกิดขึ้นจากภายนอกหรือจากตัวผู้ปกครองเท่านั้น แต่เกิดจากปฏิบัติการของผู้คนที่ทำงานอยู่ในระบอบการปกครองแบบเผด็จการเบ็ดเสร็จที่ทำงานที่แสนจะดูปกติและน่าเบื่อหน่ายเหล่านั้นต่อไปคนละเล็กละน้อยด้วย

กล่าวโดยสรุป เราคงไม่สามารถหนีเรื่องของการเมืองเรื่องความกลัวไปพ้นอย่างง่ายๆ แต่สิ่งที่พึงกระทำก็คือเรื่องของการทำให้ความกลัวนั้นถูกควบคุมด้วยสังคมเสรีให้ได้ ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนในสังคมเสรีนั้นได้รับการปกป้องคุ้มครองด้วยหลักการเสรีนิยมมากกว่าหลักการอำนาจนิยมแบบเผด็จการ

นอกจากนี้แล้วสิ่งที่พึงตระหนักถึงให้ดีในเรื่องของการเมืองเรื่องความกลัวก็คือการใช้เรื่องของความกลัวมาสร้างเงื่อนไขให้อยู่ในการเมืองเป็นไปเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของสังคมจริงๆ หรือปกป้องผลประโยชน์ของโครงสร้างทางอำนาจและความมั่งคั่งที่มันเหลื่อมล้ำกันอยู่ในปัจจุบัน

และด้วยเงื่อนไขที่กล่าวถึงมานี้เองที่ทำให้เราต้องพิจารณาให้ถ่องแท้ว่าการเมืองเรื่องความกลัวนั้นเกิดขึ้นได้ในทุกระบอบ ไม่ว่าจะเป็นเผด็จการหรือประชาธิปไตยที่ไร้คุณภาพ และสิ่งที่สำคัญที่จะต้องมีก็คือเงื่อนไขในแง่ของเสรีภาพที่จะเป็นตัวกำกับให้ประชาธิปไตยมีคุณภาพ และปราศจากความหวาดกลัวที่ทำลายเสรีภาพและความเป็นมนุษย์ของเรา

เราจะต้องล้างมายาคติที่มองว่าความหวาดกลัวหรือความน่าสะพรึงกลัวเป็นรากฐานของการเมืองการปกครอง มาสู่การมองว่าความหวาดกลัวและน่าสะพรึงกลัวเป็นเครื่องมือในการปกครอง และเราต้องใช้มันเพื่อส่งเสริมเสรีภาพ ไม่ใช่ใช้มันเพื่อเป็นข้ออ้างในการสกัดกั้นเสรีภาพเพื่อให้คงไว้ซึ่งความครอบงำและความไม่เท่าเทียมกันต่อไป

(หมายเหตุ – บางส่วนมาจากการสรุปความจาก Corey Robin. 2004. Fear: The History of a Political Idea. Oxford University Press.)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image