โครงร่างตำนานคน : อิทธิพร บุญประคอง กกต.กับข่าวลือ : โดย การ์ตอง

ถ้านับจากวันเข้าคูหากาบัตร 24 มีนาคม 2562 การเลือกตั้งที่ประชาชนรอคอยมา 8 ปี เสร็จสิ้นไปเดือนเต็มๆ แล้ว ถ้าเป็นอย่างที่เคยเป็นมาป่านนี้ภาพของรัฐบาลใหม่จะชัดเจนแล้วว่า พรรคไหนเป็นแกนนำ พรรคไหนร่วมรัฐบาล กระทั่งใครจะเป็นนายกรัฐมนตรี ใครจะเป็นรัฐมนตรีก็จะรู้กันแล้ว

แต่การเลือกตั้งครั้งนี้ กระทั่งผลการเลือกตั้งที่เป็นทางการก็ยังไม่ประกาศ ยิ่งไปกว่านั้นยังเป็นหลังการเลือกตั้งที่มากมายด้วย “ข่าวลือ”

หากเอาความหวังของประชาชนเป็นที่สิ่งที่ทำเพื่อสนองตอบ “การเลือกตั้ง” ย่อมนับเป็น “เรื่องดี”

มีความเชื่อกันว่าประเทศจะพัฒนาก้าวหน้าไปสู่ความรุ่งเรืองได้ ต้องดำเนินไปในวิถี “ประชาธิปไตย”

Advertisement

และเมื่อ “ประชาธิปไตย” มีความหมายอยู่ที่ “อำนาจเป็นของประชาชน”

ดังนั้น การใช้สิทธิของประชาชน อันหมายถึงการได้ “รัฐบาลที่มาจากการเลือกของประชาชน” ย่อมเป็นเรื่องดี

แต่ดูเหมือนว่าความยินดีปรีดาของประชาชนที่มาจากการความหวังที่จะได้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ยิ่งเนิ่นนานออกไปในสภาวะที่ก่อสถานการณ์คาดเดากันไปคนละทางสองทาง

Advertisement

ยังสรุปไม่ได้กระทั่งว่า พรรคการเมืองไหนจะมีสิทธิเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล

แต่ที่พาให้หวาดวิตกไปยิ่งกว่านั้นคือ มีข่าวลือที่กระจายไปกว้างขวางว่าการตั้งรัฐบาลถูกล็อกไว้แล้ว โดยราคาของอำนาจประชาชนดูจะถูกลดลงอยู่มูลค่าของอำนาจที่ถูกกำหนดจากคนกลุ่มหนึ่ง

ข่าวลือดังว่านี้ ทิศทางพุ่งไปที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

เป็น กกต.ที่มี อิทธิพร บุญประคอง นั่งหัวโต๊ะเป็นประธาน

สารพัดการกล่าวหา ที่ไปในทางทำให้ กกต.กลายเป็นจำเลยของสังคม ถือเป็นข่าวลือที่ไม่ดี

ด้วยทำให้ กกต.ถูกมองว่าเป็นต้นเหตุของปฏิบัติการไม่เคารพต่ออำนาจประชาชน

ก่อความยุ่งยากให้ “ประชาธิปไตย” ที่จะนำประเทศสู่ระบอบการปกครองอันเป็นสากล

เรื่องราวแห่งข่าวลือนี้ส่งผลต่อศรัทธาประชาชนในอำนาจรัฐอย่างสูงยิ่ง

ด้วยความหวังอันก่อกำเนิดจากการมีส่วนร่วมในการปกครองของประชาชน มีข่าวลือว่าถูกลิดรอนจากการใช้อำนาจของ กกต.

เป็นข่าวลือ ทว่าวันเวลาที่เลื่อนออกไปของการกลับคืนสู่ประชาธิปไตย กลับทำให้ความกังวลเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ในทิศทางที่เชื่อว่า ข่าวนั้นจะไม่ใช่แค่ลือ

ด้วยมีเรื่องราวสารพัดที่ดูจะเคลื่อนไปในทางตอกย้ำความเชื่อของผู้คนในทางที่ชวนให้กังวลว่าอำนาจประชาชนจะถูกละเลยโดยฝีมือคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นความหวังของประชาชนว่าจะทำหน้าที่อำนวยการเลือกตั้งให้อำนาจประชาชนมีความหมาย

กลับกลายเป็นเหยื่อของข่าวลือว่าใช้อำนาจเพื่อสนองภารกิจทางการเมือง โดยถูกถามหาสำนึกที่จะอำนวยความเป็นธรรมอย่างกว้างขวาง

การแก้ปัญหาข่าวลือ ด้วยการไล่ฟ้องผู้กระจายข่าว ยิ่งก่อความรู้สึก ยิ่งก่อเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ว่าใช้กระบวนการยุติธรรมปิดปากมากกว่าจะแก้ปัญหาด้วยวิธีสร้างความเชื่อถือให้ประชาชน

นั่นเป็นเรื่องน่าเสียดาย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image