วิพากษ์กฎเหล็ก ‘กกต.’ คุมหาเสียง-ค่าใช้จ่ายเลือกตั้ง

หมายเหตุ ความเห็นจากนักวิชาการและฝ่ายการเมือง กรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศระเบียบ กกต. เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ทั้งกรณีค่าใช้จ่ายงบประมาณในการหาเสียง และช่องทางการหาเสียง


 

ทรงศักดิ์ ทองศรี
รองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.)

สําหรับค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขต จำนวนไม่เกิน 1.5 ล้านบาท และแบบพรรคการเมืองไม่เกิน 35 ล้านบาท ที่ กกต.กำหนดไว้ในระเบียบ กกต.นั้น เชื่อว่าทาง กกต.คงจะพิจารณาด้วยความรอบคอบแล้วว่าเป็นตัวเลขที่เหมาะสมที่สุด โดยเปรียบเทียบจากค่าใช้จ่ายจากการเลือกตั้งในอดีตที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ตัวเลขของค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งครั้งก่อนๆ ก็จะใช้ไม่ถึงจำนวนที่กฎหมายกำหนดกันอยู่แล้ว แต่ในอดีตการประชาสัมพันธ์ของผู้สมัครเองมันต้องใช้เงินเยอะ ต้องจัดทำป้ายหาเสียง ขบวนรถแห่ เพราะระบบการเข้าถึงมันยากกว่าในปัจจุบัน

Advertisement

การกำหนดตัวเลขค่าใช้จ่ายการเลือกตั้งของผู้สมัคร จำนวน 1.5 ล้านบาท เหมาะสมแล้ว เพราะวันนี้การหาเสียงส่วนใหญ่ได้เน้นไปทางสื่อโซเชียลมีเดียแล้ว และการหาเสียงทางโซเชียลก็จะใช้เงินน้อยลงด้วย การเข้าถึงประชาชนจะเข้าถึงได้มากกว่า เพราะส่วนใหญ่ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีโทรศัพท์มือถือ

ดังนั้น การรับฟังหรือติดตามข่าวสารก็จะผ่านทางโซเชียลมีเดีย ทางสิ่งพิมพ์จะน้อยลง เมื่อ กกต.ออกระเบียบมาแล้ว ส่วนของพรรคการเมืองกำหนดเงินค่าใช้จ่าย ไม่เกิน 35 ล้านบาทนั้น เป็นตัวเลขระดับกลางๆ ทำให้ทุกพรรคการเมืองมีความเท่าเทียมกัน ไม่น้อยเกินไปหรือมากเกินไป ส่วนการหาเสียงทางโซเชียลนั้น เชื่อว่าช่วยได้เยอะ เพราะการจัดเวทีปราศรัยหาเสียงนั้นแบบเดิมทำยากมาก ปัจจุบันประชาชนส่วนใหญ่เน้นติดตามสื่อใกล้ตัวมากกว่า อีกทั้งสื่อโซเชียลก็เข้าถึงประชาชนได้สะดวกและรวดเร็วด้วย

Advertisement

สามารถ แก้วมีชัย
คณะทำงานติดตามการร่างรัฐธรรมนูญ
พรรคเพื่อไทย (พท.)

ระเบียบ กกต.นั้นออกมาตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. บัญญัติให้ กกต.ไปออกรายละเอียด แต่รายละเอียดที่ กกต.ออกมาบางเรื่องเป็นเรื่องจุกจิกเกินไป โดยหลักการเลือกตั้ง ส.ส.จะถูกควบคุมโดยค่าใช้จ่ายที่ ส.ส.ทุกคนต้องรายงานหลังการเลือกตั้ง ดังนั้น บางเรื่องไม่ควรไปห้าม เช่น ห้ามใช้รถแห่เกินเขตละ 10 คัน บางที่เขตกว้างมาก หรือพื้นที่เป็นดอย อย่างเขตของผมที่ประกอบด้วย 1 เทศบาลนคร และ 10 ตำบล ถ้าให้ไม่เกิน 10 คัน จะมีตำบลละ 1 คัน แต่บางตำบลขึ้นไปหาเสียงได้ 3 ทาง จะใช้รถเพียง 1 คันไปประชาสัมพันธ์คงไม่ทั่วถึง เป็นต้น การไปจำกัดตรงนี้ทำให้มีปัญหากับผู้สมัคร คือ กกต.ควรให้ผู้สมัครบริหารจัดการเอาเอง แล้วไปรายงานค่าใช้จ่ายให้ กกต. โดยที่จะต้องอยู่ในวงเงินที่ กกต.กำหนดนั่นเอง

อีกกรณีคือ ผู้ช่วยหาเสียงต้องไปรายงานกับ กกต.ว่าคนที่จะเดินกับเราต้องห้ามเกินเขตละ 20 คน คือ 1 เขตมันไม่ใช่น้อยๆ 20 คนไม่น่าจะเพียงพอหรอก ไม่รู้ว่าคิดมาจากพื้นฐานอะไร ถ้าเป็น กกต.คิด หรือนักวิชาการคิด คนเหล่านี้ไม่เคยลงสมัครผู้แทนสักคน ส่วนการหาเสียงทางโซเชียลมีเดียนั้น ไม่ใช่สิ่งที่จะทำให้ได้ผลในพื้นที่มาก จะเป็นเรื่องของกระแสมากกว่า เพราะสิ่งที่จะทำให้ได้ผลในพื้นที่คือชาวบ้านได้เห็นหน้า ได้จับมือ และฟังเสียงสะท้อนของกันและกัน ไม่ใช่นั่งอยู่แต่ที่บ้านแล้วใช้แต่โซเชียล ฉะนั้น กฎระเบียบต่างๆ เหล่านี้ไม่ควรจุกจิกมากนัก เพราะเราต้องควบคุมค่าใช้จ่ายให้อยู่ในกรอบที่ กกต.กำหนดอยู่แล้ว ว่าเรามีรายละเอียดค่าใช้จ่ายอย่างไรบ้าง

พิชิต ชื่นบาน
ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมาย
พรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.)

จากการศึกษามองว่า 1.ปัญหาของระเบียบ กกต. มาจาก พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มีสภาพบังคับให้ กกต.ต้องออกระเบียบมากมาย ดังจะเห็นได้จากระเบียบอาศัยอำนาจตามมาตราต่างๆ แทนที่จะระบุไว้ในบทเฉพาะกาลหรือกำหนดหมวดหมู่ในมาตราเดียวกัน เพื่อให้เป็นคู่มือในการปฏิบัติไปเลย แต่กลับให้ กกต.ไปออกเป็นระเบียบแยกเป็นหลายๆ เรื่อง ร่าง พ.ร.ป.รัฐธรรมนูญออกมาในลักษณะนี้ เพราะมีปัญหามาตั้งแต่การเขียนกฎหมายที่ขาดการมีส่วนร่วมอย่างหลากหลาย จากทั้งพรรคการเมือง นักการเมือง และประชาชน ทั้งที่ระเบียบต่างๆ จะส่งผลกระทบต่อตัวผู้สมัคร ส.ส.และประชาชนโดยตรง

2.ตอน กกต.นั่งร่างกฎระเบียบต่างๆ กกต.พบพรรคการเมืองเปิดรับฟังความเห็นเพียง 2 ครั้งเท่านั้น ครั้งแรกเราก็ไปกังวลกันเรื่องของการปลดล็อก และกรอบเวลาต่างๆ ส่วนครั้งที่สองให้มีการไปพูดคุยกันกรอบระยะเวลา และประเด็นที่หารือกันก็ทำให้แทบไม่ได้พูดคุยลงรายละเอียดกันในเรื่องนี้เท่าใดนัก ตอนนี้ทำให้ทั้งพรรคการเมือง และผู้สมัคร รวมไปถึงตัว กกต.เป็นผู้บังคับใช้กฎหมายเองเกิดปัญหาทางธุรการ และปัญหาทางการปฏิบัติอันเนื่องจากการที่ กกต.ไม่ได้ไปรับฟังปัญหาอย่างแท้จริง ยกตัวอย่างเช่น ข้อห้ามในการหาเสียงห้ามเรื่องการ “ให้” ไว้อย่างชัดเจนว่าห้ามให้เลยไม่ว่ากรณีใดๆ
แต่ในระเบียบ กกต.กลับมีบัญญัติเรื่องว่าด้วยการให้ตามประเพณีไว้ว่าให้ได้ไม่เกิน 3,000 บาท

ดังนั้น เวลาไปร่วมงานศพเราสามารถทำบุญช่วยงานได้หรือไม่ ให้พวงหรีดได้หรือไม่ และเวลาที่ลงไปช่วยผู้ประสบอุทกภัยหรือประสบภัยต่างๆ เราสามารถให้ความช่วยเหลือได้หรือไม่ ตรงนี้ก็ทำให้เกิดเป็นปัญหาเพราะความคลุมเครือ แทนที่จะเขียนให้กระจ่างเพื่อที่จะสามารถปฏิบัติให้ถูกต้องได้ หลังการเลือกตั้งครั้งนี้ กกต.ควรนำสภาพปัญหาต่างๆ มากางดู แล้วแก้กฎหมายเกี่ยวกับเรื่องนี้ที่ไม่ชัดเจนเสีย

โอฬาร ถิ่นบางเตียว
คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ม.บูรพา

ถ้าเราเชื่อในรัฐธรรมนูญระบุว่า จะต้องจัดการเลือกตั้งให้เสร็จใน 150 วัน ปัญหาคือผมไม่เข้าใจว่า กกต.และ คสช.ไม่ทำความเข้าใจกับประชาชนว่า 150 วันดังกล่าวสามารถจัดในห้วงใด เวลาใดบ้าง หากสังเกตจะพบกลุ่มคนเลือกตั้ง เชื่อว่าจะต้องจัดให้ได้ภายในวันที่ 24 ก.พ. และประกาศผลการเลือกตั้งภายใน 150 วัน ล่าสุด กรธ.บอกว่า 150 วันหมายถึงเฉพาะการเลือกตั้ง นี่เป็นประเด็นสำคัญที่ คสช.โดยเฉพาะ กกต.ต้องทำความเข้าใจกับประชาชนว่า 150 วันอยู่ตรงไหนอย่างไร

ดังนั้น ประกาศ กกต.ทั้ง 9 ฉบับนี้เป็นสัญญาณว่าทุกอย่างต้องเดินไปสู่กระบวนการเลือกตั้ง แต่ตอนนี้ กกต.ไม่แสดงท่าทีชัดเจนกรณี 150 วัน หรืออ้างอย่างเดียวว่าต้องรอ พ.ร.ฎ.การเลือกตั้ง เป็นเรื่องของกระบวนการการเลือกตั้ง แต่ทิศทางแนวโน้มจากรัฐธรรมนูญเราสามารถอาศัยหลักการในการสื่อสารกับประชาชนได้ รวมถึงสัญญาณจากทั้ง 9 ฉบับนี้ด้วย

ประเด็นค่าใช้จ่ายที่ กกต.กำหนดขึ้นเป็นข้อมูลตัวเลขไม่สะท้อนความเป็นจริง คนจะมาลง ส.ส.หรือคนมีโอกาสชนะการเลือกตั้งเป็น ส.ส. จะหาเสียงเลือกตั้ง 52 วันไม่ได้ จากตัวเลขการวิจัยที่ผมพยายามเก็บข้อมูลพบว่า คนเตรียมตัวเข้าสู่การเลือกตั้งต้องมีค่าใช้จ่าย หรือที่เรียกว่าค่าภาษีสังคม ต่อคน เดือนนึงอย่างน้อย 200,000 บาท ถ้าเปิดตัว 1 ปี ก็เอา 200,000×12 เดือน ถ้าเปิดตัว 3 ปี ก็เอา 200,000×36 เดือนเข้าไป นี่คือตัวเลขค่าใช้จ่ายก่อนเลือกตั้ง นอกจากนี้ เวลาใช้จ่ายจริงๆ ยังมีค่าใช้จ่ายใต้ดินอีกเยอะพอสมควร กกต.พยายามกำหนดค่าใช้จ่ายเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม โปร่งใส ผมคิดว่า กกต.ไม่ได้อาศัยความรู้ที่เพียงพอในการควบคุมค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง

ถามว่าให้น้ำหนักกับตัวเลขค่าใช้จ่ายมากกว่านโยบายหรือไม่ จริงๆ เรื่องนี้ซ้อนกันอยู่คือ ทิศทางการวางแผนและเนื้อหารัฐธรรมนูญ ตลอดจนทิศทางของการเมืองพยายามให้พรรคเสนอนโยบายให้คนตัดสินใจว่านโยบายของพรรคใดตอบสนองตนเองมากที่สุด ปฏิเสธไม่ได้ว่าความสัมพันธ์ของคนกับผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง โดยเฉพาะพื้นที่ในท้องถิ่น คนยังมีความสัมพันธ์กับผู้สมัครรับเลือกตั้งเข้มข้นพอสมควร เนื่องจากสังคมไทยมีลักษณะแบบอำนาจนิยม ถ้าชาวบ้านสามารถอิงกับบุคคลเหล่านี้ได้ในทางใดทางหนึ่งก็จะทำให้ตัวเองมีพื้นที่ทางอำนาจในสังคม

นี่เป็นปัญหาพื้นฐานในสังคมไทยว่า หากเรายังอยู่ภายใต้ความสัมพันธ์เชิงอำนาจแบบนี้ก็จะเกิดการพัฒนาประชาธิปไตยที่ซ้อนกันอยู่ระหว่างประชาธิปไตยเชิงหลักการและนโยบาย กับประชาธิปไตยที่อิงตัวบุคคล ดังนั้น คนที่สามารถไปเป็นคนกลางตรงนี้ได้ต้องใช้เงินเยอะมาก มีความได้เปรียบในพื้นที่ หากเข้าไปอยู่ในพรรคที่มีนโยบายดีด้วย โอกาสชนะในการเลือกตั้งก็สูง

นอกจากนี้ กกต.มีการประกาศให้ติดป้ายหาเสียงในพื้นที่ที่กำหนด หลักคิดของ กกต.คือเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม เท่าเทียมกันทุกพรรค เพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายได้อย่างถูกต้อง ข้อสังเกตส่วนตัวไม่มั่นใจว่าป้ายหาเสียงหรือเอกสารการหาเสียงจะสร้างการสื่อสารกับประชาชนได้มากแค่ไหน เพราะประชาชนไม่ได้อยู่ในเมือง ใกล้สถานที่ราชการทั้งหมด ส่วนใหญ่อยู่ข้างนอกที่ไกลออกมา ถามว่าเขามีโอกาสเจอตัวผู้สมัครไหม เจอป้ายโฆษณาของผู้สมัครไหม ผมว่าเป็นไปได้ยาก อย่างเราเองไปสถานที่ราชการเดือนละกี่ครั้ง ปีหนึ่งกี่หน ถ้าให้ป้ายโฆษณาเหล่านี้ติดอยู่ใกล้สถานที่ราชการ หรือพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง ประชาชนจะไปดูไหม พอเป็นลักษณะนี้ทำให้คนที่ทำการบ้านมาก่อนล่วงหน้า ถ้าเขาเตรียมความพร้อมการเลือกตั้ง สามารถเดินสายพบประชาชนก่อนได้ เมื่อออกเดินสายก่อนก็มีความได้เปรียบ

แม้หาเสียงในโซเชียลได้แต่ปัญหาคือ โซเชียลเข้าถึงคนกลุ่มหนึ่งใช้เทคโนโลยีการสื่อสารเป็น แน่นอนว่าเป็นคนรุ่นใหม่ ชนชั้นกลาง รวมถึงผู้อาวุโสที่มีความพร้อมเรื่องฐานะ ทรัพยากรที่สามารถมีเครื่องมือเครื่องใช้ในการเข้าถึงโลกโซเชียลได้ อย่าลืมว่ายังมีพี่น้องคนไทยอีกเยอะที่เข้าไม่ถึง พอคนกลุ่มนี้อยู่ห่างไกล เข้าไม่ถึง ไม่ได้ดูป้ายหาเสียงที่ กกต.กำหนดไว้ สุดท้ายก็จะรู้จักคนที่ไปหาเขาบ่อยๆ และถ้าคนที่ไปหาเขาบ่อยๆ มีนโยบายดีด้วย โอกาสชนะการเลือกตั้งก็สูง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image