แนวรบอินเตอร์ จากเจนีวา-ทูตสหรัฐ เขย่า ‘ประชามติ รธน.’

การคิกออฟเทศกาล “ประชามติร่างรัฐธรรมนูญ” ไม่เพียงเรียกการวิพากษ์วิจารณ์จากในประเทศ

แต่ยังลุกลามควันโขมงไปถึงต่างประเทศ

กกต.ประกาศกฎเหล็ก ข้อห้ามและข้อพึงปฏิบัติ ตาม พ.ร.บ.ประชามติ ท่ามกลางเสียงวิจารณ์ว่า ในมาตรา 7 ของกฎหมายฉบับนี้ ให้บุคคลมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และเผยแพร่ความคิดเห็นเกี่ยวกับการออกเสียงโดยสุจริต และไม่ขัดต่อกฎหมาย

แต่พอถึงมาตรา 61 กำหนดโทษหนัก สำหรับ “การก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย”

Advertisement

ซึ่งได้แก่ การเผยแพร่ข้อความ ภาพ เสียง ในสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือในช่องทางอื่นใด ที่ผิดไปจากข้อเท็จจริง หรือมีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่ โดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียง ไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียง

กำหนดโทษหนักจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 2 แสนบาท ศาลอาจสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่เกิน 5 ปีด้วยก็ได้

ถ้ากระทำเป็นคณะบุคคลตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป โทษจำคุก 1 ถึง 10 ปี ปรับ 2 หมื่นบาท ถึง 2 แสนบาท และให้ศาลเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนด 10 ปี

ทำให้บรรยากาศก่อนการลงประชามติลดความคึกคักลงไปมาก โดยเฉพาะการแสดงความคิดเห็นผ่านสื่อต่างๆ กลายเป็นความหวั่นกลัวว่าจะเข้าข่ายมาตรา 61

พร้อมๆ กันนั้น มีการจับกุม 8 แอดมิน ฐานทำเพจล้อเลียนนายกรัฐมนตรี และการจับกุม แม่จ่านิว น.ส.พัฒน์นรี หรือ หนึ่งนุช ชาญกิจ มารดาของ นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ จ่านิว แกนนำกลุ่มพลเมืองโต้กลับ

กรณีของแม่จ่านิวโดนข้อหามาตรา 112 จากการแชตกับผู้ต้องหามาตรา 112 อีกคนที่โดนจับไปก่อน

ที่มองกันว่า เป็นการปรามการเคลื่อนไหวก่อนลงประชามติไปในตัว เพราะจ่านิวและกลุ่มพลเมืองโต้กลับ มีท่าทีไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ

ทำให้เกิดปฏิกิริยาจากฝ่ายต่างๆ

หมัดหนักสุดมาจากสหรัฐ สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานวันที่ 10 พฤษภาคม ว่าสหรัฐอเมริกาแถลงประณามการจับกุม น.ส.พัฒน์นรี ด้วยข้อหามาตรา 112และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการโพสต์ข้อความแชตในเว็บไซต์เฟซบุ๊ก

เอเอฟพีระบุว่า ผู้แถลงข่าวนี้คือ แคทรีนา อดัมส์ โฆษกกระทรวงต่างประเทศหรัฐ กิจการเอเชียตะวันออกและภูมิภาคแปซิฟิก ซึ่งระบุว่า การดำเนินการดังกล่าวสร้างบรรยากาศของการข่มขู่คุกคามและการเซ็นเซอร์ตัวเอง

และว่า เราห่วงกังวลเกี่ยวกับการจับกุมประชาชนที่เกี่ยวข้องกับการโพสต์ข้อความในโลกออนไลน์ และการจับกุม น.ส.พัฒน์นรี..

โฆษกกระทรวงต่างประเทศระบุด้วยว่า การจับกุมและการคุกคามนักเคลื่อนไหวและสมาชิกครอบครัวเพิ่มความกังวลอย่างจริงจังเกี่ยวกับการปฏิบัติตามพันธกรณีเกี่ยวกับการปกป้องเสรีภาพในการแสดงออกที่ไทยให้ไว้กับนานาชาติ

แถลงประณามของรัฐบาลสหรัฐดังกล่าวมีขึ้นหลังจากวันที่ 8 พฤษภาคมที่ผ่านมา ศาลทหารอนุมัติปล่อยตัว น.ส.พัฒน์นรี ชาญกิจ มารดาของจ่านิว

 

ข่าวดังกล่าวทำให้ นายเสข วรรณเมธี อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ออกมาแถลงว่า ตรวจสอบกับฝ่ายสหรัฐแล้ว ขอชี้แจงว่ากระทรวงต่างประเทศสหรัฐมิได้ออกแถลงการณ์ใดๆ ในประเด็นดังกล่าว

ข้อความที่สื่อรายงานเป็นเพียงการตอบคำถามโดย “เจ้าหน้าที่เวรข่าว” ของกรมเอเชียตะวันออกของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ มิใช่การตอบคำถามโดยโฆษกระดับกรมอย่างที่มีการรายงาน อีกทั้งมิได้ใช้ถ้อยคำว่า ประณาม ตามที่สื่อบางสำนักรายงานแต่อย่างใด

รุ่งขึ้นวันที่ 12 พฤษภาคม นายกลิน เดวีส์ เอกอัครราชทูตสหรัฐ ประจำประเทศไทย เข้าพบ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ

เมื่อกลับออกมา ทั้งนายเดวีส์และนายดอนเปิดการแถลงข่าวร่วมกัน

เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงเรื่องที่เอเอฟพีได้เสนอข่าวว่าสหรัฐได้ประณามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในไทยว่าเป็นข้อเท็จจริงหรือไม่ นายเดวีส์กล่าวว่า สหรัฐห่วงกังวลอย่างยิ่งกับสิ่งที่เกิดขึ้น และย้ำจุดยืนที่ได้พูดไปโดย “โฆษกกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ” แล้วว่า สหรัฐห่วงกังวลกับการจับกุมนักเคลื่อนไหวทางการเมือง และเห็นว่าควรต้องมีการเปิดพื้นที่ทางการเมือง เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นขัดต่อพันธกรณีของไทยตามหลักสากล

หลังนายเดวีส์กล่าวเช่นนั้น นายดอนได้เรียกเอกสารจากเจ้าหน้าที่มาดู ก่อนที่จะสอบถามนายเดวีส์อีกครั้ง ซึ่งนายเดวีส์ยืนยันว่า แคทรีนา อดัมส์ คือโฆษกกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ

ซึ่งขัดกับการชี้แจงของนายเสข โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ

นายเดวีส์ได้นำเอกสารขึ้นมาอ่านต่อหน้าสื่อมวลชนและให้เจ้าหน้าที่สถานทูตสหรัฐแปลให้สื่อมวลชนฟังเป็นภาษาไทย สรุปว่า สหรัฐไม่สบายใจกับการจับกุมผู้โพสต์ข้อความ การจับกุมมารดาของนักเคลื่อนไหวทางการเมือง เมื่อเร็วๆ นี้

และยังกล่าวถึงการข่มขู่นักเคลื่อนไหวทางการเมืองและครอบครัว การจำกัดเสรีภาพขั้นพื้นฐาน การจำกัดสิทธิในการแสดงความเห็น สิทธิในการชุมนุม รวมถึงการนำพลเรือนขึ้นศาลทหาร

พร้อมกับเรียกร้องให้รัฐบาลไทยยินยอมให้มีการพูดคุยกันอย่างเปิดเผย ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในอนาคตทางการเมืองของประเทศ ซึ่งรวมถึงการร่างรัฐธรรมนูญและการลงประชามติในเดือนสิงหาคม ขอเรียกร้องและกระตุ้นให้ไทยยกเลิกข้อจำกัดต่างๆ เหล่านี้

นายเดวีส์ยังกล่าวขอบคุณสื่อมวลชนที่ทำงานเพื่อประชาชน พร้อมกับย้ำว่าสื่อมวลชนมีหน้าที่ในการสื่อความจริงให้ประชาชนได้รับทราบ ซึ่งสหรัฐให้ความเคารพกับการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน

เหตุการณ์ทั้งหมดเกิดขึ้นต่อหน้าผู้สื่อข่าว และข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ นายดอนมีสีหน้าเคร่งเครียด แต่พยายามยืนยันว่า สหรัฐไม่ได้ใช้คำว่า ประณาม หรือ condemn ซึ่งทูตสหรัฐคว้าไมค์ไปกล่าวว่าไม่ได้ใช้คำดังกล่าว

แต่นัยยะที่สำคัญยิ่งกว่าคำว่าประณาม อยู่ที่การย้ำถึงท่าทีต่างๆ รวมถึงต่อการเสนอข่าวของสื่อ ที่สำคัญยังย้ำฐานะของ แคทรีนา อดัมส์ โฆษกกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ ไม่ใช่แค่เจ้าหน้าที่่เวรข่าว

แนวรบด้านต่างประเทศที่ร้อนระอุ ยังเกิดขึ้นในการประชุมทบทวนสิทธิมนุษยชนของประเทศตามกลไก Universal Periodic Review หรือยูพีอาร์ รอบที่ 2 ต่อที่ประชุมคณะทำงานยูพีอาร์ สมัยที่ 25 ที่นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส

ปรากฏว่าได้มีตัวแทน 14 ประเทศ ส่งคำถามล่วงหน้า เกี่ยวกับการให้พลเรือนขึ้นศาลทหาร การใช้กฎหมายกับผู้เห็นต่าง และบรรยากาศของสิทธิเสรีภาพในไทย ที่กำลังจะมีการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ

และในวันประชุม มีตัวแทน 105 ประเทศ ได้ลุกขึ้นอภิปราย และเสนอแนะการแก้ไขปัญหาสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย

คณะผู้แทนไทย นำโดย นายชาญเชาว์ ไชยานุกิจ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ได้ทำหน้าที่ตอบคำถามในที่ประชุม ซึ่งมีการถ่ายทอดสดทางอินเตอร์เน็ตผ่านเว็บไซต์ของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ว่าด้วยสิทธิมนุษยชน

ถือเป็นศึกหนักด้านการต่างประเทศ แต่ผู้มีบทบาทคือกระทรวงยุติธรรม

สิ่งที่จะต้องจับตามองจากนี้ไปก็คือ ท่าทีของนานาชาติที่แสดงออกในวาระเหล่านี้ จะนำไปสู่อะไร และเป็นประโยชน์กับไทยแค่ไหน

ขณะที่ผู้ดูแลนโยบายต่างประเทศ ยืนยันครั้งแล้วครั้งเล่าว่า นานาชาติเข้าใจสถานการณ์ในประเทศไทยเป็นอย่างดี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image