บทนำ : รอรัฐบาลใหม่

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เผยความคืบหน้าโครงการก่อสร้างถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาและการเวนคืนคืนที่ดินบริเวณเกียกกาย ว่าตามที่ กทม.ขอความเห็นชอบจาก รมว.มหาดไทย เพื่อขออนุมัติโครงการถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วงที่ 1 สะพานพระราม 7-กรมชลประทาน สามเสน 2.99 กม. ช่วงที่ 2 กรมชลประทาน สามเสน-สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า 3.91 กม. ช่วงที่ 3 สะพานพระราม 7-คลองบางพลัด 3.30 กม. ช่วงที่ 4 คลองบางพลัด-สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า 3.80 กม. และโครงการก่อสร้างสะพานเกียกกาย เรื่องยังค้างอยู่ที่ รมว.มหาดไทย ที่ประชุมวันนี้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งติดตาม เบื้องต้น กทม.สามารถเวนคืนที่ดินเพื่อก่อสร้างโครงการได้แล้ว ในช่วงที่ 1 เและช่วงที่ 3 หากมหาดไทยอนุมัติ จะเดินหน้าก่อสร้างได้ทันที

ด้านนายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าฯกทม. กล่าวว่า กทม.ได้แบ่งสัญญาก่อสร้างเป็น 4 สัญญา ประกอบด้วย สัญญาที่ 1 เส้นทางจากสะพานพระราม 7-กรมชลประทาน สามเสน 2.99 กม. งบประมาณ 1,770 ล้านบาท สัญญาที่ 2 กรมชลประทาน สามเสน-สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า 3.91 กม. งบ 2,470 ล้านบาท สัญญาที่ 3 สะพานพระราม 7-คลองบางพลัด 3.30 กม. งบ 2,061.5 ล้านบาท และสัญญาที่ 4 คลองบางพลัด-สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า 3.80 กม. งบ 2,061.5 ล้านบาท หากได้รับอนุมัติ กทม.สามารถจัดหาผู้รับเหมาสัญญาที่ 1 และ 3 ได้ก่อน เนื่องจากประสานไว้เรียบร้อย ส่วนสัญญาที่ 2 และ 4 รายละเอียดงานก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จ เนื่องจากอยู่ในเกาะรัตนโกสินทร์ ต้องหารือกับกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม และกรมศิลปากรก่อน

สำหรับโครงการถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาดังกล่าว รัฐบาล คสช.นำมาผลักดัน โดยได้แรงบันดาลใจมาจาก “ชองกเยชอนโมเดล” ริมแม่น้ำฮันที่เกาหลีใต้ โครงการนี้ มีภาคประชาชน นักวิชาการ ออกมาคัดค้านด้วยเหตุผลต่างๆ ขณะที่ กทม.เองพยายามเดินหน้าเต็มที่ โดยข้อเท็จจริง โครงการนี้ไม่มีความจำเป็นต้องรีบร้อน จึงควรพิจารณาอย่างรอบคอบ แม่น้ำเจ้าพระยาช่วงที่ผ่าน กทม. เป็นสัญลักษณ์หนึ่งของประเทศก็ว่าได้ การดำเนินการที่มีผลดัดแปลงแม่น้ำ ควรหารือทุกฝ่ายอย่างรอบคอบ และควรให้รัฐบาล และฝ่ายบริหาร กทม. ที่มาจากประชาชน มาจากการเลือกตั้ง เป็นผู้ดำเนินการและตัดสินใจ มิใช่รวบรัดดำเนินการเช่นที่กำลังเกิดขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image