บทนำ : คำถามถึงดีไซเนอร์

หลังจากประกาศพระราชกฤษฎีกาให้มี การเลือกตั้ง คำถามที่เน้นหนักมากขึ้นก็คือ หากมีการเลือกตั้ง ประเทศไทยจะเดินไปทางไหนต่อ จะเป็นอนาคตที่สดใส หรือความยุ่งยากที่รอคอยอยู่ เมื่อมีคำถามและข้อสงสัย ก็เกิดความพยายามจะคาดการณ์เพื่อตอบคำถามนี้ โดยรวบรวมข้อมูลความเคลื่อนไหวจากอดีตสู่ปัจจุบัน และข้อกฎหมายต่างๆ ที่ทำหน้าที่ออกแบบการเมือง มาสรุปเป็นคำตอบ

หากติดตามความเห็นและการวิเคราะห์ ของนักวิชาการทั้งในมหาวิทยาลัยและนักวิชาการอิสระ จะพบว่า ล้วนแต่คาดการณ์ถึงปัญหาแม้กระทั่งวิกฤตที่จะตามมา จากสาเหตุหลักๆ คือ ทางกลุ่มอำนาจจะไม่ยอม “เสียของ” ให้พรรคการเมืองเข้ามามีบทบาทนำ อย่างน้อยที่สุดในห้วงเวลา 5 ปีที่บทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2560 บังคับใช้ และได้ทุ่มทุน สิ้นเปลืองงบประมาณมากมาย “ดีไซน์” กฎกติกาที่มุ่งให้เกิดการถ่ายเท ส.ส.ไปในพรรคต่างๆ ลดโอกาสของพรรคใหญ่ และเปิดโอกาสให้พรรคขนาดกลางได้มี ส.ส.บัญชีรายชื่อมากขึ้น รวมถึงออกแบบให้ ส.ว.250 คน มีอำนาจกำหนดตัวนายกฯในระยะ 5 ปีนี้ด้วย

ด้วยเหตุนี้ จึงเกิดพรรคการเมืองขึ้นมาถึง 104 พรรค เกิดสภาพการเลือกตั้งที่ไม่ให้อิสระ การหาเสียงที่มีข้อจำกัดหยุมหยิม มีการส่งเจ้าหน้าที่ไปติดตามพรรคการเมืองขั้วตรงข้ามรัฐบาล ภาพของการเลือกตั้งที่ประชาชนรอคอยมา 5 ปี ไม่ได้เป็นเหมือนการเลือกตั้งในอดีต และเริ่มมีกระแสข่าวเรื่องความไม่โปร่งใสแพร่กระจายออกไปในระดับนานาชาติ

ประเทศไทยจะออกจาก “วิกฤต” และ “กับดักอำนาจ” ที่ดำเนินมาจากปี 2549 อย่างไร ควรจะให้เป็นเรื่องของคนไทยทั้งประเทศ ผ่านการเลือกตั้งที่เสรีและโปร่งใส หากเชื่อกันจริงๆ ว่า นักการเมืองจะซื้อเสียงตีตั๋วสู่อำนาจอีก ก็ควรนำผู้สังเกตการณ์จากประเทศหรือองค์กรที่เป็นกลาง
มาสังเกตการณ์ อีกคำถามสำคัญคือ การ “ดีไซน์” การเมืองเพื่อเป้าหมายเฉพาะพรรคพวกตนเอง โดยอ้างคำว่า “ประเทศชาติ” โดยไม่คำนึงถึงความต้องการของประชาชน ไม่เคารพความเห็นประชาชน แน่ใจหรือว่าจะได้รับความร่วมมือจากประชาชน

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image