รายงาน : แนวโน้ม การเมือง แนวโน้ม ‘อยาก’ เลือกตั้ง กว้างขวาง ซึมลึก

ไม่ว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ไม่ว่า พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ เมื่อมองภาพของ “คนอยากเลือกตั้ง” มักจะมองไปที่การชุมนุม

ไม่ว่าที่สกายวอล์ก อนุสาวรย์ชัยสมรภูมิ ไม่ว่าที่แยกราชประสงค์

จึงเห็นจำนวนไม่มากนัก ถึงกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ระบุว่า เป็นเรือนร้อย ถึงกับ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ถึงกับระบุว่า เป็นพวกก่อกวน

มิใช่ก่อกวนอย่างธรรมดา หากก่อกวนอย่างเป็น “อาชีพ”

Advertisement

แต่ทั้ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ อาจมองข้ามหรือมองไม่เห็นการรวมตัวกันของประชาชนบนหน้าเวทีปราศรัย

ไม่ว่าที่ตลาดบางแค ไม่ว่าที่ร้อยเอ็ด ไม่ว่าที่นครศรีธรรมราช

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเดินสาย “ปราศรัย” ของขุนพลนักพูดจากศรีสะเกษ อุบลราชธานี ยโสธร เรื่อยไปจนถึงหนองคาย บึงกาฬ อุดรธานี

Advertisement

แต่ละจุดมีคนมากกว่า 5,000 และบางแห่งมากกว่า 10,000

ถามว่าคนเรือนหมื่นไปรวมตัวกันรับฟังคำปราศรัยของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ของ นายอดิศร เพียงเกษ และรวมถึง นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เพราะอะไร

เพราะมีการกะเกณฑ์ บังคับ หรือว่าจ้าง

คำตอบ 1 เพราะว่าพวกเขามีความเชื่อมั่น ศรัทธา ต่อพรรคการเมืองที่จัดเวที เพราะว่าพวกเขานิยมชมชอบนักพูดฝีปากกล้า

คำตอบ 1 เพราะว่าพวกเขา “อยากเลือกตั้ง”

ที่ลงความเห็นว่า เพราะพวกเขา “อยากเลือกตั้ง” เนื่องจากสภาพการณ์เช่นนี้บังเกิดขึ้นในห้วงก่อนการเลือกตั้ง

และเนื้อหาที่พูดล้วนเป็นเรื่อง “การเมือง” ล้วนเป็นเรื่อง “การเลือกตั้ง”

หากสรุป “เนื้อหา” ไม่ว่าจะเป็นสภาพอันเกิดขึ้นที่สกายวอล์ก อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ไม่ว่าจะเป็นสภาพอันเกิดขึ้นที่กุมภวาปี ไม่ว่าสภาพอันเกิดที่ยโสธร ล้วนเป็นอย่างเดียวกัน

นั่นก็คือ สะท้อนความรู้สึกของ “คนอยากเลือกตั้ง”

ต้องยอมรับ นับแต่มีประกาศและบังคับใช้ “รัฐธรรมนูญ” เมื่อเดือนเมษายน 2560 และนับแต่มีการประกาศและบังคับใช้ “กฎหมายลูก” อันเกี่ยวกับการเลือกตั้งทั้ง 4 ฉบับเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2561

สังคมไทยก็เริ่มเข้าสู่ “มิติ” ของ “การเลือกตั้ง”

ปัจจัยอะไรที่บ่งบอกว่าจะทำให้มีการเลื่อน มีการยื้อ ถ่วง หน่วง ดึง “วันเลือกตั้ง” ให้ทอดยาวออกไปย่อมก่อความหงุดหงิด

เป็นความหงุดหงิดอันปะทุขึ้นที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ หรือแยกราชประสงค์

ขณะเดียวกัน เมื่อพรรคการเมืองเดินสายพร้อมกับขุนพลนักพูด นักปราศรัยฝีปากคม ก็ย่อมได้รับการเข้าร่วมจากชาวบ้านอย่างคับคั่งอบอุ่น

เกิดบรรยากาศ “อยากเลือกตั้ง” กันอย่างกว้างขวาง ซึมลึก

สัมผัสได้ว่า แม้กระทั่ง คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ก็ “อิน” กับบรรยากาศ ถึงกับโจนลงจากเวทีไปอยู่ในท่ามกลางการโอบกอดจากชาวบ้าน

ชาวบ้านที่ล้วนอยู่ในกลุ่ม “คนอยากเลือกตั้ง” ทั้งสิ้น

ไม่ว่าภาพอันปรากฏที่แยกราชประสงค์ หรือบนถนนราชดำเนิน หรือที่ร้อยเอ็ด ยโสธร ล้วนเป็นภาพที่สะท้อนเนื้อหาความรู้สึกร่วมกัน

นั่นคือ ความรู้สึก “อยาก” เลือกตั้ง

นั่นคือ ความรู้สึกที่ตั้งความหวังว่า ด้วย “การเลือกตั้ง” จะเป็นโอกาสนำพาสังคมไทยก้าวพ้นไปจากทศวรรษอันมืดมนตลอด 10 กว่าปีนับแต่รัฐประหาร 2549

จึงไม่ควรเมิน “ความรู้สึก” ของประชาชนต่ำกว่าความเป็นจริง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image