อุ่นเครื่องเลือกตั้ง สำรวจสมรภูมิเดือด ‘ศึกสายเลือด-ช้างชนช้าง’

ประเทศไทยผ่านกระบวนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ตามระบอบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาแล้ว 27 ครั้ง นับตั้งแต่ปี 2476 ครั้งล่าสุดมีขึ้นเมื่อปี 2554 ถ้านับตามบันทึกการเมืองไทยแล้ว การเลือกตั้งครั้งล่าสุดถูกจัดขึ้นเมื่อ 2 ก.พ.2557 แต่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้เป็น “โมฆะ”

ดังนั้น การเลือกตั้ง ส.ส.ที่จะมีขึ้นในวันที่ 24 มี.ค.2562 หากไม่มีอุบัติเหตุทางการเมืองจะเป็นหนที่ 28

โดยเมื่อ 4 ก.พ.ที่ผ่านมา วันแรกของการเปิดรับสมัคร ส.ส.ทั่วประเทศ มีพรรคการเมืองส่งผู้สมัครชิงชัยรวม 350 เขตเลือกตั้งกันอย่างล้นหลาม รวมทั้งสิ้น 58 พรรค จำนวนผู้สมัคร 5,831 คน กกต.ระบุว่าทะลุเพดานเกินความคาดหมาย เพราะผู้ลงสมัครในปี 2554 มีประมาณ 2,000 คน เท่านั้น

สะท้อนให้เห็นการตื่นตัวของการเลือกตั้งครั้งนี้ หลายสนามกลายเป็น “ประดาบก็เลือดเดือด” บางสนามเหมือน “ช้างชนช้าง” ต่างคนต่างใหญ่ สุดท้ายจะถึงขั้น “แตกหัก” หรือ “ประนีประนอม” หรือไม่นั้น ลองส่องกล้องกันดู

Advertisement

เริ่มกันที่ระนอง มีเพียง 1 เขตเลือกตั้ง ทุกครั้งที่ผ่านมา ประชาธิปัตย์ (ปชป.) ยึดหัวหาด “วิรัช ร่มเย็น” เป็นแชมป์เก่า 8 สมัย คราวนี้มีสิทธิ “ช้างล้ม” ได้เหมือนกัน สู้กับ “คงกฤษ ฉัตรมาลีรัตน์” หรือนายกเอ อดีตนายก อบจ.ระนอง เป็นลูกชายของบดินทร์ ฉัตรมาลีรัตน์ หรือ “นายฮั้งเพ้ง” เจ้าของลูกชิ้นชื่อดัง ที่พรรคภูมิใจไทย (ภท.) ภูมิใจนำเสนอ

ข่าวแว่วมาว่า เดิมทีนายวิรัชจะขึ้นไปอยู่ใน ส.ส.บัญชีรายชื่อของ ปชป. แล้วรับปากให้ “เสี่ยเอ” คนรุ่นใหม่ลง ส.ส.เขตแทน แต่ไม่เป็นเช่นนั้น ทำให้นายฮั้งเพ้งพาลูกชายไปสวมเสื้อ ภท.แทน

มาลุ้นกันที่ เขต 4 นครศรีธรรมราช ครอบคลุม อ.ทุ่งสงกับ อ.บางขัน เจ้าของพื้นที่ คือ “ประกอบ รัตนพันธ์” อดีตนักวิชาการ มีคู่แข่ง คือ “สมศักดิ์ แสงอารยกุล” จาก ภท. ขณะที่พลังประชารัฐ (พปชร.) ส่ง “ภูมิไท ดีเป็นแก้ว”

Advertisement

หมอแผนไทยชื่อดัง ส่วนเขต 6 ในพื้นที่ อ.ร่อนพิบูลย์ อ.ลานสกา อ.ช้างกลาง และ อ.นาบอน โดย ปชป.ส่ง “ชัยชนะ เดชเดโช” ทายาทคนโตของ “วิฑูรย์ เดชเดโช” อดีต นายก อบจ.นครศรีธรรมราช ลงสนาม ชน “พิทยา ชมพูทอง” จาก ภท.กับ “มุกดาวรรณ เลื่องศรีนิล” ของ พปชร.และยังมี “สิริบรรจบ คงใหม่” ของชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) จัดเป็นพื้นที่ชนกันของอดีตนักการเมืองท้องถิ่นทั้งสิ้น

เขต 4 สุราษฎร์ธานี เรียกกันว่าศึกศักดิ์ศรี งานนี้หยามกันไม่ได้ ปชป.ปักธงชนะมาตลอด ชนิดไม่ยอมเปลี่ยนพระเอกลงจากโรงลิเก แต่พลันที่ “ลุงกำนัน” สะสมไพร่พลในนาม “กปปส.” เข้าให้ ร่วมตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) ขึ้นมา คนในตระกูล “เทือกสุบรรณ” ต่างก็ทิ้ง ปชป.กันหมด หันไปช่วย รปช.

ในเขต 4 “เชน เทือกสุบรรณ” อดีต ส.ส.ปชป.ยึดครองเก้าอี้มาตลอด เมื่อไปอยู่กับพี่สุเทพ ปชป.จึงส่ง “สมชาติ ประดิษฐ์พร” สมาชิก อบจ.เขต อ.พุนพิน ตลอดกาล ที่มีชุดพร้อมรอใส่อยู่แล้ว ลงชิงชัยกับเชนทันที

“สมชาติ” ชื่อเสียงเรียงนามคนพุนพินรู้จักดี เป็นบุตร “กำนันเซ่ง” หรือ “ดำรง ประดิษฐ์พร” อดีตกำนัน ต.ท่าโรงช้าง อ.พุนพิน คนนับถือกว้างขวาง สมชาติยังได้นักการเมืองท้องถิ่นหนุนหลังเป็นแถวยาว ขณะที่ อ.พุนพิน ในพื้นที่เขตเลือกตั้ง 4 ก็เป็นบ้านเกิดของ “ลุงกำนัน”

ดังนั้น เขต 4 ได้ใครเป็นผู้ชนะ ยังส่งนัยยะอีกหลายอย่างตามมาว่าจะเอาใครระหว่าง “สุเทพ” กับ “ปชป.”

เขตเลือกตั้งที่ 5 เชียงใหม่ เป็นศึกช้างชนช้างอีกสนามหนึ่ง ครอบคลุมพื้นที่ อ.แม่ริม อ.สะเมิง และ อ.แม่แตง (ยกเว้น ต.แม่หอพระ) เจ้าของพื้นที่เดิม คือ บุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ แม้ เดชณัฐวิทย์ เตริยาภิรมย์ หรือป้ำ ลูกชายที่ตัดสินใจไปเป็นทีมของพลังประชารัฐ (พปชร.) ได้อยู่ในบัญชีรายชื่อ แต่ก็ยังช่วยลุ้น “ร.อ.หญิงเดือนเต็ม ดวง ณ เชียงใหม่” ลงชิง ส.ส.เขต ชนกับนักการเมืองรุ่นเดอะ “สมพงษ์ อมรวิวัฒน์” จากพรรคเพื่อไทย (พท.)

ลำพังฐานเสียงของ ร.อ.หญิงเดือนเต็มดวงนั้นไม่แรงพอ แต่ได้พลังของ “ธวัชวงศ์ ณ เชียงใหม่” และ “กิ่งกาญจน์ ณ เชียงใหม่” 2 อดีต ส.ส.เชียงใหม่ ที่เป็นพ่อกับแม่รวมกับฐานเสียงจากตระกูล “เตริยาภิรมย์” คนเชียงใหม่เขต 5 จะต้องเลือกว่าอยากส่งใครเข้าสภา มีโอกาสแค่ไหนที่ พปชร.จะมาเจาะเสียงเมืองหลวงของ พท.!

มาสแกนพื้นที่เชียงรายกันบ้าง ฐานสำคัญของ พท.ครองเก้าอี้ ส.ส. ทั้ง 7 เขตมาหลายสมัย ครั้งนี้มีการปรับตัวผู้สมัครในหลายเขต อาทิ เขต 2 ส่ง “วิสิษฐ์ เตชะธีราวัฒน์” อดีต ส.ว.เชียงราย แทน “สุรสิทธิ์ เจียมวิจักษ” ส่วนเขต 3 ส่ง “วิสาร เตชะธีราวัฒน์” อดีต ส.ส.เชียงรายหลายสมัย แทน “วิสารดี เตชะธีราวัฒน์” บุตรสาว

ที่พลาดไม่ได้คือเขต 1 เชียงราย ระหว่าง “สามารถ แก้วมีชัย” อดีตแชมป์ ส.ส.ของ พท. ปะทะกับ “รัตนา จงสุทธนามณี” อดีต นายก อบจ.เชียงราย ของ พปชร.

“สามารถ” เจนจัดมาหลายสมัย ขณะที่ “วันชัย จงสุทธนามณี” นายกเทศมนตรี นครเชียงราย จะมาช่วยรัตนาภรรยาอีกแรงหนึ่ง

อุบลราชธานี จังหวัดใหญ่ภาคอีสาน พท.เคยชนะถึง 7 เขตเลือกตั้งในการเลือกตั้งปี 2554 แต่ครั้งนี้ไม่ง่ายเหมือน 8 ปีที่แล้ว หากนับผลเลือกตั้งปี 2554 มีทั้งหมด 11 เขตเลือกตั้ง พท.ได้ ส.ส. 7 คน ตามด้วย ปชป. 3 คน และชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) 1 คน ปัจจุบันถูกรวบเหลือ 10 เขตเลือกตั้ง จึงเกิดพื้นที่ทับซ้อนของอดีต ส.ส.ปชป.ระหว่าง “วุฒิพงษ์ นามบุตร” กับ “ศุภชัย ศรีหล้า” หมายความว่า ส.ส.ของ ปชป.ต้องหายไป 1 คน จะยังเหลือแค่ 2 เขต

ล่าสุดทั้ง พท. ปชป.และ พปชร.ต่างปักธงอุบลราชธานีเขตที่น่าจับตามองคือ เขต 6 เป็นศึกสายเลือดของตระกูล “โควสุรัตน์” ระหว่าง “ธนะสิทธิ์ โควสุรัตน์” อดีตรองนายก อบจ.อุบลราชธานีจาก พปชร. กับ “พิสิษฐ์ สันตพันธุ์” จาก พท. โดย ธนะสิทธิ์ได้ “สิทธิชัย โควสุรัตน์” อดีต รมช.มหาดไทย น้องชายที่สนับสนุนส่งชนกับพิสิษฐ์ โดยพิสิษฐ์ก็เป็นพี่เขยของสิทธิชัยอีกทางหนึ่ง วนกันไปมาในศึกสายเลือด

เขตนี้ไม่มีการฮั้วกันเด็ดขาด ยังชี้ความนิยมของเสียงสวรรค์ด้วยจะเลือกใคร!

ไม่พูดถึงเขต 3 นครราชสีมา เหมือนไม่สะเด็ดน้ำประกอบด้วย อ.สูงเนิน อ.ขามทะเลสอ อ.สีคิ้ว (เฉพาะ ต.สีคิ้ว ต.ลาดบัวขาว ต.หนองน้ำใส ต.คลองไผ่ ต.มิตรภาพ และต.หนองหญ้าขาว) โดยมี “ประเสริฐ บุญชัยสุข” อดีต รมว.อุตสาหกรรมจากชาติพัฒนา (ชพน.) เป็นแชมป์เก่า แต่เมื่อแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ ส่งผลต่อ “ประเสริฐ จันทรรวงทอง” ของ พท. เนื่องจากมีอำเภอสีคิ้วถูกผ่าเป็น 2 เขตเลือกตั้ง

“ประเสริฐ จันทรรวงทอง” ต้องขยับมาลงสมัครเขต 3 ชนกับคนชื่อเหมือนคือ “ประเสริฐ บุญชัยสุข” โดยมี “สุวัจน์ ลิปตพัลลภ” หัวเรือใหญ่ของ ชพน.คอยดูแลอย่างใกล้ชิด หลัง พท.ขยันส่งขุนพลระดับพี่เบิ้มมาช่วย “ประเสริฐ จันทรรวงทอง” ทั้ง “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” และ “เฉลิม อยู่บำรุง” ลงพื้นที่ปราศรัยในเขต 3

ขณะที่ พปชร. ส่ง “จันทิมา โกสินทร์รักษา” นายก อบต.หนองตะไก้ อ.สูงเนิน ท้าชิงเก้าอี้ และ ภท.ของเสี่ยหนู ได้ “รักชาติ กิริวัฒนศักดิ์” อดีตนายก อบจ.นครราชสีมาลงสู้ศึก

คอการเมืองโคราชทำนายล่วงหน้าไว้แล้ว ใครจะเข้าวิน แค่ใบ้มาว่าคนชื่อเหมือนกันมีลุ้นทั้งคู่

มาที่พื้นที่เขต 4 ชลบุรี เป็น “ศึกสองตระกูล” ระหว่าง “สรวุฒิ เนื่องจำนงค์” หรืออดีต ส.ส.ต้น ครั้งนี้สลัดเสื้อ ปชป.หันมาสวมเสื้อ พปชร. ได้แรงสนับสนุนตรงจาก “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” เจอกับคู่ปรับเก่า “จิรวุฒิ สิงห์โตทอง” หรือ ส.ส.เป้า อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคไทยรักไทย (ทรท.) มีฐานคะแนนเสียงจากชาวสวนชาวไร่ที่เป็นคนส่วนใหญ่ในพื้นที่นี้

ขณะเดียวกัน “พายุ เนื่องจำนงค์” ค่าย ปชป.ถูกส่งลงสนามหวังตัดคะแนนเสียง และยังมี “สมชาย เนื่องจำนงค์” ลูกชาย “ประสงค์ เนื่องจำนงค์” อดีต ส.ส.ชลบุรี ที่ลงสมัครในนามพรรคอนาคตใหม่ (อนค.)

เสียงที่เป็นกลุ่มก้อนตระกูลเนื่องจำนงค์ จึงถูกแบ่งแยกออกไป แต่สุดท้าย “สรวุฒิ เนื่องจำนงค์” มีโอกาสดีที่สุด ที่จะขอลุ้นเป็น ส.ส.ชลบุรี สมัยที่ 3

มาถึงเขต 3 ลพบุรี ระหว่าง “อำนวย คลังผา” เคยเป็นโลโก้ของ “เสื้อแดง” มาตลอด ตัดสินใจสวมเสื้อ พปชร. หนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ อีกสมัย เขตนี้มีคนลงแข่งขันดุเดือดถึง 14 คน ถ้าตัดตัวในโค้งนี้จะเหลือแค่ 3 คน นอกจากอำนวยแล้ว จะมี “พหล วรปัญญา” จาก ภท. เป็นอดีต ส.ส.พท.มาก่อน และยังเป็นหลาน “นิยม วรปัญญา” ที่ยอมย้ายเขตและสวมเสื้อ ภท.แทน คู่แข่งอีกคนคือ “อุบลศักดิ์ บัวหลวงงาม” จาก พท.

สุดท้ายมาถึงสนามเขต 3 สุพรรณบุรี ชนกันสนั่นแน่นอนระหว่าง “ประภัตร โพธสุธน-จองชัย เที่ยงธรรม” เคยกินข้าวหม้อเดียวกันในพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) เมื่อ กกต.จัดเหลือเพียง 4 เขตเลือกตั้ง และขาด “บรรหาร ศิลปอาชา” ไป “ประภัตร” ยังอยู่กับ ชทพ.จะชนกับ “จองชัย” ที่ย้ายไปกินข้าวในหม้อของ ภท.แทน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image