‘ชพน.’โชว์นโยบาย ‘9 หน้า 9 ไกล ไทยไร้ปัญหา’

หมายเหตุ – นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติพัฒนา (ชพน.) พร้อมแกนนำพรรค แถลงเปิดตัวนโยบายพรรค ภายใต้นโยบาย“9 หน้า 9 ไกล ไทยไร้ปัญหา” ที่โรงแรมรามาการ์เดนส์
เมื่อวันที่ 31 มกราคม

พรรคชาติพัฒนา (ชพน.) ได้จัดทำนโยบายในการพัฒนาประเทศให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในโลก และประเทศไทย ด้วยการใช้เทคโนโลยีในทุกมิติให้สอดคล้องกับยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 เช่น เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI-Artificial Intelligence) เทคโนโลยีหุ่นยนต์ และเทคโนโลยี Blockchain หรือระบบโครงข่ายในการเก็บบัญชีธุรกรรมออนไลน์ สอดคล้องกับด้านเศรษฐกิจ การเมือง การต่างประเทศ ของกลุ่มประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ ตลอดจนภูมิรัฐศาสตร์รอบตัวเราที่เปลี่ยนแปลงไปเพื่อเป็นการรักษาเสถียรภาพ ความยั่งยืนและการขยายตัวทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่าร้อยละ 4 และกระจายรายได้ และโอกาสการได้รับการพัฒนาของประชาชนในชนบทให้ทัดเทียมกัน เพื่อลดความเหลื่อมล้าและสร้างเศรษฐกิจรากหญ้าให้เข้มแข็ง เพื่อเป็นรากฐานอันมั่งคงของประเทศต่อไป

ชพน.จึงได้จัดทำแนวนโยบาย ‘9 หน้า 9 ไกล ไทยไร้ปัญหา’ ดังต่อไปนี้

Advertisement

ก้าวที่ 1 นโยบายการศึกษา
เพื่อให้สอดคล้องกับกระแสโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงไปในด้านเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว จึงต้องเปลี่ยนแปลงนโยบายและหลักสูตรในด้านการศึกษา อาทิ

– เด็กไทย 2 ภาษา
เพิ่มหลักสูตรการเรียนการสอนแบบ 2 ภาษา หรือ 3 ภาษา (Bi-lingual School และ Digital School) และจัดให้มีการเรียนการสอนโดยใช้ห้องเรียนระบบดิจิทัล เพื่อให้เยาวชนในทุกพื้นที่สามารถเข้าถึงการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ หรือภาษาอื่นๆ อาทิ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ฯลฯ โดยยังคงเรียนรู้ภาษาและวัฒนธรรมไทยให้ได้มากที่สุด เพื่อให้พร้อมทำงานในระดับสากล

– อุทยานการเรียนรู้และหลักสูตรออนไลน์ที่เรียนได้ด้วยตัวเอง
ทุกจังหวัดมีศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้โดยใช้ต้นแบบอุทยานการเรียนรู้ (TK-Park Thailand Knowledge Park) ที่เป็นทั้งห้องสมุดพื้นที่ในการเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง ด้วยหลักสูตรออนไลน์ และมีพื้นที่กิจกรรมเพื่อส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ เป็นแหล่งการเรียนรู้แห่งอนาคต พร้อมด้วยอุปกรณ์และสื่อการเรียนรู้ที่ทันสมัย มีการเชื่อมโยงเครือข่ายกระจายความรู้ และสร้างสรรค์สังคมแห่งการเรียนรู้

– ปรับโครงสร้างหนี้ครู
เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินของครูและบุคลากรทางการศึกษากว่า 7 แสนคน ซึ่งจะทำให้ครูมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยมีมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ ให้มีโครงสร้างการชำระหนี้ที่ยืดหยุ่น อัตราดอกเบี้ยต่ำ และผ่อนผัน ระยะเวลาในการชำระคืนได้ยาวขึ้น

ก้าวที่ 2 นโยบายเศรษฐกิจรากหญ้า

เนื่องจากขณะนี้ประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการในระดับรากหญ้า ประสบปัญหาความ เดือดร้อน และค่าใช้จ่าย ตลอดจนราคาพืชพลทางการเกษตร ดังนั้น จึงต้องเร่งรัดและผลักดันมาตรการ อาทิ

– จัดตั้งกองทุนสวัสดิการเพื่อเกษตรกร

จัดตั้งกองทุนสวัสดิการเพื่อเกษตรกร (Agriculture Welfare Fund หรือ AWF) เพื่อช่วยเหลือด้านการเงินเพื่อให้เกษตรกรนำไปใช้เป็นสวัสดิการในครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลาที่พืชผลผลิตมีราคาต่ำ โดยการช่วยเหลือจะคำนึงถึงประมาณการผลผลิตและราคาพืชผลตามราคาตลาดเพื่อเป็นทุนแก่เกษตรกร ก่อนเริ่มฤดูการผลิต โดยมีกองทุนเริ่มต้นในการดำเนินงาน 20,000 ล้านบาท

– เกษตรกรทันสมัย (Smart Farmer)
พัฒนาเกษตรกรไทยให้เป็นเกษตรกรที่ทันสมัย (Smart Farmer) สามารถใช้เทคโนโลยีช่วยลดต้นทุน การผลิต เพิ่มประสิทธิภาพและผลผลิต มีการจัดระบบชลประทานที่ทั่วถึง มีเครื่องจักรกลการเกษตรและปุ๋ย ในการทำเกษตรกรรม สามารถเข้าถึงความรู้และข้อมูลการเกษตร รวมถึงการใช้นวัตกรรมเพื่อเปลี่ยนสินค้า เกษตรให้กลายเป็นสินค้านวัตกรรมได้ และจัดโซนนิ่งในภาคเกษตรกรรม

– ปรับปรุงกลไกตลาดซื้อขายสินค้าล่วงหน้า
ยกระดับตลาดสินค้าที่มีความผันผวนในด้านราคา เช่น ตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า ให้มีประสิทธิภาพ ลดการแทรกแซงและสร้างเสถียรภาพของราคาสินค้า ประกันความเสี่ยงด้านราคาในกระบวนการซื้อขาย และพัฒนากลไกด้านการตลาดที่มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะเอื้ออำนวยประโยชน์แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ส่งเสริมให้ไทยเป็นตลาดซื้อขายผลิตผลการเกษตรล่วงหน้าของอาเซียน ช่วยบรรเทาความเสี่ยงด้านการยกเลิกสัญญา ซื้อขายสินค้าเกษตร ด้วยการประกันราคาซื้อขายไว้ล่วงหน้าโดยอิงราคาตามตลาดซื้อขายล่วงหน้า โดยต้องไม่ตั้งราคาสูงกว่าราคาตลาด และราคาที่รับประกันจะต้องเกิดผลประโยชน์สูงสุดกับทุกฝ่าย (Win-win) พร้อมทั้งสร้างความร่วมมือระหว่างตลาดทุนไทยและตลาดโลก โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศในอาเซียน เพื่อสร้างความแข็งแกร่ง ความช่วยเหลือ และการเชื่อมโยงกับตลาดทุนอื่นๆ และขยายการลงทุนไปยังต่างประเทศ รวมทั้งดึงดูดการลงทุนจากนักลงทุนต่างประเทศ

– จัดตั้งกองทุนกู้ยืมเพื่อการพัฒนาสมาร์ท เอสเอ็มอี(Smart SMEs)
จัดตั้งกองทุนกู้ยืมในวงเงินงบประมาณ 10,000 ล้านบาท สำหรับผู้ประกอบการขนาดกลางและ ขนาดย่อม (Smart SMEs Fund หรือ SSF) ซึ่งรวมถึงวิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนในการกู้ยืมโดยไม่คิดดอกเบี้ย เพื่อเป็นทุนพัฒนาผู้ประกอบการ ไทยให้เก่งและเชี่ยวชาญ (Smart SMEs) สามารถพัฒนาและปรับปรุงคุณภาพและแนวทางด้านการประกอบ ธุรกิจได้อย่างมั่นคง และมีประสิทธิภาพ โดยใช้เทคโนโลยีช่วยลดต้นทุนด้านการผลิต เพิ่มประสิทธิภาพผลผลิต และยกระดับสินค้าโดยใช้นวัตกรรม

ก้าวที่ 3 นโยบายสังคม
– ขยายอายุเกษียณราชการ
โดยขยายอายุในการเกษียณจากเดิม 63 ปี เป็น 65 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์สังคมผู้สูงอายุ ที่ปัจจุบันมีมากกว่า 12 ล้านคน ในขณะที่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทางการแพทย์ การจัดการด้านสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ทำให้อายุขัยเฉลี่ยของคนไทยสูงขึ้น มีสุขภาพที่ดีขึ้น และยังคงมีศักยภาพในการทำงาน ซึ่งจะทำให้คนในวัยทำงานของช่วงขยายอายุการเกษียณนี้มีเพิ่มขึ้นกว่า 1.2 ล้านคน เพียงพอต่อการพัฒนาประเทศ

– เพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ
เพิ่มจำนวนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจากเดิมที่มีลักษณะเป็นขั้นบันได เป็นอัตราคงที่ เป็นจำนวนเดือนละหนึ่งพันบาทสำหรับผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป

– ลดหย่อนภาษีเพื่อผู้สูงอายุ
ให้สิทธิในการรักษาพยาบาลของผู้สูงอายุหรือบิดามารดาของผู้มีเงินได้ มาลดหย่อนภาษีเงินได้ เป็นจำนวน
60,000 บาท และในกรณีที่ภาคเอกชนจ้างผู้สูงอายุทำงานให้สิทธิในการนำค่าจ้างและเงินเดือนที่จ่ายให้แก่ผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป มาลดหย่อนภาษีได้เป็นจำนวน 2 เท่า

– ยกระดับแรงงาน
ยกระดับคุณภาพชีวิตและปรับปรุงด้านสวัสดิการ ค่าจ้างแก่แรงงานในประเทศให้เหมาะสมกับสภาพทางเศรษฐกิจ จัดให้มีการฝึกอบรมและยกระดับความสามารถให้สอดคล้องกับภาคอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อให้แรงงานไทยมีศักยภาพและคุณภาพชีวิตที่สูงขึ้น

ก้าวที่ 4 นโยบายโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ

พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และการค้า เชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมโลจิสติกส์ภายในประเทศให้ครอบคลุมตั้งแต่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เชื่อมไปยังเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (SEZ) ทั้ง 10 แห่ง เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของรากฐานเศรษฐกิจ และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ รวมทั้งการส่งออกและการลงทุน พร้อมทั้งสร้างเครือข่าย คมนาคมและพัฒนาความร่วมมือด้านคมนาคมเชื่อมโยงในกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และประเทศอื่นๆ ทั้งในรูปแบบทวิภาคีและพหุภาคีให้เข้มแข็ง เช่น AEC 2025 และ เส้นทางสายไหม (One Belt One Road)

– มอเตอร์เวย์ทั่วประเทศ
ขยายเส้นทางมอเตอร์เวย์ให้เชื่อมโยงเป็นโครงข่ายทั้งประเทศตามแผนแม่บทการพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองระยะ 20 ปี รวมระยะทางกว่า 6,000 กิโลเมตร โดยเริ่มก่อสร้างเป็นระยะๆ จากกรุงเทพฯ ไปสู่ทุกภาคในแต่ละทิศทางทั้ง 4 ภาค

– เชื่อมโยง อีอีซี-อีสาน-อินโดจีน
โดยเร่งรัดโครงการรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ-โคราช ขยายต่อเพื่อเชื่อมโคราช หนองคายและกลุ่มประเทศอินโดจีน ให้เกิดขึ้นโดยเร็ว เพื่อเชื่อมโยงระหว่าง 2 ภูมิภาค พร้อมทั้งพัฒนาระบบคมนาคม และมอเตอร์เวย์เพื่อเชื่อมอีสานและโครงการ EEC เข้าด้วยกันทั้งทางบกและทางรางตามแนวเส้นทางหลวงแผ่นดิน สาย 304

ก้าวที่ 5 นโยบายอุตสาหกรรมพลังงานและสิ่งแวดล้อม
– ส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนให้เป็นพลังงานหลัก
ปรับแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (Thailand Power Development Plan: PDP) โดยให้ความสำคัญกับการใช้พลังงานทดแทน เช่น พลังงานความร้อนใต้พิภพ เชื้อเพลิงชีวภาพ พลังงานลม และพลังงานแสงอาทิตย์ แทนที่การใช้พลังงานจากฟอสซิล เช่น ถ่านหิน ปิโตรเลียม และก๊าซธรรมชาติในการผลิตกระแสไฟฟ้าใช้ในภาคอุตสาหกรรมและการขนส่งเพื่อลดการนำเข้าและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ลดต้นทุนทางเศรษฐกิจ เกิดความยั่งยืนในการพัฒนาประเทศ
พัฒนาระบบโครงข่าย SMART GRID หรือระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ ที่ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสารในการเก็บข้อมูลและทำการสั่งการควบคุมโครงข่ายไฟฟ้าเพื่อให้ประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าในประเทศไทย มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการไฟฟ้าและสามารถขายไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้ง บนหลังคาหรือ
โซลาร์รูฟท็อปกลับคืนได้ โดยจัดตั้งกองทุนแผงพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาบ้านเพื่อให้ประชาชนสามารถผลิตไฟฟ้าใช้ในครัวเรือนได้ในราคาถูกลง และใช้พลังงานสะอาด เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีทุนประเดิมในวงเงินงบประมาณ 5,000 ล้านบาท
– ปรับโครงสร้างการผลิตภาคอุตสาหกรรม
สร้างอุทยานพัฒนาเทคโนโลยีอุตสาหกรรม (Techno-Park) ใน 5 ภูมิภาคเพื่อเป็นศูนย์วิจัย สร้างอุตสาหกรรมต้นแบบ และพัฒนากำลังคนสำหรับอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อตอบสนองอุตสาหกรรมใหม่ ตลอดจนส่งเสริมและกำกับดูแลให้การผลิตในภาคอุตสาหกรรมหันมาใช้ระบบการผลิตขั้นสูงภายใต้หลักธรรมาภิบาล และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจ (GDP) การส่งออกและการลงทุน และเพื่อเป็นการส่งเสริมด้านเศรษฐกิจ
ก้าวที่ 6 นโยบายการท่องเที่ยว
พัฒนาการท่องเที่ยวให้เป็นวาระแห่งชาติและเป็นระบบเศรษฐกิจหลักของประทศ เพิ่มจำนวน นักท่องเที่ยวเป็น 65 ล้านคน ภายในระยะเวลา 5 ปี (เพิ่มขึ้นร้อยละ 12-15 ต่อปี) เพื่อให้อัตราส่วนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นในอัตราส่วนคนไทย 1 คน ต่อนักท่องเที่ยว 1 คน และเพิ่มรายได้ให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยว มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 25 ของรายได้ประชาชาติ (GDP) ด้วยมาตรการ อาทิ

– ส่งเสริมพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวที่สร้างขึ้น (Man-Made Destination)
พัฒนาและยกระดับแหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้น เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยส่งเสริมให้เกิดการสร้างสวนสนุกระดับโลก ด้วยมาตรการทางภาษี และสิทธิได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากภาครัฐ (BOI) เพื่อเป็นแหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยว และสร้างงานให้แก่ชุมชน และท้องถิ่น

-ผลักดันการท่องเที่ยวชายฝั่งทะเลภาคใต้ (Thailand Riviera)
โดยการพัฒนาการท่องเที่ยวในเขตฝั่งทะเลภาคใต้จากฝั่งอ่าวไทยสู่ฝั่งอันดามัน ตั้งแต่เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และระนอง สู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับโลกแห่งใหม่ด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและชักชวนภาคเอกชนให้มาลงทุนด้านการท่องเที่ยว

ก้าวที่ 7 นโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล
ปรับฐานการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศเข้าสู่การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัยเพื่อรักษาขีด ความสามารถในการแข่งขันของประเทศ จึงกำหนดนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล อาทิ

– ราชการอิเล็กทรอนิกส์
บริการของภาครัฐจะดำเนินการภายใต้ Application ของภาครัฐ บนระบบปฏิบัติของโทรศัพท์มือถือ และเครื่องมือสื่อสารอื่นๆ รวมทั้งผ่านระบบออนไลน์ทางอินเตอร์เน็ต เช่น การต่อทะเบียน การทำธุรกรรม การขออนุมัติ อนุญาตต่างๆ เป็นต้น เพื่อเพิ่มช่องทางการติดต่อสื่อสารระหว่างภาครัฐและประชาชน

– กองทุน Digital Start Up
เพื่อส่งเสริมธุรกิจด้านดิจิทัลและเพื่อให้ก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกในยุค 5G ภายใต้นโยบาย ไทยแลนด์ 4.0 ด้วยการจัดตั้งกองทุน Digital Start Up ซึ่งจะมีทุนประเดิมเริ่มต้นในวงเงินงบประมาณ 5,000 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมให้คนไทยโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่สามารถขอรับทุนสนับสนุนใช้ในการพัฒนาธุรกิจดิจิทัลเพื่อเป็นฐานธุรกิจใหม่ที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต

ก้าวที่ 8 นโยบาย
การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น
– จัดสรรงบประมาณร้อยละ 35 ของรายได้ให้กับท้องถิ่นภายใน 1 ปี
ปัจจุบันพบว่าการบริหารส่วนท้องถิ่นของประเทศยังไม่มีความเข้มแข็ง โดยขาดการบริหารจัดการที่ดี และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงขาดการเชื่อมโยงเครือข่ายข้อมูลความรู้ทั้งด้านตลาดและด้านการเงิน โดยนโยบายจะจัดสรรงบประมาณให้ท้องถิ่นให้ได้ร้อยละ 35 (ปัจจุบันร้อยละ 29) ตามที่กฎหมายกำหนดใน 4 ปีโดยงบประมาณรายได้ที่เพิ่มขึ้นให้กับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นจะสามารถนำมาพัฒนาชุมชน โดยเฉพาะในต่างจังหวัด

– เพิ่มเงินช่วยค่าครองชีพผู้นำท้องถิ่น
ช่วยเหลือกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน สารวัตรกำนัน อาสาสมัคร ซึ่งเป็นผู้ที่อำนวยความสะดวก อำนวยความยุติธรรม บรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนให้ได้เงินช่วยค่าครองชีพผู้นำท้องถิ่นในอัตราเดือนละสองพันบาท

ก้าวที่ 9 นโยบายกีฬา

ให้นโยบายกีฬาเป็นเครื่องมือในการสร้างคนในชาติให้มีสปิริตของนักกีฬา รู้จักแพ้ รู้จักชนะและรู้จักให้อภัย มีวินัย เสียสละ อดทน สามัคคี มีทีมเวิร์กเพื่อใช้กีฬาสร้างคน คนสร้างชาติ ใช้สปิริตของการกีฬา ในการทำงานทางการเมือง เพื่อให้เกิดความสามัคคี ปรองดอง ยุติความขัดแย้ง สร้างสรรค์มิตรภาพทางการเมืองเพื่อให้เกิดความร่วมมือในการพัฒนาประเทศ และใช้การกีฬาสร้างความสุขและความภาคภูมิใจให้คนในชาติ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image