ส่องสำนวน ‘375 เสียง’ กงล้อเลือกตั้งหลังรัฐประหาร

หมายเหตุ – ความเห็นจากนักวิชาการ ต่อกรณี นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ แกนนำพรรคเพื่อไทย (พท.) เรียกร้องให้ประชาชนออกไปเลือกตั้งและเลือกฟากฝ่ายประชาธิปไตย ต้องได้ ส.ส. 375 คนจาก 500 คน เป็นการช่วยระบบประชาธิปไตยให้ไปรอด เพื่ออนาคตลูกหลานและอนาคตของประชาธิปไตยในประเทศไทย


 

 

Advertisement

ผศ.ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

พรรคเพื่อไทยและเครือข่าย เมื่อดูตามตัวเลขคะแนนเสียงเดิม ดูแล้วว่าน่าจะได้อยู่ประมาณ 200 หรือ 220 ถ้าบวกลบคูณหารจากการที่มี ส.ส. ย้ายพรรคไปแล้วบ้าง ถามว่าจะถึง 375 หรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่าพรรคฝ่ายประชาธิปไตย มีพรรคไหนที่ประกาศตัวอย่างชัดเจนแล้วว่าจะจับมือกันอย่างแน่นอน เราก็ยังไม่เห็นความแน่นอนนั้น นอกจากพรรคของเพื่อไทยเองที่เห็นชัดๆ อย่างเพื่อชาติหรือไทยรักษาชาติ และอนาคตใหม่อีกพรรคหนึ่งที่มีแนวโน้มว่าจะได้ ส.ส. แต่เรายังไม่เห็นพรรคอย่างประชาธิปัตย์ ซึ่งก่อนหน้านี้ประกาศว่าจะไม่จับมือกับพรรคเพื่อไทย คำถามก็คือ ถ้าดูแค่ตัวเลขทางคณิตศาสตร์การเมืองเฉยๆ หากประชาธิปัตย์ได้ 100 เท่ากับว่าจะเหลือพื้นที่อื่นๆ

ก็อย่าลืมว่าประชาธิปัตย์เอง หรือพรรคพลังประชารัฐ 2 พรรครวมกันอย่างน้อยคิดว่าน่าจะได้เกิน 125 หากพูดถึงตัวเลขอย่างเดียว แต่ถ้าพูดอีกแนวหนึ่งคือในช่วงวันเลือกตั้งหากกระแสมาอยู่ในฝ่ายประชาธิปไตยอย่างเดียว อาจเกิดแลนด์สไลด์หรือชัยชนะอย่างถล่มทลาย ก็เป็นสิ่งที่เป็นไปได้

แต่นั่นเท่ากับว่า อย่างน้อยๆ พรรคอย่างพลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ ชาติไทยพัฒนา รวมกันจะไม่ถึงหรือเปล่า แต่ไม่แน่ว่าการจับขั้วอาจสลับก็ได้

ดังนั้น เมื่อถามว่าเป็นไปได้ไหม ก็เป็นไปได้ในแง่ตัวเลข ก็ต้องให้พรรคที่ไม่ประกาศตัวได้คะแนนน้อย แต่ในขณะเดียวกัน เราก็ยังไม่เห็นว่าการประกาศตัวจับขั้วกันเลยที่ชัดๆ และมันสามารถบอกได้เลยว่าจะมากกว่า 375 ก็บอกไม่ได้

เพราะฉะนั้นคำตอบถามว่าจะได้ไหม ก็ขึ้นอยู่กับว่าประชาชนจะต้องออกไปเลือกตั้ง และพรรคฝั่งรัฐบาลจะปลุกขึ้นหรือเปล่าแค่นั้นเอง

ถามว่าคนจะออกไปเลือกตั้งเพิ่มขึ้นหรือไม่ คิดว่า การที่คนจะออกไปเลือกตั้งคราวนี้ เราไม่ได้เลือกตั้งนานแล้ว ทุกคนอยากใช้สิทธิ แต่ในการเลือกอาจต่างชอยส์กัน อย่างน้อยวิดีโอหรือคลิปเชิญชวนในโซเชียลเน็ตเวิร์ก อาจทำให้เกิดการดึงคนทางฝ่ายที่เชียร์ประชาธิปไตยออกมาได้แน่นอน

เพียงแต่ว่าอีกฝ่ายหนึ่งก็อาจจะออกมาเหมือนกัน แต่ด้วยเหตุผลตรงกันข้าม ในขณะที่ฝ่ายคุณชัชชาติ บอกว่าให้ออกมาเพื่อจะได้เสียง 375 ให้ฝ่ายประชาธิปไตยชนะ อีกฝ่ายอาจมองอีกมุม คือออกมาเพื่อเลือกอีกฟากหนึ่งหรือเปล่า

 

รศ.ดร.ไชยันต์ รัชชกูล
คณะรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา

การที่คุณชัชชาติปลุกกระแสให้ช่วยกันเลือกฝ่ายประชาธิปไตย ก็มีความเป็นไปได้ทั้ง 2 ส่วน ว่าจะเป็นไปได้และเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากเป็นราคาคุยด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย

ต่างฝ่ายต่างก็คุยว่าจะได้จำนวนเท่าไหร่ ฝ่ายประชาธิปไตยก็คุย ซึ่งก็เชื่อไม่ได้ทั้ง 2 ฝ่าย เราจะเอาสาระจากการหาเสียงไม่ได้ จริงไม่จริงไม่รู้ เพราะที่ผ่านมาการเลือกตั้งหลายครั้งแต่ละพรรคมักจะพูดเหมือนกันหมดว่าจะต้องชนะ มีเสียงเท่านั้นเท่านี้ ไม่มีพรรคไหนที่พูดว่าจะได้น้อย ประชาชนต้องฟังหูไว้หู

ผมขอยกสำนวนเดิม เมื่อสมัยหลัง พล.อ.สุจินดา คราประยูร ประมาณ ปี 2535-2536 มีคำว่าพรรคเทพกับพรรคมาร ซึ่งสมัยนี้คือฝ่ายประชาธิปไตยกับเผด็จการ เป็นแนวคิดลักษณะเดียวกันแต่คนละสำนวน

ซึ่งมีคำถามตามมาว่า เป็นประชาธิปไตยจริงหรือไม่ เหมือนสมัยก่อนที่ว่าพรรคเทพ เป็นเทพจริงหรือปลอม ที่กล่าวเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่าไม่เห็นด้วยกับการเลือกฝ่ายประชาธิปไตย เห็นด้วย

เพียงแต่มีคำถามตามมา 2 คำถาม คือ 1.ประชาธิปไตยจริงหรือไม่ 2.ประชาธิปไตยพรรคไหน เพราะฝ่ายที่เรียกว่าเป็นประชาธิปไตยมีหลายพรรค ซึ่งในแต่ละเขตก็แข่งกัน ไม่เพียงแข่งกันเพื่อต่อต้านฝ่ายเผด็จการเท่านั้น

แต่ในฝั่งที่เรียกได้ว่าเป็นประชาธิปไตยก็แข่งกันเอง แม้กระทั่งพรรคเพื่อไทยกับไทยรักษาชาติ ก็ยังแบ่งกันลงพื้นที่ว่าถ้าพรรคหนึ่งลง อีกพรรคจะไม่ลง ทั้ง 2 เป็นพรรคพันธมิตร แต่ความจริงแล้วก็แข่งกันเอง รวมทั้งแข่งกับพรรคอื่นทั้งหมดด้วย ถ้าแข่งกันหมดเช่นนี้จึงเกิดคำถามว่าเมื่อพรรคทางฝ่ายประชาธิปไตยแข่งกันเองแล้วจะให้เลือกพรรคไหน

 

รศ.อัษฎางค์ ปาณิกบุตร
อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ ม.รามคำแหง

375 เสียง ยากที่จะมีความเป็นไปได้ เพราะหมายความว่าทุกพรรคการเมืองต้องเซ็นสัตยาบันกันว่าไม่เอาเผด็จการจึงจะรู้จำนวนพรรคที่อยู่ข้างประชาธิปไตยเพื่อให้ได้ 375 เสียง จึงจะสามารถปิดประตูการสืบทอดอำนาจ

พล.อ.ประยุทธ์ต้องการ 126 เสียง ขณะนี้รัฐบาลมีทุน 250 แต่ 250 ในสายตามผมมองว่าไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเพราะไทยมีระบบอุปถัมภ์ ไม่รู้ว่า 250 พล.อ.ประยุทธ์เลือกคนเดียว หรือว่าแม่ทัพอื่นของใครคุมกันได้หรือเปล่า ก็อาจขาดหายไปไม่ถึง 5 เปอร์เซ็นต์

ที่นายชัชชาติออกมาปลุกกระแส เพราะกลุ่มประชาธิปไตยที่โม้ว่าเอาประชาธิปไตยนั้นมีจริงหรือไม่ มีกลุ่มที่กั๊กอยู่แม้กระทั่งพรรคใหญ่ พอถึงเวลาแล้วหากมีคนมาเจรจาว่าเพื่อชาติบ้านเมืองคุณต้องมาอยู่ข้างผมจะเป็นอย่างไร

ผมเคยให้สัมภาษณ์เมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2561 ถึงพรรคอันดับ 2 อย่างประชาธิปัตย์ เมื่อย้อนดูก็พบว่าตรงกับที่เคยพูดไว้จริงๆ เพราะหากถึงเวลากรรมการบริหารพรรคอาจจะโหวตร่วมรัฐบาล คุณเป็นหัวหน้าพรรคก็ได้ แต่คุณบอกว่าผมไม่เอาหรอกเผด็จการ แต่ถ้ากรรมการบริหารพรรคโหวตเข้าร่วมแล้วคุณจะว่าอย่างไร

ตอนหลังนายอภิสิทธิ์มาบอกว่า ถ้าได้ต่ำกว่า 100 เสียงจะลาออก ก็เสียวนะ การที่คุณอภิสิทธิ์ให้สัมภาษณ์ว่า หากเอาทุกพรรคประกาศที่นั่งออกมารวมกัน ก็คิดว่าคงต้องสร้างรัฐสภากันใหม่อีกรอบ ความจริงแล้ว คุณอภิสิทธิ์เพียงแกล้งทำเป็นไม่เข้าใจประเด็นที่คุณชัชชาติยกขึ้นมากล่าว เพราะขณะนี้เราไม่รู้ว่าคนรุ่นใหม่ 7 ล้านคนมีความคิดอะไร อาจเฮไปข้างประชาธิปไตยทั้งหมดก็ได้ เพราะฉะนั้นการที่คุณชัชชาติปลุกเช่นนี้ถ้าคำนวณตอนนี้ผมไม่ได้เห็นด้วย

แต่ผมพูดมานานแล้วว่า 2 พรรคใหญ่จะได้ 300 และเคยบอกว่าถ้าประกาศวันเลือกตั้งเมื่อไหร่ หาเสียงให้ได้สักครึ่งหนึ่งแล้วผมจะคำนวณให้ดู ที่คุณชัชชาติกล้าพูดเพราะอยากเรียกร้องว่ากลุ่มประชาธิปไตยเป็นประชาธิปไตยจริงหรือไม่ พรรคที่จะเข้ามามีประมาณ 10 พรรค ที่จะได้มีที่นั่ง ประมาณ 8 พรรค ถ้ารัฐบาลได้ก็อยู่ไม่ได้เพราะไม่มี 275 ในสภาผู้แทนราษฎร ต้องแยกให้ดี วุฒิสภาเข้ามาเกี่ยวข้องในการบริหารราชการแผ่นดินไม่ได้ มาตรา 44 ก็ไม่มีแล้ว ถ้าใครก็ตามที่มาเป็นรัฐบาลมีเสียงต่ำกว่าครึ่ง คือ 250 ก็เจ๊งตั้งแต่ 2 เดือนแรก และถ้ามีเสียงไม่ถึง 275 ก็หมิ่นเหม่ เพราะมีการจ้างกันยกมือได้ สภาไทยไม่ใช่ธรรมดา เพราะคนเก่าเข้ามาเกินครึ่ง ส่วนรุ่นใหม่ก็อาจไม่ใหม่จริงเพราะนามสกุลเหมือนเดิม

ถ้าจะให้มั่นคงจริงๆ คุณชัชชาติต้องเรียกร้องให้โหวตให้ไม่ได้ไปเลย แล้วฝ่ายประชาธิปไตยร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ก็จะไม่ได้สืบทอดต่อ แต่จะต้องได้ 376 เสียง เพราะจำนวนเต็มคือ 700 ครึ่งหนึ่ง 350 จึงต้องได้ 376 แต่เดิมที่เลื่อนกันมาเพราะรัฐบาลหาไม่ได้ 126 เพื่อรวม ส.ว. 250 ซึ่งเป็นทุนอยู่แล้ว แต่เมื่อวิเคราะห์แล้วพบว่าพรรคพลังประชารัฐไม่น่าได้ถึงจำนวนที่ต้องการ ถ้าได้เกิน 150 ต้องมีการให้ประโยชน์กันแน่นอน เพราะผมให้ลูกศิษย์ที่อยู่ต่างจังหวัดเช็กและรวบรวมข้อมูลอยู่ว่า ที่มาหาเสียงมีการรับเงินกันมาหรือป่าว เวลาไปเปิดเวทีปราศรัยใครเป็นคนจัด

การที่นายชัชชาติออกมาพูดก็ส่งสัญญาณว่าขณะนี้เขาเชื่อว่าเพื่อไทยมาเป็นที่ 1 ถ้าคนมารวมข้างนี้ก็ได้จัดรัฐบาล เพราะโดยหลักการและมารยาททางการเมือง พรรคที่ได้ที่ 1 ต้องเป็นนายกฯ ถ้าเสียงรวมกันได้ 376 หรือมากกว่า ก็จะได้บริหาร 4 ปีรวดแล้วไปทะเลาะกันเอง

ความมั่นใจของเพื่อไทย ตามโพลตอนนี้ก็เป็นอันดับ 1 พรรคการเมืองใหญ่จะมีการทำโพลส่วนตัวไว้แล้ว พรรครัฐบาลก็ทำเช่นเดียวกัน การที่เลื่อนบ่อยเพราะขอเวลาเพื่อให้ พล.อ.ประยุทธ์ได้ไปประชุมสัญจรเยอะๆ ถ้ามองภาพให้ดีก็อาจเป็นการเอาเปรียบทางการเมือง การที่ปฏิเสธตลอดเวลาว่าไม่ เบื้องหลังก็อาจมีการพูดกันว่าต้องเป็นแบบนี้ๆ

ผมเช็กจากลูกศิษย์ตลอดเวลา กาฬสินธุ์ยกทีมแบบเก่า และอีกหลายจังหวัดทางเหนือ เช่น เชียงรายก็เหมือนเดิม อย่างมากถ้าคุณรัตนา จงสุทธานามณี จะมาแซงก็อ้วกเหมือนกันเพราะเป็นนายก อบจ.เก่าไปอยู่พรรคพลังประชารัฐ แต่ละเขตผมมีข้อมูลพิเศษ เช่น ลำปาง ถ้าแบ่งแล้วสมมุติว่าภูมิใจไทยไปลงอยู่บางเขตจะได้หรือไม่ ผมจะรู้ก่อนเลือกตั้ง 15 วัน เพราะแต่ละจังหวัดมีเจ้าของอยู่ จ.สุพรรณบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด ก็เป็นประชาธิปัตย์ ทางเหนือ เชียงราย ลงมาเชียงใหม่ลำปาง เพื่อไทยเหมา ส่วนอีสานไล่ไปแต่ละจังหวัดก็มีแบ่งได้ไม่กี่จังหวัด

ฝ่ายประชาธิปไตยมีสิทธิได้คะแนนมากกว่า แต่เขาไม่รวมเป็นหนึ่ง เป็นไปได้หรือไม่ที่ประชาธิปัตย์จะมาอยู่เพื่อไทยและให้เพื่อไทยเป็นนายกฯ ก็รวมกันไม่ได้เหมือนน้ำกับน้ำมัน ถ้าคุณอภิสิทธิ์ประกาศกับคุณสุดารัตน์ ว่าทั้ง 2 พรรคมาตั้งรัฐบาลกัน ใครได้ที่ 1 คนนั้นเป็นรัฐบาล รับประกันได้เลยว่าคนจะเหมาทางนี้หมด ก่อนการเลือกตั้ง 15 วัน หากมาจับมือกันว่าถ้าฝ่ายไหนชนะจะเป็นผู้จัดรัฐบาล ฝ่ายประชาธิปไตยเอาไหม การประกาศเช่นนี้จะมีกระแสคนรุ่นใหม่ทางโซเชียลมาช่วยเยอะ เพราะขณะนี้มีคนที่ยังไม่เคยลงคะแนนประมาณ 7 ล้านคน เสียงเหล่านี้สามารถเบี่ยงเบนได้ เพราะคนรุ่นใหม่อาจจะคิดว่าประชาธิปไตยสำคัญ เนื่องจาก 5 ปีมานี้ค่อนข้างลำบาก ขนาดมีอำนาจยังบริหารไม่เป็น ผมเสียดายรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์มาก ถ้าทำงานเป็นจะเป็นวีรบุรุษ แต่ทำงานไม่เป็น แก้ปัญหาไม่ได้แม้แต่ลอตเตอรี่ ภาษีทรัพย์สินที่ต้องหาให้ได้ 4 แสนล้าน ก็หาได้แค่ 1 หมื่นล้าน ทั่วโลกมีภาษีทรัพย์สินเพื่อค้ำจุนสวัสดิการคนจน ถ้าเก็บจริงๆ ตามวิธีของผมไม่หนี 4-5 แสนล้านจะเก็บให้ดู คือวิธีคิดของนักรัฐศาสตร์กับนักเศรษฐศาสตร์ไม่เหมือนกัน ผมคิดแบบนักรัฐศาสตร์

ประชาชนจะอยากเลือกตั้งหรือไม่อยู่ที่การบูมของโซเชียลมีเดียกับ กกต. แต่ กกต.ทำงานช้า แทนที่จะรณรงค์ให้คนไปเลือกตั้งตั้งแต่ 6 เดือนที่แล้ว ในรัฐธรรมนูญมาตรา 276 เขียนไว้แล้วว่าต้องกี่วัน กกต.ก็ควรเดินหน้าชักจูงให้คนไปเลือกตั้ง ทำอย่างเดียวไม่ต้องทำเรื่องอื่น ให้ไอเดียกระทรวงศึกษาธิการว่าให้ครูพูดกับเด็กอายุ 18 ว่าให้ไปบอกผู้ปกครองให้เลือกคนดี ที่ซื่อสัตย์ พิจารณาให้ดี อย่ารับสิน ที่สำคัญคือต้องออกไปเลือกตั้งให้ทำลายสถิติ เช่นได้ 85 เปอร์เซ็นต์ แต่ตลกที่ กกต.นั่งเฉยๆ ไม่รู้มีไว้ทำไม ผมเป็นกรรมการปฏิรูปการเมืองที่คิดเรื่อง กกต.ขึ้นมา ผิดหวังที่เห็นการทำงานที่คิดว่าจะดี ที่ผ่านมามี กกต.ที่รู้เรื่องอยู่คนเดียวคือ สมชัย ศรีสุทธิยากร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image