รายงานหน้า2 : ‘พท.-ปชป.’ประชัน ‘นโยบายการศึกษา’

หมายเหตุ เปิดนโยบายด้านการศึกษาของ 2 พรรคการเมืองใหญ่ คือ พรรคเพื่อไทย (พท.) และพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เพื่อใช้ในการหาเสียงเลือกตั้งและผลักดันเป็นนโยบายของรัฐบาลภายหลังการเลือกตั้ง

นพดล ปัทมะ
อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
คณะทำงานด้านการศึกษาพรรคเพื่อไทย (พท.)

แนวคิดทำนโยบายการศึกษาของพรรค มุ่งพัฒนาคนให้ทันโลก มีทักษะศตวรรษที่ 21 ไม่ทิ้งลูกหลานไทยไว้ข้างหลัง โดยนโยบายจะแก้ปัญหาพื้นฐานสำคัญ 3 เรื่องคือ 1.สร้างโอกาสและลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เด็กไทยจะยากดีมีจนอยากเรียนต้องได้เรียน 2.ยกระดับคุณภาพการศึกษาทุกช่วงชั้น ตั้งแต่เด็กอ่อนจนถึงมหาวิทยาลัย และ 3.เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ การใช้งบประมาณ และกระจายอำนาจการจัดการศึกษาให้โรงเรียน ชุมชนเข้าร่วมจัดการศึกษา ทั้งนี้ พรรคมีเป้าหมายให้คนไทยมีสมรรถนะและทักษะการคิดวิเคราะห์ ทักษะ 3 ภาษา ไทย อังกฤษ จีน เรียนจบแล้วมีงานทำ โดยเฉพาะอาชีวศึกษาให้คนเรียนมีฝีมือและทักษะตามที่ตลาดต้องการ
พรรคเพื่อไทยให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับการศึกษาปฐมวัยหรือเด็กตั้งแต่อยู่ในครรภ์จนถึงอายุ 8 ขวบ เพราะการศึกษาของเด็กเล็กเปรียบเหมือนเสาเข็มแรกของชีวิต โดยแนวคิดเชิงนโยบายบางส่วนที่มีการนำเสนอ เพื่อแก้ปัญหาพื้นฐานการศึกษาไทย เช่น 1.เรียนฟรี 15 ปีต้องฟรีจริง 2.ไม่ทิ้งเด็กไทยไว้ข้างหลัง เด็กจะยากดีมีจนต้องได้เรียนหนังสือจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน สนับสนุนให้เด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษากลับเข้าสู่ระบบการศึกษาและพัฒนาอาชีพ 3.แปดปีชี้ทางชีวิต เพิ่มงบประมาณ และให้ความสำคัญการศึกษาปฐมวัย มีมาตรการช่วยเหลือตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาถึงอายุแปดขวบ ยกระดับให้มี “ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กอัจฉริยะ” 20,000 แห่ง 4. “เรียนก่อนผ่อนทีหลังเมื่อมีงานทำ” ด้วยกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกพันกับรายได้ ในอนาคต ผ่อนคืนเมื่อมีรายได้
5.“โรงเรียนออนไลน์” คนไทยต้องเข้าถึงการศึกษาคุณภาพทุกที่ ทุกเวลา ด้วยการเรียนรู้แบบดิจิทัล ผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์มด้วยเนื้อหาระดับโลก 6.ปฏิรูปหลักสูตร “หลักสูตรศตวรรษที่ 21 เลิกท่องจำก้าวล้ำคิดสร้างสรรค์” ให้เด็กไทยมีทักษะคิดวิเคราะห์ คิดสร้างสรรค์ สร้างสมรรถนะ เลิกการเรียนแบบท่องจำ คนรุ่นใหม่ต้องคิดเป็น แก้ปัญหาได้ 7.สอนน้อยลง แต่เก่งมากขึ้น ลดชั่วโมงเรียนทั้งปีลง แต่ไปเรียนรู้ทักษะและฝึกสมรรถนะอนาคตมากขึ้น
8.“เด็กไทยได้สามภาษา” ไทย อังกฤษ จีน พลิกโฉมการเรียนการสอนภาษาอังกฤษให้สามารถสื่อสารได้ตั้งแต่ชั้น ม.3 ผ่านครูเจ้าของภาษาและแอพพลิเคชั่นฝึกภาษา 9.หนึ่งอำเภอหนึ่งโรงเรียนสองภาษา ไทยและอังกฤษ เพื่อเพิ่มทักษะด้านภาษาและการเรียนรู้ให้นักเรียนทั่วประเทศ 10.สร้างครูพันธุ์ใหม่ และ “คืนครูให้ห้องเรียน” เวลาอย่างน้อย 90% ของครู ต้องใช้เพื่อการเรียนการสอน ไม่ใช่ไปทำงานธุรการ
11.เรียนฟรีสำหรับผู้เรียนอาชีวศึกษาในสาขาขาดแคลน 12.ศูนย์ฝึกทักษะฝีมืออัจฉริยะ ในทุกภูมิภาคเพื่อฝึกทักษะฝีมือครู นักเรียน ประชาชน 13.“กองทุน อาชีวะสตาร์ตอัพ” เพื่อมีเงินทุนตั้งต้นส่งเสริมให้นักเรียนอาชีวะไปเป็นผู้ประกอบการ 14.มหาวิทยาลัยให้บริการเรียนรู้ตลอดชีวิต และรองรับสังคมผู้สูงอายุ ฝึกทักษะใหม่ให้คนทำงาน
15.“โรงเรียนของเรา ชุมชนของเรา” กระจายอำนาจ เพิ่มการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองและชุมชนท้องถิ่นในการจัดการศึกษาของโรงเรียน

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)

Advertisement

พรรคประชาธิปัตย์ได้กำหนดไว้เป็นนโยบาย “เรียนฟรี เรียนดี มีงานทำ” และ “เด็กไทยทุกคนจะได้เรียนฟรีจริงตั้งแต่ชั้นอนุบาล จนถึงมัธยม 6 อย่างมีคุณภาพ” โดยได้กำหนดวิธีปฏิบัติ ดังนี้
1.จัดสรรงบประมาณให้จังหวัด/โรงเรียน เพื่อจัดซื้อตามงบประมาณต่อหน่วยที่กำหนด ให้สามารถจัดซื้อและมอบให้นักเรียนได้เมื่อเปิดเทอมการศึกษาใหม่ของปี 1.1 นม 6 บาท/กล่อง จำนวน 230 วัน (ในช่วงปิดเทอม 30 วัน) 1.2 อาหารกลางวัน 400 บาท/ คน จำนวน 200 วัน 1.3 เครื่องแบบนักเรียนคนละ 2 ชุด/ปี -ประถมชุดละ 180 บาท -มัธยมต้นชุดละ 225 บาท -มัธยมปลายชุดละ 250 บาท 1.4 ตำราเรียนฟรี (ระบบยืมเรียนสำหรับตำราและให้ฟรีสำหรับแบบฝึกหัด)-ประถม 300 บาท/คน/ปี -มัธยมต้น 325 บาท/คน/ปี -มัธยมปลาย 375 บาท/คน/ปี
2.ออกข้อบังคับห้ามโรงเรียนเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากนักเรียน และแจ้งให้ผู้ปกครองทราบถึงนโยบายเรียนฟรีจริง เมื่อจบการศึกษาแล้วต้องทำงานเป็น สร้างงานได้ มีงานทำ ได้กำหนดวิธีปฏิบัติ ดังนี้
2.1 ร่วมกับภาคเอกชนปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับตลาดงานจริง
2.2 จัดให้มีการฝึกงานภาคฤดูร้อน เพื่อการพัฒนาทักษะและทัศนคติของนักศึกษาให้พร้อมทำงาน
2.3 โรงเรียน/มหาวิทยาลัย จัดตั้งหน่วยงานช่วยจัดหางานให้แก่นักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาและให้ถือการมีงานทำเป็นดัชนีชี้วัดความสำเร็จของการศึกษาไม่ใช่เพียงการเรียนสำเร็จตาม หลักสูตรและได้รับวุฒิบัตรหรือปริญญาบัตร
2.4 จัดระบบการทดสอบระดับฝีมือ/ทักษะ ด้านอาชีวศึกษาให้กระจายทั่วประเทศ เพื่อออกประกาศนียบัตรรับรองระดับฝีมือ/ทักษะ เพื่อเป็นฐานการกำหนดค่าตอบแทน
2.5 งบประมาณ : ใช้งบประมาณที่ได้รับจัดสรรปกติ
⦁หลักประกันอันมั่นคงของทุกคน อายุ 60 ปี ขึ้นไป ที่ไม่มีหลักประกันอื่น มีเบี้ยยังชีพเดือนละ 500 บาท ได้กำหนดวิธีปฏิบัติ ดังนี้
1.ขึ้นทะเบียนผู้สูงอายุที่มีสิทธิได้รับเบี้ยยังชีพในพื้นที่ที่รับผิดชอบ
2.ใช้งบประมาณที่ได้รับจ่ายให้ผู้สูงอายุที่มีสิทธิได้รับเบี้ยยังชีพเป็นรายเดือน เดือนละ 500 บาท 3.จัดทำระบบการจ่ายเบี้ยยังชีพเพื่อความสะดวกของผู้รับและตรวจสอบได้ 4.งบประมาณ : จัดสรรงบประมาณ ปีละ 35,000 ล้านบาท
⦁ดูแลคนไทยทุกช่วงวัยของชีวิตตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาจวบจนวัยชรา ได้กำหนดวิธีปฏิบัติ ดังนี้
1.ปัจจุบันรัฐจัดสรรค่าเหมาจ่ายรายหัวให้กองทุนหลักประกันสุขภาพ 2,100 บาทต่อคน (จากเดิม 1,659 บาท) ซึ่งเพียงพอที่ระบบหลักประกันสุขภาพจะสามารถให้บริการที่ได้มาตรฐาน และจ่ายยารักษาที่มีคุณภาพ โดยจะต้องดำเนินการปฏิรูประบบยา คู่กับการจัดสรรงบประมาณที่เพียงพอนี้ต่อไป
2.เพิ่มความสะดวกและคุณภาพแก่ประชาชน ให้สามารถเลือกรักษาที่คลินิกใกล้บ้านนอกเหนือจากโรงพยาบาลได้ด้วย โดยจัดสรรเงินจากค่าเหมาจ่ายรายหัว ให้แก่คลินิกในพื้นที่เพื่อเข้าร่วมโครงการ “รักษาฟรีที่คลินิก” โดยสัมพันธ์กับจำนวนประชากรในพื้นที่
3.สนับสนุนระบบควบคุมและประเมินคุณภาพบริการ โดยให้สถาบันพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาล ขยายการรับรองมาตรฐานไปให้ครอบคลุมถึงคลินิกด้วย เพื่อปรับปรุงและพัฒนาคุณภาพบริการให้ดีขึ้น
4.งบประมาณ ค่าเหมาจ่ายรายหัวให้กองทุนหลักประกันสุขภาพ 2,100 บาทต่อคน (จัดสรรแล้ว)
⦁เพิ่มศูนย์เด็กเล็กใกล้บ้านและที่ทำงานทั่วถึง ได้กำหนดวิธีปฏิบัติ ดังนี้
1.โอนงบประมาณให้หน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลศูนย์พัฒนาเด็กเล็กตามกรอบค่าใช้จ่ายต่อหน่วยที่กำหนด
2.ฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ให้สามารถดูแลเด็กเล็กได้ตามหลักวิชาเพื่อการเจริญเติบโตของร่างกาย สมองและจิตใจ 3.จัดหาวัสดุอุปกรณ์เพื่อการพัฒนาร่างกายและสมองของเด็กเล็กให้ครบตามมาตรฐานทุกศูนย์
4.จัดการวัด IQ ของเด็กเล็กและบันทึก พร้อมกับวัดการพัฒนา IQ ทุก 6 เดือน (สำหรับศูนย์ต้นแบบให้วัดทุก 3 เดือน ศูนย์ต้นแบบกำหนดให้มีอำเภอละ 1 แห่ง)
5.นำผลการวัดความเจริญเติบโตของร่างกาย สมองและจิตใจของเด็กเล็ก สรุปวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงวิธีการเลี้ยงดู และเผยแพร่ให้พ่อแม่ทุกคนทราบและใช้ประโยชน์ต่อไป
6.งบประมาณ = 15,520 ล้านบาท นมศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 4.4 ล้านคน x 6 บาท/คน x 365 วัน = 9,650 ล้านบาท พัฒนาศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 1,000 แห่ง/ปี 1 ล้าน/แห่ง = 1,000 ล้านบาท ค่าตอบแทนสำหรับเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ จำนวน 18,500 ศูนย์ต่อปี = 4,500 ล้านบาท ค่าวัสดุอุปกรณ์เพื่อพัฒนาเด็กเล็ก 20,000 บาท/ศูนย์/ปี x 18,500 ศูนย์ = 370 ล้านบาท

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image