อาฟเตอร์ช็อกการเมือง หลังยุบพรรค ‘ไทยรักษาชาติ’

หมายเหตุ – เป็นความเห็นต่อกรณีการยุบพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ส่งผลกระทบอย่างไรต่อทิศทางการเมือง ตลอดจนการรณรงค์หาเสียงของพรรคการเมืองต่างๆ จนถึงวันเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคม


โอฬาร ถิ่นบางเตียว
คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ม.บูรพา

ต้องเข้าใจก่อนว่า พรรคไทยรักษาชาติตั้งขึ้นมาภายใต้ยุทธศาสตร์การแตกแบงก์พันของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ดังนั้น ถ้ามองจากความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างพรรคไทยรักษาชาติกับเครือข่ายทักษิณ และความสัมพันธ์ระหว่างพรรคกับ คสช. เมื่อพรรคไทยรักษาชาติถูกยุบ คะแนนกลุ่มนี้จะกลับไปสู่ฐานแม่อย่างพรรคเพื่อไทยก่อน รวมถึงกลุ่มที่มีจุดยืนทางการเมืองเดียวกัน หรือฝ่ายตรงข้าม คสช. อาทิ พรรคอนาคตใหม่ พรรคเพื่อชาติ

พรรคที่เสียเปรียบจากเหตุการณ์นี้ คือพรรคไทยรักษาชาติเอง แต่พรรคที่ได้เปรียบคิดว่าเป็นพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งพรรคนี้มีความเว้นระยะห่างและแสดงจุดยืนทางการเมืองหลายๆ อย่างที่ไม่เป็นส่วนหนึ่งของนายทักษิณ แต่เป็นแนวร่วมต่อต้าน คสช.

Advertisement

นอกจากนี้ยังมีคนจำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่รู้สึกไม่ค่อยอินหรือไม่ค่อยชอบแนวพรรคเพื่อไทย ซึ่งมองว่าเป็นพรรคที่มีความใกล้ชิดนายทักษิณมากเกินไป แต่พรรคไทยรักษาชาติเว้นออกมาระยะหนึ่งแล้ว ถามว่ามีความใกล้ชิดไหม ก็มี แต่มีความเว้นระยะห่างได้ระดับหนึ่ง มีความเป็นคนรุ่นใหม่ เมื่อถูกยุบพรรคไปก็เป็นไปได้ว่าพรรคอนาคตใหม่อาจได้เปรียบจากสถานการณ์ทางการเมืองในช่วงเวลานี้ แน่นอนว่าคนกลุ่มนี้ไม่มีทางสนับสนุนพรรคพลังประชารัฐหรือพรรคที่เป็นแนวร่วมรัฐบาล คิดว่าจะเทไปฝ่ายตรงข้ามซึ่งให้น้ำหนักไปที่พรรคอนาคตใหม่ ซึ่งอาจจะได้ประโยชน์สูงสุด

หากมีการเลือกตั้งจะเป็นกังวลว่าถ้าผลเลือกตั้งออกแล้ว ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะยอมรับมติการเลือกตั้งหรือไม่ เช่น ฝั่งพลังประชารัฐและเครือข่ายชนะ ฝ่ายตรงข้ามจะยอมรับผลการเลือกตั้งหรือไม่ เช่นเดียวกัน ถ้าฝั่งเพื่อไทยหรือฝั่งของคุณทักษิณชนะ ฝ่ายพลังประชารัฐจะรับปากในการไม่ทำรัฐประหารหรือยอมรับมติการเลือกตั้งหรือไม่

ดังนั้น จึงเป็นกังวลกับผลการเลือกตั้งที่อาจมีกลุ่มการเมืองหรือมวลชนที่ไม่ยอมรับผลเลือกตั้ง ซึ่งจะเป็นจุดเกิดเหตุสำคัญที่นำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมืองรอบใหม่ที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น

Advertisement

 

ผศ.ดร.จันจิรา สมบัติพูนศิริ
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

จากกระแสตอนนี้ เป็นไปได้ว่าเสียงส่วนหนึ่งจะไปตกที่พรรคอนาคตใหม่ ซึ่งอนาคตใหม่มีจุดเด่นอยู่ที่กรุงเทพฯ หรือตัวเมือง แต่ไทยรักษาชาติมีเสียงจำนวนมากอยู่ที่ภาคอีสาน จึงไม่แน่ใจว่าเสียงจากไทยรักษาชาติจะโอนมาที่อนาคตใหม่เต็มๆ หรือไม่ เพราะก็มีพรรคอื่นที่หน้าตาคล้ายกัน เช่น พรรคเสรีรวมไทย ดังนั้น จึงขึ้นอยู่กับพรรคเพื่อไทยและเครือข่ายว่าจะสามารถจัดการฐานเสียงของไทยรักษาชาติให้ไปยังพรรคในเครือข่ายได้หรือไม่ แต่ถ้าพูดถึงการเมืองแบบที่เล่นตามกติกาตามเนื้อผ้า ก็ไม่มีทางที่เสียงเหล่านี้จะไปฝั่งตรงข้ามได้แบบร้อยเปอร์เซ็นต์

ผู้ที่ได้ประโยชน์จากกรณีการยุบพรรคไทยรักษาชาติ คือฝั่งที่เดินแต้มโต้กลับ แต่อย่างไรก็ตาม เสียงจากไทยรักษาชาติจะไม่โอนมาอีกฝั่ง เพราะมีเส้นแบ่งอยู่ เนื่องจากฐานเสียงของไทยรักษาชาติคือกลุ่มเสื้อแดงหรือฝ่ายประชาธิปไตย ส่วนพรรคเพื่อไทยเสียประโยชน์แน่นอน จากที่มีความหวังเล็กๆ ว่าจะได้เป็นรัฐบาล แต่เพราะเข้าใจสภาพความเป็นจริง จึงน่าจะคิดว่าอย่างน้อยถ้าเป็นฝ่ายค้านก็จะเป็นฝ่ายค้านที่เสียงมากกว่ารัฐบาลแล้วจะสามารถทำอะไรได้มากขึ้น เมื่อเป็นเช่นนี้ อำนาจการต่อรองในสภาก็จะน้อยลงอย่างแน่นอน

5 ปีที่ผ่านมา ความขัดแย้งไม่ไปไหนเพราะถูกกดเอาไว้ ก่อนหน้าการรัฐประหารเส้นแบ่งความขัดแย้งคือเสื้อเหลืองเสื้อแดง แต่การเลือกตั้งครั้งนี้ความขัดแย้งจะปรากฏขึ้นอีก โดยมีแนวโน้มว่าเส้นแบ่งนี้จะชัดเจนมากขึ้นและมีการสร้างรอยแยกใหม่ที่ซ้ำกับรอยแยกเดิม เพียงแต่เปลี่ยนรูปร่าง และเปลี่ยนชื่อ เช่น การที่คนไทยเรียกฝ่ายเรา-ฝ่ายเขา อย่างฝ่ายประชาธิปไตยก็ไม่ได้เรียกตัวเองว่าเป็นเสื้อแดงแล้ว แต่เรียกรวมๆ ว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตย คือมีเครือข่ายที่มากขึ้น

อีกรอยแยกที่เห็นคือรอยแยกระหว่างรุ่น ระหว่างคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่ รอยแยกนี้เปลี่ยนหน้าและขยายตัวในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งการเลือกตั้งในทางหนึ่งก็เป็นการเปิดโอกาสให้คนที่ไม่พอใจในช่วงเวลาดังกล่าวออกมาทำอะไรได้มากขึ้น เราจึงเห็นรอยแยกความขัดแย้งใหม่ๆ โดยเฉพาะจากคนรุ่นใหม่ที่มีปัญหาหลายเรื่อง ไม่เพียงอุดมการณ์ แต่เป็นเรื่องอนาคตของชีวิตและของประเทศไทยที่ไม่ต้องการให้เหมือนกับคนรุ่นก่อนหน้า ดังนั้น แผนยุทธศาสตร์แห่งชาติ 20 ปี หรือรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้สะท้อนอนาคตของคนรุ่นใหม่ แต่กลับกลายเป็นรอยแยกที่เกิดขึ้นในสังคม

ผศ.ดร.พิชิต รัชตพิบุลภพ
ผอ.หลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต ม.ราชพฤกษ์

การเมืองปัจจุบันแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย ที่ชัดเจนคือ ฝ่ายที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯต่อ และฝ่ายที่ไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งพรรคไทยรักษาชาติอยู่ในกลุ่มที่สองนี้ และยังมีพรรคที่ร่วมอุดมการณ์เดียวกัน คือพรรคเพื่อไทย เพื่อชาติ ประชาชาติ อนาคตใหม่ และเสรีรวมไทย เมื่อพรรคไทยรักษาชาติถูกยุบ คะแนนเสียงของพรรคไทยรักษาชาติจะถูกพิจารณาได้ใน 3 ลักษณะกล่าวคือ 1.หากพิจารณาในมิติของพื้นที่ คะแนนเสียงที่สนับสนุนไทยรักษาชาติเดิมน่าจะไปสนับสนุนที่ 3 พรรคดังต่อไปนี้ ได้แก่ พรรคเพื่อชาติ อนาคตใหม่ และเสรีรวมไทย เนื่องจากทั้ง 3 พรรคส่งผู้สมัคร ส.ส.ครบทั้ง 350 เขต และมีอุดมการณ์ไปในทางเดียวกันกับไทยรักษาชาติ จึงสามารถตอบโจทย์ต่อประชาชนในพื้นที่เพื่อให้ทุกคะแนนเสียงของตนเกิดประโยชน์สูงสุดภายใต้วิธีการนับคะแนนแบบใหม่ของบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้

2.หากพิจารณาในมิติของมวลชนที่สนับสนุนอย่างเหนียวแน่น ได้แก่ ทีมงาน ผู้สนับสนุนที่ใกล้ชิดของผู้สมัครแต่ละท่าน คะแนนเสียงตรงนี้อดีตผู้สมัครของไทยรักษาชาติน่าจะมีส่วนสำคัญต่อการตัดสินใจในการลงคะแนนเสียงของมวลชนเพื่อสนับสนุนพรรคที่มีแนวทางสอดคล้องกับอุดมการณ์ของพรรคไทยรักษาชาติเดิม และ 3.หากพิจารณาในมิติของประชาชนที่ไม่ได้เป็นผู้สนับสนุนที่ใกล้ชิด แต่ชื่นชอบอุดมการณ์ของพรรคไทยรักษาชาติ เชื่อว่าคะแนนเสียงของประชาชนในส่วนนี้จะถูกแบ่งใหม่ออกตามช่วงอายุกล่าวคือ กลุ่มผู้ลงคะแนนที่เป็นวัยรุ่นคะแนนเสียงน่าจะไปอยู่ที่พรรคอนาคตใหม่ ส่วนผู้ลงคะแนนวัยกลางคนหรือสูงอายุคะแนนเสียงน่าจะไปสนับสนุนที่พรรคเพื่อชาติ หรือเสรีรวมไทย แต่ไม่มีทางที่ผู้สนับสนุนไทยรักษาชาติเดิมจะย้ายไปสนับสนุนฝ่ายที่สนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯต่อเพราะขัดกับแนวคิดดั้งเดิมของเขา

การเมืองภายหลังจากวันที่ 24 มีนาคม จะมีความเป็นไปได้ของสองสมการการเมืองที่สำคัญ โดยมีพรรคประชาธิปัตย์เป็นตัวแปรที่สำคัญ คือ สมการที่ 1 พรรคพลังประชารัฐร่วมมือทำงานกับพรรคประชาธิปัตย์ ในสมการนี้พรรคพลังประชารัฐมีความจำเป็นต้องได้รับคะแนนเสียง ส.ส.มากกว่าพรรคประชาธิปัตย์เพื่อสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ให้เป็นนายกฯ ต่อ

ส่วนสมการที่ 2 ซึ่งคนไทยส่วนใหญ่คิดว่าไม่น่าที่จะเป็นไปได้ คือการที่พรรคประชาธิปัตย์ร่วมมือกับพรรคเพื่อไทย ทั้งในฐานะรัฐบาล หรือในฐานะฝ่ายค้าน ซึ่งข้อดีของสมการนี้คือ การเกิดสัญญาณของความร่วมมือซึ่งเรื่องดังกล่าวส่งผลที่ดีต่อประเทศอย่างมากและน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของสัญญาณแห่งความปรองดอง เพราะเมื่อคนได้มีโอกาสมาร่วมมือกันทำงานก็อาจจะมีความเข้าใจในมุมมองทางการเมืองของกันและกันมากขึ้น

นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ
รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)
ดูแลพื้นที่ภาคใต้

ผมไม่ขอวิจารณ์ในเรื่องของการยุบพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) เนื่องจากเป็นเรื่องของทางกฎหมายที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติวินิจฉัยออกมาแล้ว ซึ่งถือว่าเป็นคำตัดสินที่ตกผลึกและยุติเรียบร้อยแล้ว เราในฐานะนักการเมืองก็ต้องยอมรับตามนั้น อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะขาดพรรคการเมืองไปหนึ่งพรรค ผมว่าประเทศนี้ยังมีพรรคการเมืองอีกเป็น 100 พรรค ประชาชนที่ยังมีสิทธิเลือกตั้ง ต้องเลือกพรรคอื่นๆ ต่อไป เพราะการขาดพรรค ทษช.ไปหนึ่งพรรค ก็ไม่ได้สามารถบอกได้ว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ประเทศไทยจะล่มจมเสียเมื่อไร ต้องว่ากันไปและเดินต่อไป

การยุบพรรค ทษช.ในครั้งนี้ ผมยังไม่ได้วิเคราะห์ไปถึงว่า ปชป.จะได้เปรียบเสียเปรียบอย่างไรบ้าง แต่เราก็พยายามบอกว่า เมื่อพรรคการเมืองได้ทำผิดกฎหมายแล้วศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยถึงที่สุดแล้ว เราต้องยอมรับกระบวนการของศาล ส่วนพี่น้องประชาชนที่เดิมที่ตัดสินใจจะเลือกพรรค ทษช.ก็ต้องดูหาพรรคการเมืองใหม่ที่สามารถบริหารประเทศชาติได้โดยความเรียบร้อย ถ้าประชาชนศรัทธาพรรค ปชป.เขาก็จะเลือก ปชป.เอง แต่ถ้าประชาชนไม่ศรัทธาพรรค ปชป. เขาก็จะเลือกพรรคอื่น ถือเป็นเรื่องธรรมดา

ส่วนกระแสการหาเสียงทางพรรคใต้หลังจาก ทษช.โดนยุคนั้น ยังเป็นปกติไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง แม้ว่าพรรค ทษช.จะส่งผู้สมัครเขตทางพรรคใต้จำนวนมาก แต่การหาเสียงเราก็เหมือนม้าลำปาง เราไม่ได้ดูว่าคู่แข่งเป็นยังไง แต่เราก็เดินหน้าของเราไปอย่างเต็มที่ ซึ่งเราหาเสียงกันต่อไปโดยที่จะไม่กระทำให้กระทบกระเทือนต่อพรรคการเมืองอื่น อุดมการพรรคการเมืองอื่นว่าอย่างไรก็เป็นเรื่องของเขา ส่วน ปชป.มีนโยบายอย่างไร เราก็ต้องว่ากันไปเป็นอีกเรื่องหนึ่งและต้องทำความเข้าใจกับประชาชนไป

พรรณิการ์ วานิช
โฆษกพรรคอนาคตใหม่ (อนค.)

เราไม่ได้พูดถึงคะแนนเสียงว่าจะเทไปทิศทางใดเป็นหลัก แต่จากแถลงการณ์ของพรรคที่ออกมาเราพูดถึงความร้ายแรงเชิงหลักการในเวลา 17 วันก่อนการเลือกตั้งมีการยุบพรรคการเมืองพรรคหนึ่งที่จะมีประชาชนมาลงคะแนนเสียงให้แน่ๆ พรรคการเมืองควรจะตั้งง่ายยุบยาก ไม่เหมือนวันนี้ที่ยุบง่าย เพราะจะทำให้การเลือกตั้งไม่เสรีเป็นธรรม ทำให้การเลือกตั้งไม่ได้รับการยอมรับจากสากล ซึ่งเรื่องคะแนนจะเป็นแบบไหนอย่างไร จะเทไปที่ไหนพรรคไม่ได้มียุทธศาสตร์จำเพาะ เพราะเชื่อว่าคะแนนที่มีอยู่นั้นมากพอ และอีก 16 วันที่เหลือก็จะทำได้มากขึ้นไปอีกเรื่อยๆ แต่ประชาชนที่อยากเลือก ทษช.แต่ไม่มีให้เลือก เพราะโดนตัดตัวเลือกออกไปนั้นน่าจะเป็นคนที่ไม่เห็นด้วยกับการสืบทอดอำนาจของ คสช. พรรคที่จะเลือกเมื่อไม่มี ทษช. คงเป็นพรรคที่มีจุดยืนเดียวกันและคงไม่ข้ามไปเลือกพรรคที่สนับสนุนเผด็จการ แต่เราจะไปตักตวงคะแนนอะไรหรือไม่นั้นก็เป็นไปตามธรรมชาติ ประชาชนมีวิจารญาณของตัวเองคงจะเลือกพรรคที่ใกล้เคียงกับ ทษช.

ส่วนการประเมินในส่วนของภาคใต้ที่ไม่มีผู้สมัครของพรรคเพื่อไทยนั้น ยืนยันว่าพรรค อนค.ส่งครบ 350 เขตทั่วประเทศ ฉะนั้นไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับพรรคเพื่อไทยและ ทษช.ที่หายไป ซึ่งขณะนี้ตัวเลขจำนวนที่นั่งของพรรคที่ดูจากหลายโพลเป็นตัวเลขที่ดี แต่วันหาเสียงที่เหลือทุกอย่างเกิดขึ้นได้เพราะคนยังไม่ตัดสินใจจำนวนมาก ครึ่งหนึ่งของคนทั้งประเทศยังไม่ตัดสินใจ แต่จะตัดสินใจในช่วง 2 สัปดาห์สุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง หากประเมินตัวเลขในช่วงนี้ไปก็อาจจะไม่เป็นจริง การเลือกตั้งครั้งนี้ก็เปลี่ยนไปโซเชียลมีเดียมีผลอย่างมาก คนไม่ได้เลือกตั้งอย่างสมบูรณ์มาเป็นเวลา 8 ปี อยู่ภายใต้ คสช.มา 5 ปีอย่างเปลี่ยนไป ทำให้การประเมินไม่ว่าจะพรรคใหม่หรือพรรคเก่าเป็นเรื่องยาก แต่พรรค อนค.เชื่อว่าน่าจะเป็นการเลือกตั้งที่มีความหวังและได้คะแนนเสียงเป็นที่น่าพอใจมากกว่าที่เป็นอยู่ตอนนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image