บทนำ : คืนอำนาจ 2562

การ “คืนอำนาจ” ในการเมืองไทยไม่ได้ เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก แต่ครั้งนี้ คสช.มีเป้าหมายมากกว่าคณะรัฐประหารในอดีต หลังเลือกตั้ง พรรคต่างๆ ได้กำชับสมาชิกเตรียมพร้อมหากจะมีการเลือกตั้งใหม่ ล่าสุดเมื่อวันที่ 29 เม.ย.ที่ผ่านมา ในการประชุมใหญ่พรรคภูมิใจไทย ก่อนการประชุมได้มีการกำชับสมาชิกพรรคอย่าทิ้งพื้นที่ ให้พร้อมลงสนามเลือกตั้งทันทีหากมีการยุบสภา การเตือนดังกล่าวไม่น่าแปลกใจ หากพิจารณาจากสถานการณ์ก่อนเลือกตั้งและหลังการเลือกตั้ง

หลังการเลือกตั้ง พรรคการเมือง 2 ขั้วมีจำนวน ส.ส.ไล่เลี่ยกัน อันเป็นผลจากกฎกติกาที่ดีไซน์ขึ้นมาเพื่อมิให้พรรคการเมืองใหญ่ได้ ส.ส.จำนวนมาก ขณะที่ กกต.ยังไม่ประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ สภาพที่เกิดขึ้นก็คือ ต่างฝ่ายต่างออกข่าวว่าตนเองมีความชอบธรรมที่จะได้จัดตั้งรัฐบาล มีการปล่อยข่าวหลายครั้งว่าได้ล็อบบี้พรรคการเมืองจากขั้วตรงข้ามมาเข้าร่วมรัฐบาลที่จะสนับสนุนนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันให้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป พรรคที่ตกเป็นข่าวมาแล้ว ได้แก่ พรรคเศรษฐกิจใหม่ พรรคเพื่อชาติ และพรรคประชาชาติ ซึ่งแกนนำพรรคเหล่านี้ได้ออกมาปฏิเสธ

นอกจากนี้ ยังเกิดกระแสเล่าลือถึงการซื้อตัว ส.ส.หรือที่เรียกว่า “งูเห่า” เพื่อให้ไปสนับสนุนพรรคในขั้วตรงข้าม ทำให้พรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่ จัดการสัมมนา ความเข้าใจกับ ส.ส.และลงชื่อยืนยันว่าจะปฏิบัติตามมติพรรค และที่เป็นข่าวมาระยะหนึ่ง ได้แก่ ข่าวการถือหุ้นสื่อของผู้สมัคร ซึ่งต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญและ พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. บางคน แม้ยืนยันว่าได้โอนหุ้นไปแล้ว แต่ก็มีการติดตามขุดคุ้ยว่าไม่ได้โอนก่อนลงสมัคร และมีกระแสข่าวว่ากรณีดังกล่าว อาจนำไปสู่การยุบพรรคได้

นับเป็นสถานการณ์ที่ไม่ปกติ สุดท้าย แม้พรรคที่สนับสนุนนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันได้จัดตั้งรัฐบาลด้วยการสนับสนุนอย่างท่วมท้นของ 250 ส.ว. แต่จะเป็นรัฐบาลที่มีเสียงปริ่มน้ำ อาจจะเกิดอุบัติเหตุทางการเมือง หรือพลาดแพ้เสียงในสภาผู้แทนฯได้ ซึ่งหากแพ้เสียงในกฎหมายสำคัญก็อาจจะต้องลาออก หรืออาจยุบสภา กลายเป็นสภาพไม่แน่นอนของการเมือง มีความเสี่ยงต่อการยุบสภา และในภาพรวม ทำให้การคืนอำนาจให้ประชาชนในครั้งนี้แตกต่างจากที่ผ่านมาในอดีต

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image