พปชร.แจง 4 ปม ถูกร้องยุบพรรค

หมายเหตุนายวิเชียร ชวลิต นายทะเบียนพรรคพลังประชารัฐ ชี้แจงกรณีที่นายวิญญัติ ชาติมนตรี เลขาธิการสมาพันธ์นักฎหมายเพื่อสิทธิและเสรีภาพ ยื่นหนังสือถึงคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อขอให้พิจารณาและวินิจฉัยการกระทำความผิดเข้าข่ายการกระทำความผิดต่อกฎหมายและขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ และยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคพลังประชารัฐ

ประเด็นแรก ที่มีการระบุถึงความเชื่อมโยงกลุ่มบุคคลโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดตั้งพรรคการเมืองในลักษณะผิดกฎหมายนั้น ต้องถามว่าผิดกฎหมายอย่างไร พรรคพลังประชารัฐก่อตั้งขึ้นตั้งแต่เดือนกันยายน อะไรคือเรื่องที่ไม่ควรหรือไม่เหมาะ และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รับรองการจัดตั้งพรรคตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ดังนั้นทำไมก่อนหน้านี้ถึงไม่มีการร้อง เพราะผ่านเดือนธันวาคม จนกระทั่งมกราคมและกุมภาพันธ์ ที่มาร้องตอนนี้เพราะพรรคของตัวเองมีปัญหาหรือไม่ และมาร้องคนอื่นซึ่งเรื่องนี้มองว่าเป็นการร้องเพื่อแก้เกี้ยว

ประเด็นที่ 2 คือกลุ่มบุคคลครอบงำการจัดตั้งพรรคพลังประชารัฐได้กระทำผิดกฎหมายโดยรับผลประโยชน์อื่นใด เพื่อลงสมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งเรื่องนี้พรรคมีความชัดเจนตลอดตั้งแต่ กกต.รับจดทะเบียนพรรคการเมือง กระทั่งมีการประชุมเพื่อเลือกกรรมการบริหารพรรค ก็เป็นไปตามขั้นตอน ตามกระบวนการของกฎหมาย ไม่ปรากฏว่ามีผู้ใดครอบงำ และการดำเนินการประชุมในการเลือกกรรมการบริหารพรรคก็ดำเนินการอย่าง  เปิดเผยการดำเนินการคัดเลือกผู้สมัครของพรรคก็เป็นไปตามขั้นตอน จึงแสดงให้เห็นว่าไม่ได้มีการครอบงำแต่อย่างใด เมื่อมีกรรมการบริหารพรรค พรรคก็ดำเนินการประชุมตามขั้นตอนของกฎหมายทุกประการ

ประเด็นที่ 3 เรื่องกลุ่มบุคคลครอบงำการจัดตั้งพรรค โดยมีเจ้าหน้าที่รัฐใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบนั้น ถามว่าเจ้าหน้าที่รัฐหรือข้าราชการการเมือง ถ้าเจ้าหน้าที่รัฐ คือข้าราชการที่รับเงินจากรัฐ ดังนั้น พรรคพลัง  ประชารัฐได้ไปครอบงำใครอย่างไร ถ้าเป็นข้าราชการการเมือง มันเป็นตำแหน่งที่ไม่เกี่ยวข้องกัน เรื่องดังกล่าวสามารถอธิบายตามข้อกฎหมายได้ทั้งหมด แต่ที่ว่ามานั้นไม่ได้ว่ากันด้วยประเด็นกฎหมาย เป็นประเด็นการเมืองมากกว่า

Advertisement

และ ประเด็นที่ 4 การกระทำการอันเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ต้องถามว่าปฏิปักษ์คืออะไร ปฏิปักษ์อยู่ในมาตรฐานจริยธรรมหรือไม่ และมีข้อไหนที่ขัดหรือมีพฤติการณ์ที่เป็นปฏิปักษ์ การที่ระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้า คสช.เคยทำการรัฐประหาร แต่ได้รับการอภัยโทษแล้ว ตามกฎหมายจึงไม่ถือว่ามีความผิดติดตัว

นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ยังมีคุณสมบัติทุกประการตามมาตรา 160 แห่งรัฐธรรมนูญ ที่ว่าด้วยคุณสมบัติของรัฐมนตรี จึงเห็นว่าการร้องยุบพรรคของนายวิญญัติ ไม่ได้เป็นการร้องในประเด็นข้อกฎหมาย แต่เป็นการร้องด้วยประเด็นการเมืองเท่านั้น และเป็นหน้าที่ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะต้องเป็นผู้ตรวจสอบว่าพรรคพลังประชารัฐได้กระทำการตามที่มีผู้ยื่นคำร้องหรือไม่ ซึ่งเรื่องดังกล่าวก็ต้องว่ากันไปตามกระบวนการตรวจสอบ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image