วิพากษ์ท่าที‘บิ๊กตู่’ ไฉนหลุด‘มึงมาไล่ดูซิ’

หมายเหตุความเห็นของนักวิชาการถึงท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ออกมาหลุดคำหยาบว่า “มึงมาไล่ดูซิ” ระหว่างการให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน และบทบาทในฐานะนายกรัฐมนตรีกับพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ส่งเทียบเชิญเสนอชื่อเข้าชิงเก้าอี้นายกรัฐมนตรีในนามพรรค

สุขุม นวลสกุล
อดีตอธิการบดี ม.รามคำแหง

เป็นเพียงอารมณ์หลุด หงุดหงิดเท่านั้น โอเคว่าเขาทำถูก ไม่ได้ทำอะไรผิด ทำไมจะต้องถูกรุมขนาดนั้น ทั้งนี้ เป็นเรื่องของภาวะผู้นำมากกว่า คนเป็นผู้นำไม่ควรหลุดในที่สาธารณะ ส่วนจะมาจากความกดดันในฐานะได้รับการเทียบเชิญเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐหรือไม่ ความกดดันก็คือกดดัน แต่ท่านเลือกจะใช้วิธีนี้ เมื่อโดนโจมตีท่านก็ทนไม่ค่อยได้ เพราะความเชื่อว่าตนเองไม่ได้ทำอะไรผิด

Advertisement

แม้ภายหลังจะมีการขอโทษ แต่ไม่ใช่ว่าท่านเพิ่งจะหลุดครั้งนี้ ท่านหลุดมาหลายหนแล้ว ดังนั้น สิ่งหนึ่งที่เป็นจุดอ่อนของท่าน คือ เวลาโมโหมากมักควบคุมตัวเองไม่อยู่ และต่อจากนี้คงหลุดอีกแน่ๆ เพราะท่านหลุดมาหลายหนแล้ว ไม่ใช่ครั้งนี้ครั้งเดียว สิ่งนี้เป็นนิสัยท่าน เพราะเป็นคนอารมณ์จุดติดง่าย

กรณีนักศึกษา ประชาชนรวมตัวทำกิจกรรมที่ทำเนียบรัฐบาล อ่านจดหมายเชิญ พล.อ.ประยุทธ์ลาออกจากตำแหน่ง อย่าพูดว่าท้าทายเลย เป็นการแสดงออกดีกว่า เพราะมีการพูดหรือปราศรัยในหลายที่ว่าท่านเอาเปรียบเขา วันนี้ท่านเป็นคู่แข่ง นี่เป็นจุดอ่อนจุดหนึ่งในท่าทีของท่านต่อการเป็นคู่แข่ง คนอื่นเขาเอาไปใช้ได้ ส่วนคนจะเห็นด้วยหรือไม่นั้น เมื่อกระแสมากๆ เข้า คนที่ไม่เห็นด้วยอาจเปลี่ยนมาเห็นด้วยก็ได้

อย่างไรก็ตาม การแสดงออกแบบนี้สามารถทำได้ และไม่จำเป็นต้องไปพูดที่ทำเนียบด้วยซ้ำ จะแสดงกลางสนาม ริมถนน หรือตรงไหนก็ได้ หากตั้งใจจะสื่อสาร

Advertisement

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ
อดีตคณบดีคณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

คิดว่า พล.อ.ประยุทธ์ถูกต้อนเข้ามุม จะพูดให้ได้คะแนน ให้คนเห็นใจยาก ฝ่ายรุกก็ไปเอาวิธีปฏิบัติในแบบต่างๆ มา พล.อ.ประยุทธ์จึงออกมาโต้ว่ากฎหมายไม่ได้เขียนไว้ เห็นแล้วน่าหดหู่ ไม่มีทางออก ส่วนหนึ่งคงเพราะอยู่ในภาวะกดดัน เพราะตอนนี้เป็นจุดสุดยอด เป็นไคลแมกซ์แล้ว ถึงวันที่พรรคพลังประชารัฐออกมาวางหมุด ทำพิธียื่นเทียบเชิญ แบบนี้ในอดีตไม่เคยมีมาก่อน การต่อรองทางการเมือง เป็นเรื่องเฉพาะของพรรค จะไปเจรจาในร้านกาแฟหรือเซฟเฮาส์ต่างๆ ก็ได้ แต่วันนี้มาถ่ายรูปหน้าทำเนียบ ดูศักดิ์สิทธิ์ ก็แปลกดีเหมือนกัน เป็นประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง เป็นการเริ่มต้นจารีตใหม่ ถ้าครั้งนี้เป็นที่ยอมรับได้ ต่อไปก็ต้องทำอย่างนี้การยึดอำนาจต่อไปก็เป็นรัฐบาลเต็มตัว ไม่รักษาการ อยู่ไปจนกว่าจะมีเลือกตั้ง พอเลือกแล้วก็ต้องเอารัฐบาลนี้เข้าไปอยู่ต่อ เป็นวัฒนธรรมใหม่ในการเมืองยุค 4.0 สำหรับการออกมาขอโทษ แล้วบอกว่าคนไม่ดีทำอารมณ์ขึ้นนั้น อ่านข่าวแล้วตลก เราไปซีเรียสกับเรื่องแบบนี้ไม่ได้ คนดูก็คงดูแบบตลกโปกฮา น่าสงสาร

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์นี้คงไม่มีผลกับคะแนนเสียง เพราะเข้าใจว่าคะแนนถูกกำหนดไว้แล้ว คือคนที่จะเลือกหรือไม่เลือก เขารู้แล้ว สิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์พูดคงไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไร ระหว่างนี้คนชอบก็จะเฉยๆ คือ รับได้คนไม่ชอบก็ยิ่งไม่ชอบเข้าไปใหญ่ รู้สึกว่าถูกท้าทาย แต่คนที่กลางๆ เหตุการณ์นี้จะช่วยดึงคนได้อย่างไร ส่วนตัวแล้วจนปัญญาที่จะคิดได้ เขาก็ต้องไปประเมิน เชื่อว่าพรรคฝ่ายรัฐบาลต้องประเมินออกมาว่าคะแนนเสียงยังดี คนรับได้ ก็สู้กันไป แล้วไปวัดกันอีกทีวันเลือกตั้ง รู้ดำรู้แดงกันสักทีว่าจะออกมาอย่างไร

ส่วนเรื่องบอกว่าจะไม่ลาออก โดยอ้างรัฐธรรมนูญนั้น ถ้าเปรียบเทียบกับรัฐบาลประเทศประชาธิปไตย อย่างในยุโรปและอเมริกาจริงๆ แล้วใช้จารีตประเพณีเยอะพอสมควร นอกจากบางเรื่องที่เป็นหลักๆ จึงค่อยใช้กฎหมาย แต่ถ้าเป็นสามัญสำนึกไม่ต้องใช้กฎหมาย เช่น ถ้า ส.ส.เสียชีวิต ไม่ต้องเสียเงินจัดการเลือกตั้งใหม่ แต่ให้คนที่ได้รับคะแนนอันดับ 2 ขึ้นมาเป็น

ถ้าเป็นประเทศคอมมิวนิสต์อย่างเกาหลีเหนือ เผด็จการสุดสุด คิดว่าจารีตประเพณีทางการเมืองไม่มีความหมาย เพราะอำนาจสูงสุดแล้ว คนคิดต่าง พูดต่างไม่ได้ ต้องเป็นสังคมการเมืองที่เป็นเสรีนิยมที่คนใช้เหตุผล ความเหมาะสมต่างๆ เข้ามาประกอบ

โอฬาร ถิ่นบางเตียว
คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ม.บูรพา

คิดว่าการพูดจาไม่สุภาพของ พล.อ.ประยุทธ์ ท่านพูดมาลักษณะนี้ตลอด และมีการขอโทษทุกครั้ง ส่วนหนึ่งอาจมาจากบุคลิกภาพส่วนตัวในการสื่อสารที่มีปัญหา แต่การสื่อสารแบบนี้คิดว่ามีเรื่องอื่นที่สำคัญมากกว่าไปกดดันทำให้ท่านเกิดความเครียด ประเด็นแรกคือการกดดันให้ท่านลาออก ไปจี้ความรู้สึกให้ท่านแสดงบุคลิกทางการเมืองในเชิงลบ สองคือ ปัญหาที่ท่านกังวลใจมาก หลังจากพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ทาบทามท่านไปเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีอันดับ 1 แต่กระแสของสาธารณะและสังคมส่วนใหญ่ประเมินแล้วว่าโอกาสที่พรรคพลังประชารัฐชนะการเลือกตั้งเป็นอันดับ 1 นั้นยากมาก นี่อาจเป็นประเด็นหลักต่อเนื่องที่มากดดันให้ท่านลาออก ทำให้ท่านต้องแสดงบุคลิกทางการเมืองออกมา นั่นคือกลัวว่าจะไม่ชนะการเลือกตั้ง หรือกลัวว่าพรรคตรงข้าม พรรคฝ่ายเพื่อไทย พรรคไทยรักษาชาติ จะชนะการเลือกตั้ง ได้คะแนนอันดับ 1 ที่จะเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล

หากเป็นอย่างนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างที่ พปชร. คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรัฐบาลทำมา 5 ปีล้มหมดเลย เขาไปต่อไม่ได้ เพราะคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ปักหมุดวันเลือกตั้ง 24 มีนาคมแล้ว รวมทั้งสถานการณ์พรรคไม่ค่อยดี และปัญหาอื่นๆ ตามมา ทุกอย่างรุมล้อมทั้งหมด คิดว่านี่คือความกังวลใจของท่านมากที่สุด ยิ่งมีกระแสกดดันให้ท่านลาออกเข้าไปอีก ยิ่งทำให้ท่านแสดงคำพูดออกมาในเชิงลบมากขึ้น

จริงๆ แล้วคนรับรู้กันทั้งสังคมว่า พรรคพลังประชารัฐกับท่านนายกฯมีความสัมพันธ์กันแบบใกล้ชิด และ พปชร.เป็นเพียงแค่หมากเกมทางการเมืองที่ คสช.ต้องการความชอบธรรมจากการเลือกตั้ง ยังไงก็คิดว่านายกฯต้องตอบรับการเป็นแคนดิเดตอันดับ 1 ดังเช่นเหตุการณ์ 4 แกนนำพรรคพลังประชารัฐ นำโดยนายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค เข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ เพื่อเชิญเป็นหนึ่งในบัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรีของพรรคในการเลือกตั้งทั่วไป เสมือนละครที่คนทั้งประเทศรู้แล้วว่าจะมีเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น หากพูดภาษาชาวบ้านคือ จริงๆ แล้วคู่นี้อยู่กินกันมานานแล้ว แต่เพิ่งมาทำการสู่ขอแต่งงานกันเมื่อวาน แต่คนรู้กันทั้งหมดแล้ว แม้ว่าในหลักการท่านนายกฯมีสิทธิตัดสินใจที่จะลงหรือไม่ลงก็ตาม แต่มาถึงขนาดนี้คิดว่าท่านคงรับเป็นแคนดิเดตแน่นอน

ส่วนการกดดันให้ท่านนายกฯลาออกนั้นความจริงแล้วเป็นประเด็นการเมืองทุกๆ รัฐบาล ถ้าย้อนไปดูประวัติศาสตร์การเมือง โดยเฉพาะการเมืองไทยก่อนหน้านี้ก็ไม่มีใครลาออก แม้ว่าจะมีกลุ่มต่างๆ ที่เรียกร้อง กดดันให้ลาออก ก็ไม่มีใครลาออก นี่เป็นเกมการเมืองปกติ เราไม่ต้องอ้างเรื่องจริยธรรม คุณธรรมทางการเมืองกันแล้ว เพราะตอนนี้เราให้เกมทางการเมืองต่อสู้กันคนที่อยู่ฝั่งตรงข้ามก็กดดันให้คนที่อยู่ในอำนาจลาออก คนที่อยู่ในอำนาจก็เผื่อใจว่าถ้ายังอยู่ตรงนี้ จะมีโอกาสช่วงชิงความได้เปรียบทางการเมือง แต่ไม่ใช่ตัวชี้ขาดว่าจะชนะการเลือกตั้ง ดูอย่างอดีตนายกฯอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ตอนที่เขาเป็นรักษาการอยู่ก็ไม่ได้ชนะ แต่มีความอุ่นใจทางการเมืองว่าอย่างน้อยตนเองก็ยังคุมความได้เปรียบอยู่

ประเด็นของนายกฯที่น่ากังวลใจคือ หากท่านรับเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐ ปัญหาคือ การวางสถานะอย่างไรที่จะไม่ให้คาบเกี่ยวกับความเป็นนักการเมืองและความเป็นนายกรัฐมนตรี เพราะตอนนี้ท่านไม่ใช่รักษาการ แต่ยังอยู่ในอำนาจนายกฯเต็มที่ คิดว่าเป็นเรื่องลำบากมากว่าท่านจะวางตัวอย่างไร เพราะด้านหนึ่งเป็นนายกฯ ด้านหนึ่งเป็นว่าที่แคนดิเดตนายกฯของ พปชร. ตรงนี้ต้องวางตัวดีๆ กกต.ต้องชี้ให้ชัดว่าหาก พล.อ.ประยุทธ์รับ จะวางตัวอย่างไร ที่จะไม่ให้ถูกมองว่าไปใช้ความเป็นนายกฯหาเสียงให้พรรคพลังประชารัฐ

เหตุการณ์นิสิต นักศึกษา ประชาชนรวมตัวทำกิจกรรมที่ทำเนียบรัฐบาล อ่านจดหมายเชิญ พล.อ.ประยุทธ์ลาออกจากตำแหน่ง คิดว่าทำได้ เป็นแรงกดดันทางสังคมที่สามารถทำได้ แต่ท่านนายกฯคงไม่มาเล่นเกม ต่อกรกับคนหนุ่มสาวแบบนี้ ถ่าเล่นเกม ต่อกรด้วย อาจเกิดปัญหาขึ้น เกิดสถานการณ์ความวุ่นวาย หรือเป็นจุดเริ่มต้นของความเคลื่อนไหวแน่นอน หรือจะถือว่าวันนี้เป็นวันหยุดทำการ ไม่รับ ปล่อยให้กระบวนการนี้ผ่านไป ก็จบ ซึ่งวันนี้เป็นเพียงแคมเปญเล็กๆ เพื่อให้รู้ว่าจุดกระแสติดหรือไม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image