รายงานหน้า 2 : นักวิชาการประเมิน บิ๊กเซอร์ไพรส์ ‘ทษช.’ พรรคไหน ‘ได้-เสีย’

หมายเหตุความเห็นจากนักวิชาการต่อเหตุการณ์ของพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีผลต่อความได้เปรียบเสียเปรียบกับพรรคต่างๆ อย่างไร


 

ธนศักดิ์ สายจำปา
อาจารย์สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

เข้าใจว่าสภาวการณ์หลังจากที่มีเหตุการณ์เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา คงมีแรงกระเพื่อมอะไรเยอะมากพอสมควร ในส่วนของพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) เองก็มีกระแสเรื่องการร้องเรียนให้มีการยุบพรรค แน่นอนว่าส่งผลกระทบต่อพรรคอยู่แล้ว

Advertisement

ตอนนี้ยังมีผู้สมัครบางคนยังไม่ได้ติดป้ายหาเสียง คิดว่าเงื่อนไขหนึ่งซึ่งหลายคนจับตาอยู่คือในแง่ของความเคลื่อนไหวของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) หาก ทษช.โดนยุบพรรคจริงๆ และการเลือกตั้งยังสามารถดำเนินต่อไป เข้าใจว่าเรื่องนี้คงเป็นแรงกระเพื่อมใหญ่ในทางการเมืองไทย

ถามว่าหาก ทษช.โดนยุบพรรค คะแนนจะไหลไปทางไหน มองว่าโดยตัวของ ทษช.เองคงพอเดาได้ว่าถ้าโดนยุบไปพรรคเดียว คงมีการเทคะแนนไปยังพรรคที่ร่วมอุดมการณ์เดียวกัน
สำหรับพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ซึ่งเพิ่งตั้งขึ้นมาสามารถชิงความได้เปรียบอยู่แล้ว เพราะกติกาหลายอย่างเป็นไปเหมือนที่มีคนในพรรค พปชร.ออกมาบอกว่ารัฐธรรมนูญบับนี้ดีไซน์มาเพื่อพวกเรา ค่อนข้างชัดเจนว่าโดยตัวกติกาก็ค่อนข้างเอื้อให้กับพรรคการเมืองบางพรรคไปโดยปริยาย ดังนั้นในแง่ของความได้เปรียบจึงได้เปรียบมาตั้งแต่ต้น

พรรคที่มีความเสียเปรียบจากกติกาชุดนี้ เมื่อเจอสภาวการณ์ทางการเมืองที่แปรปรวนอยู่ในขณะนี้ เข้าใจว่าความได้เปรียบของ พปชร.อาจจะเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ เพราะในแง่ของแรงกระเพื่อมชุดนี้ ส่งผลอะไรบางอย่าง เราจะเห็นว่าหลังจากเหตุการณ์วันที่ 8 กุมภาพันธ์ หลายคนบอกว่าถ้าสภาพการณ์เป็นแบบนี้อาจจะต้องหันมาเชียร์พรรคการเมืองบางพรรค เพื่อที่จะให้รัฐบาลที่เขารู้สึกว่าปกป้องคนกลุ่มหนึ่งที่ไม่อยากให้กลับมา อย่างไรก็ตามอาจเดายากหน่อย เนื่องจากยังมีความเคลื่อนไหวอยู่หลายส่วนว่าท้ายที่สุดแล้วการเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นอย่างไร

Advertisement

 

วีระ เลิศสมพร
คณะรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา

การได้เปรียบเสียเปรียบของพรรคการเมืองต่างๆ มีปัจจัยหลายอย่าง เรื่องประเด็นร้อนแรงเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาก็มีส่วนทำให้บางพรรคได้รับคะแนนนิยมเพิ่ม ขณะที่บางพรรคได้รับคะแนนนิยมลดลง นอกจากนี้ยังต้องดูผลจาก กกต.ด้วยว่าจะตัดสินออกมาอย่างไร

หากพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ถูกยุบพรรค ถ้าผลตัดสินออกมาเช่นนั้น ฝ่าย ทษช.น่าจะเสียเปรียบเพราะว่าหายไปหมดทั้งแผง ทำให้คะแนนที่เคยได้มีพลังลดลง ซึ่งพรรคเพื่อไทยรวมถึงพรรคเพื่อชาติ ผมมองว่าพลังยังอ่อนกว่า เพราะที่ผ่านมาลักษณะการออกตัวและความคึกคักไปตกที่ ทษช.ค่อนข้างมาก

ดังนั้นถ้า ทษช.ถูกยุบพรรคจริงจะทำให้พลังลดลงมาก แม้มีโอกาสที่คนเลือก ทษช.จะหันไปเลือกพรรคเพื่อไทย หรือพรรคเพื่อชาติ แต่พลังจะไม่เหมือนเดิม ทั้งเรื่องขวัญกำลังใจและตัวผู้สมัครที่ประชาชนสนใจและเล็งไว้แล้วว่าจะเลือก ถ้ามันหายวูบไปเลย บางคนอาจจะไม่ได้คิดเผื่อว่าจะไปเลือกใคร จึงมีส่วนทำให้พลังลดลง หรือแม้ ทษช.จะไม่ถูกยุบพรรคก็ตาม แต่เชื่อว่าคะแนนน่าจะลดลงแต่คงไม่มาก และยังไม่น่ากลัวเท่าการยุบทั้งพรรค

ทั้งนี้ สืบเนื่องจากตั้งแต่ตอนปีใหม่ที่ผ่านมาเรื่องประชานิยมและนโยบายต่างๆ ของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ยังมีพลังและมีผลอยู่ รวมถึงเรื่องของอำนาจรัฐก็คงปฏิเสธไม่ได้ แม้ฝ่าย คสช.จะบอกว่าเป็นกลางไม่ยุ่งเกี่ยวก็ตาม ดังนั้นผมคิดว่าคะแนนจะมาทาง พปชร.พอสมควร อีกทั้งกรณีที่เกิดขึ้นกับ ทษช.ส่งผลให้บางคนหรือมีแนวโน้มให้คนบางส่วนที่ลังเลว่าจะไม่ไปเลือกตั้งหรือจะโหวตโนหันมาเลือก พปชร.เพิ่มขึ้น

ส่วนเรื่องความได้เปรียบเสียเปรียบหรือคะแนนนิยมของพรรคการเมืองนั้น ต้องดูต่อไปว่า หลังจาก กกต.กำหนดจุดให้ติดตั้งป้ายหาเสียงแล้วจะมีผลมากน้อยประการใด จะทำให้คนในพื้นที่นั้นเห็นได้ถนัดหรือมีข้อมูลเพียงพอต่อการตัดสินใจหรือไม่

รวมทั้งยังต้องติดตามว่า หลังจากผู้สมัครหรือพรรคการเมืองได้แจ้งว่าจะใช้ช่องทางหาเสียงทางอิเล็กทรอนิกส์ผ่านช่องทางไหนบ้าง ตรงนี้เป็นองค์ประกอบหนึ่งที่น่าพิจารณาว่าจะทำให้คะแนนนิยมเพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหน

อย่างไรก็ตามถ้าประเมินจากตอนนี้ ถึงแม้จะมีผู้สมัครหรือพรรคมากขึ้น แต่ผมมองว่ามีพรรคที่เด่นๆ ไม่เยอะเหมือนเดิม หมายความว่าการต่อสู้ก็จะเป็นการต่อสู้อยู่ไม่เกิน 6-7 พรรคที่เราได้เห็นในสื่อกระแสหลัก ตรงนี้น่าจะมีคะแนนที่ออกมาชัดเจน มีการแข่งขันสูงและสูสีกันในบางพื้นที่ หรืออาจเกิดการล้มแชมป์ในบางพื้นที่ได้ ส่วนพรรคเล็กพรรคน้อยส่วนตัวมองว่า อาจจะได้คะแนนไม่มากพอที่จะมีนัยสำคัญในการส่งผลต่อที่นั่งในสภา


พิชิต รัชตพิบุลภพ
ผู้อำนวยการหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยราชพฤกษ์

ตอนนี้ประชาชนต้องเลือกแนวทางจาก 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่บอกว่าเป็นประชาธิปไตย กลุ่มทางฝ่ายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้า คสช. และกลุ่มคนที่ไม่ชอบพรรคการเมืองใดในอดีตที่ผ่านมา

ถึงแม้ว่าในบริบทปัจจุบัน พล.อ.ประยุทธ์จะมีข้อได้เปรียบในทุกทาง แต่ก็ไม่สามารถมั่นใจได้ว่ากระแสสังคมจะตอบรับกับท่านมากน้อยแค่ไหน เพราะตลอดระยะเวลาหลายปีข้อมูลข่าวสารถูกปิด ประชาชนคุยเรื่องการเมืองได้ไม่มากนัก แต่วันที่ 24 มีนาคม จะเป็นตัวบอกได้ชัดเจน

ทั้งกลุ่มคนที่อยู่ฝั่งซ้ายและฝั่งขวาก็ไม่มีทางเปลี่ยนไปลงคะแนนให้อีกกลุ่มหนึ่งได้ แต่ที่น่าสนใจคือกลุ่มที่อยู่ตรงกลาง ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความสำคัญมากที่สุด เพราะสมัยก่อนเราใช้คำว่าแบ่งตามภาค แต่พรรคอนาคตใหม่เป็นพรรคเดียวที่แบ่งกลุ่มที่อยู่ตรงกลางใหม่ตามช่วงอายุ และเปลี่ยนโฟกัสไปที่ช่วงอายุของวัยรุ่นหรือผู้ที่มีสิทธิลงคะแนนครั้งแรก เป็นการเปลี่ยนมุมมองเกมการเมือง จึงเชื่อว่าครั้งนี้พรรคอนาคตใหม่มีโอกาสที่จะได้คะแนนสูง

แต่ถ้าถามว่าพรรคใดเสียเปรียบ ภายใต้กติกาที่มีอยู่ก็ต้องยอมรับว่าทุกพรรคเสียเปรียบหมด ยกเว้นพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ซึ่งน่าจะได้เปรียบภายใต้กติกาใหม่เนื่องจากนักการเมืองใหญ่คนหนึ่งถึงขั้นพูดว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ออกมาเพื่อเขา แต่ ณ ตอนนี้กติกาทั้งหมดสำคัญน้อยกว่าคะแนนเสียงตรงกลางที่ลุ้นว่าใครจะเป็นคนช่วงชิง

ตอนนี้ผู้ที่เป็นคะแนนเสียงตรงกลางค่อนข้างที่จะสับสนพอสมควรและยังตัดสินใจไม่ได้ เช่น ชอบ พล.อ.ประยุทธ์ แต่ชอบนโยบายพรรคเพื่อไทย และชอบ ส.ส.เขต พรรคประชาธิปัตย์ จึงสับสนว่าจะลงคะแนนเสียงอย่างไร นี่คือคะแนนเสียงที่สะวิงตรงกลาง

ดังนั้นประชาชนควรเน้นหรือให้ความสำคัญกับนโยบายเป็นหลัก เพราะถ้าเลือกตัวบุคคลที่ยังผูกพันกับตัวบุคคลอยู่ ทุกพรรคการเมืองก็จะออกนโยบายมาเท่านั้น แต่สุดท้ายก็ทำตามนโยบายที่เสนอไปไม่ได้เพราะรัฐบาลใหม่จะเป็นรูปแบบของการผสม เป็นเพียงส่วนหนึ่งของรัฐบาลจึงไม่สามารถผลักดันนโยบายอย่างเต็มที่เพื่อให้สัมฤทธิผลได้ ประชาชนจึงควรพิจารณาว่านโยบายอะไรที่ตรงกับความเดือดร้อนแล้วเลือกจากจุดนั้น
จากสถานการณ์ของพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ก็ยังมองเหมือนเดิมว่ากลุ่มที่เชียร์พรรค ทษช.ก็ยังเชียร์อยู่ กลุ่มที่ไม่ชอบก็ไม่ชอบอยู่ หากมีการยุบพรรค ทษช.เกิดขึ้น คนที่ไม่ชอบก็จะยังไม่ชอบเหมือนเดิม แต่คนที่ชอบพรรค ทษช.ก็จะหาทางเลือกใหม่ที่ใกล้เคียง อาจจะเป็นพรรคเพื่อไทย พรรคเพื่อชาติ หรือพรรคอนาคตใหม่

เชื่อว่า พรรคเพื่อไทย พรรคเพื่อชาติ พรรคอนาคตใหม่ หรือพรรคประชาธิปัตย์จะได้ประโยชน์ หากมีการยุบพรรค ทษช. เฉพาะในส่วนของเสียงที่ให้กับพรรค ทษช. ส่วนเสียงตรงกลางยังเหมือนเดิม ซึ่งตอนนี้ยังสับสนอยู่ โดยอาจจะตัดสินใจเลือกไปแล้ว หรือถ้ายังไม่ตัดสินใจเลือก ข้อมูลในช่วงใกล้วันเลือกตั้ง กระแสการเมือง และการชั่งน้ำหนักเหตุผลของสถานการณ์ที่มากระทบในช่วงเวลานั้น จะเป็นตัวโน้มน้าวใจคนกลุ่มนี้ในการตัดสินใจเลือกครั้งสุดท้าย และคนกลุ่มนี้จะเป็นตัวแปรที่ชี้ชัดว่าใครจะเป็นผู้ชนะการเลือกตั้งครั้งนี้

ประเด็นอยู่ที่กลุ่มคนตรงกลาง อย่างพรรคอนาคตใหม่ที่มีการเรียงระบบในการสื่อสารข้อมูลใหม่ คือกลุ่มคนวัยรุ่น ถ้าสามารถจับกลุ่มนี้ได้เยอะ สมมุติว่าได้ 100% คือ 7 ล้านเสียง ก็จะมี ส.ส. คือ 100 คนทันที พรรคอนาคตใหม่จึงเป็นพรรคที่มีคะแนนเสียงตัวแปรมาก เพราะจับกลุ่มวัยรุ่นเป็นกลุ่มบนซึ่งยังไม่เห็นว่ามีพรรคไหนที่ไปจับกลุ่มนี้ ซึ่งประชาธิปัตย์ก็พยายามไปจับกลุ่มนิวเดม แต่พรรคทางฝ่ายของเพื่อไทย เพื่อชาติ หรือไทยรักษาชาติ ยังไม่ชัดในการไปจับกลุ่มตรงนี้

โดยภาพรวมในการตั้งรัฐบาล คือ กลุ่มอนาคตใหม่จับกลุ่มวัยรุ่น กลุ่มเพื่อไทยก็จับกลุ่มอีสาน เหนือ และใต้ จากพรรคประชาชาติ เพื่อต่อสู้กับพรรคพลังประชารัฐที่ยังไม่มีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน ยกเว้นในบางจังหวัดที่ พปชร.ได้ ส.ส.มาร่วมงาน ดังนั้นใครจะได้เป็นรัฐบาลก็ขึ้นอยู่กับว่ากลุ่มคนรุ่นใหม่จะเทคะแนนให้ฝั่งไหนมากกว่า และเชื่อว่าพรรคอนาคตใหม่จะเป็นตัวแปรสำคัญในการชิงตั้งรัฐบาลครั้งนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image