รายงานหน้า2 : นักวิชาการติง‘รบ.-ตร.’ โอเวอร์เซ็นซิทีฟ จับ‘คนอยากเลือกตั้ง’

หมายเหตุ นักวิชาการแสดงความเห็นถึงกรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจคุมตัวแกนนำ “กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง” ที่จัดชุมนุมคัดค้านการเลื่อนเลือกตั้ง ที่บริเวณแยกราชประสงค์ กทม. ในข้อหาใช้เสียงปราศรัยเกินกำหนด ผิด พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ และมีเหตุปะทะกันเล็กน้อย เมื่อวันที่ 13 มกราคมที่ผ่านมา

สุขุม นวลสกุล
อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยรามคำแหง

ที่มีการชุมนุมต่อต้านการเลื่อนการเลือกตั้ง เพราะรัฐบาลและคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยังไม่ประกาศวันเลือกตั้งที่ชัดเจน ถ้าประกาศวันเลือกตั้งชัดเจน ทุกอย่างก็จบ จึงขึ้นอยู่กับรัฐบาล คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และ กกต.
ต่างคนต่างอ้างว่ายังไม่มีพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ออกมา เขาสามารถอ้างได้ว่า แม้จะเลื่อนจากวันที่ 24 กุมภาพันธ์ แต่ก็ยังอยู่ในกรอบ 150 วัน หลังพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มีผลบังคับใช้
แต่เมื่อรัฐบาลและ กกต.เป็นคนพูดก่อนหน้านี้เองว่าการเลือกตั้งจะมีขึ้นในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ แต่จะมีการเลื่อนออกไปอีก จึงช่วยไม่ได้ที่จะทำให้คนเข้าใจว่าเป็นเจตนาต้องการเลื่อนการเลือกตั้งออกไป เพื่อความได้เปรียบของตัวเอง
นั่นแสดงถึงความไม่น่าเชื่อถือ ทำให้กลุ่มต่างๆ ออกมาโวยวาย ถ้าประกาศวันเลือกตั้งอย่างชัดเจน ผมว่าคนพวกนี้หยุดเคลื่อนไหว แม้จะเลื่อนออกไปจากวันที่ 24 กุมภาพันธ์ก็ตาม แต่ไม่ใช่เงียบและไม่รู้กำหนดการเช่นนี้
คิดว่าการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง คงจุดไม่ติดไปมากกว่านี้ ไม่เหมือนการชุมนุมประท้วงของ กปปส.หรือของคนเสื้อแดงในอดีต ที่ต้องใช้ทุนมากพอสมควร แต่ความเคลื่อนไหวของคนอยากเลือกตั้งจุดความรู้สึกของคนได้ ให้คนตระหนักว่าเรายังไม่มีการเลือกตั้งเสียที
อยากเตือนรัฐบาลและฝ่ายความมั่นคงว่า ไม่ควรมองการเคลื่อนไหวนี้ในแง่ร้าย ไม่ควรมองว่าเป็นม็อบรับจ้างหรือใครสั่งมา เพราะนั่นจะทำให้ท่าทีที่มีต่อผู้ชุมนุมเปลี่ยนไปจากเดิม จนกลายเป็นศัตรูกัน
การที่กลุ่มคนอยากเลือกตั้งออกมาเคลื่อนไหว เพื่อเตือนรัฐบาลว่าไม่ควรให้การเลือกตั้งต้องขยับอีก เพื่อไม่ให้สังคมลืม ถ้ารัฐบาลยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับวันเลือกตั้ง ก็จะมีการชุมนุมลักษณะนี้อย่างต่อเนื่อง แต่จะไม่ใช่แค่กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง เพราะยังจะมีกลุ่มอื่น จะออกมาบอกว่ากลุ่มฉันไม่ได้ถูกจ้างมา
เท่าที่ดู ไม่เห็นอะไรที่จะนำไปสู่ความรุนแรง ที่สำคัญฝ่ายความมั่นคงต้องไม่ใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุมก่อน และควรเปลี่ยนทัศนคติต่อผู้ชุมนุม
ส่วนรัฐบาลและ กกต.ต้องมีความชัดเจนในวันเลือกตั้ง ซึ่งวันที่ 24 กุมภาพันธ์นั้น คุณกำหนดของพวกคุณเอง ปัญหาต่างๆ ก็เป็นปัญหาของพวกคุณเอง คนนอกเขาไม่เกี่ยวข้องเลย พวกคุณต่างหากที่สับสนกันเอง

ผศ.ดร.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Advertisement

เรื่องการเอาผิดผู้ชุมนุมเรื่องเสียงดังเกิน 115 เดซิเบล หากพิจารณาในบริบทที่ว่าระดับเสียงของผู้ชุมนุมที่ใช้กับผู้ชุมนุมจำนวนไม่มาก ผมคิดว่าควรให้สิทธิสำหรับการแสดงออกสิทธิทางการเมืองอันน้อยนิด รัฐบาลหรือผู้มีอำนาจสั่งการดูจะโอเวอร์เซ็นซิทีฟ โอเวอร์รีแอ๊กกับเรื่องนี้ไปนิดหน่อย
การชุมนุม 2-3 ครั้งที่ผ่านมาดูสงบ ไม่มีทีท่าว่าจะนำไปสู่ความรุนแรง ความวุ่นวายมักเกิดจากการที่กลุ่มผู้ชุมนุมรู้สึกว่าทางเจ้าหน้าที่ใช้อำนาจเกินขอบเขต คนที่ควบคุมการชุมนุม ต้องคิดดีๆ ว่ามันคุ้มหรือไม่กับการปะทะกับผู้ชุมนุมด้วยเหตุที่เป็นเรื่องกฎหมายหยุมหยิม
ประเด็นที่ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. ระบุว่า การชุมนุมทำให้วุ่นวายนั้น อันนี้ท่านก็ว่าของท่านไป ในความเป็นจริงคือประเทศไทยเลื่อนโรดแมปกันมาหลายรอบแล้ว ผมคิดว่าจัดตามโรดแมปที่ให้ไว้ก็จบ
ห้วงเวลานี้ ยังไม่มี พ.ร.ฎ.การเลือกตั้ง ท่านคงจะพูดแสดงความห่วงใยได้ แต่ทันทีที่มี พ.ร.ฎ.การเลือกตั้ง ท่านต้องระมัดระวัง เพราะการพูดอะไรออกมาล้วนให้คุณให้โทษ ส่งผลกับความยุติธรรม ความมีเสรีในการเลือกตั้ง เพราะการพูดของข้าราชการประจำส่งผลต่อทิศทางการเมืองไม่น้อย โดยเฉพาะผู้นำกองทัพ ซึ่งที่ผ่านมาเป็นปัจจัยหลักของการเปลี่ยนแปลงทาง
การเมือง
การชุมนุมถือเป็นเรื่องปกติในสังคมที่ยืนยันว่าเป็นประชาธิปไตย ทุกคนควรมีสิทธิแสดงออกอย่างสงบในทิศทางที่เขาเชื่อ ในสิ่งที่เขายึดถือว่าเป็นสิทธิทางสังคมของการเป็นพลเมือง สิทธิทางการเมืองของการเป็นคนในรัฐรัฐหนึ่ง นี่คือเรื่องปกติ ยิ่งเรามี พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ซึ่งผู้ชุมนุมไปแจ้งตามระเบียบ ไม่ได้จู่ๆ ไปยึดสถานที่ทำการ
เรื่องเหล่านี้ผู้มีอำนาจควรเรียนรู้ว่าในสังคมใดๆ ก็เป็นแบบนี้ เป็นสิทธิอันต้อยต่ำที่สุดของมนุษย์ คือสิทธิในการเลือกตั้ง สังคมไทยต้องเรียนรู้ว่านี่คือสิทธิพื้นฐานที่สุดของการเป็นมนุษย์ในสังคมใดๆ เกาหลีเหนือยังมีเลือกตั้งเลย
ปัญหาเรื่องนี้พื้นๆ มาก นั่นคือจัดการเลือกตั้งทั่วไปในกรอบเวลาอันเหมาะสม จริงๆ มี 2 เดดไลน์คือ 24 กุมภาพันธ์ หรือไม่เกินวันที่ 10 มีนาคม แล้วเดินตามนี้ไป ไม่มีเหตุอันควรที่จะไปเลื่อน เพราะทุกอย่างยังอยู่ในขีดความสามารถที่จัดการได้ กกต.ก็เตรียมไว้แล้วทุกอย่าง เหลืออย่างเดียวคือความยินยอมพร้อมใจของรัฐบาลที่จะดำเนินการเรื่องนี้เท่านั้น

ศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ
อดีตคณบดีคณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

การแสดงความคิดเห็นทางการเมืองอย่างสันติเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ถ้าเขาไม่ได้ทำผิด ก็ปล่อยให้ทำไป อย่าให้เกินขอบเขตก็แค่นั้นเอง ไม่ควรมีเหตุการณ์อะไรให้มันเกิดความขัดแย้งกันต่อไป อะไรที่เป็นเรื่องธรรมดา ก็ทำให้เป็นเรื่องง่าย อย่าไปทำให้ยาก
ระบอบของประชาธิปไตยอยู่ตรงที่คนจำนวนมากสามารถเข้าร่วมได้ ตั้งแต่การแสดงความเห็น การเสนอทางออก ไปจนถึงการประท้วง เมื่อจำเป็น ถ้าเรื่องที่เสนอไม่ได้รับการตอบสนองหรือมีความไม่ชอบมาพากลจากภาครัฐ หรือผู้ใช้อำนาจ
เราดูข่าวทั่วโลกก็จะรู้ว่าคนที่ปกครอง คนที่มีอำนาจ จะรู้สึกว่าทำงานไม่ได้ เพราะถูกประท้วง ถูกคัดค้าน จึงมีความพยายามจำกัดควบคุมหรือหาทางเล่นงานฝ่ายประท้วง ซึ่งออกมาใช้พื้นที่สาธารณะแล้วกระทบกระทั่งต่อกฎเกณฑ์ต่างๆ มีการใช้ไมค์ ใช้เครื่องขยายเสียง สามารถใช้เป็นข้ออ้างในการจำกัดการใช้สิทธิเสรีภาพ รัฐบาลทุกแห่งก็ไม่อยากให้ใครออกมาคัดค้านการทำงานของตัวเองมากเกินไป หรือไม่ให้คัดค้านเลย เช่น รัฐบาลจีน ค้านไม่ได้เด็ดขาด
กรณีกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ที่ต้องไปเจรจากับตำรวจเรื่องการใช้เครื่องเสียง มองว่าเป็นมาตรการควบคุม เขาก็ต้องหากฎระเบียบ ข้อบังคับต่างๆ ที่จะควบคุมได้ มันก็แน่อยู่แล้วว่า คนใช้อำนาจต้องมองในส่วนที่เขาได้เปรียบ สมมุติว่าใช้สถานที่เกินเวลา 5 นาที ถามว่าขอไม่ได้หรือ แต่ถ้ามีกฎหมายอยู่เขาก็ต้องใช้ เพราะได้เปรียบ
ส่วนประเด็นที่ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. บอกว่าคนอยากเลือกตั้งสร้างความวุ่นวายนั้น เกิดจากวิธีคิด วิธีมองปัญหาที่ต่างกัน ผบ.ทบ. อยู่ฝ่ายรักษาความมั่นคง ชื่อตำแหน่งหน้าที่ ก็ชัดเจนอยู่แล้ว ต้องไม่มีการทำอะไรที่มาสร้างความวุ่นวาย เป็นวิธีคิดที่ฝ่ายความมั่นคง ฝ่ายระเบียบ กฎหมาย เขาต้องพูดอย่างนี้ ถ้าไปถามแม่ทัพในอเมริกา ก็คงมีคนพูดแบบนี้เหมือนกัน

Advertisement

ดร.นันทนา นันทวโรภาส
คณบดีวิทยาลัยสื่อสารการเมือง
มหาวิทยาลัยเกริก

คนกลุ่มนี้ชุมนุมกันอย่างสงบและพยายามนำเสนอความคิดเห็น ไม่ใช่สิ่งเลวร้าย เพราะเขาเรียกร้องในสิ่งที่รัฐบาลประกาศเองว่าจะมีการเลือกตั้ง เรียกร้องสิ่งที่รัฐบาลสัญญาไว้นั้นเมื่อไหร่จะเกิดขึ้นจริง
ข้อกล่าวหาเรื่องเสียงดังเกิน 115 เดซิเบล อาจจะฟังไม่ขึ้นว่าเป็นการกล่าวหาที่สมเหตุสมผล ถ้าเป็นม็อบที่มาเกะกะระราน เรียกร้องในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เรียกร้องในสิ่งที่ไม่ควรเรียกร้อง สังคมก็จะประณามเองว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควร แต่เขามาเรียกร้องในสิ่งที่รัฐบาลเป็นผู้สัญญาว่าจะให้และยังไม่เกิดขึ้น การชุมนุมก็สงบ เรียกร้องในสิ่งที่ควรจะเป็น พึงจะมี ก็ไม่ควรใช้ข้อกล่าวหาที่ไม่ค่อยสมเหตุสมผลกับเขา
ที่พยายามยึดเครื่องเสียง ทางตำรวจคงพยายามทำให้สมเหตุสมผลกับข้อหามากที่สุด จึงต้องพยายามเอาหลักฐานที่เกี่ยวกับเรื่องการใช้เสียงมายึดไว้ ถามว่าเกินกว่าเหตุหรือไม่ ในสายตาคนทั่วไป ก็เกินกว่าเหตุ เพราะข้อกล่าวหาไม่สมเหตุสมผล ทำให้คนทั่วไปรู้สึกว่าเป็นข้อกล่าวหาที่ตั้งขึ้นมาเพื่อกลั่นแกล้ง
สิทธิเสรีภาพของคนในระบอบประชาธิปไตย สามารถเรียกร้องในสิ่งที่ไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีงาม ไม่ขัดต่อกลไกประชาธิปไตย การที่ตำรวจพยายามตั้งข้อกล่าวหาในลักษณะนี้ เหมือนเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของคนกลุ่มนี้
ส่วนที่ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ.กล่าวถึงกลุ่มคนอยากเลือกตั้งว่าสร้างความวุ่นวายให้ประเทศ ก็เป็นทรรศนะของท่านที่มองว่าการที่คนออกมาเรียกร้องตามกลไกระบอบประชาธิปไตยนั้นเป็นความวุ่นวาย ซึ่งการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพได้รับการคุ้มครองตามระบอบประชาธิปไตย ฉะนั้นไม่ถือเป็นความวุ่นวาย
ประเทศที่เป็นประชาธิปไตย ประชาชนมีสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็นภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย การที่ออกมาเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งก็ไม่ได้อยู่นอกขอบเขตของกฎหมาย ไม่อาจจัดได้ว่าเป็นความวุ่นวาย การที่ ผบ.ทบ.ออกมาพูดเช่นนี้อาจเป็นเพราะว่าท่านเป็นทหาร จึงมองว่าบ้านเมืองควรจะสงบราบคาบ ไม่มีการแสดงความคิดเห็นใดๆ ซึ่งลักษณะเช่นนั้นไม่ใช่ประชาธิปไตย
การเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งเป็นสิ่งที่เป็นเหตุเป็นผลในระบอบประชาธิปไตยอยู่แล้ว จึงไม่น่าจะเป็นเหตุให้เกิดความขัดแย้ง และรัฐบาลก็เป็นผู้ประกาศว่าจะให้มีการเลือกตั้ง หากรัฐบาลและ กกต.ประกาศวันเลือกตั้งชัดเจน ปัญหาทุกอย่างจะยุติลง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image