สัญญาณก่อน 24 มีนา ส่องภาพ ‘การเมือง’ นายกฯ หลังเลือกตั้ง

นับถอยหลังวันที่ 24 มีนาคม วันเลือกตั้งใกล้เข้ามาทุกขณะ
เช่นเดียวกับท่าทีของบรรดาพรรคการเมืองที่อยู่บนสนามแข่งขันก็โชว์ลีลาเรียกคะแนนกันอย่างเต็มที่
พรรคพลังประชารัฐ โดย นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค ได้นำทีมงานเปิดแคมเปญ “ไทยต้องรวย” ยืนยันเพิ่มรายได้ขั้นต่ำ
ทำงานระดับปริญญาตรีได้ 20,000 บาทต่อเดือน ส่วนแรงงานให้เพิ่มค่าแรงขึ้นเป็น 400-425 บาทต่อวัน
และประกาศราคาพืชผล อาทิ ข้าวเจ้า 12,000 บาทขึ้นไปต่อตัน ข้าวหอมมะลิ 18,000 บาทขึ้นไปต่อตัน อ้อย 1,000 บาทขึ้นไปต่อตัน ยางพารา 65 บาทขึ้นไปต่อกิโลกรัม
เป็นต้น
ขณะที่บนเวทีหาเสียงของพรรคพลังประชารัฐก็เริ่มนำคลิป พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งอยู่ในบัญชีแคนดิเดต นายกฯ ของพรรคพลังประชารัฐไปเปิด
ฝากเนื้อฝากตัวกับชาวบ้านผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
ส่วนพรรคเพื่อไทย คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เลือกตั้ง และยังอยู่ในแคนดิเดตนายกฯของพรรคเพื่อไทยด้วยก็ได้เปิดแคมเปญ
เอาลุงคืนไป เอาเงินในกระเป๋าคืนมา
ชูนโยบาย ปรับหนี้ เติมเงิน ลดภาษี สร้างเศรษฐีใหม่
ทั้งพักหนี้ ปรับโครงสร้างหนี้ เพิ่มเงินเดือนขั้นต่ำ ขึ้นค่าแรง ลดภาษี และสนับสนุนให้เกิดเถ้าแก่รุ่นใหม่ขึ้นมา
และจากการขับเคี่ยวกันของ 2 พรรค ต่างฝ่ายต่างมีความมั่นใจว่าจะชนะเลือกตั้ง
พลังประชารัฐยืนยันว่าได้ ส.ส.เกิน 150 คนแน่
ส่วนเพื่อไทยปักธงที่ 190 ส.ส.

พรรคประชาธิปัตย์ก็เป็นอีก 1 ผู้เล่นบนสนามเลือกตั้งที่มีความเคลื่อนไหวจนเป็นที่จับตามอง
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์โพสต์คลิป ประกาศบนเวทีหาเสียง และแถลงจุดยืนอีกครั้ง
ไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ไม่ร่วมงานกับพรรคเพื่อไทย
แต่เปิดรับพรรคพลังประชารัฐมาร่วมรัฐบาลถ้าละทิ้งความพยายามสืบทอดอำนาจ
คำประกาศของนายอภิสิทธิ์ ถือเป็นคำประกาศของพรรค และคำประกาศของประชาธิปัตย์ก็กลายเป็นตัวแปรสำคัญหลังการเลือกตั้ง
ทั้งนี้เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ดีไซน์เอาไว้ไม่ให้พรรคการเมืองใดได้เสียงข้างมากเกินครึ่ง การจัดตั้งรัฐบาลจึงต้องมีพรรคการเมืองจับมือกัน
จากผลโพลที่ปรากฏ พรรคการเมืองที่มีแนวโน้มว่าจะมี ส.ส.มาก 3 อันดับคือ พรรคเพื่อไทย พรรคพลังประชารัฐ และพรรคประชาธิปัตย์
คาดการณ์กันว่าพรรคพลังประชารัฐจะจับมือกับพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคอื่นๆ อีกเพื่อตั้งรัฐบาล
ผลักดันให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป
แต่เมื่ออภิสิทธิ์ทิ้งหมัดฮุก “ไม่เอาบิ๊กตู่” แผนการดัน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯอีกครั้งก็เริ่มมีปัญหา
ถ้าพรรคการเมืองที่คาดว่าจะได้ ส.ส.มาก 3 อันดับแรก ไม่สามารถจับมือกันได้
การเมืองหลังเลือกตั้งจะเดินไปทางไหน

แม้พรรคพลังประชารัฐจะมี ส.ว. 250 คนคอยยกมือสนับสนุน แต่ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ไม่เล่นด้วย พรรคเพื่อไทยไม่เล่นด้วย
จะผลักดัน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ บริหารประเทศท่ามกลางเสียง ส.ส.ในสภาไม่ถึงครึ่งได้อย่างไร
แม้พรรคพลังประชารัฐจะได้ ส.ส.มาจำนวนหนึ่ง แต่ถ้าเกิดสภาพ “3 ก๊ก 3 กั๊ก” แล้วใครจะได้รับการสนับสนุนให้เป็นประธานสภา
อย่าลืมว่าประธานสภาต้องได้รับเสียงสนับสนุนจาก ส.ส.เกินกว่าครึ่งหนึ่ง
และรัฐธรรมนูญกำหนดเอาไว้ว่าต้องมีประธานสภาผู้แทนราษฎรก่อนถึงจะมีนายกฯ
คำถามก็คือ ถ้าพรรคพลังประชารัฐไม่สามารถรวม ส.ส.ได้เกิน 250 เสียง พล.อ.ประยุทธ์จะมีอนาคตเช่นไร
ในมุมมองของ นายจตุพร พรหมพันธุ์ ที่ปรึกษาพรรคเพื่อชาติมองว่า พล.อ.ประยุทธ์ คงเป็นนายกฯไม่ได้
ในมุมมองของ นายไพบูลย์ นิติตะวัน หัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูปกลับมองว่า พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ อยู่แล้ว ถ้าพรรคพลังประชารัฐมี ส.ส.ไม่ถึงครึ่งก็ยังไม่ตั้งนายกฯ
พล.อ.ประยุทธ์ และ ครม. ซึ่งมีอำนาจเต็มก็เป็นรัฐบาลและ นายกฯต่อไป
จนกว่าพรรคพลังประชารัฐจะมี ส.ส. สนับสนุนเกินกว่าครึ่งของสภา ทุกอย่างก็ขับเคลื่อน
แล้ว พล.อ.ประยุทธ์ก็จะได้เป็นนายกฯอยู่ดี

แม้นายไพบูลย์จะมองว่าการเมืองจะขับเคลื่อนไปในรูปการณ์นั้น แต่ในทางปฏิบัติย่อมไม่ใช่เรื่องง่ายที่เมื่อเลือกตั้งไปแล้ว มีสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาแล้ว แต่ไม่ยอมให้มีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง
ทั้งนี้หากเหตุการณ์เป็นเช่นนั้นจริง โอกาสที่การเมืองจะเข้าสู่ทางตันก็อาจบังเกิดขึ้น
กระแสเดดล็อกนี้ปะทุขึ้นหลังจาก นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ออกมาประกาศจุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์ ไม่เอาบิ๊กตู่เป็นนายกฯ
กระแสดังกล่าวรุนแรงขึ้นเมื่อ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ฟิวส์ขาดเมื่อทราบจุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์ ถึงกับโจมตีพรรคการเมืองบางพรรคว่าเป็น “จอมบอยคอต”
และยังข้องใจว่าการประกาศดังกล่าวจะทำให้นักลงทุนต่างชาติตื่นตระหนกว่าการเมืองไทยจะกลับไปสู่ “ทางตัน”
จะกระทบต่อการที่ต่างชาติจะนำเงินเข้ามาลงทุนในโครงการ อภิมหาโปรเจ็กต์
แต่ไม่ว่าทางรัฐบาลจะตอบโต้เช่นไร พรรคประชาธิปัตย์ก็ “ทิ้งไพ่” บอยคอต “บิ๊กตู่” ไปแล้ว
ทุกอย่างจึงรอดูผลหลังจากการเลือกตั้งผ่านพ้น

Advertisement

น่าสังเกตว่าการต่อสู้ทางการเมืองหลังการเลือกตั้งนี้ไม่ได้พาดพิงไปถึงพรรคเพื่อไทยมากเท่าใดแล้ว
เหมือนกับว่าพรรคเพื่อไทยแม้จะได้ ส.ส.มากเป็นที่ 1 ก็ไม่สามารถเป็นรัฐบาลได้
การงัดข้อต่อสู้เพื่อแย่งชิงอำนาจหลังการเลือกตั้งจึงกลายเป็นเรื่องของพรรคพลังประชารัฐ และพรรคประชาธิปัตย์
เป็นเรื่องของพรรคที่คาดว่าจะได้ ส.ส.อันดับ 2 และอันดับ 3
ทั้งนี้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญที่ดีไซน์ออกมา
ดีไซน์ให้พรรคพลังประชารัฐมีเสียงสนับสนุนในการโหวตเลือกนายกฯ เพิ่มขึ้นอีก 250 คนจาก ส.ว.
ดีไซน์เอาไว้ให้ พล.อ.ประยุทธ์ สามารถเป็นนายกฯได้ต่อไป
แต่ไม่ได้ดีไซน์ไว้รองรับพรรคการเมืองที่ประชาชนเลือกเข้าไปได้บริหารประเทศ
ทั้งๆ ที่ หากไม่มีจำนวน 250 ส.ว.เข้ามาเกี่ยวข้อง บรรดา ส.ส.ที่ได้รับเลือกตั้งเข้าไปก็มีหนทางการแก้ปัญหาการเลือกผู้บริหารกันเองได้อยู่แล้ว
พรรคการเมืองที่มี ส.ส.มากที่สุดได้รับสิทธิจัดตั้งรัฐบาล
พรรคการเมืองที่ได้ ส.ส.สนับสนุนเกินกว่ากึ่งหนึ่งจะได้เข้าไปบริหารประเทศ และเลือกนายกรัฐมนตรี ส่วนพรรคที่เหลือก็ไปทำหน้าที่ฝ่ายค้าน
แต่กรณีที่หวั่นเกรง คือ พรรคการเมืองฝ่ายที่มี ส.ส.ได้มากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไม่สามารถบริหารประเทศและเลือกนายกฯได้
เพราะมี ส.ว.ที่ คสช.เลือกมาอีก 250 คนเป็นตัวแปรสำคัญ

การเผชิญหน้าในช่วงท้ายการเลือกตั้ง สะท้อนภาพในอนาคตที่จะได้เห็นการปะทะกันของพลังจาก 2 ฝ่าย
ฝ่ายหนึ่งเป็นพลังจาก คสช. ที่ถ่ายทอดผ่านทาง ส.ว. 250 เสียงในการเลือกนายกฯ
อีกฝ่ายหนึ่งเป็นพลังจากการเลือกตั้ง
ตัวแทนจากพลังทั้งสองฝ่ายจะต้องปะทะกันหลังเลือกตั้งผ่านพ้นไปแล้ว
แต่สุดท้ายแล้วฝ่ายใดจะเป็นผู้ได้ชัยชนะ ยังต้องรอดูผลจากวันที่ 24 มีนาคม
เพราะทุกคะแนนที่ประชาชนไปหย่อนบัตร คือ คำตอบว่าอนาคต ไทยจะเดินทางไปเช่นไร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image