มุมมอง ‘นักวิชาการ’ เด้งพิธีกรโมเดิร์นไนน์

หมายเหตุความเห็นของนักวิชาการจากกรณี อรวรรณ ชูดี ผู้ประกาศข่าวช่องโมเดิร์นไนน์ ทีวี ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า ถูกสั่งให้ยุติการทำหน้าที่พิธีกรรายการดีเบตที่จัดร่วมกับอาจารย์วีระ ธีรภัทร ภายใต้หัวข้อประชันวิสัยทัศน์ คนรุ่นใหม่การเมืองไทยในความคิดของคนรุ่นใหม่ ควรเป็นอย่างไร? ออกอากาศทางช่องโมเดิร์นไนน์


 

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์
นักวิชาการอิสระ

เรื่องนี้เป็นการแทรกแซงระดับผู้บริหารของ อสมท ซึ่งเราไม่รู้ว่าการแทรกแซงผู้บริหารเป็นการเซ็นเซอร์ตัวเอง (Self-Censorship) หรือเป็นการกระทำที่มีใบสั่ง ทั้งนี้ หากเป็นการเซ็นเซอร์ตัวเอง คิดว่าผู้บริหาร อสมท ต้องทบทวน หรือหากเป็นการกระทำที่มีใบสั่ง สังคมต้องออกมากดดันผู้ที่เกี่ยวข้องกับการออกคำสั่งในลักษณะนี้ จนกระทั่ง อสมท ทำให้คุณอรวรรณไม่สามารถทำหน้าที่สื่อได้ต่อไป

Advertisement

แน่นอนว่าคนที่ดูรายการเห็นภาพตรงกันว่า พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) โดยนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ในฐานะโฆษกพรรค มีเพอร์ฟอร์แมนซ์ในการออกรายการครั้งแรกดูไม่ดีเท่าไหร่ รวมถึงผลสำรวจในรายการครั้งที่ 2 ซึ่งคนรุ่นใหม่แทบจะไม่เอาทุกอย่างที่เป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เลย แต่เราไม่สามารถตำหนิสื่อที่ทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาได้ ภาพลักษณ์ของรัฐบาลหรือพรรค พปชร.ที่มีปัญหา เมื่อไปแสดงวิสัยทัศน์ เป็นความล้มเหลวของบุคคลที่พรรคพลังประชารัฐส่งมาเอง รวมทั้งความเห็นของคนรุ่นใหม่ต่อเรื่อง 250 ส.ว. หรือยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งไม่เห็นด้วยแทบทั้งหมด นั่นก็เป็นปัญหาของรัฐบาลนี้เอง ซึ่งไม่สามารถทำให้คนรุ่นใหม่คล้อยตามสิ่งที่รัฐบาลนี้เสนอได้แทบจะทุกๆ เรื่อง

เมื่อทั้ง 2 เรื่องนี้มีต้นเหตุจากความล้มเหลวของพรรคพลังประชารัฐในการตอบคำถามกับสังคมในกรณีเทปแรก หรือความล้มเหลวของรัฐบาลในการทำให้คนรุ่นใหม่คิดเหมือนคนอื่นๆ ในสังคมในกรณีเทปที่ 2 ซึ่งไม่ใช่ความผิดของคนที่ทำงานสื่อในการรายงานเรื่องเหล่านี้ ตลอดจนตัวคำถามไม่ได้รุนแรงอะไร คิดว่าเป็นคำถามปกติ เช่น ในกรณีเทปแรกที่ถามพรรคพลังประชารัฐเรื่อง 250 ส.ว. จะบอกว่าเป็นคำถามรุนแรงได้อย่างไร เมื่อสังคมก็วิพากษ์วิจารณ์ประเด็นนี้มากมาย ดังนั้น ตัวคำถามไม่ใช่เรื่องรุนแรงแน่นอน เพราะตัวคำถามคือการถามว่า 250 ส.ว.จะเลือกนายกฯตรงกับพรรค พปชร.หรือไม่ อีกทั้งมุมมองของคนรุ่นใหม่ต่อเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ก็ไม่ใช่เรื่องรุนแรง เพราะคนรุ่นใหม่มีสิทธิคิด ไม่ว่าเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ เรื่อง ส.ว.โหวตนายกฯได้ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นเรื่องตามรัฐธรรมนูญ ทุกคนมีสิทธิคิดว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยได้ เป็นเรื่องปกติมาก

อย่างไรก็ตาม คุณอรวรรณต้องได้กลับมาทำหน้าที่ตามเดิม แน่นอนว่าเรามีสิทธิเรียกร้องให้ อสมท ออกมาชี้แจงว่าเรื่องทั้งหมดนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร แต่เชื่อว่าผู้บริหาร อสมท จะไม่ออกมาชี้แจง แต่โดยเบื้องต้นต้องคืนการทำหน้าที่ให้คุณอรวรรณ เรื่องนี้สหภาพของ อสมท จะต้องออกมาปกป้องการทำงานของคุณอรวรรณด้วย เนื่องจากเป็นการก้าวล่วงการทำหน้าที่ของพนักงาน อสมท คุณอรวรรณซึ่งเป็นพนักงานของ อสมท ในเคสแบบนี้คือการบริหารงานที่ไม่เป็นธรรม

Advertisement

สำหรับสถานภาพสื่อมวลชนไทยในปัจจุบันนั้น ยิ่งใกล้เลือกตั้งเท่าไหร่ สื่อมีโอกาสถูกรัฐบาลทำแบบนี้มากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะสื่อซึ่งมีความใกล้ชิดกับอำนาจรัฐ หรือมีเงื่อนไขให้อำนาจรัฐเล่นงาน โดย อสมท ในแง่หนึ่งแม้จะเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ แต่โดยโครงสร้างยังมีช่องให้รัฐบาลเข้ามายุ่งเกี่ยวได้ ในกรณีสื่อที่ต้องประกอบกิจการภายใต้ใบอนุญาตของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) บทบาทของ กสทช.ในการควบคุมสื่อ เช่น วอยซ์ทีวี ก็เห็นแล้วว่าคำวินิจฉัยของศาลปกครองที่บอกว่าเป็นการเข้ามาควบคุมในแบบที่ทำให้ประโยชน์ของสาธารณะในแง่การทำเรื่องสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนเสียไป

ดังนั้น จึงคิดว่ายิ่งใกล้เลือกตั้งเท่าไหร่ เราจะยิ่งเห็นบทบาทภาครัฐในลักษณะแบบนี้มากขึ้นเรื่อยๆ เพราะกระแสความนิยมของประชาชนต่อรัฐบาลมีปัญหาหลายเรื่องมากจริงๆ

ฉลองรัฐ เฌอมาลย์ชลมารค
ผู้อำนวยการหลักสูตรนิเทศศาสตรมหาบัณฑิต
วิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

มองว่าเป็นรูปแบบรายการที่น่าสนใจ มีประโยชน์ทำให้นักการเมืองมาแสดงวิสัยทัศน์ต่อประชาชน และเยาวชนได้แสดงความเห็น ซึ่งถือว่าเป็นความกล้าหาญของช่อง 9 ที่รายการมีการโหวตในรายการทำให้รูปแบบเหมือนเป็นการแข่งขันได้แสดงความคิดเห็น ตอบสนองรสนิยมของผู้ชมและเยาวชน ซึ่งการทำแบบนี้ทำให้รายการน่าสนใจกว่าเอานักการเมืองมาแสดงวิสัยทัศน์อย่างเดียว แต่ความเสี่ยงของรายการคือ การนำเอาการโหวตมาใช้ในรายการสามารถมีผลต่อการชี้นำทางการเมืองได้ โดยวิเคราะห์ได้ใน 2 กรณี คือถ้าเยาวชนกลุ่มที่มาโหวตเป็นผู้ที่สนใจการเมืองหรือติดตามข่าวสารบ้านเมือง ผลโหวตถือเป็นการสะท้อนความคิดเห็นของคนรุ่นใหม่ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องพิจารณาด้วยว่าเขาอาจจะไม่ได้สนใจการเมือง แต่เป็นการโหวตตามเพื่อนหรือโหวตตามกัน ถ้าเป็นเช่นนั้นผลการโหวตจะเชื่อถือได้น้อยมาก ดังนั้น ปัจจัยเรื่องการคัดคนมาร่วมโหวตจึงเป็นการตัดสินใจผลการโหวตว่าน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด

อีกประเด็นที่เป็นความสุ่มเสี่ยงของทางรายการคือ การตั้งคำถามในการโหวตจะเห็นว่าการตั้งคำถามทำให้ประชาชนสนใจและฟังดูท้าทาย แต่ก็ต้องยอมรับว่าการตั้งคำถามในรายการค่อนข้างล่อแหลม เนื่องจากเป็นคำถามที่มุ่งวิพากษ์ภาครัฐโดยตรง ดังนั้น จึงมองว่าการปลดพิธีกรในครั้งนี้เป็นการแสดงความรับผิดชอบของช่อง 9 ซึ่งเราต้องยอมรับว่าช่อง 9 เป็นองค์กรที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับรัฐบาล ดังนั้น ผลของรายการอาจจะไม่เป็นที่พึงพอใจของผู้บริหาร ทางช่องอาจจะต้องหาวิธีปรับเปลี่ยนรายการ ซึ่งการปรับเปลี่ยนพิธีกรก็ทำได้ง่ายกว่าการปรับเปลี่ยนผู้บริหารของช่อง 9 แต่เพื่อไม่ให้ประชาชนคลางแคลงหรือสงสัย ทางช่อง 9 น่าจะออกมาแสดงเหตุผลว่าการปลดพิธีกรมีเหตุผลใด ซึ่งอาจจะไม่ได้เกี่ยวกับเหตุผลทางการเมืองก็ได้ แต่เพื่อความสบายใจของทุกฝ่ายช่อง 9 ต้องออกมาชี้แจง

มองว่าการปลดหรือปรับเปลี่ยนพิธีกรครั้งนี้ไม่ได้เป็นผลบวกต่อช่อง 9 ฝ่ายรัฐบาลเอง ประชาชนอาจจะมองว่ามีความกดดันทางการเมืองหรือเปล่า ซึ่งอาจจะไม่ใช่ก็ได้ มีข้อน่าสังเกตคือ ปัจจุบันเราต้องยอมรับว่าการเมืองกับสื่อมวลชนมีความสัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ออกรวมทั้งในต่างประเทศด้วย ทั้งในรัฐบาลชุดนี้และชุดอื่นๆ มองว่าประชาชนน่าจะมีการตระหนักรู้ว่า ปัจจัยทางการเมืองกับการทำหน้าที่ของสื่อมวลมันมีความเกี่ยวเนื่องกันอย่างแยกไม่ออก เพื่อให้ประชาชนเข้าใจ ช่อง 9 ต้องออกมาอธิบาย เพราะเป็นเรื่องทางการเมืองและประชาชนให้ความสนใจ ถ้าไม่อธิบายประชาชนอาจจะคิดว่ามีความกดดันทางการเมือง

นันทนา นันทวโรภาส
คณบดีวิทยาลัยสื่อสารการเมือง มหาวิทยาลัยเกริก

น่าจะเป็นลักษณะของการแทรกแซงสื่อโดยผู้มีอำนาจ การที่ปลดผู้ดำเนินรายการ เป็นความพยายามในการควบคุมการทำงานของเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐโดยผู้ที่มีอำนาจในฐานะที่เป็นบอร์ด ซึ่งบอร์ดนี้เราก็พอทราบว่าเป็นการแต่งตั้งโดย คสช. และผู้ที่เป็นประธานบอร์ดนั้นก็เป็นเพื่อนร่วมรุ่นกับท่านนายกรัฐมนตรี การที่ผู้ดำเนินรายการถูกปลดโดยบอร์ดจึงเป็นความชัดเจนว่าเป็นความพยายามควบคุมสื่อมวลชนในการบริหารจัดการของตนเองไม่ให้ล้ำเส้น เหมือนเป็นความพยายามอย่างต่อเนื่องในการควบคุมสื่อมวลชน เริ่มตั้งแต่ปิดวอยซ์ทีวี

ในกรณีของคุณอรวรรณ การที่บอร์ด อสมท สั่งปลดคุณอรวรรณจากการทำหน้าที่ตรงนี้ คุณอรวรรณไม่สามารถจะตอบโต้ได้เพราะตนเองอยู่ในสถานะเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานนี้ เท่ากับอยู่ในสถานะถูกมัดมือชกไม่ให้ทำหน้าที่นี้ต่อไป แต่ผลเสียที่ส่งผลกระทบต่อสังคมโดยรวม คือการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนถูกผู้มีอำนาจเข้ามาควบคุมให้ไปในทิศทางที่ต้องการ ซึ่งนี่เป็นอันตรายต่อสังคม เป็นอันตรายต่อการรับรู้ของประชาชนอย่างยิ่ง เพราะนั่นคือความพยายามในการที่จะไม่ให้สื่อมวลชนนำเสนอข้อมูลที่ผู้มีอำนาจคิดว่าไม่ควรจะให้นำเสนอ คือถ้าสื่อคิดต่างจากผู้มีอำนาจก็จะถูกระงับถูกถอดถอนถูกควบคุม อันนี้เป็นอันตรายต่อประชาชนในฐานะผู้รับสาร เพราะประชาชนจะถูกปิดกั้นการรับรู้ในมุมมองที่แตกต่างจากผู้มีอำนาจ

ผลกระทบส่วนหนึ่งคือทำให้สื่ออื่นที่ผลิตและดำเนินการโดยการควบคุมของภาครัฐหรือผู้มีอำนาจไม่กล้านำเสนอมุมมองใดๆ ที่มีความหลากหลายและแตกต่างออกไปอีก เพราะเกรงว่าจะโดนเหมือนคุณอรวรรณ มันก็เป็นเหมือนการควบคุมสื่อในสังกัดของรัฐ แต่ในขณะเดียวกันสื่อที่เป็นของเอกชน อย่างกรณีของวอยซ์ทีวีก็ถูกแทรกแซงโดยองค์กรของรัฐเช่นเดียวกัน คือ กสทช.ที่มีอำนาจสั่งปิด ระงับ เซ็นเซอร์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เรากำลังจะมีการเลือกตั้ง ในช่วงเวลาที่เรากำลังบอกกับประชาคมโลกว่าประเทศเรามีประชาธิปไตย เรากำลังจะมีการเลือกตั้ง แต่เบื้องหลังยังมีการปิดสื่อ ยังมีการควบคุมสื่อด้วยการปลดผู้ดำเนินรายการ นี่เป็นผลกระทบที่จะส่งไปยังประชาคมโลกด้วยว่า ประเทศไทยไม่ได้มีประชาธิปไตยอย่างที่คนทั่วไปกำลังมอง

สำหรับรายการคนใหม่การเมืองใหม่ : รายการพิเศษ การ #ประชันวิสัยทัศน์ 10 นักการเมืองรุ่นใหม่ ครั้งที่ 2 มองว่า รูปแบบของรายการมีลักษณะการนำเสนอที่แตกต่างจากรายการทั่วๆ ไปคือ มีการนำเอาคนรุ่นใหม่ที่เป็นผู้สมัครหน้าใหม่ มีการนำนักศึกษาที่เป็นเฟิร์สโหวตเตอร์มาร่วมรายการ โดยเป็นนักศึกษาที่มาจากหลากหลายสถาบันมากทั้งจากภาคเหนือภาคใต้ภาคอีสาน รวมทั้งจากกรุงเทพฯ เป็นความพยายามของผู้ผลิตรายการที่จะทำให้รายการแตกต่างออกไป นอกจากนี้ผู้เข้าร่วมรายการได้แสดงทรรศนะในคำถามต่างๆ ร่วมไปกับผู้สมัครหน้าใหม่ทั้ง 10 คนด้วย และผู้ดำเนินรายการก็ทำหน้าที่ได้ดีทั้ง 2 คน ถือเป็นมิติใหม่ในการนำเสนอรายการทีวีทางการเมืองที่น่าสนับสนุนอย่างยิ่ง แต่เนื้อหารายการเราฟังดูแล้วก็มีทรรศนะมุมมองที่สะท้อนการเมืองในเมืองไทยอย่างชัดเจน แต่อาจจะไม่ถูกใจผู้มีอำนาจ จึงเกิดปรากฏการณ์ปลดพิธีกร

ทางออกในเบื้องต้นนั้นสิ่งหนึ่งที่จะดำเนินการได้คือ สหภาพของ อสมท จะต้องออกมาเคลื่อนไหวเพื่อที่จะปกป้องสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนของคุณอรวรรณว่าอำนาจของผู้ที่จะสั่งปลดได้มันไม่ควรจะเป็นอำนาจของบอร์ดที่สั่งการลงมาในลักษณะเช่นนี้ และควรจะชี้แจงแสดงเหตุผลให้ชัดเจนว่าคุณอรวรรณผิดตรงไหน ไม่ใช่การปลดเพราะไม่พอใจในเนื้อหารายการที่ไม่ตรงใจ แต่ต้องมีเหตุผล

ถ้าสหภาพเคลื่อนไหวแล้วบรรดาประชาชนที่ชมรายการช่วยกันในการที่จะตอบรับสนับสนุนว่าการกระทำแบบนี้ไม่ถูกต้อง ก็จะเป็นเสียงสะท้อนให้ อสมท ได้รับทราบว่าการกระทำแบบนี้เป็นการปิดกั้นเสรีภาพของสื่อและเป็นการปิดกั้นการรับรู้ของประชาชน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image