รายงานหน้า2 : นักวิชาการส่องไฟ รันเวย์‘บิ๊กตู่’

หมายเหตุนักวิชาการแสดงความเห็นต่อกรณีที่นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและความยั่งยืน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ถอยออกมาเป็นคนกลาง ไม่มีชื่อในบัญชีว่าที่นายกฯของพรรคการเมืองใด

สดศรี สัตยธรรม
อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

เห็นด้วยกับความเห็นที่เสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ ถอยออกมาเป็นคนกลาง โดย พล.อ.ประยุทธ์ไม่จำเป็นต้องลาออก แต่จะอยู่ทำหน้าที่จนกว่าจะมีรัฐบาลชุดใหม่ อยู่จนเลือกตั้งเสร็จสิ้น มีการประชุมสภา มีการตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้วท่านก็ถอยมาเป็นคนกลาง
การถอยมาเป็นคนกลาง จะไม่ใช่คนกลางทั่วๆ ไป ไม่ใช่การลาออกหมดทุกตำแหน่งแล้วมาเป็นประชาชนคนหนึ่ง เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ร่างไว้ให้อำนาจ คสช.ยังอยู่ เป็นอำนาจที่ไม่ใช่การปกครองประเทศ แต่เป็นอำนาจพี่เลี้ยงให้กับรัฐบาล
ฉะนั้นคำว่าคนกลาง ในความหมายของดิฉัน คือ ท่านก็ไม่ต้องสมัครเป็นนายกฯ ถอยออกมาเป็นประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งมีบทบาทมากกว่านายกฯด้วยซ้ำไป เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้บทบาทประธานยุทธศาสตร์ชาติในการควบคุมดูแลการบริหารประเทศ ควบคุมนายกฯและ ครม.ทุกชุดให้อยู่ในกรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี หากได้คนกลางที่มีความเป็นกลางจริงๆ ปัญหาเรื่องการปฏิวัติก็จะไม่เกิด เพราะคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ประกอบด้วยทหารทุกเหล่าทัพ
แต่หาก พล.อ.ประยุทธ์ เลือกที่จะกลับมาเป็นนายกฯอีกครั้ง จะต้องเผชิญปัญหาในการประชุมสภา ที่อาจโดนตีรวนโดยเฉพาะอย่างยิ่งหาก พ.ร.บ.งบประมาณ หรือนโยบายไม่ผ่าน ครม.ก็ต้องจบไป ความกดดันย่อมมีมากกว่าเป็นคนกลาง ท่านก็แค่ให้รัฐบาลใหม่บริหารงานกันไปและท่านก็มาเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ดูแลงานประเทศ แม้จะมีอำนาจไม่เท่ารัฐบาล แต่จะมีบทบาทมากกว่า
การถอยมาเป็นประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติจะส่งผลดีต่อตัว พล.อ.ประยุทธ์ เป็นการลงหลังเสือที่สวยงามที่สุด ไม่เจ็บ และท่านยังมีอำนาจอยู่ ฉะนั้นเราไม่จำเป็นต้องมีรัฐบาลแห่งชาติ เพราะเรามีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติที่คอยดูแลการทำงานของรัฐบาลอยู่แล้ว และท่านก็สามารถดูแลงานของประเทศได้ต่อไป
รัฐธรรมนูญฉบับนี้ดีไซน์ไว้แล้วว่า คนกลาง คือ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ และเป็นทางออกทางเดียวในความเห็นของดิฉันว่าดีที่สุด ณ ขณะนี้ เพราะการวางมือเลยคงจะเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากคำว่าคนกลาง คือการวางมือจากสิ่งที่ทำอยู่ แต่เราต้องยอมรับว่าการที่คนเคยมีอำนาจแล้วจะวางมือก็เหมือนกับตนเองไม่ได้มีประโยชน์อะไร แต่การวางมือในลักษณะที่ตนเองยังมีบทบาทข้างหลังอยู่และทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติได้จริง น่าจะเป็นบทบาทที่ดีที่สุด แต่หาก พล.อ.ประยุทธ์ลงมาเป็นรัฐบาลเสียเอง แล้วใครจะมาเป็นประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์

สุขุม นวลสกุล
อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง

Advertisement

มาถึงวันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้า คสช.จะถอยกลับไปเป็นคนกลาง ไม่ลงเล่นรอบนี้คงไม่ได้แล้ว เพราะทุกวันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ เปรียบเสมือนขี่หลังเสืออยู่ หากจะลงก็ต้องจูงเสือให้ได้ การลงจากหลังเสือทันทีอาจถูกกัดด้วยการคิดบัญชีย้อนหลังในทางการเมืองได้
ที่ผ่านมา มีหลายเรื่องที่บอกว่า พล.อ.ประยุทธ์ ยังลงจากหลังเสือไม่ได้ อย่างกรณีรัฐบาล คสช.ยกเลิกสัมปทานเหมืองทองอัครา ก็จำเป็นต้องดูแลเอง เพราะจะต้องเป็นคดีในระดับโลกต่อไป และที่สำคัญถ้าไม่คิดว่าจะสืบทอดอำนาจกลับมาเป็นนายกฯอีก คงไม่ต้องมีกลไกต่างๆ ที่เปิดช่องนายกฯคนนอกไว้ในรัฐธรรมนูญก็ได้
เหตุที่เส้นทางการกลับมาเป็นนายกฯอีกสมัยของ พล.อ.ประยุทธ์ ยังไม่ชัดเจน อาจเพราะกำลังลังเลอยู่ก็ได้ว่าจะมาตามช่องทางไหนดี จะรอจนถึง “ก๊อกสอง” เป็น “แขกรับเชิญ” ตามเส้นทางคนนอกของบทเฉพาะกาลมาตรา 272 รัฐธรรมนูญ จะดีกว่าการมาอยู่ในบัญชีรายชื่อนายกฯของพรรคการเมืองหรือไม่
ผมเชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ คงไม่ยอมลาออกแน่นอน แต่การไม่ลาออกแล้วยังนำตัวเองมาอยู่ในบัญชีรายชื่อนายกฯของพรรคการเมืองอาจเจอปัญหาเช่นเดียวกับกรณี 4 รัฐมนตรี และจะถูกพรรคคู่แข่งนำมาโจมตีจนมีผลกระทบต่อคะแนนความนิยม พล.อ.ประยุทธ์
อีกทั้งยังเสียวที่จะพลาด เพราะพรรคพลังประชารัฐไม่ได้มีเสียงที่โดดเด่นแบบชนิดที่จะชนะการเลือกตั้งด้วยเสียงอันดับ 1 เพราะคนยังมองที่ 2 พรรคใหญ่คือพรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาธิปัตย์ อย่างดีที่สุด พรรคพลังประชารัฐอาจมาเป็นอันดับ 3 ดังนั้น หาก พล.อ.ประยุทธ์ จะมาอยู่ในบัญชีรายชื่อนายกฯ แต่หลังเลือกตั้งพรรคพลังประชารัฐได้เสียงมาเป็นพรรคอันดับ 3-4 จึงไม่สง่างามในการกลับมา
แน่นอน
ทั้งหมดนี้ จึงทำให้จนถึงขณะนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังชั่งน้ำหนักและตัดสินใจไม่ได้ว่าจะลงตั้งแต่ก๊อกแรก หรือจะรอเป็นแขกรับเชิญดี แต่จะไม่ลงสนามเลยมาวันนี้ ผมคิดว่าคงไม่ได้แล้ว

ยุทธพร อิสรชัย
สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

ณ วันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้า คสช. กลับไปเป็นคนกลางไม่ได้อยู่แล้ว ประการแรก มีรัฐมนตรี 4 คน ที่อยู่ในรัฐบาลชุดนี้เป็นแกนนำของพรรคการเมือง เพราะฉะนั้นภาพลักษณ์ของ คสช.หรือของรัฐบาลจึงเป็นไปได้ยากที่จะอยู่ในฐานะคนกลางได้
ช่วงแรกหลังการรัฐประหารปี 2557 จะเห็นได้ว่าภาพลักษณ์ของ คสช.เสมือนเข้ามาเพื่อยุติความขัดแย้ง ระหว่างกลุ่ม กปปส.และกลุ่ม นปช.ในเวลานั้น เมื่อเวลาผ่านไป การออกมาโต้ตอบของท่านนายกฯก็ดี การออกมาแสดงทรรศนะทางการเมือง หรือกรณี 4 รัฐมนตรีก็ดี สะท้อนให้เห็นว่าวันนี้รัฐบาลและ คสช.ไม่ได้อยู่ในฐานะของคนกลางเพื่อจะยุติปัญหาอะไรอีกต่อไป กลายเป็นว่า คสช.เป็นผู้เล่นทางการเมืองอีกกลุ่มหนึ่ง
ดังนั้นการจะถอยไปในวันนี้คงไม่เป็นประโยชน์อะไรมากนัก และไม่ได้ทำให้ภาพลักษณ์ตรงนี้ได้รับการแก้ไขมากขึ้น ในทางกลับกันถ้าวันที่ 8 กุมภาพันธ์ มีชื่อของ พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ในรายชื่อว่าที่นายกฯของพรรคพลังประชารัฐ ก็จะยิ่งชัดเจนและเป็นการตอกย้ำให้สังคมเห็น แต่โอกาสที่จะกลับไปเป็นคนกลางคงยากเพราะเลยเวลานั้นมาแล้ว
ถ้า พล.อ.ประยุทธ์จะจัดตั้งรัฐบาลอีกครั้งจำเป็นที่จะต้องมีพรรคใหญ่อย่างน้อย 1 พรรคมาร่วม เพื่อเสริมความเข้มแข็ง ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์คงเป็นไปได้ แต่สำหรับเพื่อไทยคงเป็นเรื่องที่ยาก
ที่อาจารย์ปริญญา เทวานฤมิตรกุล แสดงความคิดเห็น ไม่น่าจะมีผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรมากนัก แต่วันนี้สิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ควรจะต้องทำคือการแสดงบทบาทสถานะให้ชัดเจนในเรื่องอนาคตทางการเมืองว่าจะลงสมัครรับเลือกตั้ง หรือจะยุติบทบาททางการเมือง เพื่อนำไปสู่การกำหนดบทบาทสถานะ หน้าที่ ความรับผิดชอบต่อรัฐว่าควรจะเป็นอย่างไร เช่น หากชื่อท่านไปปรากฏอยู่ในบัญชีพรรคการเมือง แน่นอนว่าท่านสามารถเป็นนายกฯต่อไปได้โดยที่ไม่มีปัญหาอะไร แต่จะมีคำถามถึงสปิริตทางการเมืองของท่าน

Advertisement

วันวิชิต บุญโปร่ง
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

หลังการเลือกตั้งครั้งนี้มีโอกาสได้รัฐบาลผสมหลายพรรค เพราะทุกคะแนนมีความหมาย พรรคขนาดกลางและขนาดเล็กอาจได้เก้าอี้จากปาร์ตี้ลิสต์เพิ่มขึ้น ขณะที่จำกัดการเติบโตพรรคใหญ่ ดังนั้นไม่ว่าพรรคการเมืองทั้งประชาธิปัตย์หรือเพื่อไทยก็รู้ตัวเองว่าสิ่งที่ตัวเองสามารถดำรงอยู่ได้คือการต่อรอง การจับขั้วกับพรรคขนาดกลางหรือขนาดเล็กเพื่อป้องกันกรณีไม่ให้เกิดการคัด
นายกฯในก๊อกสอง
แต่เชื่อว่าถ้าในสภาผู้แทนราษฎรไม่สามารถหาผู้เหมาะสมในตำแหน่งนายกฯได้ เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ไม่ถูกเสนอชื่อเป็นแคนดิเดต 1 ใน 3 ของพรรคใดพรรคหนึ่ง เป็นไปได้สูงที่วุฒิสมาชิกจะเข้ามาจัดการตรงนี้
สิ่งที่อาจารย์ปริญญามองนั้นคือการเข้าใจภูมิทัศน์ทางการเมืองนับจากนี้ อย่าลืมว่าทุกฝ่ายต่อสู้อย่างแข็งขัน โดยไม่สามารถสร้างสัตยาบันการหาเสียงหรือจับขั้วกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งอย่างชัดเจน เพราะจะทำให้หาเสียงยาก ดังนั้น ต้องรอได้ตัวเลข ส.ส.ที่ชัดเจนก่อนจึงนำไปสู่กระบวนการต่อรอง หรือการพูดคุย
โอกาสที่ พล.อ.ประยุทธ์จะกลับเข้ามาเป็นนายกฯอีก มีทางเดียวคือหลังทราบตัวเลขกลมๆ อย่างไม่เป็นทางการ ก่อน กกต.จะประกาศรับรองรองผล คสช.ก็ดี โดยเฉพาะเลขาฯ คสช.จะมีบทบาทสำคัญในการเชิญพรรคการเมืองต่างๆ มาพูดคุย หารือความเป็นไปได้ว่าโอกาสที่รัฐบาลในอนาคตจะดำเนินการต่างๆ ไปด้วยความสงบเรียบร้อยจะเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน
นี่เป็นช่องทางการเจรจาที่ทำให้เห็นว่าฝ่าย คสช.เรียกพรรคการเมืองไปคุย โดยเฉพาะพรรคขนาดกลางหรือขนาดเล็ก ซึ่งมีโอากสเป็นไปได้สูงว่าจะรับข้อเสนอ คสช.ก็ต่อเมื่อพรรคการเมืองนั้นมีตัวเลือกที่เพียงพอและน่าสนใจที่ตัวเองจะไปจับขั้วรัฐบาลต่อไป
หาก พล.อ.ประยุทธ์ไม่ตัดสินใจร่วมพรรคพลังประชารัฐ โอกาสที่พรรคพลังประชารัฐจะไปต่อหรือหาเสียงได้นั้นยากลำบากมาก จะไม่ส่งผลดีกับพรรคเลย เนื่องจากพรรคนี้จัดตั้งขึ้นมาเพื่อสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ แม้จะไปรอช่วงให้วุฒิสมาชิกร่วมโหวตนายกฯ ความสง่างามของ พล.อ.ประยุทธ์จะถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก แม้จะบอกว่ามาจากกลไกของรัฐธรรมนูญก็ตาม ตรงนี้เป็นเรื่องความรู้สึก ความเหมาะสม ความสง่างาม
แน่นอนว่าการกลับไปเป็นคนกลางของ พล.อ.ประยุทธ์ย่อมเป็นทางลงที่สวยงาม เพราะตัวเองเป็นหัวหน้าคณะรัฐประหาร ถือว่าจบภารกิจเพื่อบ้านเมืองแล้ว อีกทั้งสามารถลบคำครหาว่าจะสืบทอดอำนาจออกไปได้ด้วย
ไพ่หลายใบที่ พล.อ.ประยุทธ์ถืออยู่จะตัดสินใจอย่างไร ตอนนี้ยังไม่มีใครรู้จนกว่าจะถึงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นวันสุดท้ายในการเสนอชื่อในบัญชีนายกฯ ขณะนี้ต้องเดาใจ พล.อ.ประยุทธ์ทั้งสิ้น ซึ่งอาจไม่ไปต่อก็ได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image