อนาคตการเมืองไทย หลังเลือกตั้ง 24 มี.ค.

หมายเหตุ – ความเห็นนักวิชาการจากวงเสวนาพิเศษ “อนาคตการเมืองไทยหลังเลือกตั้ง” เนื่องในวันสัญญา ธรรมศักดิ์ ประจำปี 2562 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 5 เมษายน


 

ปริญญา เทวานฤมิตรกุล
รองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืน
และบริหารศูนย์รังสิต มธ.

ระบบการเลือกตั้งคือสิ่งแรกที่ควรแก้ไข ประชาชนจำนวนมากประสบปัญหาว่าชอบผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขตคนหนึ่ง แต่ชอบอีกพรรคการเมืองหนึ่ง เขาถูกบังคับให้ต้องเลือกอย่างหนึ่งอย่างใด ซึ่งฝืนต่อเสรีภาพการแสดงออกในการเลือกผู้แทนฯ อย่างไรก็ตาม กติกาในการเลือกคือ ต้องเลือกในที่ประชุมรัฐสภาซึ่งมีเสียงเกินกึ่งหนึ่ง คนที่จะถูกเลือกต้องเป็นว่าที่นายกรัฐมนตรี หากเลือกในบัญชีว่าที่นายกฯไม่ได้ ต้องมีรอบคนนอกต่อไป

Advertisement

ไม่ว่าสูตรการคำนวณจะเป็นแบบไหนย่อมมีผลต่อการตั้งรัฐบาล เพราะสูตรที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เสนอมาทำให้ความเป็นไปได้ของพรรคพลังประชารัฐ (พชปร.) ตั้งรัฐบาลจากที่เป็นไปไม่ได้ เป็นไปได้ขึ้นมา ทั้งนี้ ก่อนมีการเลือกตั้ง เคยวิเคราะห์การเมืองไทยหลังเลือกตั้งเป็น 3 ก๊ก ตอนนี้หากว่ากันตามสูตรที่ควรจะเป็น ความเป็นก๊กของพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ยังมีอยู่ แม้จะเล็กลงเหลือเพียง 55 เสียงก็ตาม แต่หากไปรวมกับ พปชร.ก็มีปัญหา เพราะอดีตหัวหน้าพรรค นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศไม่ยกมือให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ แต่ถ้า ปชป.รวมกับก๊กเพื่อไทยก็กลายเป็นปัญหา อย่าลืมว่าทั้งก๊ก 1 และ 2 ตั้งรัฐบาลโดยขาด ปชป.ไม่ได้ ส่วนพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ก็บอกว่าขอให้ผลการเลือกตั้งเป็นทางการก่อน ตอนนี้ไม่ขอเคลื่อนไหว

เรามีการเลือกตั้งใหม่ได้ เพราะก่อน กกต.ประกาศผลการเลือกตั้ง ส.ส. ต้องมีการให้ใบเหลือง ใบแดง ใบส้ม ใบดำ หากเลือกตั้งใหม่จะมีการเปลี่ยนจำนวน ส.ส.แน่นอน แต่เชื่อว่าจะไม่มีการเปลี่ยนข้าง เพราะตอนนี้มีการเลือกข้างแล้ว สมมุติว่าผู้สมัครของพรรคเพื่อไทยโดนใบแดงก็มีแนวโน้มว่าประชาชนจะเลือกพรรคอื่นที่มาในแนวเดียวกัน แต่ทั้ง 3 ก๊กมีปัญหากันคนละอย่าง ก๊กพลังประชารัฐมีปัญหาเรื่องการสืบทอดอำนาจ รวมทั้งคุณสมบัติการเป็นเจ้าหน้าที่รัฐของ พล.อ.ประยุทธ์ ก๊กเพื่อไทยที่มีปัญหาเรื่องคุณทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ก็มีปัญหาเรื่องการแตกเป็น 2 ฝ่าย ดังนั้น ยุทธศาสตร์ของนิวเด็มในการเป็นฝ่ายค้านอิสระอาจเป็นทางเลือกในระยะยาวที่ฉลาดที่สุด แต่แรงกดดันสูงมาก เพราะขาดไม่ได้ ต่อให้เปลี่ยนสูตรคำนวณก็ยังขาด ปชป.ไม่ได้อยู่ดี

ทั้งหมดนี้ทำให้เกิดทางเลือกทางการเมืองคือ 1.หาก พล.อ.ประยุทธ์มีเสียงไม่ถึง 250 ก็เดินหน้าเป็นนายกฯต่อได้ แต่ต้องเสี่ยงหางูเห่าเอาข้างหน้า 2.หาก ส.ส.ไม่ถึง 250 เลือกนายกฯใหม่ไม่ได้ พล.อ.ประยุทธ์ยังเป็นนายกฯและหัวหน้า คสช.พร้อม ม.44 ต่อไปจนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ 3.หากสภาผู้แทนราษฎรรวมเสียงได้ 376 คน โดยเลือกนายกฯจากคนที่ทุกฝ่ายยอมรับ กรณีนี้อาจมีบางพรรคโหวตให้โดยไม่ร่วมรัฐบาล และ 4.กรณีการได้นายกฯคนนอกนั้น ต้องใช้เสียงถึง 500 เสียง จึงจะเป็นกรณีที่ทุกหนทางข้างหน้าใช้ไม่ได้แล้วเท่านั้น อย่างไรก็ตาม การประกาศผลเลือกตั้งในวันที่ 9 พ.ค. และจากนั้นไม่เกิน 3 วัน ต้องทูลเกล้าฯรายชื่อว่าที่ ส.ว.ให้โปรดเกล้าฯลงมา เชื่อว่า ส.ว.จะถูกเรียกร้องให้ฟรีโหวต โดยหลังจากการประกาศผลเลือกตั้ง สภาผู้แทนฯต้องมี ส.ส.ถึง 95 เปอร์เซ็นต์ ถึงจะประชุมสภาเพื่อเลือกประธานสภาผู้แทนฯได้ จากนั้นประธานสภาผู้แทนฯซึ่งเป็นประธานรัฐสภาก็จะเรียกประชุมเพื่อเลือกนายกฯ ดังนั้น ประธานสภาคือผู้คุมเกมว่าจะประชุมเลือกนายกฯเมื่อไหร่

Advertisement

นอกจาก กกต.จะมีอำนาจการประกาศผล และการเลือกวิธีการคำนวณสูตรปาร์ตี้ลิสต์ซึ่งมีผลต่อการสลับข้างได้ทันที อย่าลืมว่าการประกาศผลคะแนนไม่ต้องประกาศถึง 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ประกาศแค่ 95 เปอร์เซ็นต์ หากประกาศแค่ 475 คน แล้วอีก 25 ไม่ประกาศ เกิดเป็นข้างหนึ่งมากกว่าอีกข้าง ผลการเลือกตั้งก็จะเปลี่ยนไป ดีที่สุดคือประกาศให้ครบ 500 คน แบบ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่หากมีปัญหาให้ทำคำร้องถึงศาลฎีกาตัดสิน

เรายังไม่ตัน ยังมีทางไปได้ และดีที่สุดคือว่ากันตามกติกา ทุกฝ่ายเคารพเสียงของผู้อื่น ไม่ว่าจะพรรคใดก็แล้วแต่ รวมทั้งการตีความ การคำนวณสูตรต้องคำนึงถึงเจตนารมณ์ของประชาชน และประกาศผลการเลือกตั้งให้ครบ 100 เปอร์เซ็นต์

 

สุรชาติ บำรุงสุข
อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

ทุกฝ่ายต้องอยู่ในกฎกติกา แต่กฎกติกาทุกอย่างถูกออกแบบไว้สำหรับคนเดียว อะไรๆ ก็เพื่อตู่ เมื่อเงื่อนไขเป็นแบบนี้ อนาคตการเมืองไทยคงตอบได้อย่างเดียวคือ ไร้เสถียรภาพและคาดเดาไม่ได้ ทำให้การเมืองไม่เดินไปจากข้อที่เราพูดกัน หากเป็นอย่างนี้จบด้วยอะไร ศาล ชุมนุม หรือยึด ทั้งนี้ ช่องทางสุดท้ายเป็นสิ่งที่เราไม่อยากเห็น เพราะทำให้การเมืองไทยเลวร้ายลงแน่ๆ เราจะอธิบายโลกอย่างไร ที่สำคัญคือไม่มีใครอยากเห็นประธานอาเซียนที่มาจากหัวหน้าคณะรัฐประหาร ดังนั้น ใน 3 หนทางนี้เราอยากเห็นหนทางที่สันติที่สุด

เราเห็นพื้นที่ใหม่สำหรับผู้ที่นั่งมองโดยเป็นคนรุ่นใหม่ ไซเบอร์เป็นพื้นที่ใหญ่มาก พื้นที่นี้น่าสนใจเพราะเอาการเมืองใส่ไปด้วย เวลาเราพูดถึงเฟคนิวส์ที่สร้างในพื้นที่ไซเบอร์โดยไม่มีการตรวจสอบ เมื่อหลักที่ตั้งเสร็จเรื่อยๆ เราจะเชื่อโดยไม่มีข้อสงสัย อ่านแล้วอิน ต่อมาคือบทบาทของทหารของวันนี้ต้องมีคำตอบ เราควรทำประชามติไหมว่ากองทัพควรมีบทบาททางการเมืองหรือไม่ ต้องไม่ลืมว่าในระบอบประชาธิปไตย กองทัพเป็นกลไกของรัฐ ไม่ใช่รัฐ อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่คนเรียกร้องจนจุดกระแสติดคือการปฏิรูปกองทัพ ไม่ว่าวันนี้ใครตั้งรัฐบาล เมื่อพรรคอนาคตใหม่เข้าไปเป็น ส.ส.ในสภา กระแสนี้อยู่ในสภาแน่ๆ เพราะเมื่อถามคนรุ่นใหม่พบว่าคนไม่อยากเกณฑ์ทหาร ดังนั้น ต้องมองเรื่องนี้ใหม่ มองให้จริงจังมากกว่าการเป็นกระแส แล้วคิดกันว่ารูปแบบกองทัพสมัยใหม่ของไทยในอนาคตควรเป็นอย่างไร

โจทย์ใหญ่ของการสลายสีเสื้อซึ่งเราพูดถึงน้อยมากคือโจทย์เศรษฐกิจ การเห็นนโยบายประชานิยมขายได้เป็นเพราะความเหลื่อมล้ำ เศรษฐกิจมีช่องว่างมาก ตอนนี้ท่านกำลังเห็นรูปแบบการประท้วงชุดใหม่ของโลก นั่นคือกลุ่มแจ๊กเก็ตเหลืองในฝรั่งเศสซึ่งมีโจทย์จากเรื่องเศรษฐกิจ ไม่ใช่การเมือง ม็อบนี้ไม่มีแกนนำ แต่มาจากคนที่มีปัญหาร่วมกันออกมาประท้วง การประท้วงลักษณะนี้ระบาดในยุโรป เข้าเอเชียแล้วบางประเทศ ในอนาคตของการประท้วงไทย หากสีเสื้อสลาย กลุ่มเศรษฐกิจแบบนี้จะก่อให้เกิดแจ๊กเก็ตเหลืองในไทย

หากทุกฝ่ายเห็นพ้องเรื่องการทำกติกาใหม่ แต่ปัญหาคืออำนาจอยู่ตรงไหน เพื่อให้กติกาใหม่เกิดขึ้น วันนี้สิ่งที่เห็นคือกติกาที่พบทั้งหมดออกแบบเพื่อทำให้ประเทศติดหล่ม เราติดหล่มกับตัวเองจนขึ้นจากหล่มไม่ได้ หากเป็นแบบนี้เราต้องคิดและทำให้การเมืองกลับเข้าสู่ระบบปกติ รัฐบาลต้องเป็นรัฐบาล ศาลต้องเป็นศาล กองทัพต้องเป็นกองทัพ อย่ามีอะไรที่เกินเลยจากเงื่อนไขปกติ

จากโจทย์ทั้งหมด หากมองในทางรัฐศาสตร์นั้นต้องไม่ลืมว่า รัฐบาลชุดข้างหน้ามีทั้งโจทย์เศรษฐกิจ ความมั่นคง และนโยบายทางประเทศซึ่งเป็นความท้าทายใหญ่ เศรษฐกิจโลกและเอเชียกำลังเผชิญกับสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน ทั้งนี้ ในอนาคตเราไม่สิทธิเลือกข้าง แต่เราต้องยืนอยู่ให้ได้ระหว่างปักกิ่งและวอชิงตัน แต่ต้องไม่ยืนเป็นเพียงหญ้าแพรกที่ช้างใหญ่ 2 ตัวกำลังทะเลาะกัน และเราตามอยู่ภายใต้รอยเหยียบของกองทัพช้าง

อย่างไรก็ตาม ต้องคิดการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง กระบวนการสร้างประชาธิปไตย ฉะนั้น โจทย์ชุดนี้ต้องคิดเพื่ออนาคต ต้องเป็นหลักประกันให้คนรุ่นหลังว่าการเมืองไทยต้องไม่ติดหล่มเหมือนในปัจจุบัน ขณะเดียวกันสังคมไทยต้องมองการเมืองไทยด้วยความหวังและความอดทน อย่ามองด้วยความหดหู่ การเมืองมีอนาคตเสมอ ขอเปรียบเทียบกับโลกของอาหรับว่า ไม่มีปีไหนที่ฤดูใบไม้ผลิไม่มา อาจมาช้าบ้าง ผมยังมีฝันที่จะเห็นฤดูใบไม้ผลิที่กรุงเทพฯ หวังอย่างเดียวว่าคนอีกปีกหนึ่งจะยอมรับการต่อสู้ในระบบ หวังว่าทุกอย่างจะอยู่ในกฎ กติกา และมารยาท

 

วุฒิสาร ตันไชย
เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า

ขอยืมคำอาจารย์สุรชาติว่า ไม่ว่าการเมืองไทยจะจบที่ศาล ถนน หรือยึดอำนาจนั้น ถึงเวลาแล้วที่ไทยต้องยอมรับกฎกติกา ซึ่งเชื่อว่าการจบที่ศาลและเคารพผลเป็นเรื่องดี เพราะโอกาสจบที่ถนนอาจไม่ใช่เฉพาะกลุ่มซ้ายหรือขวา แต่เป็นกลุ่มเจเนอเรชั่น ดังนั้น คุณสมบัติที่สำคัญมากของสังคมประชาธิปไตยคือความอดทน อาจารย์สุรชาติพูดถึงม็อบเสื้อกั๊กเหลืองของฝรั่งเศสซึ่งเป็นม็อบแนวระนาบ สิ่งหนึ่งที่ม็อบไม่เคยพูดถึงเลยคือการเรียกร้องให้มีอัศวินขี่ม้าขาว ไม่เคยเรียกร้องให้ใครมาปฏิวัติ แต่สังคมไทยอาจขาดความอดทนในจุดนี้ จึงทำให้พัฒนาการของประชาธิปไตยในไทยหยุดชะงักบางช่วงอยู่ตลอดเวลา

น่าแปลกว่าวันหนึ่งเราตั้งคำถามกับมาตรา 44 จำนวนมาก หลายคนบอกว่าไม่ควรใช้บ่อย แต่หลังๆ มานี้ เมื่อคนจำนวนมากทำอะไรไม่ได้ก็อยากให้ใช้ ม.44 นี่คือชุดความคิดที่สังคมอยากได้อะไรเร็วๆ เบ็ดเสร็จ จบ ขอให้ได้ในสิ่งที่อยากได้ แต่ในสังคมประชาธิปไตยเราใช้แบบนี้ไม่ได้ ต้องเคารพการตรวจสอบ และความเห็นต่าง ดังนั้น หลังการเลือกตั้งซึ่งไม่ว่าจะเดดล็อกอย่างไร ใครจะเป็นนายกฯด้วยคณิตศาสตร์หรือสูตรแบบไหน เราต้องเคารพ ปล่อยให้ทำงานในระบบ อย่าเรียกร้องให้ปัจจัยอื่นเข้ามา ให้ประชาชนเฝ้าดู วันนี้ไม่ใช่ประชาธิปไตยแบบ 3 นาทีอีกแล้ว แต่เราต้องหยุดตัวเร่งเร้าให้เกิดขั้วของสังคม

ไม่ว่าใครเป็นรัฐบาล สูตรไหน ก๊กใด ต้องยอมรับ ปล่อยให้กลไกรัฐสภาเดินต่อไป ดังนั้น สิ่งที่อยากเห็นคือการได้รัฐบาลไม่ว่าจะเสียงข้างน้อยหรือปริ่มน้ำบริหารต่อไป ไม่ต้องมีคนออกมาเชียร์ข้างถนน ไม่ต้องมีแบ๊กอัพข้างหลัง อยู่ไม่ได้ก็ยุบ เลือกใหม่ นี่คือกติกาที่ควรเป็น ขณะเดียวกัน เมื่อมีรัฐบาลและรัฐบาลทำงานต่อไปในระบบ สิ่งที่ควรเห็นต่อไปคือสิทธิเสรีภาพของประชาชนต้องได้รับความคุ้มครอง คนเห็นต่างพูดได้ แสดงออกได้ นั่นคือสังคมประชาธิปไตย จากนั้นคือกลไกที่ถูกออกแบบโดยระบบไม่ว่าจะชอบหรือไม่ชอบในรัฐธรรมนูญต้องฟังก์ชั่นบนหลักนิติรัฐ แกว่งไม่ได้ กลไกการตรวจสอบต้องทำงาน เมื่อไหร่ที่คนใช้อำนาจถูกแทรกแซง ไม่เป็นอิสระ หลักนิติรัฐอยู่ไม่ได้

สุดท้ายแล้วเราต้องตระหนักว่าต้องมีความหวังเสมอ อย่าคิดแต่หดหู่หรือไปไม่ได้ ต้องมีอนาคตร่วม เมื่อมีรัฐบาลและการดำเนินกิจกรรมไปแล้ว ปลายทางที่อยากเห็นคือระบบโครงสร้างทางเศรษฐกิจสังคมต้องถูกแก้ ดังนั้น โจทย์ใหญ่คือการลดสภาพความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและความเหลื่อมล้ำในกระบวนยุติธรรม หากทำได้สำเร็จ การเมืองจะพัฒนาไปอีกมาก

ประชาธิปไตยเป็นเรื่องยาก ไม่ง่าย ไม่สมบูรณ์ในตัว หรือสำเร็จด้วยการเขียนรัฐธรรมนูญเท่านั้น ประชาธิปไตยยังมีข้อบกพร่อง แต่เป็นระบอบที่มีพัฒนาการ เรียนรู้และพัฒนา ต้องให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญคือการสร้างระบอบประชาธิปไตยเป็นหน้าที่ของทุกคน ไม่ใช่ของนักการเมือง พรรคการเมือง หรือนักวิชาการ ต้องช่วยกัน และต้องเชื่อบนความหวังว่าประชาธิปไตยเป็นทางออกของประเทศที่จะทำให้ทุกคนอยู่บนพื้นฐานของการเป็นมนุษย์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image