รายงานหน้า2 : ส่อง3สูตรปาร์ตี้ลิสต์ นักวิชาการเตือน‘กกต.’ ย้ำยึดรัฐธรรมนูญ‘ม.91’

หมายเหตุความเห็นจากนักวิชาการ จากกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เสนอ 3 สูตรการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อให้ กกต.พิจารณา ได้แก่ 1.สูตรของ กกต.ที่เสนอร่วมกับคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่จัดสรร ส.ส.บัญชีรายชื่อให้ 27 พรรค 2.สูตรของนายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต. จะมี 16 พรรคได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และ 3.สูตรของนายโคทม อารียา อดีต กกต. มี 16 พรรคได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อเช่นกันแต่ของนายโทคม ไม่คิดจุดทศนิยม

ยุทธพร อิสรชัย
ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.)

วันนี้สิ่งที่ กกต.ต้องพิจารณา มีอยู่ 2 ประการหลัก คือ 1.กรอบใหญ่ รัฐธรรมนูญมาตรา 91 เพราะถ้ากระบวนการในการวินิจฉัยคำนวณต่างจากมาตรา 91 จะทำให้เกิดปัญหาเรื่องการขัดกับรัฐธรรมนูญในภายหลังได้ ดังนั้น กกต.ต้องยึดมาตรา 91 เป็นอันดับแรก และจะต้องยึด พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 128 หรือ 129 เป็นหลัก ประการที่ 2 คือ จะต้องพิจารณาเรื่องการได้มาซึ่งผู้แทนในลักษณะที่สะท้อนให้เห็นถึงความเสมอภาคทางคะแนนเสียง หมายความว่าผู้แทนในระบบเดียวกัน เช่น ส.ส.บัญชีรายชื่อ ก็ต้องมีที่มาที่ใกล้เคียงหรือสอดคล้องกัน
ดังนั้น ถ้าผู้แทนระบบบัญชีรายชื่อได้มาที่ 71,057 คะแนน/ส.ส.ที่พึงจะมี ทุกพรรคการเมืองก็ควรจะได้ผู้แทนบัญชีรายชื่อในสัดส่วนเดียวกัน ไม่ใช่ว่าบางพรรคต้องใช้ 71,057 แต่บางพรรคใช้เพียง 2-3 หมื่นคะแนน ก็ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ซึ่งจุดนี้จะทำให้เกิดความไม่เสมอภาคทางคะแนนเสียง เพราะการทำหน้าที่ของ ส.ส.บัญชีรายชื่อทุกคนจะมีอำนาจ หน้าที่ บทบาท และสถานภาพเหมือนกันทุกประการ ดังนั้นที่มาก็ย่อมต้องมีความสอดคล้อง และกระบวนการจะต้องคำนึงถึงความเสมอภาคเป็นสำคัญ
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการบอกว่าเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ต้องการให้ทุกคะแนนได้รับการคิดคำนวณ ไม่ตกน้ำ แต่หากคิดคำนวณให้กับพรรคเล็ก ส่วนหนึ่งของคะแนนของคนที่ลงให้กับพรรคใหญ่จะกลายเป็นคะแนนฟรีเพราะพรรคเล็กส่วนหนึ่งที่ได้ไม่ถึง 71,057 คะแนน จะดึงคะแนนไป ซึ่งทำให้ไม่เกิดความเสมอภาคทางคะแนนเสียง ดังนั้นไม่ว่า กกต.จะใช้สูตรไหน ก็ต้องเป็นไปตามหลัก 2 ประการนี้
แต่เมื่อดูแล้วเห็นว่าสูตรของ อาจารย์โคทม อารียา น่าจะเป็นสูตรที่เหมาะสมที่สุด เพราะความจริงแล้วในรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 ไม่ได้พูดถึงเรื่องทศนิยม แต่ทศนิยมถูกพูดใน พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 128 เมื่อเป็นอย่างนี้จึงทำให้เกิดข้อวิจารณ์อย่างมากว่ามาตรา 128 จะขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 91 หรือไม่
ประเด็นนี้คือข้อคำถามที่ กกต.ได้ถามไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ แต่ศาลก็ไม่ได้วินิจฉัยในเนื้อหา ศาลเพียงแต่วินิจฉัยว่าไม่ได้มาถูกช่อง ก็ให้ไปดำเนินการตามผู้ตรวจการแผ่นดิน หรือใช้กระบวนการการขัดกันแห่งกฎหมาย ตามที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญ นี่คือสิ่งที่ศาลไม่ได้พูดเนื้อหา
ขณะเดียวกัน ผู้ตรวจการแผ่นดินก็ไม่ได้ส่งเรื่องนี้ให้กับศาลเช่นเดียวกัน ส่งเพียงเรื่องที่ว่าจะพิสูจน์บัญชีรายชื่ออย่างไร เช่นเดียวกับที่ กกต.ได้ส่งไปก่อนหน้านี้ ศาลก็บอกว่าเรื่องคิดสูตรบัญชีรายชื่อศาลยังไม่คิดให้เพราะไม่ได้มีการใช้อำนาจหน้าที่ในกระบวนการของการพิจารณาสูตรบัญชีรายชื่อ เพราะต้องรอให้ ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งประกาศผลครบร้อยละ 95 ก่อน
เมื่อเป็นเช่นนี้ เรื่องว่าจะขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ ระหว่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง มาตรา 128 กับรัฐธรรมนูญมาตรา 91 จึงทำให้ยังไม่มีข้อยุติ เมื่อไม่มีข้อยุติสิ่งสำคัญที่สุดคือต้องยึดรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐธรรมนูญไม่ได้พูดเรื่องทศนิยม และสูตรของอาจารย์โคทม ก็ไม่ได้พูดเรื่องทศนิยม แต่สูตรของอาจารย์สมชัย ศรีสุทธิยากร พูดเรื่องทศนิยม จึงเห็นว่าควรจะยึดสูตรของอาจารย์โคทม เป็นหลัก
ในขณะเดียวกัน สูตรของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ซึ่งให้พรรคเล็กด้วย รวมเป็น 27 พรรค ก็อาจจะขัดกับหลักการเรื่องความเสมอภาคทางคะแนนเสียง ว่าที่มาของ ส.ส.ประเภทเดียวกัน ต้องมาในอัตราส่วนที่ใกล้เคียงกัน
ส่วนตัวเห็นด้วยกับการที่ กกต.พิจารณาโดยไม่รอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ที่ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งเรื่องให้ เพราะการดำเนินการคู่ขนานกันไปจะเป็นผลดีมากกว่า เนื่องจากหากรอศาลก็มีโอกาสที่จะเกินวันที่ 9 พฤษภาคม ซึ่งหากเกินจะมีประเด็นปัญหาที่ต้องตีความอีก คือเรื่อง 150 วัน ว่าหมายถึงอย่างไร เกินวันที่ 9 พฤษภาคม จะเกิดปัญหาอีกหรือไม่
ดังนั้นจึงควรประกาศผลให้ได้ภายในวันที่ 9 พฤษภาคม เพื่ออยู่ในพื้นที่ปลอดภัยไว้ก่อน ดังนั้น กกต.จึงต้องดำเนินการคู่ขนาน ทั้ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ และ ส.ส.แบบแบ่งเขต เพราะถ้าพิจารณาในทางคดีก็มีแนวโน้มที่ศาลอาจจะไม่รับคดีของผู้ตรวจการแผ่นดิน หรืออาจรับไว้พิจารณาหลังวันที่ 9 พฤษภาคม เมื่อประกาศรับรองผลเรียบร้อยแล้วก็เป็นได้ เพราะก่อนหน้านี้ กกต.ก็เคยส่งถามประเด็นนี้ แต่ศาลก็ไม่รับ โดยอ่างว่า กกต.ยังไม่ได้ดำเนินการในการใช้อำนาจหน้าที่จึงมาให้ศาลวินิจฉัยไม่ได้

 

Advertisement

ฐิติพล ภักดีวานิช
คณบดีคณะรัฐศาสตร์
มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

วิธีคิดสูตรของ กกต.จะเอื้อประโยชน์ให้กับพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในแง่ของการหาพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งไม่ได้สะท้อนหลักการของการเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง เพราะการให้คะแนนเสียงกับพรรคเล็ก แม้หลายคนจะพยายามจะบอกว่าเพื่อที่จะให้ทุกเสียงมีค่า ได้รับการคิดคำนวณ แต่ความจริงแล้วระบบการเลือกตั้งของเราที่มีทั้ง ส.ส.เขต กับ ส.ส.บัญชีรายชื่อนั้น เป็นกลไกที่ทำให้ทุกคะแนนเสียงมีค่าอยู่แล้ว แต่ก็ต้องมีกฎเกณฑ์ที่ว่าจำนวนเท่าไหร่ถึงจะได้เป็น ส.ส.
เมื่อสูตรคำนวณออกมาแล้วว่าค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 71,057 คะแนน/ส.ส.1 คน ก็ต้องคิดบนพื้นฐานนี้ เพื่อให้มีมาตรฐานและเกิดความเป็นธรรม ตามกฎกติกาที่ได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่การที่ กกต.มาอิงเรื่องการที่ให้คำแนนต่ำกว่า 71,057 คะแนน เป็นสิ่งที่ไม่ควรจะทำ และไม่ถูกต้อง
ดังนั้น สูตรที่ 2 ของนายสมชัย ศรีสุทธิยากร และสูตรที่ 3 ของนายโคทม อารียา เป็นสูตรที่น่าจะเหมาะสม คือตัดที่ 71,057 เสียง แต่สูตรที่ไม่ควรใช้อย่างมาก คือสูตรที่ 1 ที่ กกต.เสนอร่วมกับกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ซึ่งต่ำกว่า 71,057 เสียง เพราะสูตรนี้ผิดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและ พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส.
ในการพิจารณาสูตรการคำนวณ ความจริงแล้วไม่ใช่หน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ แต่เป็นอำนาจหน้าที่ของ กกต.ในการพิจารณา หน้าที่ของ กกต.คือจัดการเลือกตั้งให้เสร็จสิ้นเรียบร้อย ซึ่ง กกต.ก็ต้องทำหน้าที่อย่างเป็นกลาง เป็นธรรม และยุติธรรมกับทุกพรรคการเมือง และต้องไม่ทำเพื่อเอื้อประโยชน์ให้พรรคใดพรรคหนึ่ง ดังนั้น จึงเห็นด้วยกับการที่ให้ กกต.พิจารณา แต่ยังมีคำถามว่า กกต.จะยึดความเป็นกลางได้มากน้อยแค่ไหน
การที่พยายามเกลี่ยคะแนนให้พรรคเล็กทำให้สังคมเกิดคำถาม เพราะรัฐธรรมนูญเขียนไว้ว่าวิธีคิดจำนวน ส.ส.กับจำนวนเสียงให้ใช้สูตรมาหาร ซึ่งก็คือ 71,057 คะแนน ถ้า กกต.ไม่ยึดตรงนี้ ก็จะเกิดคำถามตีกลับมามากมายว่าความจริงแล้วหลักการคืออะไร และความเป็นกลางของ กกต.มีมากน้อยแค่ไหน เพราะสิ่งที่เราเห็นคือแนวโน้มของพรรคเล็กที่จะไปร่วมกับพรรค พปชร. เพื่อเอื้อให้พรรค พปชร.มีเสียงข้างมากในสภา
หากออกมาลักษณะนี้ ก็จะเกิดคำถามว่า กกต.พิจารณาบนพื้นฐานของความเป็นกลางจริงหรือไม่ หรือพิจารณาเพื่อที่จะเอื้อประโยชน์ให้กับพรรคใดพรรคหนึ่ง

อัษฎางค์ ปาณิกบุตร
อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์
มหาวิทยาลัยรามคำแหง

Advertisement

มาถึงวันนี้ผมก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่า เบื้องหลังในประเด็นเรื่องคิดคำนวณ ส.ส.แบบปาร์ตี้ลิสต์จริงๆ คืออะไร เพราะเราไม่อาจรู้ได้ว่ามีอะไรบีบบังคับให้ผลออกไปทางใดทางหนึ่งหรือไม่ การเมืองของผู้มีอำนาจหนักแน่นแค่ไหน จะเอาอย่างไรกับกรณีนี้ เพราะ กกต.ไม่ตัดสินใจอะไรเลย ทั้งๆ ที่เป็นองค์กรที่มีที่ปรึกษากฎหมาย เสียงบประมาณเป็นจำนวนมาก
หากกรณีนี้คิดไม่ได้ ผมคิดว่าก็ควรจะโละทิ้งให้หมดได้เลย เพราะการคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ไม่มีอะไรซับซ้อน หากยึดตามหลักการของรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 โดยไม่ต้องสนใจ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.เลยด้วยซ้ำไป เพราะถือว่าออกมาทีหลัง มีศักดิ์เล็กกว่า อีกทั้งสังคมก็ไม่เคยรับรู้ว่าเมื่อคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ออกบทบทบัญญัติตามมาตรา 128 พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มาในภายหลังนั้น เคยพิจารณากันว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ แล้วได้คุยในกันรายละเอียดว่าเศษที่เกิดขึ้นจะปัดกันอย่างไร
เมื่อไม่รู้ก็ควรจะยึดรัฐธรรมนูญมาตรา 91 เป็นหลัก การที่ออกมาเสนอว่าจะพิจารณาใน 3 สูตร ไม่ว่าจะของ กรธ.ที่ปัดเศษคะแนนให้พรรคเล็กได้ ส.ส. ไม่ว่าจะเป็นวิธีของอดีต กกต.ทั้ง 2 คนนั้น ก็พูดได้ แต่ที่สุดแล้ว กกต.ต้องคิดเอง เพราะเรื่องนี้ไม่ได้ซับซ้อน แต่ทำให้มันซับซ้อน
หากผลออกมาไม่เป็นที่ยอมรับก็จะเป็นเรื่องที่เป็นข้อขัดแย้งของสังคมต่อไปในอนาคต ดังนั้น กกต.ต้องระดมนักกฎหมายที่แต่งตั้งไว้มาช่วยกันให้คำแนะนำ หากให้คำแนะนำไม่ได้ แสดงว่าไม่มีฝีมือ ใช้ระบบพรรคพวกเข้ามาทำงาน
กกต.ต้องคิดไว้เสมอว่า ไม่มีใครติดคุกแทนได้ หากทำผิดกฎหมาย ผมคิดว่าเรื่องนี้จบได้และเป็นที่ยอมรับ กกต.ควรยึดหลักการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 91 จะดีที่สุด จะชนะความรู้สึกของคนทั้งประเทศได้ แต่ถ้าไม่ โดยมีสิ่งที่ทำให้คนทั้งประเทศเคลือบแคลงสงสัยก็มีแต่เสียชื่อ
ฟังจากบรรดานักกฎหมาย อดีตผู้พิพากษา อัยการ พูดเป็นทางเดียวกันหมดว่า ต้องยึดที่คะแนนพึงมีถึงจะได้ ส.ส. ยกเว้น กกต.กับอดีต กรธ.เท่านั้นที่ยังยืนกราน ทั้งๆ ที่กฎหมายเขียนไปไม่ถึงสิ่งที่พวกเขาคิดเลย
ดังนั้น ผมจึงไม่เห็นกับกรณีที่ผู้ตรวจการ แผ่นดินยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญในกรณีนี้อีก แม้ว่าผู้ตรวจฯจะมีอำนาจยื่นได้ก็ตาม เพราะศาลรัฐธรรมนูญปิดช่องกรณีนี้ไปแล้ว จากการไม่รับคำร้องของ กกต. ผมไม่รู้ว่ากรณีนี้จะมีผลต่อ กกต.ในการเลื่อนประกาศผลภายในวันที่ 9 พฤษภาคมนี้หรือไม่ แต่กฎหมายบังคับไว้อย่างชัดเจนว่าต้องทำให้เสร็จ ถ้า กกต.อยากหาเรื่องให้เป็นภัยอันตรายต่อตัวเอง ก็ช่วยไม่ได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image