รายงานหน้า 2 : เสวนาเลือกตั้งระบบใหม่ กฎเหล็กกับผลสำรวจ ‘ปชช.’

หมายเหตุคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ จัดเสวนา “การเลือกตั้ง แบบ 3 อิน 1 กับผลทางการเมืองและการใช้สิทธิของประชาชน” มีนักวิชาการ และคณะกรรมการการเลือกตั้ง ร่วมอภิปราย โดยมี ผศ.ดร.วรรณภา ติระสังขะ เป็นผู้ดำเนินรายการ ที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 6 มีนาคม


 

ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล
รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและความยั่งยืน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ระบบเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 เป็นระบบจัดสรรปันส่วน ซึ่งน่าคิดว่าคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญมีเจตนาอะไรจึงเลือกใช้ระบบการเลือกตั้งแบบนี้ เพราะจะเกิดผลกระทบคือ 1.ประชาชนสูญเสียสิทธิที่เคยเลือกผู้สมัครแบบเขตและแบบบัญชีรายชื่อที่แตกต่างกันคนละพรรคได้ เช่น ประชาชนที่ชอบตัวบุคคล แต่กลับชอบนโยบายอีกพรรค จะตัดสินใจเลือกอย่างไร 2.การเลือกตั้งครั้งนี้มีจำนวนผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขตมากที่สุดตั้งแต่มีการเลือกตั้งมา จากเดิมในปี 2554 มีผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขต 2,422 คน แต่ในปีนี้มีมากถึง 11,181 คน ซึ่งมากกว่าเดิมถึง 4 เท่า โดยส่วนใหญ่ที่ส่งผู้สมัครก็ไม่ได้หวังชนะ แต่หวังบัญชีรายชื่อ จึงส่งผู้สมัครให้ครบทุกเขต ทำให้มีป้ายหาเสียงมากขึ้น และ กกต.ใช้เวลาไปกับผู้สมัครมากขึ้น 3.พรรคใหญ่ที่สุดจะได้ ส.ส.น้อยลง ทำให้เกิดการแตกตัวของพรรคใหญ่ เพื่อแบ่งอาหาร เพื่อให้ยอดรวม ส.ส. ไม่น้อยไปกว่าเดิมที่เคยได้

Advertisement

เมื่อคาดการณ์ผลทางการเมือง ที่จะเกิดจากระบบเลือกตั้งจัดสรรปันส่วนผสม กล่าวคือ 1.ไม่มีพรรคใดได้ ส.ส.ถึงครึ่ง หรือ 250 คน เพราะตั้งแต่ที่มีการเลือกตั้ง มีเพียงครั้งเดียวคือพรรคไทยรักไทย ที่ได้ ส.ส.เกินครึ่ง ก็ยังได้เกินมาแค่นิดเดียว

2.จำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อจะมีน้อยกว่าจำนวนที่จะต้องจัดสรรให้แต่ละพรรคตามที่พึงมีได้

3.เกิดการเมืองแบบ 3 ก๊ก คือเพิ่มขั้วพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งถ้า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเป็นนายกฯต่อ จะต้องมี ส.ส.สนับสนุนอย่างน้อย 250 เสียง แต่จะสามารถรวมเสียงจากพรรคเพื่อไทยหรือประชาธิปัตย์ได้หรือไม่ ดังนั้น ในการตั้งรัฐบาล ผลคือจะอยู่ไม่ได้ เพราะสภาผู้แทนฯไม่ถึงครึ่ง เกิดเสียงข้างน้อยในสภา

4.นายกรัฐมนตรีจะมาจากว่าที่นายกรัฐมนตรีของพรรคไม่เกิน 5-6 พรรค

5.โอกาสของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่จะเป็นนายกฯในการเมืองแบบ 3 ก๊ก มีโอกาสเดียวคือพลังประชารัฐได้คะแนน ส.ส.มาเป็นอันดับหนึ่ง จึงจะมีความชอบธรรมและยกมือให้ได้

นอกจากนี้ ปัญหาเรื่องคุณสมบัติว่าที่นายกฯ กับการเลือก ส.ว.จะกลายเป็นจุดอ่อน เพราะการคลายล็อกมีผลทำให้ ส.ส. มีอิสระจากคำสั่งพรรคการเมืองมากกว่าเดิม มีโอกาสจะเกิดงูเห่าในพรรค คือไปร่วมกับพรรคอื่น

ดังนั้น พรรคการเมืองจะปล่อยให้งูเห่าอยู่ต่อไป เพราะการขับออกจะเป็นการเติมเสียงให้รัฐบาลเดิมได้

ทั้งนี้ ประเด็นนายกฯจะต้องไม่มีคุณสมบัติต้องห้ามในการสมัคร ส.ส. ซึ่งมีข้อที่เกี่ยวกับข้อง พล.อ.ประยุทธ์ คือมาตรา 98 ที่ระบุ บุคคลผู้มีลักษณะต้องห้ามไม่ให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.

ในมาตรา (12) คือ เป็นข้าราชการ ซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ นอกจากข้าราการการเมือง และมาตรา (15) เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานราชการ หน่วยงานรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ

คำถามคือ คสช.เป็นเจ้าหน้าที่รัฐหรือไม่ จึงคิดว่าเมื่อเลือกตั้งแล้วเสร็จจะเกิดการเรียกร้องให้ ส.ว.ฟรีโหวต

6.โอกาสของพรรคเพื่อไทยและประชาธิปัตย์ ตัวแปรอยู่ที่พรรคภูมิใจไทย เพราะพรรคที่ได้ ส.ส.มากกว่า ไม่ได้หมายความว่าจะได้เป็นนายกฯเสมอไป เนื่องจากไม่สามารถมีเสียงถึง 376 เสียงได้ ดังนั้นหาก พปชร.ไม่ได้ที่หนึ่ง แล้วยอมถอย ก็จะมองข้ามพรรคภูมิใจไทยไม่ได้ เพราะเป็นตัวเลือกที่มีศักยภาพมากพอที่จะเป็นตัวกลางให้รวมเสียงได้ 376 เสียง

7.เชื่อว่าไม่มีนายกฯคนนอก แต่จะจบในรอบคนใน เพราะ 500 เสียงนั้น ได้มายากราวกับตั้งขึ้นมาเพื่อให้เปิดรอบนายกฯคนนอกไม่ได้

ดังนั้น นายกฯคนนอกเป็นเพียงช่องทางฉุกเฉินซึ่งไม่คิดว่าจะเกิด สุดท้ายแล้วจะเลือกนายกฯกันได้ เพราะหากเลือกไม่ได้จะทำให้เกิดบทเฉพาะกาล ซึ่งส่งผลให้ คสช.ได้อยู่ต่อ

เมื่อการคาดการณ์พฤติกรรมการใช้สิทธิในการเลือกตั้ง พบว่า 1.มีประชาชนที่ลังเลใจอยู่ 2.พฤติกรรมการเลือกตั้งของผู้เลือกตั้งครั้งแรก เชื่อว่าผู้ที่ยังไม่ตัดสินใจและผู้ออกเสียงครั้งแรกมีแนวโน้มว่าอาจจะไม่เลือกทั้งสองข้างคือ ไม่ชอบทั้ง คสช.และทักษิณ แต่แนวโน้มจะออกไปที่พรรคใหม่มากกว่าพรรคเก่า อย่างพรรคอนาคตใหม่ จึงกลายเป็นเป้าจากทั้ง 3 ก๊ก

3.การซื้อเสียงจะไม่ได้ผล เพราะพฤติกรรมคนเปลี่ยนไป ประชาชนจะรับเงินจากทุกคนที่ให้ แต่จะเลือกคนที่อยากเลือก

ในส่วนของอำนาจหน้าที่ของ กกต.ที่มากกว่าเดิมคือ 1.สั่งเลือกตั้งใหม่ได้หากเห็นการทุจริต 2.ระยะเวลา แม้ว่าครั้งนี้เพิ่มเป็น 60 วัน แต่จะจบใน 45 วัน เพื่อหลีกเลี่ยงการเลือกตั้งที่เป็นโมฆะ จึงต้องประกาศก่อน 9 พฤษภาคม ซึ่งอาจจะอยู่ช่วงวันที่ 7-8 พฤษภาคม

3.จากเดิมมีใบเหลืองและแดง ตอนนี้มีใบส้มและใบดำ ซึ่งจะทำให้เกิดการสับสนและซับซ้อนมากกว่าเดิม จึงน่าคิดว่าดีกว่าเดิมหรือทำให้การเลือกตั้งบริสุทธิ์ได้มากกว่าเดิมหรือไม่

นอกจากนี้ กกต. 7 คน ก็แต่งตั้งโดย สนช. ซึ่งมาจาก คสช.เลือก ดังนั้น กกต.จึงต้องแสดงการทำหน้าที่อย่างเที่ยงตรงจึงจะทำให้การเลือกตั้งไม่มีปัญหา เพราะถ้าคนสงสัยจะกระทบกับการเลือกตั้งทั้งหมดได้


ดร.สติธร ธนานิธิโชติ
นักวิชาการชำนาญการ สำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า

สถาบันพระปกเกล้าได้สำรวจว่าตอนเลือกตั้งปี 2554 ประชาชนได้ไปเลือกตั้งหรือไม่ ใช้เกณฑ์อะไรในการเลือกผู้สมัคร คำตอบตามลำดับคือ 1.เลือกจากนโยบายของพรรค 2.เลือกจากคุณสมบัติของผู้สมัครในเขต 3.เลือกจากพรรคการเมือง และ 4.เลือกจากหัวหน้าพรรค

และการสำรวจการเลือกตั้งครั้งนี้ได้ข้อมูลคล้ายกับการตัดสินใจปี 2554 โดยการสำรวจครั้งที่ 2 ช่วงปีใหม่ ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะได้เลือกตั้งหรือไม่และเมื่อไหร่ พบว่าคนจะเลือกจากชื่อแคนดิเดตเพิ่มมากขึ้น ครั้งที่ 3 หลังจากปิดรับสมัคร ส.ส.วันที่ 8 ก.พ.คำตอบที่ได้ค่อนข้างน่าตกใจ คือคนเลือกจาก 1.ตัวผู้สมัคร 2.นโยบาย 3.สังกัดพรรค และชื่อนายกฯมาเป็นอันดับสุดท้าย และสองสัปดาห์หลังจากนั้น คำตอบยังยืนยันที่ตัวบุคคล พรรคมาที่สอง และชื่อนายกฯมาที่สามเหมือนเดิม

ทั้งนี้ เกิดจากการขับเคลื่อนของพรรคและการเดินหาเสียงของผู้สมัครมาอย่างเข้มข้น เมื่อถามว่าประชาชนจะเลือกจากอะไร ก็ได้คำตอบว่าจะจำจากชื่อสกุลของผู้สมัคร

ซึ่งน่ากังวลเพราะไม่มีชื่อผู้สมัครอยู่ในบัตรเลือกตั้ง ทำให้มีโอกาสที่การลงคะแนนจะผิดจากเจตนารมณ์ของของผู้ลงคะแนน แต่ทั้งนี้จะไม่เป็นบัตรเสีย เพราะกาได้แค่ครั้งเดียว

อย่างไรแล้วคะแนนก็น่าจะตกอยู่ในหมายเลขใดหมายเลขหนึ่ง นอกจากนี้ป้ายหาเสียงก็เน้นขายผู้สมัครเป็นหลัก แต่ลืมว่าบัตรเลือกตั้งไม่มีรูปใบหน้า พรรคการเมืองจึงควรเอาสิ่งที่อยู่ในบัตรเลือกตั้ง เช่น เบอร์ผู้สมัคร หรือชื่อพรรค มาเพื่อการประชาสัมพันธ์มากกว่า

การสำรวจครั้งที่ 4 ถามว่าคุณสมบัติของนายกฯแบบไหนที่อยากได้ คำตอบที่น่าสนใจของผู้สมัครแบ่งเขต คือ 1.ความซื่อสัตย์และคุณธรรม 2.มีวิสัยทัศน์ก้าวหน้า 3.ความสามารถในการแก้ปัญหาในพื้นที่ 4.การนำเงินมาพัฒนาพื้นที่ หมายความว่า ส.ส.ที่ในอดีตเคยทำงานในพื้นที่จะได้เปรียบ ที่น่าสนใจอีกประการคือ คุณสมบัติของนายกฯ สิ่งที่ประชาชนมองว่าไม่จำเป็น คือ 1.การมีวาทศิลป์ในการพูด หมายความว่าไม่ต้องพูดเก่งก็ได้ 2.ไม่จำเป็นต้องมีประสบการณ์ทางการเมือง และ 3.ไม่จำเป็นต้องมีความสามารถในการสื่อสารภาษาอังกฤษ

คนยังมีอคติอยู่ 3 เรื่องในระบบการเลือกตั้ง เพราะ 1.คนมักมองว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ออกแบบมาเพื่อไม่ให้มีพรรคใหญ่ ซึ่งตัวระบบไม่ได้มีอคติในการสกัดกั้นเช่นนั้น 2.กลยุทธ์การแตกพรรค ไม่ได้เป็นสิ่งที่ผู้ร่าง รธน.จงใจเป็นปัญหาของการแก้เกม เพราะสุดท้ายก็ขึ้นอยู่กับคะแนนเสียง ซึ่งก็ไม่แน่ว่าแผนแตกแบงก์พันเป็นแบงก์ร้อยจะได้ผลหรือไม่ 3.ผู้สมัคร ส.ส.มากที่สุดในสถิติที่ผ่านมา จากการเลือกตั้ง ปี 2554 สะท้อนว่า รอบนี้เป็นครั้งแรกที่คนไทยต้องรักเดียวใจเดียว ซึ่งนับว่าเป็นความท้าทาย และเราต้องการบิ๊กดาต้าเกี่ยวกับการลงคะแนนของประชาชน เพื่อจะได้รู้จำนวนคนมาใช้สิทธิ และเพื่อได้รู้ตัวเลขของเฟิร์สต์ไทม์โหวตเตอร์ เพื่อที่จะได้คิดกลยุทธ์ว่าจะทำอย่างไรให้คนมาเลือกตั้งมากขึ้น


ผศ.ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว
ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายสื่อสารองค์กร
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เราได้สำรวจความคิดเห็นประชาชนที่เป็นผู้โหวตครั้งแรก ซึ่งเป็นคำถามพื้นฐานที่ต่างประเทศทำ คือถามทัศนคติต่อประชาธิปไตย ต่อประเทศไทย และความรู้ความเข้าใจทางด้านการเมือง รวมทั้งความยากง่ายของระบบการเลือกตั้งจะส่งผลต่อการตัดสินใจเลือกด้วย

พบว่า คนคิดว่าเรายังใช้บัตรเลือกตั้งสองใบอยู่ บางคนเข้าใจว่าบัตรใบเดียวกาได้ 3 อย่าง ซึ่งในปี พ.ศ.2548 ก็มีการสำรวจ ซึ่งคนตอบไม่ได้ว่าตัวเองอยู่ในกลุ่มจังหวัดอะไร แต่สุดท้ายก็พาตัวเองไปเลือกตั้งจนได้ผลออกมา จึงมีความย้อนแย้งว่าระบบการเลือกตั้งซับซ้อนหรือไม่

ซึ่งอยู่ที่มุมมองของแต่ละคน แต่คำถามคือเราได้สร้างความเข้าใจในการเลือกตั้งดีพอหรือไม่ เพราะถ้าคนไม่เข้าใจ เสียงในการโหวตก็จะเพี้ยนไปจากเจตนารมณ์ของประชาชน

ในทางวิชาการ ประชาชนมีพฤติกรรมทางการเมืองขึ้นอยู่กับความเข้าใจและความสนใจทางการเมือง สุดท้ายแล้ว ถ้ากลับไปดู พ.ร.บ.ประกอบพรรคการเมือง พรรคการเมืองจะต้องแจ้งว่าใช้เงินเท่าไหร่เพื่อทำตามนโยบายอะไร ซึ่งเข้าใจว่าส่งไปที่ กกต.

แต่ได้ยินล่าสุดว่าอยู่กับพรรคการเมือง ซึ่งข้อมูลส่วนนี้มีความสำคัญเพราะจะเป็นตัวช่วยให้คนตัดสินใจเลือกพรรคการเมืองได้

ดังนั้นขอแรง กกต. อยากฝากว่า ในขณะที่เรามีพรรคการเมืองลงสนามกว่า 100 พรรค และแต่ละพรรคไม่ได้เกิดขึ้นชั่วข้ามคืน ดังนั้น หลังการเลือกตั้งควรทำให้พรรคการเมืองมีความเป็นสถาบัน

โดยข้อมูลเกี่ยวกับนโยบาย เรื่องความคุ้มค่าของการทำตามนโยบาย ว่าเงินนั้นจะหาได้จากที่ไหน จะสามารถรวบรวมให้ดูได้หรือไม่ หรือจะปล่อยให้นักการเมืองขายฝันเช่นนี้ต่อไป

 

กฤช เอื้อวงศ์
รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

การเลือกตั้ง กกต.วางหลักไว้ 4 เรื่อง คือ 1.ความอิสระ ประชาชนต้องมีอิสระและสะท้อนเจตนารมณ์ของตัวเอง แต่คำถามคือการเลือกตั้งรูปแบบนี้จะเป็นไปได้ตามที่คนต้องการหรือไม่ 2.ระยะเวลาการประกาศผล จะมีปัญหา เพราะยังเถียงกันไม่จบว่า 150 วัน รวมการประกาศผลหรือไม่ ต่อไปจึงควรต้องเขียนกฎหมายให้ชัดเจน เพื่อป้องกันไม่ให้การเลือกตั้งกลายเป็นโมฆะ 3.ความยุติธรรม ปกติการทำประชามติ จะต้องรับฟังความเห็นจากทั้งสองฝ่ายทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย โดยได้แสดงความเห็นอย่างเท่าเทียมกันเพื่อให้คนได้มีโอกาสในการตัดสินใจ ต้องดูว่ากฎหมายเป็นธรรมจริงหรือไม่ การบังคับใช้เป็นธรรมหรือไม่ ผู้เล่นในระบบเข้าใจและเคารพในกติกาด้วยหรือไม่ ไม่ใช่การพยายามหาช่องว่างเพื่อเข้าไปแหย่สุดท้ายประชาชนเข้าใจในบทบาทหน้าที่หรือไม่ นี่คือสิ่งที่ต้องคำนึง 4.การลงคะแนนลับ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ เพราะตัวอย่างจากการเลือกตั้ง เมื่อปี พ.ศ.2549 เราถูกทำให้เป็นเป็นโมฆะ เพราะไม่ได้มีการลงคะแนนลับเกิดขึ้น

ทั้งนี้ การเลือกตั้งที่อยากเห็นคือ มีแนวโน้มเรื่องการเปลี่ยนแปลงระบบการเลือกตั้งให้เสถียร เพราะเลือกตั้งแต่ละครั้ง กติกาเปลี่ยนแปลงตลอด ควรจะทำให้เสถียรเพื่อที่ประชาชนจะได้เข้าใจแน่ชัด

ในฐานะที่ กกต.มีหน้าที่และอำนาจในการจัดการเลือกตั้ง การจัดเลือกตั้งให้แล้วเสร็จทำได้ไม่ยาก เพราะที่ผ่านมาก็ทำมาแล้ว แต่การทำให้ “สำเร็จ” นั้นทำได้ยากกว่า เพราะต้องมีทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ คือวัดผลได้ ที่วางเป้าไว้คือมีคนไปใช้สิทธิเลือกตั้งให้มากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ และบัตรเสียไม่เกินร้อยละ 2

คำว่าพลเมืองคุณภาพ คือคนใช้สิทธิมีความรู้ความเข้าใจในความต้องการของตัวเอง โดยไม่ได้ขายเสียง

สุดท้ายการเลือกตั้งต้องเป็นที่ยอมรับ เพราะถ้ามีการประท้วงไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งก็จะไม่จบ บ้านเมืองจะเดินต่อไปไม่ได้ ดังนั้น เป้าหมายสุดท้ายคือ การเลือกตั้งต้องมีคุณภาพ โดยพลเมืองคุณภาพ และเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image