รายงานหน้า2 : อจ.-นักการเมืองวิพากษ์ หนังสือ‘พปชร.’ฉบับชู‘บิ๊กตู่’

หมายเหตุความเห็นนักวิชาการ-นักการเมือง กรณีที่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เปิดตัวหนังสือ “ประชารัฐสร้างชาติ” ที่มีเนื้อหาบางส่วนเกี่ยวกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งเป็นแคนดิเดตนายกฯของพรรค พปชร. ก่อนที่จะทำการปฏิวัติและการทำงานขณะเป็นนายกฯ

ฐิติวุฒิ บุญยวงศ์วิวัชร
คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ที่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เปิดตัวหนังสือดังกล่าว มอง 2 ประเด็นหลักคือ 1.ภายใต้ข้อมูลที่เผยแพร่ออกมาในปัจจุบัน ทั้งในสังคมออนไลน์ และอื่นๆ ทำให้การกระชับพื้นที่ทางอำนาจของรัฐบาลที่มาจากรัฐประหารและมีปัญหาเรื่องความชอบธรรม ไม่สามารถควบคุมโลกที่เต็มไปด้วยข้อมูลข่าวสารได้ครบถ้วนสมบูรณ์
แนวรบหนึ่งที่ต้องเปิดคือแนวรบทางด้านความรู้ ถ้าพูดภาษาง่ายๆ คือเป็นการต่อสู้ในเชิงวาทกรรม เป็นความพยายามเปิดแนวรบสู้โดยใช้ความรู้ที่ถูกผลิตมาจากฝ่ายรัฐหรือคนที่กุมอำนาจรัฐ เมื่อเปิดแนวรบที่มาจากรัฐเอง เมื่อเข้าไปสู่กลุ่มคนจะพบว่ากลุ่มที่สามารถเสพความรู้เหล่านี้ได้คือกลุ่มชนชั้นกลางซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายของการตีพิมพ์หนังสือแบบนี้ นั่นเอง
เพราะฉะนั้น นัยหนึ่งในการเปิดพื้นที่แนวรบด้านวาทกรรม หรือชุดความรู้ คือการช่วงชิงชนชั้นกลางหรือกลุ่มคนที่มีความรู้ไว้เป็นเป้าหมายในการอธิบายลักษณะการเข้ามาสู่อำนาจของตัวเอง
2.คิดว่าหนังสือเล่มนี้เปิดตัวขึ้นบนพื้นฐานของความไม่แน่ใจ หรือรู้สึกถึงความไม่แน่นอนว่าจะสามารถอยู่ต่อในอำนาจได้อีกหรือเปล่า ในขณะนี้คือก่อนถึงวันเลือกตั้ง ไม่ได้มีลักษณะของความมั่นใจ 100 เปอร์เซ็นต์ ว่าจะชนะในการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง แม้ว่าจะมีกลไกทั้งในด้านกฎหมาย ในข้อบังคับต่างๆ ที่สร้างความได้เปรียบ แต่ก็ไม่สามารถมั่นใจได้ ส่วนตัวจึงมองว่านี่คือการรับประกันการก้าวลงจากหลังเสือได้อย่างรู้สึกปลอดภัย
แน่นอนว่า การตีพิมพ์หนังสือ มีความพยายามอธิบายความชอบธรรมด้วย และในอนาคตถ้ามีข้อสงสัย ข้อโต้แย้งต่างๆ นี่คือการช่วงชิงคำอธิบายก่อน ปูพื้นฐานในการแลนดิ้งอย่างราบรื่น แต่จะได้หรือไม่ได้ ไม่รู้ แต่หนังสือเล่มนี้ทำหน้าที่แนวรบด้านวาทกรรมทั้งในแง่กลุ่มคนเป้าหมาย และการอยู่ต่อในอำนาจหรือลงจากอำนาจ เป็นการสร้างคำอธิบายในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม สังคมไทยซึ่งมีความสับสนในด้านความรู้ การพิมพ์เผยแพร่หนังสือเล่มนี้ออกมาจึงมีข้อดีต่อภาคประชาชนเพราะ ก่อให้เกิดการโต้แย้งหรือแลกเปลี่ยนทางด้านความรู้ได้อีกด้วย
สำหรับบทสุดท้ายในหนังสือ ซึ่งเป็นประเด็นเรื่อง “คืนความสุข” ในทางการเมืองมันตอบสนองอย่างหนึ่งในทางรัฐศาสตร์เรียกว่าเป็นการเปิดพื้นที่ให้คนที่กำลังก้าวสู่อำนาจ ซึ่งในประเทศเราใช้ข้ออ้างด้านความสงบเรียบร้อย ความมั่นคงของรัฐ ตัวละครที่เข้ามาเล่นการเมืองมักจะทำ
การคืนความสุขคือการอธิบายความชอบธรรมในการเข้ามาสู่อำนาจ เป็นการตอกย้ำสาเหตุที่ตัวเองเข้ามา การคืนความสุขมี 2 อย่าง หนึ่ง เปิดประตูเข้าสู่อำนาจ และสองกำลังจะเปิดประตูออกสู่อำนาจ
กล่าวโดยสรุปคือ ทั้งแง่ของการคืนความสุขและคำอธิบายต่างๆ ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความไม่แน่ใจว่าจะสามารถอยู่ในอำนาจได้ต่อหรือไม่

 

Advertisement

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ
อดีตคณบดีคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

หนังสือประชารัฐสร้างชาติ เป็นเอกสารที่มีจุดประสงค์เพื่อโฆษณาพรรคพลังประชารัฐ ว่าจะทำอะไรต่อ ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบ เป็นแต้มต่อที่สามารถบอกได้ว่า “เห็นไหม ใน 4 ปีทำมาแล้ว” ถ้าเป็นพรรคอื่น อย่างพรรคเพื่อไทยก็อาจจะเอาอดีตมาบอกว่า พรรคเพื่อไทยเข้ามาทีไรรายได้เยอะขึ้นทุกที แต่อย่างพรรคอนาคตใหม่จะโฆษณาอะไรได้บ้าง เพราะในอดีตยังไม่เคยสร้างผลงาน จึงต้องพูดถึงอนาคต พรรคประชาธิปัตย์ก็ต้องเอาของเก่ามาขาย เช่น ซื่อสัตย์ ทุกคนก็ต้องทำแบบเดียวกัน
ดังนั้นสิ่งที่พรรคพลังประชารัฐทำก็เข้าใจได้ว่าเพื่อเป็นเอกสารหาเสียงให้กับพรรค ในขณะเดียวกันก็เป็นการสร้างความชอบธรรมให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ด้วย เพื่อให้รู้ว่าการตัดสินใจยึดอำนาจรัฐประหารไม่ใช่ของเสีย ไม่ใช่ของผิด ถึงแม้จะผิดกติกา แต่ถ้าทำดีก็ควรที่จะอนุโลม ถ้ายึดแล้วทำดีก็ต้องยอมรับ เมื่อฟังดูแล้วก็อาจจะขัดเขินบ้าง จึงพยายามเอาน้ำหนักจากช่วง 4 ปี มาวางให้เห็นว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง ซึ่งจากแนวนโยบายที่ทำมา 4 ปี สรุปได้ว่านโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่พรรคพลังประชารัฐจะทำต่อไปคือการใช้รัฐเป็นนายทุนในการพัฒนาประเทศ
ทุนเอกชนในประเทศไทยไม่ว่าจะใหญ่ขนาดไหนก็ไม่มีพลังที่จะแปรทรัพยากรที่ตนเป็นเจ้าของได้ เพราะระบบกรรมสิทธิ์ส่วนตัวในเมืองไทยถูกจำกัด การเป็นเจ้าของทรัพยากรที่สำคัญๆ เช่น ที่ดิน ป่าไม้ แม่น้ำลำคลอง หรืออากาศ อเมริกาก็ทำไม่ได้เพราะถือเป็นของสาธารณะ ใครจะมาใช้ก็ต้องประมูลต่อรอง รวมทั้งรัฐบาลด้วย เพราะรัฐบาลก็ถือเป็นนายทุน แต่ในไทยอะไรที่ไม่มีเจ้าของรัฐบาลจะเป็นเจ้าของ ถือว่าเหนือว่านายทุนเพราะเป็นทั้งเจ้าของและผู้ออกกฎ เพราะฉะนั้นนายทุนของไทยจึงอ่อนแอ จึงต้องไปร่วมมือกับรัฐซึ่งเป็นนายทุนตัวจริงถึงจะสามารถลงทุนได้
การที่ พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ได้ 4 ปี เพราะสามารถตกลงและเห็นพ้องต้องกันกับนายทุนทั้งกลุ่มใหม่และกลุ่มเก่า คนที่ประมูลได้ก็จะไปอุ้มทุนร่วมมือกับรัฐ เพราะคำว่าประชารัฐ คือทุนเอกชนกับทุนรัฐรวมตัวกัน การที่ออกหนังสือประชารัฐสร้างชาติ แน่นอนว่าจะเป็นการโปรโมตตัวเองด้วยว่าถ้าอยู่ต่อไปจะทำจริง เป็นการชี้ให้เห็นว่าอยู่กับฝ่ายไหนแล้วจะได้ประโยชน์มากกว่า เพราะตอนนี้เป็นการต่อสู้เพื่อกำไร แต่จะมีชาวบ้านสักกี่คนที่อ่านแล้วเข้าใจ
ในต่างประเทศเรื่องการทำหนังสือไม่มากขนาดนี้ เพราะการเมืองนิ่ง อย่างพรรคเดโมแครต การหาเสียงตอนนี้ก็ไม่ได้เขียนเป็นหนังสือเพราะคนทุกวันนี้ดูทวิตเตอร์ จึงไม่จำเป็นต้องเขียน เพียงแค่ทวีต คนทั้งประเทศก็รู้แล้วว่าจะทำอะไร ถ้าเป็นหนังสือเล่มเล็ก ประมาณ 20-30 หน้า ก็โอเค
คนอื่นอาจจะเคยทำบ้างแต่ไม่ชัดขนาดนี้ เพราะโดยปกติพรรคการเมืองหรือนักการเมืองก็ให้สัมภาษณ์ซึ่งได้พูดนโยบายอยู่แล้ว แต่รัฐบาล สมัย พล.อ.ประยุทธ์คนอื่นไม่ได้พูด มีนายกฯพูดอยู่คนเดียวทุกวันศุกร์ บางครั้งก็พูดนอกเรื่องเยอะ ทำให้คนไม่ฟังเพราะชาวบ้านไม่รู้ว่าจะฟังทำไม เมื่อยิ่งพูดก็เหมือนจะยิ่งไม่รู้เรื่อง คนไม่เข้าใจประเด็น พล.อ.ประยุทธ์จึงหงุดหงิดว่าอะไร พูดมาตั้ง 4 ปีแล้วคนยังไม่รู้เรื่องว่าเราทำอะไร ซึ่งน่ากลุ้มใจเพราะประชาชนไม่เก็ต
จุดนี้จึงน่าตั้งข้อเกตว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่ตลอด 4 ปี การที่ท่านนายกฯออกมาพูดแล้วไม่เข้าหูคน เพราะอาจจะพูดมากเกินไป พูดออกประเด็น หรือพูดเรื่องเดียวแล้วอธิบายไปหลายเรื่อง เข้าหลายแม่น้ำ จนเป็นเหตุผลที่ต้องออกมาเขียนเป็นเล่มเช่นนี้

ชัยเกษม นิติสิริ
แคนดิเดตนายกฯของพรรคเพื่อไทย(พท.)

Advertisement

ตอนนี้ พล.อ.ประยุทธ์ มาช่วยพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะตำแหน่งแคนดิเดตนายกฯของพรรค พปชร. ดังนั้นคิดว่าคงเป็นส่วนหนึ่งของเอกสารในการช่วยหาเสียงให้กับพรรค แต่ที่ผมชอบใจมากที่สุดอันหนึ่งคือ ท่านบอกว่าก่อนรัฐประหาร ท่านคิดมานานก่อนหน้านั้น 6 เดือนแล้ว แปลว่าท่านไม่ได้ตัดสินใจตอนที่มีเรื่องวิกฤตตอนนั้น วางแผนกันมา 6 เดือนก่อนหน้านั้นแล้ว สะท้อนว่าท่านหาโอกาสมาตลอดเวลาที่จะเข้ามาสู่อำนาจ
ส่วนที่ท่านบอกว่าเข้ามาเพื่อแก้ไขให้บ้านเมืองสงบเป็นเพียงข้อแก้ตัวของท่านเท่านั้น เพราะตอนนั้นผมจำได้ดีว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ขอให้ท่านช่วยรักษาความสงบ เช่น ขอให้เข้าไปดูแลสถานที่ราชการต่างๆ ท่านบอกว่าทหารขอดูแลแค่ข้างในแล้วกัน ข้างนอกขอให้เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ก็สงสัยว่าท่านเป็นทหารภายใต้รัฐบาลหรือไม่อย่างไร ดูท่านไม่ค่อยเต็มใจ ดังนั้นเมื่อดูหลายๆ อย่างประกอบกันก็ได้รับคำตอบว่าท่านคิดมา 6 เดือนแล้วรอเพียงจังหวะเท่านั้นที่จะปฏิวัติ และวันนี้ก็สะท้อนว่าท่านอยากอยู่ในอำนาจต่อไป โดยเราจะเห็นจากกระบวนการ และการดำเนินการต่างๆ ที่ทำมา วันนี้ไม่ต้องคิดอะไรมาก ในสายตาของผมท่านคือนักการเมืองคนหนึ่งนั่นเอง
ส่วนที่ถามว่าแทนที่จะมาสู่สนามดีเบตแต่กลับออกเป็นหนังสือมาแทนนั้น ผมมองว่า การดีเบตคือการแสดงออกถึงความรู้สึก ความสามารถ และความคิดที่แท้จริง แต่หนังสืออะไรสักอย่างหนึ่ง อย่างกรณีหนังสือที่ออกมานี้ ไม่ใช่ว่ากันเรื่องนโยบายที่จะบริหารประเทศต่อไป ก็เป็นเพียงเอกสารชิ้นหนึ่ง อย่าไปสนใจอะไรมากเลย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image