เลือกตั้ง 24 มี.ค. เป้าหมาย พปชร. ชนะ พท. หรือไม่ก็ ปชป.

วันที่ 4-8 กุมภาพันธ์ เป็นวันเปิดรับสมัครเลือกตั้ง พรรคการเมืองที่มีสิทธิจะส่งสมาชิกไปยื่นความจำนงลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ทั่วประเทศ

ถือเป็นการเปิดศักราชการเลือกตั้ง ปี 2562 ซึ่งมีกำหนดวันเลือกตั้งคือวันที่ 24 มีนาคม

การเลือกตั้งครั้งนี้รัฐธรรมนูญกำหนดให้ใช้บัตรเลือกตั้งเพียงใบเดียว คะแนนการเลือกตั้งจะมีผลทำให้เกิดผล 3 ประการ

หนึ่ง ได้ ส.ส.เขต สอง ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ตามสัดส่วนที่ต้องผ่านการคำนวณ และสาม พรรคใดที่มีจำนวน ส.ส. ไม่น้อยกว่า 25 คน สามารถเสนอชื่อบุคคลเข้าชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ไม่เกิน 3 คน

Advertisement

ซึ่งขณะนี้บรรดาพรรคการเมืองใหญ่น้อยหลายพรรคต่างเปิดชื่อบุคคลที่ตัวเองสนับสนุน

พรรคพลังประชารัฐ หรือ พปชร. เปิดชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ และ นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีอุตสาหกรรม

พรรคเพื่อไทย หรือ พท. เปิดชื่อ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้ง นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ และ นายชัยเกษม นิติสิริ

Advertisement

พรรคประชาธิปัตย์ หรือ ปชป. เปิดชื่อ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค พรรคภูมิใจไทย หรือ ภท. เปิดชื่อ นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค

พรรคไทยรักษาชาติ หรือ ทษช. เปิดชื่อ ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช หัวหน้าพรรค และ นายจาตุรนต์ ฉายแสง

เช่นเดียวกับพรรคการเมืองอื่นๆ ที่เริ่มทยอยนำเสนอชื่อที่พรรคตัวเองเห็นสมควร

อย่างไรก็ตาม สำหรับ พปชร.นั้นจำเป็นต้องรอฟังท่าทีอย่างเป็นทางการของ พล.อ.ประยุทธ์ด้วย

ทั้งนี้ คาดว่าภายในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ทุกอย่างคงจะชัดเจนขึ้น

ทั้งคำถามที่ว่า พล.อ.ประยุทธ์จะตอบรับหรือไม่

และคำถามที่สงสัย พล.อ.ประยุทธ์จะลาออกจากนายกฯหรือเปล่า

การตอบรับของ พล.อ.ประยุทธ์เป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งในการเลือกตั้งที่จะถึงนี้

ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ไม่ยอมตอบรับ ภาระหนักจะไปตกอยู่ที่พรรคพลังประชารัฐ ซึ่งออกแบบมาเพื่อสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์

แต่ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ตอบรับ จะเกิดเสียงจากฝ่ายการเมืองที่เรียกร้องให้ลาออกจากตำแหน่งปัจจุบัน

และกลายเป็นคำถามว่า จะเกิดอะไรขึ้นกับ พปชร. และรัฐบาลชุดที่ผ่านการเลือกตั้ง

ทั้งนี้ นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุบนเวทีเสวนา “เลือกตั้ง 62 จุดเปลี่ยนประเทศไทย” ซึ่งจัดขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

อาจารย์ปริญญาระบุว่า การเมืองครั้งนี้จะเกิดเป็น 3 ก๊ก ก๊กแรก พปชร.กับ ส.ว. 250 เสียง ก๊กที่สอง พรรคเพื่อไทยและเครือข่าย ก๊กที่สาม พรรคประชาธิปัตย์

จากสมมุติฐานดังกล่าว คาดว่า หาก พปชร.ได้รับ ส.ส.เกินกว่า 250 เสียง หรือสามารถรวบรวมเสียงได้เกิน 250 เสียงในสภาผู้แทนราษฎร

พล.อ.ประยุทธ์ย่อมเป็นนายกฯ และบริหารประเทศไปได้

แต่ถ้าพรรคพลังประชารัฐมี ส.ส.ไม่ถึงครึ่ง คำถามเรื่องการบริหารประเทศจะกลายเป็นประเด็นใหญ่ต่อไป

ถ้าพรรคเพื่อไทยและเครือข่ายได้ ส.ส.เกิน 250 เสียง โอกาสที่ พล.อ.ประยุทธ์จะได้เป็นนายกฯย่อมมีอยู่ เพราะ ส.ว. 250 เสียงเป็น “ต้นทุน” ที่สำคัญ เมื่อไปรวมกับ พปชร. และพรรคที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ น่าจะได้เกิน 125 เสียง ทำให้เสียงโหวตนายกฯ เกินกว่า 376 เสียง

แต่ พล.อ.ประยุทธ์จะบริหารประเทศได้อย่างไร เพราะเสียงในสภาน้อยกว่าครึ่ง

และถ้าพรรคประชาธิปัตย์ได้ ส.ส.มากกว่า พปชร. แต่เมื่อรวมกันทั้ง 2 พรรคจะมี ส.ส.เกิน 250 คน คำถามจะย้อนไปถามประชาธิปัตย์ในทันที

พรรคประชาธิปัตย์จะให้ใครเป็นนายกฯ

นายอภิสิทธิ์ หรือ พล.อ.ประยุทธ์

ณ วันนี้หากพรรคพลังประชารัฐต้องการบริหารประเทศต่อไปหลังการเลือกตั้ง พปชร.ต้องทำให้ประชาชนเลือก ส.ส.ของตัวเองเกิน 250 เสียง

ถ้า พปชร.มองว่ายังไม่สามารถทำได้ คือ ไม่สามารถได้ ส.ส.มากกว่าพรรคเพื่อไทยได้

อย่างน้อย พปชร.ต้องมี ส.ส.มากกว่าพรรคประชาธิปัตย์

อันดับการได้จำนวน ส.ส.ของ พปชร. จึงต้องยืนหยัดอยู่ในอันดับที่ 1 หรือไม่ก็ไม่เกินอันดับที่ 2

และแม้ คสช.จะพยายามทุกอย่างเพื่อไม่ให้ “เสียของ” โดยคาดว่าหลังการเลือกตั้ง นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลจะเป็นกลไกที่ยังอยู่ในการควบคุมตามทิศทางของ คสช.อยู่

แต่การเลือกตั้งที่จะถึงในวันที่ 24 มีนาคมนี้ มีปัจจัยที่เป็นตัวแปรสำคัญคือ ประชาชน

ผลการเลือกตั้งจึงเป็นเรื่องที่ไม่ว่าฝ่ายใดก็คาดการณ์ไม่ได้

บางทีผลการเลือกตั้งอาจจะออกมาว่า พรรคพลังประชารัฐ ได้รับการสนับสนุนอย่างท่วมท้น เหมือนกับตอนที่ประชามติร่างรัฐธรรมนูญ

หรือบางทีผลการเลือกตั้งอาจจะออกมาว่า พรรคเพื่อไทยและเครือข่ายได้รับการสนับสนุนอย่างถล่มทลายตามที่ ทักษิณ ชินวัตร เคยทำนายไว้

หรือบางทีพรรคประชาธิปัตย์อาจจะได้คะแนนนิยมสูงในทุกภาค จนกลายเป็นพรรคที่มี ส.ส.มากที่สุด

ทุกอย่างขึ้นอยู่กับประชาชนที่ไปลงคะแนนเสียง

สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากกว่าผลการเลือกตั้งที่ประชาชนไปใช้สิทธิลงคะแนน ก็คือ การไม่ยอมรับผลการลงคะแนนจากประชาชน

การธำรงเป้าหมาย “ไม่เสียของ” ของ คสช. หากทุกอย่างเป็นไปตามที่ คสช.คาดการณ์ก็ไม่มีอะไรน่าวิตก

แต่ถ้ามีการกระทำที่ไม่เป็นไปตามครรลองเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย “ไม่เสียของ”

เรื่องเช่นนี้หากเกิดขึ้น ย่อมน่าเป็นห่วง

ห่วงว่าที่สุดแล้วเรื่องราวจะไปยุติกันตรงไหน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image