วิเคราะห์ : สู่สมรภูมิเลือกตั้ง เดิมพัน เสียของ และความชอบธรรม

วันที่ 23 มกราคม เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป วันเดียวกัน คณะกรรมการเลือกตั้งได้ประชุม โดย นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. แถลงผลการประชุมว่า ที่ประชุม กกต.เสียงข้างมากกำหนดให้วันอาทิตย์ที่ 24 มีนาคม เป็นวันเลือกตั้ง
วันที่ 28 มกราคม-19 กุมภาพันธ์ เป็นวันเปิดให้ผู้ที่ประสงค์จะใช้สิทธิล่วงหน้าในและนอกเขตเลือกตั้ง รวมถึงการใช้สิทธินอกราชอาณาจักรได้ลงทะเบียน โดยสามารถยื่นคำขอผ่านนายทะเบียนอำเภอ นายทะเบียน  ท้องถิ่น สถานเอกอัครราชทูต ผ่านช่องทางไปรษณีย์หรืออินเตอร์เน็ต
วันที่ 4-8 กุมภาพันธ์ เป็นวันรับสมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งและแบบบัญชีรายชื่อ พร้อมบัญชีผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี
ผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำเขต จะเป็นผู้ประกาศกำหนดภายใน 3 วัน ภายหลัง กกต.ประกาศวันเลือกตั้งในราชกิจจานุเบกษา หรือในวันที่ 24 มกราคม
ส่วนสถานที่รับสมัครแบบบัญชีรายชื่อให้ยื่นได้ที่สำนักงาน กกต.
วันที่ 4-16 มีนาคม จะเป็นวันออกเสียงเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร
วันที่ 17 มีนาคม เป็นวันออกเสียงเลือกตั้งล่วงหน้าในและนอกเขตจังหวัด
การประกาศให้มีการเลือกตั้งได้ตัดปัญหาก่อนหน้านี้เรื่องจะเลือกตั้งหรือไม่ และจะเลือกตั้งเมื่อไหร่ไป
แต่ก็ใช่ว่าปัญหาการจัดการการเลือกตั้งจะหมดไป
ทั้งนี้ เมื่อพระราชกฤษฎีกามีผล ทำให้การเลือกตั้งต้องดำเนินการต่อ เพื่อขับเคลื่อนไปสู่วันที่ 24 มีนาคม
และเมื่อกำหนดวันเลือกตั้งเป็นวันที่ 24 มีนาคม เท่ากับว่าการหาเสียงเลือกตั้งจะทำได้จนถึงแค่วันที่ 23 มีนาคม ซึ่งเหลือเวลาไม่มาก
เวลาหาเสียงเลือกตั้งเหลือเพียง

วันที่ 24 มกราคม นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ นำเปิดนโยบายพรรค
ชูแนวคิด “นโยบายสร้างชาติ เพิ่มพลังเศรษฐกิจ” แบ่งเป็น 3 พันธกิจ คือ สวัสดิการประชารัฐ 7 เรื่อง สังคมประชารัฐ 7 เรื่อง และเศรษฐกิจประชารัฐ 7 เรื่อง
พร้อมกันนั้นได้กำหนด 28 มกราคม จะพิจารณาว่าจะเลือกใครเป็นตัวแทนของพรรคเพื่อชิงแคนดิเดตนายกฯ
ทั้งนี้ได้ปรากฏชื่อ 3 ลำดับ คือ ลำดับแรก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลำดับที่สอง นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ และลำดับที่สาม นายอุตตม
การกระจายข่าวดังกล่าวเสมือนการประทับตราจอง พล.อ.ประยุทธ์เอาไว้ เพราะที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ยังสงวนท่าที การเปิดข่าวดังว่า เพื่อตอกย้ำความน่าเชื่อก่อนหน้านี้
ความเชื่อที่ว่า “พลังประชารัฐ” คือพรรคที่ พล.อ.ประยุทธ์เอาด้วย
ไม่เพียงแต่พรรคพลังประชารัฐเท่านั้นที่แย้มรายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคการเมืองอื่นๆ ก็ประกาศตัวแทนนายกฯ
พรรคประชาธิปัตย์นั้น เสนอชื่อ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อยู่แล้ว
เช่นเดียวกัน พรรคภูมิใจไทย ที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค ประกาศความพร้อมนั่งนายกรัฐมนตรี
พรรคเพื่อไทยมีกระแสข่าวว่า คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์การเลือกตั้งของพรรคคือ ผู้ที่จะก้าวไปเป็นแคนดิเดต ขณะเดียวกันก็มีกระแสเรื่อง นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์
สุดท้ายมีข่าวว่าพรรคเพื่อไทยเองก็จะเสนอผู้เข้าชิงนายกฯ 3 ชื่อ เหมือนกัน
แต่ละพรรคเริ่มเปิดไพ่ในมือ

อย่างไรก็ตาม หลังจาก พ.ร.ฎ.เลือกตั้งประกาศออกมา แทนที่การหาเสียงจะเริ่มต้นอย่างคึกคัก กลับกลายเป็นว่าแต่ละพรรคเกิดความสับสน
นายอภิสิทธิ์ระบุว่า พรรคอยากให้ กกต.เร่งกำหนดรายละเอียด เช่น ผู้สมัครบางคนคิดว่าเมื่อมี พ.ร.ฎ.แล้วก็ติดตั้งป้ายหาเสียงได้ แต่ กกต.ยังไม่กำหนดจุดที่จะติดป้าย หรือการหาเสียงทางอิเล็กทรอนิกส์ต้องแจ้งทาง กกต.ก่อน ซึ่งผู้สมัครบางส่วนได้แจ้งแล้ว กกต.รับแจ้ง แต่ผู้สมัครบางคนไปยื่น กกต.จังหวัดไม่รับแจ้ง อ้างว่ายังไม่เป็นผู้สมัคร
สื่อมวลชนจะทำงานในการจัดเวทีต่างๆ ซึ่งต้องการจะให้ผลประโยชน์ตกกับประชาชน แต่ถูกเตือนในทำนองว่า ถ้าไม่เชิญทุกพรรคการเมืองจะมีปัญหาเรื่องความเท่าเทียม
ในจังหวะเดียวกัน พรรคเพื่อไทยได้เปิดแถลงข่าว นายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรค อ่านแถลงการณ์
ขอการเลือกตั้ง “ที่เสรี เป็นธรรม และน่าเชื่อถือ”
ด้าน นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กแสดงความเห็นเกี่ยวกับ “กฎกติกาในการหาเสียง”
ความว่า การเลือกตั้งเป็นเรื่องปกติในสังคมประชาธิปไตย แม้จะได้วันเลือกตั้งที่ชัดเจนแล้ว แต่อุปสรรคต่อไปของการเลือกตั้ง คือกฎกติกาในการเลือกตั้งครั้งนี้
ระเบียบ กกต.เกี่ยวกับการหาเสียง มีเนื้อหาที่ absurd (ไร้เหตุผล) ย้อนแย้ง เป็นปัญหาในการปฏิบัติ และไม่สนับสนุนเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็น เป็นปัจจัยสำคัญในการทำให้การเลือกตั้งได้มาตรฐานสากล
นี่เป็นสาเหตุให้นักการเมืองและผู้ประสงค์ลงสมัคร ส.ส.กังวลใจ
นักการเมืองต้องออกมาโพสต์ผ่านเพจของตน ประกาศยุติการโพสต์ชั่วคราวจนกว่าจะแจ้งช่องทางการหาเสียงทางอิเล็กทรอนิกส์ต่อ กกต.เสียก่อน
นี่คือเรื่องย้อนแย้งอย่างยิ่ง
ดังนั้น ระเบียบ กกต.เกี่ยวกับการหาเสียง ที่จำกัดเสรีภาพในการแสดงออก ต้องเป็นข้อยกเว้น ทำเท่าที่จำเป็น และตอบได้ว่าจำกัดเสรีภาพไปเพื่ออะไร
ต้องไม่ทำให้ระเบียบ กกต.ว่าด้วยการหาเสียง กลายสภาพเป็นระเบียบ กกต.ว่าด้วยการจำกัดเสรีภาพในการหาเสียง

บัดนี้กฎกติกาที่ คสช.และแม่น้ำ 5 สายร่างขึ้นมากำลังสำแดงฤทธิ์
การยึดอำนาจของ คสช.เมื่อปี 2557 มีวัตถุประสงค์สำคัญคือ “ไม่ให้เสียของ”
และดูเหมือนตลอดเวลา 5 ปีที่รัฐบาลทหารบริหารประเทศก็ยังคงประคับประคองเป้าหมาย “ไม่เสียของ” นี้มาจนถึงปัจจุบัน
เพียงแต่ทุกเวลาที่ใช้ไปในห้วงเวลาดังกล่าว แม้ คสช.จะเป็นฝ่ายได้อำนาจ และบริหารอำนาจ หากแต่ก็ต้องสูญเสีย “ความชอบธรรม” ในสายตานานาชาติไปเรื่อยๆ
จนกระทั่งเวลาผ่านมาจนถึงขณะนี้ การยึดอำนาจโดยไม่มีการเลือกตั้ง กำลังถูกจับตามองอย่างแคลงใจ
ประชาชนในประเทศที่เคยได้ฟังคำมั่นสัญญาเรื่องการ “คืนความสุข” ก็เริ่มไม่แน่ใจ กระทั่งเกิดข่าวลือสะพัดเกี่ยวกับการเลื่อนเลือกตั้งอยู่ตลอดเวลา
จนเมื่อวันที่ 23 มกราคม เมื่อพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งประกาศ ทุกฝ่ายกลับมาเชื่อว่าจะมีการเลือกตั้ง
เพียงแต่เมื่อขยับเข้าสู่โหมดประชาธิปไตย กลับติดขัดที่กฎกติกาที่วางไว้อีก
นี่อาจเป็นโจทย์ปัญหาของประเทศไทยในอนาคตหลังการเลือกตั้ง
โจทย์ของการรักษาเป้าหมาย “ไม่เสียของ” แต่ก็ต้องสูญเสีย “ความชอบธรรม”
สมรภูมิเลือกตั้งครั้งนี้จึงมีเดิมพัน
ชนะ-แพ้
ไม่เสียของ-ความชอบธรรม

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image