09.00 INDEX วงจร ซ้ำรอย หลังรัฐประหาร คือ เข้าสู่กระบวนการเลือกตั้ง

ไม่ว่าจะกำหนด ว่าเป็นภายในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ไม่ว่าจะกำหนดว่าเป็นภายในวันที่ 24 มีนาคม แต่ความเป็นจริงที่ทุกฝ่ายจะต้องยอมรับร่วมกัน คือ ล้วนเป็นวันเลือกตั้ง

ความเป็นจริงนี้ยากที่จะหลีกเลี่ยงได้ แม้จะยื้อ ถ่วง หน่วง รั้ง ดึง อย่างไรก็ตาม

แม้กระทั่งคนอย่าง นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ก็ต้องปฏิบัติการเดินสายคารวะแผ่นดินเพื่อเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งทั้งๆ ที่เคยนำมวลมหาประชาชน “ชัตดาวน์” การเลือกตังมาแล้ว

แม้กระทั่งพรรคประชาธิปัตย์ก็ต้องตระเตรียมเพื่อเข้าสู่การเลือกตั้งแม้จะเคย “บอยคอต” การเลือกตั้งมาแล้ว

Advertisement

นี่คือความเป็นจริงที่ “ประชาธิปไตย” เรียกร้อง

 

หากมอง ย้อนกลับไปยังทุกครั้งที่มีการทำรัฐประหาร โดยออกมากล่าวหาและโจมตีนักการเมือง พรรคการเมืองอย่างสาดเสียเทเสีย แต่ที่สุดแล้วก็ต้องเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้ง

Advertisement

มีเพียง 2 ครั้งของการทำรัฐประหารที่ว่างเว้นการเลือกตั้งยาวนาน

1 คือ หลังรัฐประหารเดือนตุลาคม 2501 กว่าจะได้รัฐธรรมนูญและยินยอมเปิดทางให้มีการเลือกตั้งก็ในเดือนกุมภาพันธ์อีก 10 กว่าปีต่อมา

และ 1 คือ หลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ที่กว่าจะยินยอมเปิดทางให้มีการเลือกตั้งก็ในเดือนมีนาคม 2562 อีก 5 ปีต่อมา

นอกนั้นอย่างหลังรัฐประหาร 2519 ก็เลือกตั้งในปี 2522

หลังรัฐประหาร 2534 ก็เลือกตั้งในปี 2535 หลังรัฐประหาร 2549 ก็เลือกตั้งปี 2550 อย่างมากที่สุดก็ 1-2 ปี

การพยายามรื้อ ถ่วง หน่วง รั้ง ดึง การเลือกตั้งจากเมื่อปี 2558 เรื่อยมาจนถึงปี 2561 จึงเป็นการดำรงอำนาจปกติ

เหมือนที่พยายามจะดำรงต่อไปอีกหลังเลือกตั้งปี 2562

 

การเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นในเดือนมีนาคม 2562 จึงเป็นการเลือกตั้งท่ามกลางการรอคอยเป็นพิเศษ

เพราะว่างเว้นมาตั้งแต่ปี 2554 รวมแล้วก็ร่วม 8 ปี

เวลาเกือบ 2 เดือนในการหาเสียงจึงเป็นการทดสอบความตื่นตัวของประชาชนและของระบอบประชาธิปไตยอย่างสำคัญ

นั่นก็คือ จะเอา “คสช.” หรือปฏิเสธ “คสช.”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image