หาเสียง‘ประชานิยม’ กับคำถาม‘เงินน่ะ มีไหม’

หมายเหตุ – กระทรวงการคลังตั้งข้อสังเกตนโยบายหาเสียงของพรรคการเมือง ต้องใช้เงินจำนวนมหาศาลที่ผูกพันและเป็นภาระงบประมาณรายจ่ายของประเทศที่มีอยู่จำกัด อาจกระทบต่อรายจ่ายอื่นของประเทศ จากนี้เป็นคำตอบของตัวแทนพรรคการเมืองถึงแนวทางการหาแหล่งเงิน เพื่อดำเนินนโยบายตามที่หาเสียงไว้


กรณ์ จาติกวณิช
รองหัวหน้าพรรค
และประธานกรรมการนโยบายพรรคประชาธิปัตย์

รายละเอียดนโยบายที่ใช้ในการประกาศโฆษณา ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 ระบุว่า “มาตรา 57 การกำหนดนโยบายของพรรคการเมืองที่ใช้ในการประกาศโฆษณา ให้คำนึงถึงความเห็นของสาขาพรรคการเมือง และตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด นโยบายใดที่ต้องใช้จ่ายเงิน การประกาศโฆษณานโยบายนั้น อย่างน้อยต้องมีรายการ ดังต่อไปนี้ (1) วงเงินที่ต้องใช้ และที่มาของเงินที่จะใช้ในการดำเนินการ (2) ความคุ้มค่าและประโยชน์ในการดำเนินนโยบาย (3) ผลกระทบและความเสี่ยงในการดำเนินนโยบาย ในกรณีพรรคการเมืองไม่ได้จัดทำรายการตามวรรคหนึ่ง ให้คณะกรรมการสั่งให้ดำเนินการให้ครบถ้วน และถูกต้องภายในระยะเวลาที่กำหนด” พรรค ปชป.จึงดำเนินการตามบทบัญญัติดังกล่าว ดังนี้

ที่มาของรายได้ที่ใช้ดำเนินโครงการตามนโยบาย 1.ปรับลดงบประมาณบางรายการ เช่น งบกลาง รายการสำรองจ่ายฉุกเฉิน สำนักนายกรัฐมนตรี การลดงบประมาณโครงการเดิมที่มีวัตถุประสงค์เดียวกัน เป็นต้น 2.ภาษีใหม่ที่เพิ่มขึ้นจากกลุ่มผู้มีรายได้สูง 3.เงินกู้ชดเชยการขาดดุลงบประมาณ 4.การเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี 5.รายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ 6.เงินร่วมทุนจากเอกชนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะ

Advertisement

รายละเอียดนโยบายที่ใช้ในการประกาศโฆษณา นโยบาย จำนวนงบประมาณที่ใช้ (ล้านบาท/ปี) การศึกษา 62,348 ล้านบาท สวัสดิการสังคม 148,928 ล้านบาท เกษตรคุณภาพ 130,000 ล้านบาท แรงงาน 50,000 ล้านบาท สาธารณสุข 739 ล้านบาท รวมงบประมาณทั้งหมด 329,015,132 ล้านบาท

รายละเอียดนโยบายที่ใช้ในการประกาศโฆษณา คือ 1.นโยบายเรียนฟรีถึง ปวส. จำนวน 23,852,000,000 บาท เป็นการลงทุนทางการศึกษาเพื่อเพิ่มโอกาสความก้าวหน้าแก่นักเรียน ทางด้านสายอาชีพ ผ่อนปรนภาระผู้ปกครองในการส่งเสริมการศึกษาของบุตรหลาน รวมทั้งตอบสนองการผลิตแรงงานที่มีคุณภาพในการพัฒนาประเทศ

2.นโยบายอาหารเช้า-กลางวัน ถึง ม.3 จำนวน 38,441,000,000 บาท เป็นสวัสดิการแบบถ้วนหน้าให้นักเรียน ตั้งแต่ชั้นนอนุบาลถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 ได้รับอาหารมีคุณภาพถูกหลัก โภชนาการ

Advertisement

3.นโยบายเด็กทุกคนพูดภาษาอังกฤษได้ (ด้วย English for All) 5,500,000,000 บาท เป็นนโยบายการจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษโดยเจ้าของภาษา เน้นทักษะการสื่อสารตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล โดยเฉพาะการพูดและการฟัง พร้อมส่งเสริมให้มีการสร้างบรรยากาศ ที่เอื้อต่อการใช้ภาษาอังกฤษ เพื่อนำไปสู่การใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่ 2 ของสังคมไทย

4.นโยบายศูนย์เด็กเล็ก คุณภาพดีทั่วไทย 4,555,000,000 บาท เป็นนโยบายการจัดการศึกษาปฐมวัยให้มีคุณภาพ พัฒนาหลักสูตรที่เน้นกระบวนการคิด เพิ่มครูปฐมวัยทั่วประเทศ เพื่อให้เด็กมีการพัฒนาเติบโตอย่างมีคุณภาพในทุกด้านทั้งทางสมอง ร่างกาย จิตใจและอารมณ์

5.นโยบายเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด 17,832,000,000 บาท เด็กไทยทุกคนได้รับสิทธิค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูทุกเดือน จำนวน 1,000 บาทต่อเดือน แบบถ้วนหน้า ตั้งแต่แรกเกิดจนอายุ 8 ขวบ (เดือนแรกได้รับ 5,000 บาท) เมื่อโครงการดำเนินไป ครบ 8 ปี รัฐบาลจะต้องใช้เงินเพิ่มเป็นประมาณ 59,000,000,000 บาทต่อปี

6.นโยบายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 37,302,000,000 บาท ผู้สูงอายุได้รับสวัสดิการเบี้ยยังชีพแบบถ้วนหน้าเท่าเทียมกันคนละ 1,000 บาท ในทุกห้วงอายุ จากเดิมได้รับตามห้วงอายุแบบขั้นบันได มีเม็ดเงินใช้จ่ายในชีวิตประจำวันเพิ่มขึ้น จำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นปีละ 4.8% หรือประมาณปีละ 393,600 คน ต้องใช้งบประมาณเพิ่ม ประมาณปีละ 4,700,000,000 บาท

7.นโยบายเบี้ยผู้ยากไร้ 67,794,000,000 บาท ผู้ยากไร้ที่จะได้รับสิทธิจำนวน ประมาณ 14.47 ล้านคน ในปัจจุบันไม่มี จะได้รับเงินสดเพิ่มขึ้นเป็นรายละ 800 บาทต่อเดือน จากเดิมที่ได้รับ โดยการใช้จ่ายผ่านบัตรเฉลี่ยรายละ 300 บาท ส่วนนี้จะลดลง เพราะโครงการนี้จะช่วยยกระดับรายได้ของผู้ยากไร้ให้ออกจากความยากจนได้เพิ่มขึ้น 8.ปรับอัตราเบี้ยยังชีพคนพิการ 5,000,000,000 บาท เป็นการเพิ่มสวัสดิการให้กับผู้พิการ แบบถ้วนหน้า จำนวนกว่า 2 ล้านราย สอดคล้องกับสภาวะค่าครองชีพ โดยได้รับเงินรายเดือนเพิ่มขึ้นจากเดือนละ 800 บาทในปัจจุบัน เป็น 1,000 บาท

9.โครงการบ้านหลังแรก 20,000,000,000 บาท เพิ่มโอกาสให้ประชาชนชาวไทยผู้ที่มีรายได้น้อยที่มีศักยภาพในการกู้ยืมมีสิทธิในการเข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพื่อซื้อบ้านเป็นที่อยู่อาศัย เป็นหลักประกันความมั่นคงปลอดภัยในชีวิต 10.นโยบายประกันรายได้ พืชผลเกษตร 100,000,000,000 บาท เกษตรกรที่มีอาชีพสวนยางพารา ปาล์มน้ำมัน ข้าว ข้าวโพด และมันสำปะหลัง จะมีหลักประกันในอาชีพเกษตรกรรม มีรายได้ที่มั่นคง หากพืชเกษตรตามโครงการประกันรายได้มีราคาตกต่ำที่สุดพร้อมกันในรอบปี รัฐบาลจะต้องใช้งบประมาณ 350,000,000,000 บาทต่อปี

11.นโยบายกองทุนน้ำชุมชนเกษตรกรมีน้ำใช้ 30,000,000,000 บาท จัดตั้งกองทุนน้ำชุมชน เกษตรมีน้ำใช้ตลอดปีถึงทุกไร่นา รัฐมีงบและผู้เชี่ยวชาญ แนะนำให้ชาวบ้านสามารถจัดการ แหล่งน้ำด้วยตนเอง 12.นโยบายประกันรายได้ แรงงานขั้นต่ำ 50,000,000,000 บาท ช่วยเพิ่มรายได้ให้กับผู้เข้าร่วมโครงการ ประมาณ 2.66 ล้านคน หลุดพ้นจากความยากจน ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำต่อวันทำงานเพิ่มขึ้น โดยไม่ทำให้รายจ่ายของรัฐบาลเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ อีกทั้งไม่เป็นภาระเพิ่มขึ้นของนายจ้าง ผู้ประกอบการ รัฐบาลอาจต้องรับภาระมากขึ้นหากแรงงานไหลเข้าระบบมากขึ้น

13.นโยบายเพิ่มค่าตอบแทน อสม. 739,000,000 บาท เพิ่มขวัญกำลังใจแก่อาสาสมัคร สาธารณสุข (อสม.) ทั่วประเทศ สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจและภารกิจที่เพิ่มขึ้นในการดูแลผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง และคนพิการมีหลักประกันชีวิตในอนาคตมากขึ้น ด้วยรูปแบบสมัครใจนำเงินค่าตอบแทนที่เพิ่มขึ้นไปสะสมในกองทุนการออม ได้รับสิทธิประโยชน์ เป็นเงินบำเหน็จหรือบำนาญตามเงื่อนไข

กอบศักดิ์ ภูตระกูล
โฆษกพรรคพลังประชารัฐ

ขณะนี้ทุกพรรคการเมืองพยายามที่จะออกนโยบายต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ทำให้ดูเหมือนจะมีต้นทุนการใช้งบประมาณมากขึ้น ซึ่งในการจัดทำนโยบายนั้น จะต้องพิจารณาว่าต้นทุนที่แท้จริงเป็นอย่างไร อยู่ตรงไหน การจัดทำนโยบายของพรรคพลังประชารัฐได้ดูอย่างละเอียดโดยได้รวบรวมแต่ละโครงการว่าจะใช้เงินมากน้อยเพียงใด มีส่วนใดต้องเพิ่มเติมบ้าง และส่วนใดควรลดลง โดยนโยบายของพรรคประมาณการว่าจะใช้เงินเพิ่มจากเดิมไม่มาก เน้นการต่อยอดจากนโยบายที่มีอยู่และเพิ่มนโยบายใหม่ เช่น โครงการบัตรประชารัฐ ราคาข้าว โครงการมารดาประชารัฐ ฯลฯ โดยเราได้ประเมินแล้วว่า โครงการเหล่านี้จะใช้งบประมาณเท่าไหร่ ซึ่งได้พิจารณาตามกรอบรายได้ของประเทศ

คำว่าวินัยการเงินการคลัง คือต้องใช้จ่ายด้วยเงินที่เรามี หากใช้เกินกว่าที่มีอยู่ ถือว่าขาดวินัยการเงินการคลัง โดยพรรคพลังประชารัฐ จะใช้งบในวิสัยของกรอบงบประมาณ ที่รัฐบาลมีประมาณ 3.5 ล้านล้านบาท อย่างโครงการด้านสวัสดิการของพรรคพลังประชารัฐ เป็นความพยายามให้ แต่ไม่เป็นการสร้างหนี้ให้ประชาชน โดยเป็นการเน้นอุดหนุนประชาชน ให้ประชาชนสามารถยืนหยัดด้วยตัวเองได้

ที่มาของแหล่งรายได้หรือวิธีการหาเงินของเรา เช่น เราจะปฏิรูประบบภาษีที่ปัจจุบันมีความซับซ้อน มีช่องโหว่ จึงต้องปฏิรูปและขยายฐานภาษี เช่น การเพิ่มธุรกิจเอสเอ็มอี จาก 3 ล้านราย เป็น 5 ล้านราย เพื่อให้ได้ภาษีเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ยังต้องอุดช่องโหว่การทุจริตคอร์รัปชั่น เพราะรัฐบาลที่มีความโปร่งใส จะช่วยให้การใช้จ่ายงบประมาณมีประสิทธิภาพมากขึ้น และเราต้องบริหารสินทรัพย์ของราชการอย่างเป็นระบบ ซึ่งจะช่วยให้ประเทศมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างมาก พร้อมกันนี้ยังต้องทำโครงการด้านการลงทุนเช่น ด้านโครงสร้างพื้นฐาน เปิดให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมลงทุน กระจายความเสี่ยง

นโยบายด้านสวัสดิการของพรรคพลังประชารัฐ ไม่ถือว่าให้เยอะเกินไป เพราะบางพรรคก็ให้เยอะกว่าเรา แต่ทำเพราะมองว่ามีความจำเป็น ที่จะต้องช่วยเหลือประชาชน ซึ่งเมืองไทยเองยังทำสวัสดิการแบบเต็มรูปแบบไม่ได้ ยังไม่รวยพอ และไม่กล้าเก็บภาษีอย่างเต็มรูปแบบขนาดนั้น ประเทศไทยนั้น มีงบจำกัด จึงต้องทำสวัสดิการอย่างจำกัด อย่างโครงการบัตรประชารัฐ ก็ไม่ได้ช่วยเยอะอะไร แต่มีความจำเป็นต้องช่วยเหลือ ส่วนนโยบายมารดาประชารัฐ ก็ถือเป็นการลงทุนในคน เพื่อให้เด็กได้มีพัฒนาการที่ดีตั้งแต่แรกเกิด เป็นการปูพื้นฐานให้แก่ประเทศ เพราะถ้าเรามีพื้นฐานไม่ดีก็จะกระทบต่อประเทศในวันข้างหน้า

เพราะประเทศมีความเหลื่อมล้ำ จึงต้องมีสวัสดิการ แต่เมื่อมีสวัสดิการแล้ว ก็จะต้องดูว่าจะเลือกให้คนกลุ่มใด หากไปดูการให้เบี้ยยังชีพแก่คนชราในสมัยก่อน จะเห็นว่าเป็นการหว่านแหให้ทุกคน แจกทุกคนเท่ากันหมด ส่งผลให้ต้องใช้งบประมาณเยอะมาก เช่น มีคนชราอยู่ 8 ล้านคน ถ้าจ่ายทุกคนหมด ก็จะช่วยได้คนละนิดคนละหน่อย แต่เราจะพยายามหาข้อมูล ว่ามีคนจนจริงๆ อยู่เท่าไหร่ เพื่อจะได้เอาเงินไปให้อย่างถูกจุด และได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยกว่าการจ่ายแบบเหมารวม แม้อาจจะยังไม่ได้รับอย่างทั่วถึง แต่โดยภาพรวมแล้วก็ถือว่าดีกว่าในอดีต

เผ่าภูมิ โรจนสกุล
รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย(พท.)

เงินที่พรรคเพื่อไทย จะนำมาใช้ทำนโยบายที่บอกกับประชาชนไว้นั้นมาจาก 2 ช่องทาง คือ 1.การเกลี่ยเงินงบประมาณจากกระทรวง และระบบภาษีต่างๆ ซึ่งตรงนี้ทุกพรรคการเมืองจะมีความสามารถในการทำใกล้เคียงกัน แต่สิ่งที่พรรคเพื่อไทยมีความสามารถในการทำ และมั่นใจว่าสามารถทำได้มากกว่าพรรคอื่น

2.การหารายได้ให้กับประเทศ ทั้งโดยการสร้างธุรกิจใหม่ๆ สร้างเศรษฐีใหม่ๆ เพราะการสร้างรายได้เราจะต้องสร้างฐานภาษีใหม่ๆ ซึ่งจะนำไปสู่การเก็บภาษีได้มากขึ้น โดยเราให้ความสำคัญกับฝั่งของการสร้างรายได้มากกว่าการเกลี่ยรายได้ ทั้งนี้ อย่างที่ประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้งของพรรคได้พูดไปแล้วว่าภายใน 6 เดือน สินค้าการเกษตรของประเทศไทยจะต้องราคาสูงขึ้น เพียงแค่อย่างเดียวนี้ก็สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศจำนวนมหาศาลแล้ว ยังไม่รวมถึงธุรกิจสตาร์ตอัพที่เราจะสนับสนุนให้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และยังไม่รวมถึงเรื่องของการท่องเที่ยวที่เราจะกระตุ้น โดยการปลดล็อกวีซ่าไทย-จีน เพื่อนำรายได้จำนวนมหาศาลกลับเข้าประเทศ

อย่างไรก็ตาม เรามีความตั้งใจที่จะใช้งบประมาณเข้าสู่สมดุล ซึ่งพยายามทำมาแล้วในอดีตแต่ถูกรัฐประหารเสียก่อน โดยจะเห็นได้ว่างบประมาณขาดดุลลดลงเรื่อยๆ ในแต่ละปี แต่ในปัจจุบันการขาดทุนนั้นเพิ่มขึ้น ซึ่งตรงนี้เป็นความตั้งใจของเราอยู่แล้วที่เราจะใช้ทักษะ และความสามารถในการบริหารของเรา ทำให้ไม่ต้องขาดดุลงบประมาณเยอะ เพราะเราไม่จำเป็นต้องใช้เงินเยอะ แต่ต้องใช้เงินอย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนที่ถามถึงกรณีกระทรวงการคลังห่วงเรื่องการใช้งบมาทำนโยบายอาจทำให้ประเทศเป็นหนี้อย่างน้อย 12 ปีนั้น ตรงนี้ผมไม่แน่ใจว่าท่านหมายถึงพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งหรือไม่ แต่ถ้าหมายถึงพรรคเพื่อไทย

เราบอกได้เลยว่าเราใช้เงินไม่เยอะไปกว่าพรรคอื่นเลย ท่านจะเห็นว่านโยบายลด แลก แจก แถม เราแทบจะไม่แข่งกับคนอื่นในเกมนี้เลย เน้นการปรับโครงสร้างประเทศและมองในระยะยาวมากกว่า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image