กติกาเลือกตั้ง-การเมือง2ขั้ว โจทย์หินฟอร์ม‘รัฐบาล’

หมายเหตุ – เป็นความเห็นของนักวิชาการถึงแนวทางการจัดตั้งรัฐบาลภายใต้เงื่อนไขการเมืองแบ่งเป็น 2 ขั้ว รวมถึงความไม่ชัดเจนในการประกาศผลการเลือกตั้ง ส.ส.เขต และส.ส.บัญชีรายชื่อ ทำให้เกิดความเคลือบแคลงของหลายฝ่าย


ยอดพล เทพสิทธา
อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

พลังประชารัฐออกมาพูดชัดเจนว่า จะจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย ซึ่งสร้างความงงว่าคืออะไร เพราะไม่มีในโลก หลักพื้นฐานเราใช้ระบบรัฐสภาที่การเลือกหัวหน้าฝ่ายบริหารหรือนายกฯ มาจากการให้ ส.ส.เป็นผู้เลือก เรียกว่าระบบผู้แทน จึงต้องวัดกันว่าใครมีผู้แทนมากกว่ากัน จะเอาคะแนนดิบหรือป๊อปปูลาร์โหวตมาวัดไม่ได้ เพราะในเขตเลือกตั้งหนึ่งๆ จำนวนประชากรในเขตเลือกตั้งต่างกัน ถ้าจะเอาป๊อปปูลาร์โหวตจริงระบบการเลือกตั้งต้องไม่ใช่แบบนี้ ต้องแยกระหว่างปาร์ตี้ลิสต์กับแบ่งเขตอย่างชัดเจน จึงจะอ้างป๊อปปูลาร์โหวตได้แบบสมภาคภูมิ แต่อ้างคะแนนรวมเป็นการอ้างที่ดูประหลาด เพราะเพื่อไทยส่ง 250 เขต บางพรรคก็ส่งไม่ครบ 350 เขต สูตรการคำนวณก็ต้องเปลี่ยน ป๊อปปูลาร์โหวตไม่มีใครใช้ ยกเว้นบางประเทศ อย่างฝรั่งเศส แต่ใช้เลือกประธานาธิบดีโดยตรง

ถามว่าสูตรไหนจะจัดตั้งรัฐบาลได้ ก็ต้องสูตรแบบนี้คือ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) มี 117 ที่นั่ง ส่วนพรรคเล็กอื่นๆ เว้นวรรคพรรคเศรษฐกิจใหม่ของนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ไว้ เพราะมีข้อตกลงร่วมกันกับฝั่งเพื่อไทยพอสมควร ก็จะได้ประมาณ 240 กว่าๆ ถ้าจำไม่ผิดคือ 244 คน ถามว่าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีได้หรือไม่ ตอบว่าเป็นได้ แต่การบริหารน่าจะไม่ได้ เพราะเวลาโหวตกฎหมายในสภา กฎหมายแรกที่ต้องผ่านคือ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี เสียงสภาล่างมี 244 คน ไปสู้ 256 คน และโดยมารยาทถ้าโหวต พ.ร.บ.นี้ไม่ผ่าน นายกรัฐมนตรีต้องลาออก ยิ่งกฎหมายสำคัญเท่าไร โหวตไม่ผ่านต้องลาออก

Advertisement

ถามว่าจะมีงูเห่าหรือไม่ ก็อาจจะมีคนกล้าเสี่ยง แต่นายปิยบุตร แสงกนกกุล พรรคอนาคตใหม่ พูดไว้ค่อนข้างชัดว่าคนที่คิดจะย้ายพรรค ให้ดูกฎหมายเลือกตั้งให้ดีๆ มีโทษจำคุก 10 ปี สมมุติถ้าคุณอยู่พรรคเพื่อไทย แล้วย้ายไปพลังประชารัฐหลังได้รับเลือกตั้งแล้ว หากสืบได้ว่ามีผลประโยชน์บางอย่าง มีโอกาสติดคุกสูงหากไม่เกิดการเล่นตลกทางกฎหมาย

ส่วนคะแนนที่ยังนับไม่เสร็จ ตอนนี้เหลือ 5 เปอร์เซ็นต์ คิดเป็นล้านเดียว ถามว่ากี่เขตที่ยังประกาศไม่ได้ ไม่ทราบว่าทำไมยังไม่ประกาศผล ยกตัวอย่างง่ายๆ คะแนน 5 เปอร์เซ็นต์ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไม่ยอมประกาศ นับเสร็จแล้ว แต่ไม่ประกาศ เป็นการนำคะแนนไปดองไว้ ลองนึกสภาพพวกของดอง ผักดอง ของพวกนี้ต้องอยู่ในที่มืด ไม่งั้นมันจะเสีย ไม่รู้ว่าในระหว่างที่ยังไม่ประกาศคะแนน จะมีอภินิหารอะไรเกิดขึ้น คะแนนต้องถูกนับอย่างเปิดเผย แต่นี่คะแนนยังไม่ประกาศ ไม่มีใครรู้ว่าคะแนนตรงนี้เป็นของหน่วยไหน นอกจากนี้ กกต. ตีความกฎหมายผิดด้วย เหมือนที่นายปิยบุตรเคยบอกว่า ถ้านับแล้ว 95 เปอร์เซ็นต์ มีสิทธิหยุดประกาศ แต่ไม่ได้หมายความว่านับไปแล้ว 95 เปอร์เซ็นต์ต้องหยุดประกาศ ซึ่งเป็นคนละความหมายกัน

ในการเลือกตั้ง ตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี 2475 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ไม่เคยมีครั้งไหนใช้เวลาการนับคะแนนนานเท่านี้ คือข้ามไปเดือน 2 เดือน เครื่องคิดเลขไปซื้อไกล

Advertisement

อรรถสิทธิ์ พานแก้ว
อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

ตอนนี้เราได้แค่ผลอย่างไม่เป็นทางการ เพราะฉะนั้นก็ยังไม่แน่นอน จำนวนผู้ได้รับการรับรองอาจมีการเปลี่ยนแปลง ในเรื่องของการจัดตั้งรัฐบาลหากเอาตัวเลขตอนนี้ คะแนนเสียงของพรรคพลังประชารัฐอยู่อันดับที่ 2 ถามว่าตั้งได้ไหม ก็ต้องบอกว่าโดยมารยาททางการเมืองพรรคที่ได้อันดับ 1 ต้องได้จัดตั้งก่อน แต่ถ้าพรรคได้ที่ 1 จัดตั้งไม่ได้ จะเป็นส่วนของพรรคที่ 2 เมื่อรวบรวมเสียงก็ต้องได้เสียงสนับสนุนมากเกินพอที่จะเป็นเสียงข้างมาก หรือแม้กระทั่งการเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย ก็จะอยู่เป็นแบบเสียงข้างน้อยเฉยๆ ไม่ได้ ยกตัวอย่าง ในนิวซีแลนด์มีรัฐบาลเสียงข้างน้อย แต่ได้รับคำสัญญาจากพรรคหนึ่งหรือสองพรรคว่า เวลาจะโหวตในมติสำคัญๆ เช่น ไม่ไว้วางใจหรือเรื่องอื่นๆ เขาจะมาโหวตให้ ไม่ใช่ว่าจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยแล้วไม่ได้แคร์ว่าต้องโหวตอะไร แต่ต้องได้เสียงสนับสนุนเกินครึ่งในบางสถานการณ์

ประเด็น “งูเห่า” ถ้ามาตอนโหวตนายกฯก็เป็นเอกสิทธิ์ของ ส.ส.สามารถไม่ต้องลงตามมติพรรค ส.ส.แต่ละคนจึงมีสิทธิจะโหวตนายกฯ ได้ตามใจตัวเอง รวมถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจด้วย แต่ปัญหาคือ ถ้าเกิดเป็นการโหวตในกฎหมายอื่นๆ จะเป็นอย่างไร ซึ่งจริงๆ แต่ละพรรคจะมีมติพรรค ถ้า ส.ส.บางคนไม่ปฏิบัติตามมติพรรคก็จะมีบทลงโทษจากพรรค บทลงโทษสูงสุดคือการขับออกจากพรรค รัฐธรรมนูญระบุว่าเมื่อถูกขับออกจากพรรคก็สามารถย้ายพรรคได้ จริงๆ แล้วไม่มีกฎข้อไหนบังคับให้ ส.ส.ต้องโหวตตามพรรค เพียงแต่ว่าตามมารยาท ส.ส. จะโหวตตามมติพรรคอยู่แล้ว

กฎในรัฐธรรมนูญจึงแน่นอนว่า เป็นเอกสิทธิ์ของ ส.ส. ในการไม่ต้องโหวตตามมติพรรคก็ได้ ยกตัวอย่างในอินเดียมีงูเห่ามากเสียจนมีกฎหมายออกมาว่า ถ้ามีงูเห่าเกิน 2 ใน 3 ของพรรค จะเกิดการยุบพรรค แต่เรายังไม่ได้ไปถึงขั้นนั้น

บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

โดยหลักการของระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ถือสภาผู้แทนราษฎรเป็นใหญ่ เป็นตัวแทนของเสียงประชาชนที่มาจากการเลือกตั้ง เว้นแต่วุฒิสภาจะมาจากการเลือกตั้งด้วย นั่นจะเป็นลักษณะสภาคู่ ซึ่งมีความชอบธรรมบนฐานอำนาจที่มาจากประชาชน แต่ทำหน้าที่ต่างกัน จะเห็นได้ว่าในต่างประเทศ เช่น อังกฤษซึ่งเป็นต้นแบบการเมืองของไทยคือ มีสภาสูง มีสภาผู้แทนราษฎร ในอังกฤษสภาสูงหรือสภาขุนนาง ที่ประเทศไทยรับมา แทบจะไม่ได้มีอำนาจแล้ว เหตุที่ว่าขาดความชอบธรรม ในกรอบนี้ประเทศไทยก็ยืนยันว่า เป็นประชาธิปไตยแบบมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ใช้ระบอบรัฐสภาแต่ว่าในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ตัววุฒิสภาไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่มาจากการเลือกกันเอง ซึ่งท้ายที่สุดต่อให้เลือกกันเองอย่างไร ก็กลายเป็นว่ามีตำแหน่งที่ราวกับว่าคนเหล่านี้เป็นขุนนางสืบตระกูลลงมา นี่เป็นความแปลกประหลาดอย่างหนึ่งในโลกประชาธิปไตยร่วมสมัย ซึ่งลักษณะแบบนี้เริ่มลดน้อยถอยลง แต่บ้านเรากลับเอาคนที่ไม่แม้แต่สืบสัมพันธ์ทางชาติตระกูลแบบโครงสร้างสังคมดั้งเดิม แต่กลับเอาตำแหน่งทางราชการซึ่งกุมอำนาจในทางการใช้อำนาจและกำลังบังคับ มาอยู่ในสภาที่เรียกว่าวุฒิสภาถึง 6 ตำแหน่ง นั่งอยู่ราวกับเป็นผู้พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ซึ่งในความเป็นจริงมีหน้าที่อีกแบบหนึ่ง

โครงสร้างของ ส.ว. 250 คนที่จะไปร่วมโหวตกับสภาผู้แทนราษฎรในการเลือกนายกรัฐมนตรี ในแง่ของการออกแบบรัฐธรรมนูญก็บิดเบี้ยวตั้งแต่แรก คือให้อำนาจคนมีอำนาจไม่กี่คนเลือกคนจำนวน 250 คนมาเป็น ส.ว. ขณะที่ประชาชน 51 ล้านคน เลือกได้ส.ส.แค่ 500 คน และใน 500 คน ซึ่งเลือกจริงๆ ก็เพียง 350 คน อีกส่วนมาจากระบบบัญชีรายชื่อซึ่งยังไม่แน่นอนอีกตั้ง 150 คน เพราะฉะนั้นในกรอบนี้ ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ อำนาจประชาชนในการส่งผ่านความตั้งใจของตัวเองในการเลือก และให้ความชอบธรรมกับรัฐบาลจึงค่อนข้างถูกบีบให้ตีบแคบลงอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเทียบกับรัฐธรรมนูญปี 2540 หรือปี 2550 ก็ตาม

สำหรับประเด็น “งูเห่า” มองว่าเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้น อย่างกรณีนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ แสดงอาการไม่ตอบรับและไม่ปฏิเสธ การแกว่งยังเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา กกต.เองก็ไม่ประกาศคะแนน 5 เปอร์เซ็นต์สุดท้ายได้ในเวลาที่เหมาะสม ทำให้เกิดความไม่มั่นคง ไม่แน่นอนทางการเมือง สร้างความกังขาให้สาธารณชนซึ่งไม่เป็นผลดีต่อฝ่ายใดทั้งสิ้น แม้แต่ฝ่ายพลังประชารัฐ เพราะถึงที่สุดหากประกาศออกมา พลังประชารัฐพลิกเป็นเสียงข้างมากขึ้นมา จะเป็นประเด็นใหญ่อีกเช่นกัน เป็นการทำให้เกิดความไม่แน่นอนในทางการเมืองโดยไม่จำเป็น ระบบการเมืองจริงๆ ควรออกแบบให้มีการเปิดช่องทางการเมืองได้ คำว่าเปิดช่อง คือต้องยึดธรรมเนียมและหลักการ อย่าไปสับสนว่าเปิดช่องให้ทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ซึ่งมันผิดหลักได้ เช่น ตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย เพราะว่าถ้ายังดึงดันตั้งต่อไป นอกจากไม่สง่างามแล้วยังผิดมารยาท ในท้ายที่สุดจะก่อปัญหาเรื่องความชอบธรรมของรัฐบาลนี้เอง รวมถึงความชอบธรรมอื่นๆ ซึ่งจะเป็นเงื่อนไขให้สังคมไม่สามารถคลายความขัดแย้งเข้าสู่สภาวะปกติได้

ในส่วนของคะแนนที่ยังนับไม่เสร็จ จะมาเป็นตัวแปรได้หรือไม่นั้น ตรงนี้ค่อนข้างน่ากังวล พบว่าบางพรรคไม่น่าจะได้ แต่กลับได้ ส.ส. 1 คนในระบบบัญชีรายชื่อขึ้นมา ตรงนี้ต้องประณาม กกต. ที่ใช้งบประมาณ 5,800 ล้านบาท แทนที่จะทุ่มเทพลังงาน ทรัพยากร เพื่อการจัดการเลือกตั้งให้เรียบร้อยหรือรีบดำเนินการหาทางแก้ไขสิ่งที่ผิดพลาด หรือส่อแววว่าจะผิดพลาด เราจะเห็นว่าในท้ายที่สุด การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นเงื่อนไขที่จะนำไปสู่ทางตันทางการเมืองแทบทั้งสิ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image