บทนำ : เอกชนเริ่มกังวล

ขณะที่ผลการเลือกตั้งยังต้องรอไปถึงวันที่ 9 พฤษภาคม ตามที่กฎหมายเปิดทางให้ กกต.ใช้เวลาให้เต็มที่ในการพิจารณา แต่ดูเหมือนว่าภาคเอกชนจะเริ่มกังวลกับระยะเวลาที่เป็นสุญญากาศ โดยนายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า เอกชนกำลังจับตามองสถานการณ์ทางการเมืองของไทยว่า ผลของ กกต.จะออกมาเป็นอย่างไร รัฐบาลที่จะมาบริหารงานต่อไปจะเป็นคนจากพรรคไหน หรือจะเป็นรัฐบาลผสม อย่างไรก็ตาม รัฐบาลที่รักษาการอยู่ในขณะนี้ ต้องดำเนินนโยบายที่เตรียมไว้ รวมถึงต้องเดินหน้าการเจรจาในโครงการขนาดใหญ่อย่างต่อเนื่อง ห้ามปล่อยให้เกิดสุญญากาศทางเศรษฐกิจ

เช่นเดียวกับ นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ที่บอกว่า ทั้ง ส.อ.ท.และคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย ส.อ.ท. สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคาร มีความกังวลต่อสถานการณ์การเมืองหลังการเลือกตั้งที่ไม่มีความชัดเจนว่าฝ่ายใดจะได้จัดตั้งรัฐบาลอย่างเป็นทางการ โดยล่าสุด กกร.ปรับลดตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ปีนี้เหลือ 3.5-4% จากเดิมคาดว่าจะเติบโตในระดับ 4-4.5% เพราะสถานการณ์ที่เกิดขึ้นสร้างความกังวลให้คนไทยทั้งประเทศ

สอดรับกับก่อนหน้านี้ที่นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยนำเสนอผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ประจำเดือนมีนาคม 2562 พบว่า ดัชนีปรับตัวลดลงทุกรายการครั้งแรกในรอบ 3 เดือน ด้วยปัจจัยลบหลายอย่าง อาทิ ความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจไทยที่ยังฟื้นตัวช้าและกำลังซื้อของประชาชนยังไม่ฟื้นตัวขึ้นมากนัก สถานการณ์ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกจากปัญหาสงครามการค้าและปัญหาการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป
(อียู) ของสหราชอาณาจักร (เบร็กซิท) ราคาน้ำมันในประเทศปรับตัวสูงขึ้น สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ราคาพืชผลทางการเกษตรที่ยังทรงตัวในระดับต่ำ รวมทั้งความกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพทางการเมืองหลังการเลือกตั้งด้วย

ความกังวลของภาคเอกชนมีความสัมพันธ์กับความแน่นอนและความไม่แน่นอน ข้อห่วงใยที่ปรากฏออกมาในระยะหลังคือมองว่าสถานการณ์การเมืองของไทยยังไม่แน่นอน แสดงว่ากระบวนการต่างๆ ในการเลือกตั้งและกำลังดำเนินไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลนั้น ไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ภาคเอกชนได้ แม้ว่าการเลือกตั้งผ่านไปแล้ว และผลคะแนนในภาพรวมก็ประกาศออกไปแล้วเช่นกัน แต่จวบจนบัดนี้ก็ยังไม่มีอะไรที่แน่นอน มีแต่การเผชิญหน้าระหว่างขั้วเพื่อไทยกับขั้วพลังประชารัฐ และการปฏิบัติต่อพรรคอนาคตใหม่ภายหลังจากมีการเลือกตั้ง รวมไปถึงการลงชื่อถอดถอน กกต. และท่าทีของกองทัพ ทุกอย่างล้วนสะท้อนภาพความไม่แน่นอนจนกระทั่งภาคเอกชนที่สามารถสัมผัสได้ จึงก่อเกิดเป็นความกังวลให้สาธารณชนได้รับทราบ

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image